การแถลงนโยบายของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การแถลงนโยบายของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมได้อ่านรายงานการแถลงนโยบายของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 20 ตุลาคม 2020 และมีข้อสังเกตดังนี้

1.หนึ่งใน 5 โจทย์ใหญ่คือข้อ 3 “รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ COVID-19 และระยะต่อไปได้ดี” ตรงนี้คงจะแปลว่าหน่วยงานอื่นๆ และภาคเอกชนจะต้องประเมินเดอาเองว่าควรจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไรในโลกที่เผชิญกับ COVID-19 และอาจต้องอยู่กับ COVID-19 โดยคำที่สำคัญคือเพียง “รองรับการเปลี่ยนแปลง” ธปท.จะไม่ใช่หนึ่งในผู้ที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลง

2.อีกตอนหนึ่งบอกว่า “เนื่องจากปัญหาหลากหลายรวมถึงการฟื้นตัวจากการ แพร่ระบาด COVID-19 คาดว่าจะใช้เวลานานและมีความไม่แน่นอนระหว่างทางค่อนข้างสูง” แต่ก็บอกอีกตอนหนึ่งว่า “ความช่วยเหลือ (ด้านสินเชื่อ) ไปให้กับทุกคนจะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ไม่ดีในภาพรวม อาทิคนที่สามารถจ่ายได้ไม่ยอมจ่ายเป็นการสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ หากปล่อยให้เกิดขึ้นจะอันตรายมาก” ซึ่งทั้งสองหลักการนั้นผมเห็นด้วยแต่จะทำอย่างไรให้ได้ทั้งสองวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติและใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งผมเข้าใจว่าในสภาวะปัจจุบันคงจะให้แต่ละธนาคารพาณิชย์ในฐานะเจ้าหนี้เป็นผู้ตัดสินใจเพราะธปท.ก็บอกแล้วในข้อ 1 ข้างต้นว่าจะเพียงแต่ “รองรับการเปลี่ยนแปลง”

3.อีกตอนหนึ่งกล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือจะต้องทำให้ “ตรงจุดมากขึ้น” ต้องแยกแยะว่าใครที่สามารถชำระหนี้ได้... “กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงต้องหามาตรการช่วยเหลือ อาทิการปรับโครงสร้างหนี้ให้เวลาเจรจากับสถาบันการเงินของตนภายในสิ้นปี 2563 สำหรับกลุ่มที่กระแสเงินสดอาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนักสามารถเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อยืดเวลาชำระหนี้ออกไปจนถึงเดือยมิถุนายน 2564”

แปลว่ามีสมมติฐานว่าตอนกลางปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้นและมีความชัดเจนหรือมีวัคซีนใช่หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันก็บอกว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ค่อนข้างจะอยู่นานแต่สามารถแก้ไขได้ซึ่งต้องใช้เวลา” ตรงนี้แปลว่าเจ้าหนี้ (ธนาคาร) ด้วยจะผ่อนปรนให้กับลูกหนี้มากๆ ใช่หรือไม่ แต่การผ่อนปรนสินเชื่อแปลว่าไม่จ่ายดอกเบี้ยและชะลอการคืนเงินต้น แต่หากทำเช่นนั้นสถาบันการเงินก็ต้องรับภาระเพราะสถาบันการเงินก็มีค่าใช้จ่ายและต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน



ดังนั้น ส่วนสำคัญของการ “รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน” คือธนาคารพาณิชย์ต้องมีความแข็งแรง หมายถึงลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้คืนเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งสิ่งที่สะท้อนสถานะของธนาคารพาณิชย์คือราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และการประกาศออกพันธบัตรชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มกองทุนขั้นที่ 1 และแปลได้ว่ากำลังต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญคือความพอดีระหว่างการช่วยลูกหนี้กับการรักษาความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินนั้นอยู่ตรงไหน หากประเทศไทยไม่รู้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศควรปรับตัวไปในทิศทางใด?

4.หนึ่งใน “ปัจจัยบวกในของประเทศ” ที่ธปท.กล่าวถึงคือ “ด้านตลาดแรงงานของไทยถือว่ามีความยืดหยุ่นสูงมาก แม้จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่คนที่ตกงานสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานไปยังงานอื่นๆ ได้...ปัญหาขณะนี้จึงไม่ได้อยู่ที่การตกงานหรือว่างงาน แต่อยู่ที่คนทำงานน้อยกว่าเดิมมากทำให้รายได้หายไปจากเดิม...การแก้ไขปัญหาด้านชั่วโมงการทำงานที่น้อยลงต้องเร่งเข้าไปดูแล” ตรงนี้น่าจะแปลว่ายังเป็นปัญหาใหญ่มากเพราะปกติมนุษย์เงินเดือนนั้นส่วนใหญ่ก็ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนอยู่แล้ว นอกจากนั้นหนี้สินครัวเรือนก็อยู่ที่ระดับสูงอีกด้วย (ตั้งแต่ก่อน COVID-19) ดังนั้นเมื่อตกงานแล้วต้องหันมาหางานใหม่ที่ตนไม่ได้ถนัดและมีรายได้ต่ำกว่าเดิม จึงน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากและความยืดหยุ่นที่ว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องของการที่ไม่มีทางเลือกมากกว่า

5.อีกตอนหนึ่งกล่าวโดยสรุปว่ามาตรการทางการคลัง “จะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอก” แต่เราก็เห็นแล้วว่าตรงนี้มีเม็ดเงินออกมาสู่เศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ 1 ล้านล้านบาทในส่วนของนโยบายการเงินนั้นก็ได้ตั้งกองทุนสภาพคล่องขึ้นมา 2 กองทุน กองทุนสำหรับตลาดพันธบัตร 400,000 ล้านบาทนั้นยังไม่ได้ใช้เลย ส่วนกองทุนสำหรับ SME 500,000 ล้านบาทนั้นก็ใช้ไปเพียง 120,000 ล้านบาท แต่ธปท.บอกว่า “มาตรการเพิ่มเติมที่ธปท.จะออกมาดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยังไม่รีบร้อนออกมาเพราะต้องใช้เวลาและอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้มาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงไม่ใช่สักแต่ว่าจะออกมาเป็นสีสัน โดยมาตรการที่จะออกมานั้นต้องเป็นยาที่เหมาะสมและช่วยได้จริงด้วยยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน”

ขอให้ท่านผู้อ่านนำเอาไปสรุปกันเองครับว่าเศรษฐกิจไทยจะมี “สีสัน” มากแค่ไหนและจะฟื้นตัวได้มากเพียงใดในปีหน้าครับ
โพสต์โพสต์