จบรอบหุ้นใหญ่แสนล้าน?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

จบรอบหุ้นใหญ่แสนล้าน?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์นั้น สำหรับนักเล่นหุ้นแนวเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยคงเป็น “ช็อก” เล็ก ๆ ที่เตือนให้รู้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ที่ทำให้ขาดทุนโดยไม่ได้คาดคิดได้ เพราะแม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นจะลดลงเพียง 6 จุดหรือลดลงเพียง 0.42% แต่หุ้นที่กำลังร้อนแรงกลุ่มหนึ่งที่วิ่งขึ้นโดดเด่นเกือบทุกวันรวมถึงช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 14 กลับตกลงมาประมาณ 3-5% ตอนปิดตลาด เพราะสำหรับนักเล่นหุ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ดัชนีตลาดมักไม่ค่อยไปไหนและมีทิศทางลดลงแต่หุ้นกลุ่มดังกล่าวกลับปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ พร้อมปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วและนักลงทุนลุ้นกันทุกวันว่ามันจะขึ้นไปถึงจุดไหนในหุ้นแต่ละตัว นี่คือกลุ่มหุ้นที่ “พลาดไม่ได้” เพราะมันเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีเยี่ยม กิจการมั่นคงเติบโต เป็นหุ้นที่มีขนาดหรือมูลค่าหุ้นเป็นแสนแสนล้านบาท

ผมเองติดตามความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของตลาดหุ้นเกือบทุกวันเป็นเวลานานมากเท่า ๆ กับที่อยู่ในตลาด ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมาก็คือ นักเล่นหุ้นส่วนบุคคลซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายหุ้นมากที่สุดขนาดที่บางคนซื้อขายกันทุกวันนั้น จะหา “หุ้นร้อน” ที่จะเล่น และในบางช่วงเวลาก็จะมีหุ้นร้อนที่มีธีมบางอย่างที่สามารถกระตุ้นให้คนสนใจเข้ามาซื้อขายหุ้นได้ บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตหรือกำลังได้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ของรัฐ ทั้งหมดนั้นมักจะดำเนินอยู่ยาวนานพอสมควรอย่างน้อยก็เป็นปี เมื่อเกิดกระแสหรือ “จุดติด” แล้ว หุ้นในกลุ่มนั้นก็จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างแรง ราคาของหุ้นขึ้นไปเป็นร้อยหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จนคนทั้งตลาดซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์ต่างก็เข้ามา “ร่วมขบวน” และต่างก็บอกว่าหุ้นก็จะไปต่อไปเนื่องจากพื้นฐานที่ดีของบริษัท

วันที่ประชามติออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าหุ้นในกลุ่มนั้นทั้งกลุ่มมีราคาที่เหมาะสม ก็มักจะเป็นวันที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุด บางครั้งก็เกิดขึ้นทันทีกับหุ้นทั้งกลุ่มเช่น หุ้นตกลงมาทั้งกลุ่มโดยที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน เป็นไปได้ว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับหุ้นบางตัว หลังจากนั้นนักลงทุนอาจจะเริ่มตระหนักว่าหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ คนหนึ่งขายหุ้นอย่างหนักหุ้นก็ตกทำให้คนที่จ้องมองอยู่ขายบ้างทำให้หุ้นตกเพิ่มขึ้นซึ่งก็ทำให้คนต่อไปทำเช่นเดียวกัน ผลก็คือหุ้นตกลงมาเป็นแผงคล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาเลนไทน์

หลาย ๆ ครั้งวันที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นมักจะเป็นวันใกล้วันประกาศงบการเงินประจำไตรมาศหรือประจำปี เหตุผลอาจจะเป็นว่าหุ้นเหล่านั้นมักจะเป็นหุ้นที่เน้นแนวเติบโตสูง การประกาศงบจะเป็นวันที่บอกว่าหุ้นโตจริงหรือเปล่า คนที่มีข้อมูลภายในที่อาจจะรู้ว่างบไม่ดีอย่างที่คาดก็อาจจะขายก่อนและทำให้หุ้นตกมาแรงและทำให้ภาพของหุ้นทั้งกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป หลังจากนั้นหุ้นก็อาจจะไม่กลับไปดีมากอย่างที่เคย แบบนี้เราเรียกว่า “จบรอบ”

ประมาณปี 2557 นั้น เราได้เห็นหุ้นขนาดเล็กรวมถึงหุ้นในตลาด MAI หลายบริษัทปรับตัวขึ้นไปดีมากเป็นที่กล่าวขวัญของนักลงทุนว่าเป็นกิจการที่โตเร็ว หุ้น IPO ขนาดเล็กเป็นที่ต้องการสูงมากเพราะคนจองได้กำไรเป็นกอบเป็นกำทุกตัว อย่างไรก็ตามรอบของหุ้นเล็กนั้นก็จบลงน่าจะประมาณปลายปี 2557 และหลังจากนั้นก็ไม่ฟื้นเลย เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องราวหรือสตอรี่ของหุ้นตัวเล็กนั้นสร้างไม่ค่อยได้ และเมื่อผลประกอบการทยอยออกมาฟ้องว่ามันไม่ได้โตได้มากอย่างที่คิด นักลงทุนที่ “ชาญฉลาด” หรือคนที่ “ทำหุ้น” ก็รีบถอยโดยการขายหุ้นทิ้งทำกำไรไปก่อนที่ราคาจะไหลลงจนกลับขึ้นไปไม่ได้

ช่วงปี 2559-2560 เป็นเวลาของหุ้นขนาดกลางหรือกลางเล็กที่ผมเรียกว่าเป็นกลุ่ม “หุ้นนางฟ้า” ที่มักเป็นหุ้นสินค้าผู้บริโภคที่มีแบรนด์เนมดี มีกำไรดี มีฐานะการเงินเยี่ยม และที่สำคัญมีสตอรี่ของการเติบโตจากตลาดใหม่ในต่างประเทศ เหตุก็เพราะว่าหุ้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอย่างนั้นในอดีต แต่เหตุที่มันไม่ค่อย Perform หรือหุ้นไม่โตก็เพราะว่าหุ้นเหล่านั้นมักจะมีภาพของธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัวในประเทศ การส่งออกหรือขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวจึงกลายเป็นสตอรี่ที่ทำให้กลุ่มหุ้นนางฟ้าวิ่งเป็นจรวด ราคาขึ้นไปหลายเท่าในเวลาเพียง1-2 ปี แต่หลังจากที่งบการเงินออกมาต่อเนื่องและฟ้องว่าไม่ได้เติบโตอย่างที่คาด ราคาหุ้นก็ร่วงทั้งกลุ่ม หุ้นจบรอบลงอย่างน่าเศร้าสำหรับนักลงทุนที่เข้าไปเล่นในยามที่ทุกอย่างดูสดใสและ “ไม่เสี่ยงเลย” เพราะมันเป็นหุ้นที่ทุกคนรวมถึงนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศบอกว่ามันดี

ล่าสุดก็คือกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและอีกหลายตัวที่ผมมองดูมานานพอสมควรและเห็นว่ามีหุ้นอย่างน้อย 5 ตัวที่เป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้น รอบของ “หุ้นใหญ่แสนล้าน” นั้นน่าจะผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้วคือตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา โดยที่คุณลักษณะที่ร่วมกันของหุ้นกลุ่มนี้สามารถอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

1) เป็นหุ้นที่ขณะนี้มี Market Cap. อย่างน้อย 100,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นหุ้นขวัญใจของนักเก็งกำไรที่ในอดีตชอบเล่นแต่หุ้นเล็กที่ราคามักวิ่งขึ้นเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม หุ้น 5 ตัวนี้คือหุ้นที่วิ่งขึ้นเร็วมากจนไม่น่าเชื่อ ราคาหุ้นขึ้นไปในเวลา 2 ปีหรือน้อยกว่านั้นโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 110% ซึ่งในอดีตนั้น หุ้นใหญ่ขนาดนี้ขึ้นไปอย่างมากก็ปีละ 20-30% ก็ถือว่ามากแล้ว

2) Market Cap. ของ 5 บริษัทรวมกันจนถึงปัจจุบันประมาณ 900,000 ล้านบาท และในช่วงน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้สร้าง Market Cap. เพิ่มขึ้นประมาณ 530,000 ล้านบาท นี่เป็นเม็ดเงินมหาศาลที่ทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมมั่งคั่งขึ้นมหาศาล

3) บริษัททั้ง 5 แห่งนั้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เติบโตเร็ว แต่เป็นอุตสาหกรรม “พื้นฐาน” ที่น่าจะอิ่มตัวในประเทศ แต่กำลังขยายไปต่างประเทศ โดยที่กำไรที่ผ่านมาในอดีตนั้นอยู่ในระดับพอใช้เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้หรือส่วนของผู้ถือหุ้น การเติบโตของกำไรที่ผ่านมานั้นอยู่ในระดับปานกลางถึงดีแต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีความคาดหวังสูงมากสำหรับการเติบโตของกำไรที่จะมาจากต่างประเทศเนื่องจากโครงการต่าง ๆ “กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว”

4) หุ้นเกือบทั้งหมดนั้นมีค่า PE ที่สูงลิ่วเช่นเดียวกับค่าความแพงอื่น ๆ เฉลี่ยหุ้น 5 ตัวมีค่า PE สูงถึง 53 เท่า

5) หุ้นทุกตัวนั้นแม้ว่าจะมี Market Cap. เป็นแสนหรือหลายแสนล้านบาท แต่ Free Float หรือส่วนที่ถือโดยนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นในตลาดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่เท่า ๆ กัน เนื่องจากบริษัทมักจะเป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ หรือไม่ก็เป็นบริษัทลูกของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีนโยบายขายหุ้นในตลาด และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้การซื้อขายของนักเก็งกำไรโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ซึ่งอาจรวมถึงสถาบันอาจจะสามารถชี้นำราคาหุ้นได้ทั้ง ๆ ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาท

คงต้องดูกันว่าหุ้นกลุ่มที่กล่าวถึงนี้จะมีคำว่า “จบรอบ” เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ในอดีตหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไร ประสบการณ์บอกผมว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อคำนึงถึงระดับราคาของหุ้นและสตอรี่ต่าง ๆ ที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้น ผมเองเคยเห็นหุ้นขนาดแสนล้านบาทที่วิ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากบางทีแค่หมื่นหรือสองสามหมื่นล้านบาทมาอยู่เนือง ๆ แต่ในที่สุดก็ตกลงมาแบบ “หายนะ” เมื่อผลประกอบการไม่รองรับและค่า PE ที่สูงลิ่ว ในครั้งนี้ ถ้าจะพูดว่าอาจจะมีบางตัวสามารถรักษาระดับราคาอยู่ได้ตลอดไปผมก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามองเป็นกลุ่มแล้ว ผมยังคิดว่ารอบนี้ก็น่าจะเหมือนเดิม คือมีวัน “จบรอบ” ที่ราคาหุ้นตกลงมาอย่างน่าใจหาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
Verified User
โพสต์: 14944
ผู้ติดตาม: 2

Re: จบรอบหุ้นใหญ่แสนล้าน?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

(17-02-63)
รายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน
โดย จิตติมา ทวาเรศ
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-11.00 น.
ช่วงแรก คุยกับ คุณกิจพณ ไพรไพศาลกิจ จาก บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ประเทศไทย มองภาพตลาดของวันนี้

และคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากรณ์ เกี่ยวกับ บทความ จบรอบหุ้นใหญ่

https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... 716844682/

phpBB [video]
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
โพสต์โพสต์