เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น จะมีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้ลงทุนระยะยาวรู้สึกว่าตนเองเสียโอกาส หรือเสียดายที่ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติ ไม่ได้ขายทำกำไรไปก่อน และหลายคนลังเลว่าเมื่อราคาสินทรัพย์ตกลงไป ควรจะซื้อมาถัวเฉลี่ยหรือไม่
เทคนิคหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถนำมาใช้ในการลงทุน ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักวางแผนการเงินส่วนใหญ่จะแนะนำ คือการปรับสมดุลให้พอร์ตลงทุน หรือ Portfolio Rebalancing ค่ะ
การปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุน คือการปรับสัดส่วนการลงทุนให้กลับไปอยู่ ณ สัดส่วนเดิมที่เริ่มจัดพอร์ต เช่น เดิมตั้งใจว่าจะลงทุนในหุ้นทุน 30% สินทรัพย์อื่นๆ 70% เวลาผ่านไปราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของหุ้นอาจจะเพิ่มเป็น 35% หากปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ลงทุนสามารถปรับขายทำกำไรลดสัดส่วนหุ้นลงมาให้เหลือ 30% เท่าเดิม หรือ หากราคาหุ้นตก สัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน อาจลดลงมาเหลือ 25% หากปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ลงทุนสามารถขายสินทรัพย์อื่น เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อปรับให้สัดส่วนของหุ้น กลับมาอยู่ที่ 30% ได้
แต่ต้องย้ำนะคะ ว่าปัจจัยพื้นฐานต้องไม่เปลี่ยนแปลง เพราะส่วนใหญ่ การปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงแรงๆ มักจะเกิดจากปัจจัยพื้นฐาน หรือปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยน ซึ่งก็จะกระทบมาถึงปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มูลค่าหุ้น ของแต่ละบริษัท หรืออาจจะทั้งตลาด เปลี่ยนแปลงไปด้วยค่ะ
หากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไป เราต้องมาคำนวณดูมูลค่าที่ควรจะเป็นใหม่ แล้วเปรียบเทียบกับราคาตลาดในขณะนั้นๆ หากราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่า เราก็สามารถซื้อเพิ่มได้ แต่หากราคาตลาด ณ ขณะนั้นๆ ยังสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น(หลังการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน) เราก็ควรจะขายค่ะ
สัดส่วนการลงทุนที่นักวางแผนการเงินแนะนำ เป็นการวางแผนให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน และวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน จะไม่ค่อยนำปัจจัยด้านแนวโน้มตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ในขณะที่สัดส่วนที่ที่ปรึกษาการลงทุนแนะนำในแต่ละปี จะนำเรื่องแนวโน้มตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่ะ โดยเป้าหมายคือเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนให้ได้ดีที่สุดในระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้
ดังนั้น ในการใช้ประโยชน์จากคำแนะนำในแต่ละช่วง ให้ดูสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำแต่ละปีแล้วนำมาปรับสัดส่วนการลงทุนของเราให้สอดคล้อง ส่วนใหญ่ปรับนิดๆหน่อยๆเท่านั้นค่ะ สำหรับผู้ลงทุนระยะยาว
การปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุน สามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1. ปรับตามระยะเวลา เช่น ปีละครั้ง ปีละสองครั้ง หรือไตรมาสละครั้ง 2. ปรับตามสัดส่วนที่เกินมา เช่นตั้งเอาไว้ว่าจะปรับทุกครั้งที่เกิน 5% และ 3. ปรับแบบผสม คือทั้งปรับตามระยะเวลาด้วยและปรับตามสัดส่วนที่เกินมาด้วย ท่านจะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่ถนัดนะคะ
ประโยชน์ของการปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุนคือ ทำให้เราสามารถควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้กลับไปอยู่เท่ากับตอนเริ่มลงทุนได้ หากไม่ปรับ อาจจะมีบางกรณีที่ตลาดอยู่ในขาขึ้น สัดส่วนของหุ้นทุนอาจสูงขึ้นไปถึง 80-90% ของพอร์ตเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าน่าดีใจด้วย แต่มีความเสี่ยงสูง หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เช่นในปีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เราเรียกกันว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์”ในปี 2551 ราคาหุ้นอาจจะตกลงมาครึ่งหนึ่ง นับเป็นการเสียโอกาสทำกำไรไปอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุน ยังเป็นการเอาเงินกำไร (ส่วนที่เพิ่มขี้นมา) มากระจายการลงทุนใหม่ ไม่กระจุกอยู่ในสินทรัพย์เดิมที่เป็นตัวทำกำไร (ซึ่งพอปรับขึ้นมามากแล้วก็มักจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย) ถือเป็นการจัดการเงินลงทุนที่ไม่เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะปกติคนเรามักไม่ค่อยอยากจะขายสิ่งที่กำลังทำกำไร หรือไม่อยากซื้อสินทรัพย์ที่ราคากำลังตก เพราะกลัวว่าจะตกเพิ่มอีก
และข้อดีอีกข้อหนึ่งคือผู้ลงทุนมีโอกาสบรรลุเป้าหมายการลงทุนสูง ทำให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ
ดิฉันเคยเขียนไปแล้วถึงบทความ “การปรับพอร์ตต้องบ่อยแค่ไหน” ของคุณณัฐพงษ์ อภินันท์กูล CFP ซึ่งเขียนถึงการศึกษาของ Morningstar พบว่า การจัดพอร์ตโดยลงทุน 50% ในตราสารหนี้ และ 50% ในหุ้นทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2546 ถึง 2555 หากผู้ลงทุนไม่ปรับพอร์ตเลย เงินลงทุนเพิ่มในส่วนไหนก็ปล่อยให้ลงทุนต่อในส่วนนั้น ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 13.53% ต่อปี โดยมีค่าความเสี่ยงวัดโดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือ Standard Deviation 15.38% ต่อปี ผลตอบแทนแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่ได้มา ต้องแลกกับความผันผวน 1.14 เท่า โดยปีที่บวกมากที่สุด จะได้ผลตอบแทน 63.99% และปีที่ติดลบมากที่สุด ขาดทุนถึง 30.12%
แต่หากปรับพอร์ตทุกเดือน พอร์ตจะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 11.11% มีค่าความเสี่ยง 11.06% ต่อปี ผลตอบแทนแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่ได้มา ต้องแลกกับความผันผวน 1 เท่า โดยปีที่บวกมากที่สุด พอร์ตจะได้ผลตอบแทน 52.01% และปีที่ลบมากที่สุด พอร์ตจะขาดทุน 20.51%
สรุปจากการศึกษาพบว่า ในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย การปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุนปีละครั้งจะให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงดีที่สุด โดยพอร์ตจะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 12.44% มีค่าความเสี่ยง 11.48% ต่อปี ผลตอบแทนแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่ได้มา ต้องแลกกับความผันผวนเพียง 0.92 เท่า โดยปีที่บวกมากที่สุด พอร์ตจะได้ผลตอบแทน 61.95% และปีที่ลบมากที่สุด พอร์ตจะขาดทุน 18.66% ค่ะ
ปรับสมดุลให้พอร์ตลงทุน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1