ปัจจุบันเราเป็นห่วงกันว่าเศรษฐกิจไทยคงจะขยายตัวได้น้อยมากในครึ่งแรกของปีนี้เพราะมีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ได้แก่
1.ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่ยังระบาดอย่างหนัก (แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะยังต่ำอยู่ที่ประมาณ 2% ของผู้ที่ติดเชื้อ)
2.ปัญหาภัยแล้งที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นในไตรมาส 2
3.ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาเช่นนี้ทุกๆปีจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การใช้รถไฟฟ้าแทนรถที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน
4.ความล่าช้าของการผ่านกฎหมายงบประมาณ ซึ่งหวังว่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว แต่หากการเมืองขาดเสถียรภาพก็อาจเป็นปัจจัยที่จะกระทบกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้อีกบ่อยครั้งในอนาคต
ปัญหาข้อที่ 1 นั้นปัจจุบันคงจะมีผู้รู้เขียนวิเคราะห์อย่างกว้างขวางเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏนั้นส่วนใหญ่จะมองว่า น่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของ SARS ที่มีผลกระทบรุนแรง แต่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 3-5 เดือน เมื่อควบคุมการระบาดของโรคได้ เมื่อค้นพบยารักษาและเมื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันได้ก็จะทำให้สภาวการณ์กลับมาสู่ปกติได้ในเวลาไม่นานมากนัก และหากจีดีพีชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ก็จะเร่งตัวในไตรมาส 2 ถึง 4 เพื่อทดแทนผลผลิตที่ลดลงไปได้ส่วนหนึ่ง
ในระหว่างนี้ก็ได้มีการนำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวออกมาเป็นระยะ ซึ่งผมก็ขอย้ำว่าเท่าที่ผ่านมานั้นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับไวรัสโคโรนานั้นมีดังนี้
1.แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำแต่การติดเชื้อแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วอย่างมาก เพราะผู้ที่ติดเชื้อนั้นในช่วงแรกจะไม่มีอาการไม่สบาย ทำให้มีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้อื่นติดเชื้อตามไปด้วย
2.ผู้ที่เสียชีวิตนั้นเกือบทั้งหมดอายุ 50 ปีขึ้นไป ในบางกรณีที่อายุ 30-40 ปีจะเสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัว ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำอยู่ก่อนแล้ว
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคปอดอุดตันเรื้อรัง(Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ผมเชื่อว่าแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นอีกเป็นพันๆ คนต่อวัน ตลาดหุ้นก็จะไม่ตื่นตระหนกต่อไปอีกแล้ว ตราบใดที่การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีน แต่หากมีการแพร่ขยายของโรคนี้อย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเร่งตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ตลาดหุ้นจะตื่นตระหนกได้อีกครั้ง
แต่ที่สำคัญคือการมองปัจจัยเสี่ยงนี้ในระยะยาว กล่าวคือจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ซึ่งคำตอบคือน่าจะมีเกิดขึ้นได้อีกโดยมีนักวิชาการชื่อ Matan Shelomi ที่ National Taiwan University ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าไวรัสก็จะพยายามหาทางให้ตัวเองอยู่รอด ดังนั้นไวรัสที่แพร่ขยายตัวเองได้ง่าย (จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งหรือจากสัตว์ไปสู่คน) โดยที่ไม่ได้ทำให้เจ้าภาพ (host) ล้มตายเร็วเกินไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ (ประเภท A และ B) นั้น จะกลับมาทุกปีเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 290,000-650,000 คน (แหล่งข้อมูล: องค์การอนามัยโลก) แต่มนุษย์เราก็ไม่ได้ตื่นตระหนกเพราะอัตราการเสียชีวิตจากการ “ติด” ไข้หวัดใหญ่นั้นต่ำเพียง 0.01%(แต่อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่ามากสำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า)
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือหากมีไวรัสพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรง มนุษย์ก็จะสามารถคิดค้นหายารักษาและผลิตวัคซีนออกมาป้องกันให้ได้ในที่สุด ดังนั้นไวรัสดังกล่าว (และไวรัสอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกัน) ก็จะต้องหลบตัวกลับไปแฝงตัวอยู่ในสัตว์ป่า เพราะไม่มีทางที่มนุษย์จะนำเอาวัคซีนไปฉีดป้องกันการระบาดในสัตว์ป่าดังกล่าวได้ ดังนั้นความเสี่ยงในอนาคตที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับไวรัสเช่นโคโรนาไวรัส 2019 n-covคือการที่มีจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและต้องเข้าไปแสวงหาบุกเบิกทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่ๆ ทำให้มนุษย์ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่าที่มีไวรัสดังกล่าวแฝงตัวอยู่
สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีความชัดเจนมากว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการพัฒนาไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ (การท่องเที่ยว) มากขึ้นและความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรลดลง ซึ่งผมขอสรุปดังปรากฏในตารางข้างล่าง
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมขอนำเสนอในตอนต่อไปครับ
มองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1