หลายท่านเริ่มถามถึงการจัดพอร์ตที่เหมาะสมหลังวิกฤติโควิด -19 แต่ต้องเรียนก่อนนะคะว่าวิกฤติยังไม่สิ้นสุด แม้ประเทศไทยเราจะจัดการกับวิกฤติได้ดีกว่าทุกประเทศในโลก และได้รับคำสรรเสริญจากหลายๆกลุ่ม รวมถึงจากองค์การอนามัยโลกก็ตาม เนื่องจากท่ามกลางประเทศต่างๆที่ยังมีการระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเกิดระบาดได้อีก
อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุน หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจุดต่ำสุดที่นักลงทุนหวาดกลัวสูงสุดและขายสินทรัพย์เสี่ยงหนีตายกันอย่างไม่คิดถึงมูลค่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การฟื้นตัวเกิดขึ้นไม่เสมอภาคกันทุกธุรกิจ และไม่ทั่วภูมิภาคของโลกค่ะ บางธุรกิจไปได้ดีกว่าก่อนเกิดวิกฤติ แต่บางธุรกิจก็สาหัสถึงขั้นล้มละลาย หรือยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
ดิฉันเคยให้แนวทางไปกว้างๆว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ การลงทุนในลักษณะตามดัชนีแบบ passive จะไม่ได้ผลดีนัก การลงทุนที่จะได้ผลดี คือการลงทุนแบบ “เลือกลงทุน”
ยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจที่ไปได้ดีในช่วงวิกฤติโควิด และยังมีแนวโน้มไปได้ดีต่อคือ กลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การเก็บข้อมูลและระบบปฏิบัติการบนคลาวด์ (Cloud Computing) ระบบประชุมวิดีโอและสัมมนาผ่านอินเตอร์เน็ต การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและการควบคุมสั่งการของอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราเรียกว่า Internet of Things การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการทดแทนมนุษย์เพื่อทำงานยากๆ หรืองานที่มีความเสี่ยงสูง (ไม่ว่าจะเสี่ยงในเรื่องอุบัติเหตุ หรือเสี่ยงในทางสุขภาพ) หรือทำงานวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ฯลฯ
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ ที่เรียกว่า Health Tech เช่น การศึกษาเรื่องจีโนม (Genome) ให้ลึกซึ้ง การนำยาหรือให้การรักษาให้ถึงจุดเป้าหมายโดยใช้เครื่องมืออัตโนมัติ การใช้ข้อมูล Big Data มาเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพ ฯลฯ การนำเทคโนโลยีไปใช้ในวงการเกษตร ที่เรียกว่า Agri Tech และในวงการอื่นๆ เช่น พลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลบวกในภาวะที่ผู้คนถูกล็อคดาวน์อยู่กับบ้าน หรือจำกัดการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน คือกลุ่มของบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์ค่ะ ความต้องการซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นแล้ว ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และพื้นที่คลังสินค้าก็เพิ่มขึ้น และผู้ให้บริการส่งถึงประตูบ้านก็มีธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดเจน
แนวโน้มหนึ่งที่สำคัญ และในอนาคตจะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นข้อบังคับให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆต้องนำเข้ามาฝังอยู่ในการทำธุรกิจคือ การยึดถือเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อหลายปีก่อน
ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน นอกจากลูกค้าจะถามถึง หรือมองถึงเป้าหมายทั้ง 17 ข้อนี้แล้ว รัฐบาลของประเทศต่างๆก็พยายามจะนำเข้าไปเป็นข้อบังคับ หรือบางครั้งก็ทำเป็นกฎหมาย เพื่อให้ธุรกิจปฏิบัติตาม ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องใส่ใจด้วยว่า บริษัทที่เข้าไปลงทุน ตั้งใจทำตัวให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลก รักษ์โลก และสนใจสังคม ไม่เห็นแก่ตัว พยายามเผื่อแผ่ให้กับผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขในระยะยาว และยั่งยืน หรือไม่ หากไม่สนใจ และไม่ตั้งใจปฏิบัติตาม บริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาวค่ะ เงินลงทุนของท่านก็อาจจะด้อยค่าลงไป เพราะมูลค่าของบริษัทเสื่อมถอยลง
สำหรับภูมิภาคในการลงทุน แน่นอนว่า หากต้องการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี หลักทรัพย์ที่จะลงทุนต้องเป็นหุ้นทุน และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ก็จะจดทะเบียนในตลาดพัฒนาแล้วทั่วโลก หรือ ไปตลาดรวมศูนย์กลาง คือ แนสแดค (NASDAQ) อย่างไรก็ดี หุ้นเทคโนโลยีของบางบริษัทก็จดทะเบียนอยู่มากกว่าหนึ่งตลาด และเมื่อเกิดแนวโน้ม Deglobalization หรือการไม่ใส่ใจในเรื่องโลกาภิวัฒน์มากเหมือนในสองทศวรรษก่อนแล้ว หุ้นเทคโนโลยีบางบริษัทถือโอกาสไม่ไปจดทะเบียนในตลาดแนสแดค แต่จดในตลาดบ้านของตนเองแทน เพราะฉะนั้น ต้องเลือกว่าจะซื้อขายในตลาดใดจึงจะสะดวกค่ะ
สำหรับตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ได้คุยกับนักวิเคราะห์หลายๆบริษัท พบว่ามีความเห็นใกล้เคียงกันคือ ในบรรดาตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย ภูมิภาคเอเชีย ดูจะน่าสนใจที่สุด เพราะยังมีการเติบโต และโดยรวมก็ยังมีธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี ในประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์
แต่ที่ไม่ควรลืม คือหุ้นคุณค่า หรือ Valued Stocks ค่ะ เพราะระหว่างที่คนพากันรุมสนใจหุ้นเทคโนโลยี และให้ราคาที่ค่าพีอีสูงๆ หุ้นคุณค่าที่ราคาตกลงไปมากจนค่าพีอีเหลือต่ำ ก็ยังมีนะคะ ต้องเลือกดู อย่ามองข้าม
นอกจากนี้ ก็จะมีหุ้นใหม่ๆเข้ามาให้เลือกลงทุนกันมากมาย เวลาวิเคราะห์ ต้องมองถึงแนวโน้มธุรกิจ ว่าจะสามารถเติบโตในยุค “ความปกติใหม่” ได้หรือไม่ หากได้ ธุรกิจนั้นย่อมมีอนาคตและสามารถเติบโตได้ดีค่ะ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการลงทุนในช่วงนี้ มีความผันผวนสูง ดัชนี VIX ที่วัดความผันผวน เมื่อวันที่ 8 กันยายน อยู่ที่ 31.46 คือคนกังวลและตกใจ (ค่าเกิน 30 ถือว่าผันผวน) แต่ในวันที่ 24 กันยายน ดัชนี VIX ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 28.51 คือคนเริ่มกลัวน้อยลง ตลาดเพิ่มผันผวนน้อยลง ดังนั้น การจัดพอร์ต ต้องจัดแบบกระจายการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงด้วยนะคะ ไม่ใช่ว่าคิดว่าเทคโนโลยีดี จึงซื้อเข้าไปเต็มพอร์ต ต้องมีการกระจายไปลงกลุ่มอื่นๆบ้าง ลงสินทรัพย์ประเภทอื่นบ้าง โดยเฉพาะสินทรัพย์สภาพคล่อง คือเงินสด เงินฝาก และตลาดเงิน
สำหรับดัชนีวัดค่าความกลัวและความโลภ หรือ Fear & Greed Index ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นไปถึง 73 แปลผลได้ว่า คนกำลังโลภ และไม่กลัว จึงทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงทั่วโลก แต่ ณ วันที่ 24 กันยายน 2563 ดัชนี้ อยู่ที่ 48 ซึ่งเป็นเขต “เป็นกลาง” แปลว่าคนไม่กลัว แต่ก็ไม่กล้ามากนัก หรือแปลอีกทีคือ เฉยๆค่ะ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนค่ะ
จัดพอร์ตลงทุนหลังโควิด -19/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1