เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เศรษฐกิจไทยหลังการเริ่มคลายล็อค(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐและยุโรปเริ่มคลายล็อคเพื่อหยุดการแพร่ขยายของ COVID-19 ลงไปตามลำดับใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยังมีข้อถกเถียงกันจากฝ่ายหนึ่งที่มองว่า ควรจะต้องผ่อนคลายล็อคต่อไป เพราะหลายคนเริ่มมีความเครียดทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ตักเตือนว่าการคลายล็อคเร็วเกินไปจะทำให้มีการระบาดอย่างแพร่หลายเป็นรอบที่ 2 ทำให้ “ผลงาน” ที่ทำมาทั้งหมดในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด นอกจากนั้นก็ยังมีการกล่าวว่าการคลายล็อคนั้นอาจต้องกลับไปกลับมาโดยใช้สำนวนว่า "hammer and dance” ซึ่งผมเข้าใจว่าหากการระบาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็ต้องเอาค้อนทุบล็อคประเทศใหม่อีกครั้ง และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จะคลายล็อคปล่อยให้กลับออกมา “เต้นรำ” กันได้อีก แต่ก็เตรียมพร้อมที่จะเอาค้อนมาทุบเศรษฐกิจได้ตลอดเวลา

กรณีที่ 3 ข้างต้นน่าจะเป็นกรณีที่พึงปรารถนาน้อยที่สุด เพราะธุรกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้และประชาชนคนไทยคงจะตกงานกันเป็นจำนวนหลายล้านคน ในความเห็นของผมนั้นประเทศไทยน่าจะสามารถคลายล็อคทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องเพราะการติดเชื้อรายใหม่ของไทยมีน้อยมาก ในขณะที่ศักยภาพในการตรวจหาเชื้อของเราตลอดจนศักยภาพของการรองรับผู้ป่วย COVID-19 ของไทยนั้นมีอยู่เกินกว่าจำนวนผู้ป่วยปัจจุบันอย่างมาก กล่าวคือ ณ วันที่ 5 พฤษภาคมประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็น COVID-19 รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 187 คน แต่ได้เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย COVID-19 กว่า 15,000 เตียงและห้องไอซียูสำหรับ 4,000 คน ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่นั้นก็พบเป็นจำนวนสิบราย ในขณะที่เรามีความสามารถในการตรวจ 20,000 รายต่อวัน แม้จะต้องตรวจซ้ำ 1-2 ครั้ง ก็สามารถทำได้เพราะแม้จะพยายามตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง (เช่นคนงานต่างด้าว) แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องตรวจเพียงประมาณ 3,000 รายต่อวัน ในขณะที่มีศักยภาพในการตรวจด้วย RT PCR 20,000 รายต่อวัน

ผมขอนำเอากรณีของสหรัฐมาเปรียบเทียบกับกรณีของไทย เพราะสหรัฐก็กำลังพยายามคลายล็อคทางเศรษฐกิจและสังคมและดูเหมือนว่าจะทำอย่างเร่งรีบกว่าของไทยอีกด้วย ที่สำคัญคือสหรัฐกำลังคลายล็อคอย่างต่างคนต่างทำ เพราะอำนาจส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ว่าของมลรัฐต่างๆ ที่มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเปรียบเทียบได้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบการบริหารราชการของประเทศยังไม่ได้พัฒนาให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ดังนั้นการเปรียบเทียบกับประเทศไทย จึงน่าจะทำได้และระบบการรวมศูนย์อำนาจของไทย น่าจะทำให้การคลายล็อคของเราทำได้อย่างมีเอกภาพมากกว่าที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สหรัฐ

ในครั้งนี้ผมขอนำเสนอข้อเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวที่ไทยและสหรัฐ ซึ่งสรุปจากตารางประกอบ โดยอาศัยข้อมูลจนถึงวันที่ 5 พ.ค. 2563

รูปภาพ

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วกว่า 1.2 ล้านคน แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละประมาณ 30,000 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1/3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,000 คน กล่าวคือสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าไทยประมาณ 40 เท่าตัว สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นเราเกือบจะไม่มีแล้ว แต่สหรัฐยังมีให้เห็นวันละประมาณ 30,000 ราย

หากดูข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตก็จะเห็นว่าสหรัฐมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าไทยเกือบ 130 เท่า (69,925 คน เปรียบเทียบกับ 54) และสหรัฐยังต้องมีคนที่เสียชีวิตเพราะ COVID-19 เฉลี่ยวันละ 1,800 คน

การเปรียบเทียบอีกวิธีหนึ่งคือการเปรียบเทียบกันโดยคำนึงถึงประชากร ซึ่งประชากรของไทยนั้นมีอยู่ประมาณ 67 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐมีประชากรประมาณ 330 ล้านคน กล่าวคือไทยมีประชากร 1/5 ของสหรัฐ ดังนั้นผมจึงนำเอาตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วย COVID-19 ไปหารด้วย 5 ซึ่งจะเป็นเสมือนการจำลองว่าหากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงเท่ากับสหรัฐแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะมีมากเพียงใดซึ่งคำตอบปรากฏอยู่ที่บรรทัดที่ 5 ของตาราง

จะเห็นได้ว่าหากประเทศไทยประสบกับสิ่งที่สหรัฐกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ก็จะต้องมีผู้ป่วยสะสมเกือบ 250,000 คนและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 6,000 คนและมีผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 14,000 คนและเสียชีวิตวันละ 360 คน เราคงจะช็อคกันทั่วประเทศและสิ่งสุดท้ายที่เราคิดจะทำคือการคลายล็อค ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดเพิ่มขึ้นของ COVID-19

แต่สหรัฐก็กำลังเดินแผนการที่จะคลายล็อคในกว่า 40 มลรัฐทั่วประเทศและจะขยายต่อไปสู่มลรัฐอื่นๆ ในเร็ววันนี้ คำถามคือทำไมจึงคิดเช่นนั้น?

คำตอบคือ คนสหรัฐเป็นห่วงเศรษฐกิจมากกว่ากลัวการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งผมจะนำรายละเอียดมาขยายความให้อ่านกันในครั้งต่อไปครับ
โพสต์โพสต์