ปัจจุบันเราเห็นกระแสทั่วโลกที่เร่งการคลายล็อคเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่ผมเกรงว่าสำหรับหลายประเทศในโลกนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันยังสูงมาก ดังนั้นการคลายล็อคจึงมีความเสี่ยงว่าจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากดูตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกจะเห็นว่าตัวเลขยังไม่ลดลง กล่าวคือมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกวันละประมาณ 80,000 คน ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. ถึงวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดในขณะที่เขียนบทความนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ที่เสียชีวิตทั่วโลกเป็นรายวันมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 7,000 รายต่อวันในเดือนเม.ย.มาอยู่ที่ 4,500 รายต่อวันในกลางเดือนพ.ค. ซึ่งอาจตีความได้ว่าระบบสาธารณสุขของโลกโดยรวมสามารถควบคุมและรักษาพยาบาลผู้ที่ติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นและเป็นแรงผลักดันให้คลายล็อคเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศในโลก
ผมเห็นว่าในขณะที่หลายประเทศยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเปิดเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐและอังกฤษ ในกรณีของอังกฤษนั้นมีประชากรประมาณ 68 ล้านคนเท่ากับประเทศไทย แต่มีผู้ติดเชื้อมากถึง 250,000 คนและมีผู้เสียชีวิต 35,000 คน สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อจึงสูงถึง 14% แปลว่าระบบสาธารณสุขน่าจะทำการรักษาพยาบาลได้ไม่ดีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดเพียง 3,033 คนและมีผู้เสียชีวิต 56 คน คิดเป็นเพียง 1.8% ขอย้ำนะครับว่าอังกฤษกับไทยมีประชากรเท่าๆ กัน แต่ที่อังกฤษมีผู้ติดเชื้อมากกว่าไทยกว่า 80 เท่าและมีผู้เสียชีวิตมากกว่าไทยประมาณ 625 เท่า
อังกฤษเป็นหนึ่งในหลายประเทศในยุโรปที่กำลังคลายล็อคทางเศรษฐกิจทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันยังลดลงไม่มาก กล่าวคือจากประมาณ 4,500 รายต่อวันในเดือนเม.ย. มาเป็น 3,500 รายในเดือนพ.ค. จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันของอังกฤษมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของไทยจนถึงปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ทำให้อังกฤษมีความมั่นใจว่าควรจะคลายล็อคและฟื้นเศรษฐกิจน่าจะมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เฉลี่ยสูงเกือบ 1,000 คนต่อวันในเดือนเม.ย. ลดลงมาอย่างมากในเดือนพ.ค.ที่ประมาณ 300-400 คนต่อวันและตัวเลขล่าสุดมีผู้เสียชีวิต “เพียง” 170 คนในวันที่ 17 พ.ค.และ 160 คนในวันที่ 18 พ.ค.
ที่ผมยกตัวเลขมามากมายนี้ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าตัวเลขของประเทศไทยนั้นดีกว่าตัวเลขของประเทศอังกฤษอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ในทุกมิติ ดังนั้นประเทศไทยจึงน่าจะอยู่ในสภาวะที่สามารถคลายล็อคทางเศรษฐกิจได้อย่างเร่งรีบ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าชะล่าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีการระบาดรอบใหม่ แต่เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ3-4 คนนั้น ทำให้มีความมั่นใจอย่างมากว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นไปกว่านี้อีก 10 เท่าตัวคือ 30-40 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขของไทยที่ปัจจุบันมีศักยภาพในการจัดการกับสถานการณ์ กล่าวคือไทยสามารถทดสอบ(testing) ผู้ติดเชื้อวันละ 20,000 รายในกว่า 100 ห้องทดลองทั่วประเทศ มีอสม.ที่สอดส่องดูแล (tracing) โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมากกว่า 1 ล้านคน มีเตียงที่เตรียมเอาไว้รองรับผู้ป่วยเป็น COVID-19 15,000 เตียงและมีห้อง ICU ที่เตรียมเอาไว้สำหรับ COVID-19 ประมาณ 2,000 ห้อง ในขณะที่ปัจจุบันเรามีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลไม่ถึง 120 คน
มีการกล่าวว่าเราควร “ตั้งการ์ดเอาไว้” แต่หากยกแขนตั้งการ์ด มือก็จะไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้และการ “ขู่” ว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นก็จะล็อคเศรษฐกิจกลับไปเหมือนในเดือนเม.ย. ผมของมองต่างมุมว่าหากจะ “ขู่” และ “ไล่จับผิด” ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างเข้มงวดเกินจำเป็นแล้ว การคลายล็อคก็จะเป็นไปในบรรยากาศที่ประชาชนถูกกดดันและขาดความมั่นใจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจทุกคนจะรู้ดีว่าหากขาดความมั่นใจและขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังให้เกิดความมั่นใจจากภาครัฐแล้ว การขับเคลื่อนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในสภาวะปัจจุบันนั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อยมากเพราะปัจจุบันประชาชนทั่วไปนั้นยังเกรงกลัว COVID-19 อย่างมากเป็นเกณฑ์อยู่แล้ว
ประเทศไทยนั้นก่อน COVID-19 พึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศอย่างมากเพราะการส่งออกสินค้าและบริการ(การท่องเที่ยว) สูงถึง 68% ของจีดีพี การบริโภคในประเทศนั้นมีสัดส่วนเพียง 50% ของจีดีพี ที่สำคัญคือไทยน่าจะพึ่งพากำลังจากต่างประเทศได้ยาก เพราะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากกว่าไทยมากว่าการคลายล็อคจะทำให้มีการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 นอกจากนั้นการที่สหรัฐอาจทำสงครามทางการค้ากับจีนก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างเชื่องช้า
ประเด็นคือการฟื้นเศรษฐกิจของไทยนั้นน่าจะต้องพึ่งพากำลังซื้อภายในประเทศและการเปิดการท่องเที่ยวกับประเทศในเอเชียที่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19เป็นหลัก ประเทศในเอเชียที่สามารถควบคุมการะบาดของ COVID-19 ได้แล้วคือจีน (และฮ่องกงกับไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์และเวียดนาม ทั้งนี้เพราะภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้นก่อนหน้านี้เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด กล่าวคือในปี 2019 (ก่อน COVID-19) ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 40 ล้านคน แต่ปีนี้ในไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวเพียง 7 ล้านคนและครึ่งหลังของปีนี้หากคลายล็อคอย่างเชื่องช้าก็อาจมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพียง 3-4 ล้านคน แปลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจาก 40 ล้านคนเหลือเพียง 10 ล้านคนและในปี 2021 ก็น่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 15 ล้านคน แปลว่าอุปสงค์ก็จะต่ำกว่าอุปทานอย่างมาก
ประเทศไทยจะต้องลดขนาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลงไปและต้อง “แปรรูป+ปรับโครงสร้าง”เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก แต่ก็ควรเร่งเปิดให้นักท่องเที่ยวจากเอเชียเข้ามาในโอกาสแรกเพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุดและช่วยจุนเจือผู้ประกอบการให้ทันท่วงทีที่สุด ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนหรือแนวนโยบายที่ชัดเจนว่าจะจัดสรรทรัพยากรส่วนเกินในภาคการท่องเที่ยวไปสู่ภาคเศรษฐกิจใด
การคลายล็อคเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ-ช่วยภาคท่องเที่ยวโดยเร็ว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1