เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค(1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค(1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เริ่มมีสัญญาณว่าการคลายล็อคเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในความเห็นของผมนั้นอาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะคลายล็อคช้าไปและน้อยไป เพราะไม่ทราบว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของการปิดล็อคนั้นสูงมากและความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ (exponential) หากการปิดล็อคเศรษฐกิจจะยังยืดเยื้อออกไปอีก 2-3 เดือนหรือทำการคลายล็อคไม่เพียงพอ

ผมเชื่อว่าผมมีความเข้าใจดีในระดับหนึ่งว่า COVID-19 เป็นภัยอันตรายมากเพียงใดเพราะได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดและแม้ว่าจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ แต่ในโลกปัจจุบันมีข้อมูลที่ทันสมัยมากมายและเพียงพอที่จะทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้พอที่จะประเมินความเสี่ยงได้

การควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเพียงวันละ 10 รายเป็นเรื่องที่ดีและต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ทุ่มเทพละกำลัง ความสามารถจนทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ เป็นประเทศที่พูดได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการควบคุมจำนวนผู้ป่วยและจำกัดจำนวนผู้เสียชีวิตให้อยู่ที่ระดับต่ำมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ผมเชื่อว่าการปิดล็อคเศรษฐกิจต่อไปอีกยาวนานเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เท่ากับปัจจุบันหรือต่ำกว่านี้ต่อไปอีก 2-3 เดือนจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่รอด

มีหลายคนถามว่ารัฐบาลและแบงค์ชาติใส่เงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจรวมกัน 2-3 ล้านล้านบาทแล้ว “เพียงพอ” หรือไม่? คำตอบของผมคือใส่เข้าไปมากเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เพราะเงินที่ใส่เข้าไปไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการปิดล็อคเศรษฐกิจได้ แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 1997 ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์ของไทยกู้เงินจากต่างประเทศมากเกินไป เพื่อไปลงทุนสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่คนไทยใช้จ่ายเกินรายได้ (ขาดดุลบัญชีเดดินสะพัด) และต่อมาแบงค์ชาติพลาดท่าสูญเสียทุนสำรองไปจนหมด ทางออกของประเทศไทยในครั้งนี้จึงมีความชัดเจนว่า

1.ต้องไปกู้เงินตราต่างประเทศจากไอเอ็มเอฟ (หรือจะเบี้ยวหนี้เหมือนมาเลเซียก็ได้)

2.ไอเอ็มเอฟบังคับให้คนไทยลดการใช้จ่ายที่เกินตัวลง โดยให้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ตึงตัวอย่างมาก

3.ยาแรงเกินไปทำให้ธุรกิจและธนาคารล่มสลายมากมายเกินความจำเป็น แต่ก็ทำให้ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์หมดไปและธนาคารมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงขึ้นอย่างเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ

4.มีคนตกงานในช่วง 1997-1998 ในภาคการเงินและภาคการก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์น่าจะสูงถึง 2 ล้านคน แต่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ รองรับได้ โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงค์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้เป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถรองรับทรัพยากรที่ต้องทยอยออกจากภาคอสังหาริมทรัพย์/ก่อสร้าง/ตลาดทุนที่ต้องลดขนาดลง

5.แต่ก็เป็นการปรับตัวที่ต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปี ในขณะที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศอย่างมากทั้งในเชิงของการขายสินค้าและขายบริการ ทำให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นจาก 39% ของจีดีพีในปี 1996 (ก่อนวิกฤติ) มาเป็น 66.8% ในปี 2018

ประเด็นคือในครั้งนี้ที่ประเทศไทยปิดล็อคเศรษฐกิจเพื่อปราบ COVID-19 ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ปิดเศรษฐกิจเพื่อปราบ COVID-19 เช่นกัน ดังนั้นจึงจะไม่มีหนทางใดเลยที่เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวได้ เพราะนอกจากมาตรการของรัฐ (และความกลัวของ ประชาชน) จะทำให้การผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศจะต้องลดลงอย่างมากแล้ว การจะผลิตเพื่อขายสินค้าและบริการในต่างประเทศก็มีข้อจำกัดอย่างมาก

แต่ “ทางรอด” ที่น่าจะชัดเจนและเป็นไปได้มากที่สุดคือการคลายการล็อคเศรษฐกิจภายในประเทศให้ได้มากที่สุดในทันทีเพื่อต่อท่อให้ธุรกิจต่างๆ มีลมหายใจเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ ทั้งนี้นักธุรกิจก็ได้ส่งสัญญาณให้ทราบแล้วว่าหากยังจะล็อคเศรษฐกิจต่อไปอีก 2 เดือนถึงปลายเดือน มิ.ย. ก็เป็นไปได้ว่าจะมีคนต้องตกงานมากถึง 5-7 ล้านคน (วิกฤติเมื่อปี 1997 มีผู้ตกงานประมาณ 2 ล้านคน)

ผมเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ (หมายถึง SMEs เกือบทั้งหมด) น่าจะยังต้องการรักษาธุรกิจของตัวเองเอาไว้และต้องการดูแลพนักงานของตัวเองให้นานมากที่สุด แต่จากข้อมูลที่พอจะมีอยู่และเปรียบเทียบกับข้อมูลประเทศอื่นๆ นั้น ผมสรุปว่า เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะทนต่อการขาดทุนเพื่อดำรงธุรกิจของตนเอาไว้ได้ไม่เกิน 3 เดือนหากไม่มียอดขายเลย หลังจากนั้นก็คงจะต้องถอดใจและปิดธุรกิจ ปล่อยให้พนักงานต้องว่างงานเป็นจำนวนหลายล้านคน

ดังนั้นจึงจะมีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดมากในการที่ภาคธุรกิจจะต้องรับรู้นโยบายที่ชัดเจนว่าจะเปิดเศรษฐกิจอย่างใดและมากน้อยเพียงใด เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถวางแผนและเตรียมการเพื่อพยายามเปิดธุรกิจของตนอีกครั้ง โดยผมเชื่อว่าหากทำได้ทันท่วงทีก็จะยังมีธุรกิจที่จะยอมเสี่ยงลองทำธุรกิจต่อไปอีกจะยังไม่ “ถอดใจ”

แต่หากปล่อยให้เวลาผ่านไปอีก 1-2 เดือนโดยไม่พยายามคลายล็อคให้มีผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ (exponential) ดังที่กล่าวข้างต้นครับ
โพสต์โพสต์