เศรษฐกิจไทยปี 2020 (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เศรษฐกิจไทยปี 2020 (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ซึ่งสรุปได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเท่าที่มีอยู่ถึงเดือน พ.ย.นั้น

สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน แต่ส่วนที่ชะลอตัวหนักกว่าน่าจะเป็นกำลังซื้อในประเทศ ดังนั้นในปี 2020 นี้ ทุกคนจึงไมได้มีความคาดหวังสูงเหมือนต้นปี 2019 หากจำได้ในต้นปีที่แล้ว เสียงส่วนใหญ่คาดการณ์จีดีพีในปี 2019 จะขยายตัว 4-5% แต่ในที่สุดก็น่าจะขยายตัวได้เพียง 2.5% เท่านั้น

ปีนี้เรายังไม่มีตัวเลขใดเลยที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังถึงจุดต่ำสุดแล้ว (เพราะตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังไหลลงอย่างต่อเนื่อง) แต่อาจมองได้ว่ามีตัวเลขเศรษฐกิจโลกบางตัวเริ่มผงกหัวขึ้นแล้ว เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและการส่งออกของเกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนั้นความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยและประธานาธิบดีทรัมป์ก็สงบศึกทางการค้ากับจีนแล้ว จึงทำให้เชื่อมั่นกันมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ที่จุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 1 ของปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะเป็นอานิสงค์ให้การส่งออกของไทยถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 นี้ได้เช่นกันและจะสามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาสต่อๆ ไป

แต่ปัญหาคือหากการส่งออกฟื้นตัวแต่กำลังซื้อภายในยังร่อแร่อยู่ เราจะเห็นผู้ประกอบการแข่งกันส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและแม้ว่าธปท.จะเข้าแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ก็เป็นการชะลอการแข็งตัวของเงินบาท ไม่ได้สามารถตรึงค่าเงินบาทได้ จึงจะยิ่งทำให้คนอยากถือเงินบาทมากขึ้น เพราะแนวโน้มคือสินทรัพย์นี้ราคาจะปรับสูงขึ้น ผู้ส่งออกก็จะรีบส่งออก ผู้นำเข้าก็จะชะลอการนำเข้า นักลงทุนก็ต้องรีรอเพราะยิ่งรอต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรก็จะถูกลงและหากผลิตเพื่อการส่งออก ก็ยิ่งต้องคำนวณให้ดีว่าหากลงทุนในประเทศไทยที่ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์แล้ว หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก 27-28 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในอนาคตอีก 2 ปีที่โรงงานสร้างเสร็จนั้น เขาจะยังสามารถส่งออกสินค้าจากประเทศไทยแล้วยังมีกำไรหรือไม่

ทำไมประเทศไทยจึงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว? คำตอบคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคือการที่ประเทศไทยใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ กล่าวคือออมเงินมากเกินไป ซึ่งจะทำให้รู้สึกแปลกใจว่าธปท.เป็นห่วงว่าคนไทยมีหนี้สินมากเกินไปและกำลังออกมาตรการควบคุมการกู้เงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ ซึ่งน่าจะแปลว่าคนไทยใช้จ่ายเกินตัว (จึงมีหนี้สินเท่ากับ 80% ของจีดีพี) แต่ทำไมจึงยังอธิบายว่าที่เงินบาทต้องแข็งค่าก็เพราะประเทศไทยออมมากเกินไป คำตอบที่ถูกต้องคือประเทศไทยมีการออมมากเกินไปและลงทุนน้อยไปจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้ แต่การที่คนไทยหลายล้านคนมีหนี้สินมากเกินไป (แปลว่าออมน้อยเกินไปนั้น) ก็ต้องแปลว่าการกระจายรายได้และทรัพย์สิน (wealth) ของประเทศไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก บริษัทขนาดใหญ่และคนรวยมีทั้งรายได้และทรัพย์สินมากมาย แต่ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร ในขณะที่ผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงต้องยืมเงินในอนาคตมาใช้ (สร้างหนี้สินเพิ่ม)

อีกคำถามหนึ่งคือนอกจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ ในความเห็นของผมนั้นเงินจะแข็งค่าขึ้นได้ก็เมื่ออัตราเงินเฟ้อต่ำ กล่าวคือเงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงิน เช่น เงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปี แปลว่าต้นต้นปีเงิน 100 บาท มีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทตอนปลายปี 3 บาท เพราะเงิน 100 บาทตอนปลายปีจะซื้อสินค้าได้เท่ากับการใช้เงิน 97 บาท ซื้อสินค้าประเภทเดียวกันตอนต้นปี ดังนั้นประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 1% ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-5 ปี จะต้องเผชิญกับภาวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทยนั้น ธนาคารกลางของเขาสามารถบริหารนโยบายการเงินให้อัตราเงินเฟ้อของเขาเป็นไปใกล้กับเป้าหมายที่ประมาณ 2.5% บางประเทศแม้จะทำไม่ได้เช่นญี่ปุ่น ก็ยังมีความพยายามอย่างยิ่งยวดโดยทำมาตรการคิวอี

แต่กรณีของประเทศไทยนั้นเพียงเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมากเกินกว่า 1% เพียงเล็กน้อยเมื่อเดือนธ.ค. 2018 (แม้ว่าจะตั้งเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2.5% ต่อปี) ก็ยังปรับดอกเบี้ยขึ้นและเมื่อผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นตามเป้าดังกล่าวไม่ได้ จึงทำข้อตกลงใหม่กับกระทรวงการคลังว่าเป้าเงินเฟ้อนั้นต่อไปนี้จะอยู่ที่ 1-3% ต่อปี จากเดิมที่กรอบเงินเฟ้อคือ 1-4%ดังนั้นในอนาคตอันใกล้หากเงินเฟ้อขยับขึ้นไปที่ 1% อีก ก็อาจมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีก การปรับเป้าเงินเฟ้อดังกล่าวจึงสามารถตีความได้ว่านโยบายที่ยอมให้เงินเฟ้อของไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องนั้น จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งจะเป็นการสร้างความคาดหวังได้ว่าเงินบาทจะต้องแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในอนาคตเมื่อบวกรวมกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า

ดังนั้นหากมีการคาดหวังกันว่าเมื่อการส่งออกฟื้นตัวในไตรามาส 2 ก็จะช่วยนำพาให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไปด้วยนั้น อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากการส่งออกฟื้นตัวแต่กำลังซื้อภายในยังอ่อนแรงอยู่ ทำให้การนำเข้าไม่กระเตื้องขึ้น การเพิ่มขึ้นของการส่งออกก็น่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในทันที ซึ่งจะเป็นการสกัดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนั้นการที่ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในไตรมาสที่ 2 และไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวตามฤดูกาลอยู่แล้ว (เพราะท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็จะชะลอลงอีกด้วย) จึงน่าจะประเมินได้ว่า จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปี 2020 น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ปัญหาคือเมื่อถึงจุดต่ำสุดแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีปัจจัยอะไรมาขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่เหลือของปีนี้ครับ
โพสต์โพสต์