วันที่ 29 เมษายน ค.ศ.2520 สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19ในสหรัฐอเมริกายังรุนแรงต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตกว่า 60,000คน และผู้นำทางการเมืองยอมรับว่าประมาณเดือนสิงหาคมนี้ยอดผู้เสียชีวิตคงประมาณ 74,000คน จำนวนคนตกงานปัจจุบันเกินกว่า 30ล้านคนและเศรษฐกิจหดตัวในช่วงสามเดือนแรกเกือบ 5%
ผู้นำทางการเงินภาครัฐฯประกาศย้ำเตือนเรื่องความตึงเครียดของความคล่องตัวทั้งระบบ และเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจแทบทุกอุตสาหกรรมจะต้องต่อสู้กับปัญหาเฉพาะหน้าไปอีกเป็นเวลา1-2ปี ธุรกิจหลายแห่งซึ่งปิดชั่วคราวในขณะนี้อาจต้องปิดถาวร เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจที่คนต้องอยู่ใกล้ชิดกันอาจโดนบังคับให้เปลี่ยน และคนเป็นจำนวนมากจะเปลี่ยนอาชีพและสถานที่ทำงานเพราะเงื่อนไขเรื่องสุขภาพและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
บริษัทชำแหละเนื้อและผลิตอาหารสดต่างๆมีผู้ป่วยและตายเป็นจำนวนมาก มีข่าวเรื่องการลดความเข้มงวดเรื่องการป้องกันดูแลสุขภาพคนงานและตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ต่อเนื่องไปถึงการสะดุดชะงักของระบบการผลิตและขนส่งอาหาร รัฐบาลต้องออกคำสั่งเร่งด่วนบังคับให้โรงงานเปิด
วันเดียวกันนี้ตลาดหุ้นอเมริกา DJIAพุ่งขึ้น2.2%ถึง 24,633จุด ซึ่งเป็นการเพิ่มถึง 12%จากเดือนมีนาคม
ทำไมมีข่าวร้ายแต่ตลาดหุ้นกลับฟื้นตัว?
เป็นไปได้ว่าวิกฤตครั้งนี้กระทบกระเทือนความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วโลก อุตสาหกรรมน้ำมันดิบสั่นสะเทือนจนราคาถึงขั้นติดลบอย่างไม่มีเหตุผลของอุปสงค์อุปทาน และความระส่ำระสายสับสนของนโยบายในแต่ละประเทศทำให้นักลงทุนยังไม่เห็นว่ามีที่ใดที่มีภาพพจน์ของความมั่นคงแทนอเมริกาได้ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็คือเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบจากภาครัฐของอเมริกาเป็นจำนวนมหาศาลตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา
นักลงทุนรีบคว้าเอาความมั่นใจจากการที่รัฐบาลอเมริกันรีบออกข่าวเรื่องยาRemdesivir ที่ช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยซึ่งกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลให้มีอาการดีขึ้นเร็วกว่าปกติประมาณ 31% และผลักดันให้มีการอนุมัติยานี้ออกจำหน่ายเป็นการเร่งด่วน
ขณะเดียวกันมีข่าวความคืบหน้าเรื่องที่ทดลองวัคซีนกับลิง โดยกลุ่มวิจัยในอังกฤษและจีน ซึ่งมีผลขั้นต้นเป็นที่น่าพอใจ ทางอังกฤษไม่รอการทดลองกับมนุษย์เพราะความกดดันเรื่องเวลา จึงรีบสั่งโรงงานผลิตวัคซีนในอินเดียให้รีบผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้กับมนุษย์
World Health Organization (WHO)ประกาศว่ามีกว่า87บริษัททั่วโลกกำลังเร่งหาทางวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนอย่างเร่งด่วน
ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ทำการศึกษาและผ่านประสบการณ์เรื่องโรคระบาดใหญ่มาหลายครั้งแล้วกลับมีความเห็นในทางท้วงติงเพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งอเมริกาให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะโดยประสบการณ์แล้วการผลิตวัคซีนนั้นอย่างเร็วที่สุดและให้ปลอดภัยโดยการทดลองกับมนุษย์นั้นต้องใช้เวลาหนึ่งปีครึ่ง และเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่มีวัคซีนเลยก็ได้
ในกรณีของอเมริกานั้นประเมินว่าอาจมีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 10%ของประชากร หรือประมาณ 30ล้านคนซึ่งทำให้เหลือประชากรอีก 300ล้านคนซึ่งยังมีความเสี่ยงอย่างมากหากวัคซีนยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นการจะเปิดประเทศหรือเปิดเศรษฐกิจหากทำโดยเร่งด่วนเกินไปจะทำให้สถานรักษาพยาบาลล้น จะมีผู้ป่วยมากเกินกว่าที่จะรับได้และจะเกิดการล้มตายถึงกว่า 2ล้านคนตามที่เคยประเมินมาก่อนแล้ว
หากโชคดีมีการค้นพบวัคซีน ก็ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการผลิต เพราะปัจจุบันการผลิตวัคซีนในอเมริกาสูงสุดสำหรับใช้ไม่เกิน 4ล้านคนต่อปี ความสามารถในการผลิตวัคซีนใหม่เพื่อประชากร 300ล้านคนนั้นยังไม่เคยทำได้มาก่อน
ส่วนยารักษานั้นยังอยู่ในขั้นทดลองเบื้องต้น ซึ่งกว่าจะรู้ผลขั้นต่อไปก็อีกสองเดือน และยาที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีการประโคมข่าวดีต่างๆเป็นระยะๆนั้นเป็นเพียงแค่ยาซึ่งช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่ป่วยหนักเท่านั้น ไม่ใช่ยาป้องกัน
เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่จะมองข้ามไม่ได้คือการจะเปิดประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีความพร้อมในการตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเมินว่าจะต้องมีการตรวจต่อวันประมาณ 750,000คนขึ้นไป (บางสถาบันรวมทั้งHarvard ระบุว่าต้องมีการตรวจเชื้อ 5-10ล้านคนต่อวัน) จึงจะรู้ว่าการระบาดอยู่ที่ไหนและจะควบคุมอย่างไร หากไม่มีข้อมูลชัดเจนเรื่องการระบาดก็จะควบคุมไม่ได้
ความเห็นในสังคมอเมริกันแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งกระตือรือร้นจะเปิดเศรษฐกิจและพร้อมที่จะเสี่ยงโดยอิงข่าวดีเป็นความหวังว่าสถานการณ์คงจะไม่ร้ายแรงเกินไปกว่านี้ และอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยังไม่พร้อมที่จะเสี่ยงและอยากให้ทั้งประเทศมีวินัยช่วยเหลือกันควบคุมการระบาดครั้งนี้โดยการลดกิจกรรมนอกบ้านให้มากที่สุด จนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงถึงขั้นปลอดภัย
ความขัดแย้งนี้เห็นชัดหลายระดับ บางรัฐประกาศเปิดแล้วขณะที่รัฐใกล้เคียงยังไม่พร้อม อีกประมาณหนึ่งเดือนตัวเลขของการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากรัฐที่เปิดเศรษฐกิจแล้วและรัฐซึ่งอยู่ใกล้เคียง ก็จะเป็นหลักฐานที่สำคัญให้มีการทบทวนนโยบาย และคาดว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
มหาอำนาจเศรษฐกิจและการทหารอันดับหนึ่งของโลกมาถึงจุดขับขันที่ต้องเลือกระหว่างเส้นทางหนึ่งคือเสียชีวิตประมานแสนคน อีกเส้นทางหนึ่งอาจสูญเสียประชากรถึง 2ล้านคน อเมริกาไม่เคยโดนทดสอบอย่างนี้มาก่อน ทั้งโลกต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั่วโลก เราต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนส่วนตัวและต้องกระจายความเสี่ยง อดทนประหยัดและตัดสินใจรอบคอบ เพราะอะไรหลายอย่างที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ อาจปรากฎภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ครับ
กฤษฎา บุญเรือง
การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดของอเมริกา/กฤษฎา บุญเรือง
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1