ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังจะสะดุดหรือชะลอตัวลง เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น COVID-19 การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น COVID-19 นั้นทำให้ต้องปิดบางส่วนของเศรษฐกิจ (partial shutdown) ในยุโรปและอเมริกานั้น น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้และส่งต่อถึงไตรมาส 1 ของปีหน้าเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและบริการมากถึง 60% ของจีดีพีและเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากกว่าประเทศอื่นๆ ในปีนี้และจะฟื้นตัวได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในหน้า แม้ว่าประเทศไทยจะปลอด COVID-19 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นั้นอยู่กับ COVID-19 ไอเอมเอฟประเมินว่าจีดีพีของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่จะหดตัว 5.7% ในปีนี้และจะขยายตัว 5.0% ในปีหน้า แต่ในประเทศไทยนั้นธปท.ประเมินว่าจีดีพีจะหดตัว 7.8% ในปีนี้และขยายตัว 3.6% ในปีหน้า
ปัจจัยที่สำคัญมากในประเทศไทยในปีหน้าในความเห็นของผมก็คือการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้หลังจากที่ธปท.ได้ออกมาตรการผ่อนปรนให้ลูกหนี้สามารถพักการชำระดอกเบี้ย และการคืนเงินต้นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม และจากวันนี้เป็นต้นไปกำลังให้เจ้าหนี้เข้าไปพูดคุยกับลูกหนี้เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ประเด็นสำคัญคือการที่เราได้เห็นข้อมูลว่า มีลูกหนี้จำนวนมากถึง 12.5 ล้านบัญชีแสดงความจำนงในการพักหนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 ล้านล้านบาทหรือกว่า 1/3 ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้มีทั้งลูกหนี้รายย่อยกว่า 11 ล้านรายและลูกหนี้ SME กว่า 1 ล้านรายที่กำลังเข้าสู่การปรึกษาหารือกับธนาคารเพื่อการปรับโครงสร้างและ/หรือผ่อนปรน
การดำเนินการดังกล่าวคงจะต้องพึ่งพาการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในปี 2021 ทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลัง ซึ่งจะนำไปประเมินความสามารถของลูกหนี้ในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นซึ่งหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงก็ย่อมจะทำให้การปรับโครงสร้างดังกล่าวทำได้ยากลำบากขึ้น ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าสมมุติฐานสำคัญของธนาคารพาณิชย์น่าจะเป็นความเชื่อว่าจะมีการนำเอาวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาฉีดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของโลกในครึ่งแรกของปีหน้า
ข่าวดีว่าวัคซีนของบริษัท Pfizer กับ BioNTech สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ถึง 90% นั้นอาจทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงการประเมินในขึ้นต้นและอาจมีอุปสรรค์อย่างอื่นที่ทำให้ไม่สามารถยุติความกังวลทั้งหมดได้ ทั้งนี้ ในการประเมินของธปท.นั้นประเทศไทยจะสามารถรับนักท่องเที่ยวในจำนวนมากถึง 9 ล้านคน ซึ่งน่าจะเข้ามาในประเทศไทยครึ่งหลังของปีหน้า ส่วนภัทรฯ นั้นมองว่าอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยได้เพียง 6 ล้านคนในปีหน้า
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีมาตรการผ่อนปรนให้กับลูกหนี้เพียงพอที่จะอยู่รอดไปถึงกลางปีหน้าเท่านั้น เพราะการผ่อนปรนดังกล่าวย่อมจะเป็นภาระอย่างมากต่อธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลจึงจะมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดชะตากรรมของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยเฉพาะในครึ่งหลังของปีหน้า แม้ว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่อยู่อย่างปลอด COVID-19 ในขณะที่ส่วนใหญ่ของโลกโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วนั้นพยายามอยู่กับ COVID-19 และดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่อย่างรุนแรงจนต้องปิดเศรษฐกิจเป็นบางส่วน ซึ่งน่าจะต้องต่อเนื่องไปจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ของปีหน้าจนหมดช่วงฤดูหนาว
เมื่อโจ ไบเดน (Joe Biden) ของพรรคเดโมเครทเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ก็จะต้องประเมินต่อไปว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง ซึ่งในระยะสั้นนี้ผมประเมินจากท่าทีของพรรคเดโมเครทว่าจะมีนโนบายปิดเศรษฐกิจที่เข้มข้นกว่าปัจจุบันซึ่งจะส่งผลกระทบในการทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้นได้ในระยะสั้น แต่พรรคเดโมเครทเองก็มีท่าทีต้องการให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในมูลค่าที่สูงมากกว่าที่พรรครีพับลิกันจะยอมรับได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นได้พร้อมๆ ไปกับการอ่อนตัวของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เพราะธนาคารกลางของสหรัฐนั้นต้องการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยการพิมพ์เงินใหม่เพื่อนำไปซื้อพันธบัตรประเภทต่างๆ
และเมื่อธนาคารกลางของสหรัฐทำให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง ผมเชื่อว่าธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ก็คงจะผ่อนคลายนโยบายการเงินของตนด้วยเพราะคงจะไม่ต้องการให้เงินของตนแข็งค่า โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่กำลังเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของ COVID-19 ทั้งนี้ในกรณีของประเทศอังกฤษนั้นธนาคารกลางได้ประกาศแล้วว่าจะเพิ่มปริมาณคิวอีเพราะเกรงผลกระทบจากการที่อังกฤษจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างไม่ราบรื่นอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นเศรษฐกิจในปี 2021 จึงน่าจะยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายด้าน ดังนั้น การฟื้นตัวของไทยนั้นหากวัคซีน “ไม่มา” ในกลางปี 2021 ก็น่าจะทำให้ลูกหนี้หลายรายโดยเฉพาะ SME จะไปไม่รอดและแม้ว่าวัคซีนของ Pfizer จะประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะแจกจ่ายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงทั่วโลกก็น่าจะต้องรอจนปลายปีหน้า สภาวการณ์จึงจะกลับมาใกล้เคียงกับยุคก่อน COVID-19 ได้ในปี พ.ศ.2565 ครับ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2021 (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1