ไม่ได้เขียนถึงหุ้นต่างๆมานานแล้ว ในยามที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน หาทิศทางไปอยู่ ภาพระยะยาวยังคล้ายเดิม แต่จะเขียนแนะนำการลงทุนในระยะสั้นอย่างไรก็ยาก จึงนึกถึงหุ้นของบริษัทหนึ่งซึ่งดิฉันติดตามมาประมาณ 10 ปี แต่ยังไม่เคยเขียนถึงสักครั้ง
ใครๆก็บอกว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของบริษัทนี้ ดังกว่าตัวบริษัทเองเสียอีก
เทสล่า (TESLA Inc.) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2003 โดยสองวิศวกรชื่อ มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ก ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning) ในเมือง ซาน คาร์ลอส (San Carlos) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เดิมชื่อ TESLA Motors ซึ่งผู้ก่อตั้ง ตั้งชื่อบริษัทตามชื่อของนักประดิษฐ์ในศตวรรษที่ 19 ชื่อ นิโคลา เทสล่า (Nikola Tesla) ผู้ค้นพบคุณสมบัติของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า
ในตอนตั้งบริษัท ตั้งใจให้เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าค่ะ
อีลอน มัสก์ (Elon Reeve Musk) เข้าไปร่วมกับบริษัทในปี 2004 โดยนำเงินมาลงทุน 30 ล้านเหรียญ และกลายเป็นประธานกรรมการบริษัท
ในปี 2006 บริษัทมีต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าออกมา ชื่อ Tesla Roadster ซึ่งเข้าสู่สายการผลิตในปี 2008 โรดสเตอร์ ขายไม่ได้มากนัก เนื่องจากราคาสูง คือคันละประมาณ 1 แสนเหรียญ ชาร์ตแบตเตอรี่ ครั้งหนึ่ง สามารถเดินทางได้ 250 ไมล์ ซึ่งก็ไม่เลว แต่ต้องใช้เวลาชาร์ตจากไฟในบ้านถึง 24 ถึง 48 ชั่วโมง จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม
ในปี 2007 มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด ลาออกจากตำแหน่ง ซีอีโอ แต่ยังอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของบริษัท มีการตั้งซีอีโอ ชั่วคราว และตั้ง Ze’ev Drovi เป็นซีอีโอ ของบริษัทตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2007 และเขาทำให้ โรดสเตอร์ เป็นสินค้าที่ได้แจ้งเกิด
ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนคือ มาร์ตินและมาร์ก ได้ออกไปจากบริษัทก่อนที่รถคันแรกจะออกสู่ตลาดเสียอีก โดยในเดือนตุลาคม 2008 อีลอน มัสก์ ได้รับแต่งตั้งเป็น ซีอีโอ ของบริษัท เขาได้ให้พนักงานออกไปถึง 25%
ปี 2009 มาร์ติน อีเบอร์ฮาร์ด ได้ฟ้องเทสล่า และ อีลอน มัสก์ ว่าตัวเขาถูกบีบให้ออกจากบริษัท และถูกยัดเยียดความผิดเรื่องปัญหาการออกสินค้าล่าช้าและปัญหาการเงินเกี่ยวกับ โรดสเตอร์ แต่ในภายหลัง เขาได้ถอนฟ้องและยุติเรื่องไป
เทสล่ามีปัญหาขาดเงินหมุนเวียนในการผลิต ในเดือนพฤษภาคม 2009 เดมเลอร์ (Daimler AG) ของเยอรมนี เข้ามาช่วยเหลือด้วยการเข้ามาอัดฉีดเงินให้ 50 ล้านเหรียญ และได้ถือหุ้น 10% และได้เงินกู้จากกระทรวงพลังงานอีก 465 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนผลิตรถตามออเดอร์ที่ไปขายล่วงหน้าไว้แล้ว
บริษัทย้ายสำนักงานใหญ่ไป เมืองพาโล อัลโต (Palo Alto) ในปี 2009 และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นแนสแดค (NASDAQ) ในปี 2010 จึงแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนได้ โดยหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) มีราคาหุ้นละ 17 เหรียญ ระดมทุนไปได้ 226 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,780 ล้านบาท
บริษัทได้เงินหมุนเวียนเพียงพอ ต่อมาจึงออกแบบรถรุ่นใหม่คือ โมเดล S เป็นรถซีดาน ราคาขายปลีกปรับลดลงมาเป็น 76,000 เหรียญ (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของโรดสเตอร์) ปรากฏว่า โมเดล S ซึ่งเปิดตัวในปี 2011 และเข้าสายการผลิตในปี 2012 นี้ ได้รับรางวัลจากสื่อหลายสำนัก และกลายเป็นการสร้างตัวเทียบวัดให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทอื่นๆ
พอถึงปลายปี 2012 บริษัทเทสล่าจึงหยุดผลิต โรดสเตอร์ และเปิดสถานีชาร์ตแบตอิสระ เรียกว่า Superchargers เริ่มจาก 6 สถานีในแคลิฟอร์เนีย และขยายไปกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก โดยเจ้าของรถเทสล่าสามารถเข้าไปใช้บริการชาร์ตได้ฟรี
2013 เป็นอีกหนึ่งปีที่เป็นประวัติศาสตร์ของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานรายไตรมาสเป็นครั้งแรก และได้เปิด Gigafactory ในมลรัฐเนวาดา เพื่อผลิตแบตเตอรี่
2015 บริษัทประกาศทำผลิตภัณฑ์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในบ้านและสำนักงาน โดยใช้แบตเตอรี่ชาร์จได้
2016 บริษัทประกาศเปิดตัวรถซีดาน Model 3 ราคาต่ำกว่า 70,000 เหรียญ และประกาศว่าจะผลิต 200,000 คัน ซึ่งเกินกว่ากำลังผลิตถึง 4 เท่า จึงตกอยู่ในสถานะลำบาก
2017 บริษัทเปลี่ยนชื่อจาก TESLA Motors เป็น TESLA Inc.
2018 ปัญหารุมเร้า พลาดเป้าผลิต ผู้ลงทุนเทขายหุ้นออก ราคาหุ้นจึงตก พอในเดือนสิงหาคม อีลอน มัสก์ จึงเขียนในทวิตเตอร์ว่า จะถอนหุ้นออกจากตลาดด้วยราคา 420 เหรียญ โดยหาแหล่งเงินทุนได้แล้ว ราคาหุ้นในตลาดจึงพุ่งขึ้น 10% ก่อนที่ตลาดแนสแดกจะสั่งให้หยุดทำการซื้อขายหุ้นของเทสล่าชั่วคราว เพราะผู้ลงทุนพากันซื้อหุ้นดักหน้า เพื่อรอขายคืนในราคา 420 เหรียญ
ในเดือนถัดมา คือกันยายน กลต.สหรัฐ ได้ตั้งข้อกล่าวโทษกับอีลอน มัสก์ว่า ให้ข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดการเข้าใจผิด และทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติ อีลอน มัสก์ ขู่ว่าจะลาออกจากบริษัท แต่ภายหลังทั้งบริษัทเทสล่า และอีลอน มัสก์ ก็ยอมความด้วยการจ่ายค่าปรับฝ่ายละ 20 ล้านเหรียญ อีลอน มัสก์ยอมลงจากตำแหน่งประธานกรรมการ แต่ยังเป็น ซีอีโออยู่
ปี 2019 บริษัทเปิดตัว Cybertruck เป็นรถปิกอัพไฟฟ้า 6 ที่นั่ง หุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นอย่างแรงหลังประกาศผลประกอบการไตรมาสสาม
ปี 2020 ราคาหุ้นขึ้นไม่หยุด ตามกลุ่มเทคโนโลยี และมีการแตกหุ้น จาก 1 เป็น 5 หุ้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2020
ราคาหุ้นในปี 2021 ขึ้นไปสูงสุดที่ 900.40 เหรียญ เมื่อเดือนมกราคม ก่อนที่จะตกลงมา ล่าสุดวันที่ 4 มีนาคม ปิดที่ 621.44 เหรียญค่ะ ณ ราคานี้ ค่า P/E คิดจากกำไรที่ประกาศล่าสุด เท่ากับ 840.48 เท่า และ P/Eจากประมาณการกำไรในปีนี้ เท่ากับ 150.29 เท่า (กำไรของบริษัทจะโตขึ้น 5.59 เท่า ทำให้ค่า พีอี ลดลงค่ะ) ราคาเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี หรือ P/B 26.84 เท่า ปี 2020 มีรายได้ 31,536 ล้านเหรียญ มีกำไรสุทธิ 721 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 2.29%
แม้ราคาจะตกลงมาแล้ว แต่ก็ยังถือว่าราคาไม่ถูก นี่เป็นลักษณะของหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงค่ะ ข้อดีของบริษัทคือมีเทคโนโลยีสำหรับอนาคต และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นจะส่งคนไปเที่ยวดาวอังคาร ฯลฯ มีโอกาสสำเร็จก็มาก ล้มเหลวก็มาก ผู้ลงทุนจึงต้องเข้าใจลักษณะธุรกิจด้วยค่ะ
หมายเหตุ : การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้เป็นกรณีศึกษา ไม่ได้เสนอแนะให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด
ข้อมูลประวัติจาก The Street และเว็ปอื่น ข้อมูลทางบัญชีจาก Bloomberg
เทสล่า (TESLA) หนูน้อยมหัศจรรย์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1