COVID-19 เป็นโรคที่น่ากลัวทำให้ต้องยกเลิกกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมายหลายอย่างและส่งผลกระทบกับจีดีพีอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพยายามออกมาตรการทั้งด้านการคลัง การเงิน มาช่วยชดเชยและจุนเจือ แต่จะต้องแยกแยะประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนและถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเข้าใจผิดและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ประเด็นพื้นฐานของปัญหาคือการจะต้องยุติหรือจำกัดกิจกรรมต่างๆ ที่เราเคยทำอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้ COVID-19 แพร่ขยายได้ ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ว่ามีคนติด COVID-19 เพิ่มขึ้นวันละ 70,000-75,000 รายทั่วโลก พร้อมกับการเสียชีวิตวันละ 5,000-7,000 ราย โดย ณ วันที่ 15 เม.ย.2563 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2 ล้านคนทั่วโลกและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 126,000 คน
การยุติกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์เคยทำมาโดยปกตินั้นกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและจีดีพี ซึ่งหากดูผิวเผินแล้วอาจนึกว่าเป็นเรื่องเดียวกันแต่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
เศรษฐกิจคือทรัพยากรและกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ โดยบางคนเป็นผู้ใช้แรงงาน บางคนเป็นเจ้าของที่ดิน บางคนเป็นเจ้าของโรงงาน ฯลฯ ซึ่ง COVID-19 ทำให้บางคนไม่มีงานทำ บางคนต้องปิดโรงงาน เกือบทุกสายการบินไม่สามารถทำการบินได้ และบางคนต้องปิดโรงแรมหรือภัตตาคาร พูดง่ายๆ คือมีทรัพย์สิน มีโรงงาน มีกำลังการผลิตแต่ถูกสั่งให้หยุดการผลิต เพราะต้องการยับยั้งการแพร่ขยายของ COVID-19
ส่วนจีดีพีนั้นคือผลผลิตของบริษัทโรงงาน โรงแรม ห้างร้านและสายการบิน ตลอดจนพนักงานของบริษัทดังกล่าวข้างต้นที่เรานำมานับรวมกันโดยตีค่าเป็นเงิน เช่น คนไทยผลิตสินค้าและบริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.5 ล้านล้านบาทในปีที่แล้วและเคยคาดการณ์ว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3%
ซึ่งโดยปกติแล้วผลผลิตของเศรษฐกิจคือจีดีพีจะต้องเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แปลว่าทุกๆ ปี ทุกคนจะมีส่วนในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะคนไทยผลิตสินค้าและบริการให้คนไทยมีกินมีใช้มากขึ้น แต่การแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
COVID-19 นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสั่งปิดระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง (และยังแถมการประกาศเคอร์ฟิวอีกด้วย) ซึ่งผมเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการสั่งให้เรา “กลั้นลมหายใจ” มีโรงงานก็ผลิตไม่ได้ มีภัตตาคารก็เปิดไม่ได้ มีโรงแรมก็ไม่มีลูกค้า ธุรกิจจึงไม่มีเงินจ่ายลูกค้าจ่ายค่าเช่าที่
มาตรการเยียวยาของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินหรือมาตรการทางการคลังไม่สามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ เพราะรัฐบาลผลิตสินค้าและบริการไม่เป็น แบงก์ชาติก็ผลิตสินค้าและบริการไม่เป็น
ดังนั้น ถามว่ามาตรการ “แจกเงิน” ของรัฐบาลกับแบงก์ชาติทำอะไรได้ ก็ต้องบอกว่าช่วยให้คนจนที่ไม่มีงานไม่มีเงินไม่ต้องอดตาย (เพราะรัฐจ่ายเงินให้เท่ากับ 50-60% ของเงินเดือนเดิม) และช่วยให้เจ้าของโรงงานหรือบริษัทยังเป็นเจ้าของโรงงานและบริษัทดังกล่าวอยู่เหมือนเดิม เพราะหากไม่ช่วยบริษัทก็จะต้องถูกเจ้าหนี้ยึดไป แต่เจ้าหนี้ (ส่วนใหญ่คือธนาคารพาณิชย์หรือกองทุน) ก็ผลิตสินค้าและบริการไม่เป็น
ยกตัวอย่าง หากออก พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติพิมพ์เงินออกมาอย่างไม่จำกัด แล้วเอาเงินดังกล่าวไปแจกให้มนุษย์เงินเดือนทุกคน และให้ผู้ประกอบการทุกคนยืมเงินโดยไม่เสียดอกเบี้ยและให้คืนเงินต้นในอีก 100 ปีข้างหน้า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นหรือไม่? คำตอบคือหากยังต้องล็อกเศรษฐกิจอยู่เหมือนเดิม ไม่ให้ผลิตสินค้า ไม่มีการท่องเที่ยว ไม่เปิดภัตตาคาร โรงแรม โรงภาพยนตร์หรือห้างสรรพสินค้า ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของผลผลิตของประเทศคือจีดีพีซึ่งก็จะยังติดลบ 10, 20, 30% เหมือนเดิม แต่คนที่ยากจนก็จะสามารถประทังชีวิตต่อไปได้และเจ้าของบริษัทก็ยังเป็นเจ้าของบริษัทต่อไป (เพราะแบงก์ชาติแจกเงินให้นำไปจ่ายเจ้าหนี้) กล่าวคือเป็นการ “ซื้อเวลา” ไปจนกว่าจะสามารถเปิดเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาผลิตสินค้าและบริการได้เช่นเดิม ซึ่งตรงนี้จึงจะต้องคาดหวังว่ามนุษย์สามารถคิดค้นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับมนุษย์ทุกคนจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี
คำถามคือ อีก 12 เดือนข้างหน้าจะทำอย่างไร คำตอบคือจะต้องสร้างระบบ Test Trace Isolate และ Treat ที่สามารถควบคุมให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก (วันละ 30 คน?) หลังจากการปลดล็อกและเปิดให้ระบบเศรษฐกิจผลิตสินค้าและบริการในระดับที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากและอาจต้องมีการลองผิดลองถูกดูบ้าง เช่น หากเปิดเศรษฐกิจมากเกินไปก็อาจทำให้มีการระบาดเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่จะต้องออกมาตรการเข้มงวดกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทอีกครั้งหนึ่ง แต่จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่ทดลองปลดล็อกเศรษฐกิจก็จะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้นมักเกิดจากการ “นำเข้า” ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากนอกประเทศ
สำหรับระยะยาวนั้น ประเทศไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าในอดีต (ก่อน COVID-19) มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวน 40 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะขยายตัวปีละ 5% มาถึงวันนี้หากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเดินทางมาไทยได้เพียง 15-20 ล้านคนต่อปีแล้ว ทรัพยากรที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว (ที่คิดเป็น 12% ของจีดีพี) ควรจะถูกนำไปจัดสรรใหม่อย่างไร?
COVID-19 เศรษฐกิจกับจีดีพี/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1