ผลกระทบเมื่อธนาคารกลางสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ผลกระทบเมื่อธนาคารกลางสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมเขียนทิ้งท้ายเกี่ยวกับ ผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอย่างรวดเร็วว่า จะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐขยายออกไป และกระตุ้นให้เงินไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและเพิ่มแรงกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น

แนวโน้มดังกล่าวน่าจะยิ่งเป็นไปได้มาก หากประเทศไทยจะยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนละ 1,000-2,000 ล้านเหรียญ (โดยในเดือนเมษายนขาดดุล 3,100 ล้านเหรียญและเดือนพฤษภาคมขาดดุล 3,700 ล้านเหรียญ)

แต่ก็ได้มีการคาดหวังกันว่า การส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ดีและจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น หากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเดือนละ 1 ล้านคนและใช้จ่ายคนละ 50,000 บาท ก็น่าจะทำให้ไม่เกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ก็คงยังคาดหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่ก็ไม่น่าจะมาได้มากนักจากประเทศจีน เพราะรัฐบาลจีนคงจะยังควบคุมการเดินทางของคนจีนไปอีกนานหลายเดือน

ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปก็อาจมีน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ เพราะเศรษฐกิจของยุโรปกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักในหลายด้านจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขาดแคลนพลังงาน

กล่าวโดยสรุปคือ หากในไตรมาส 4 ของปีนี้ประเทศไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนละ 1,000-2,000 ล้านเหรียญและดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐประมาณ 2% เงินบาทก็คงจะถูกกดดันอย่างมาก

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามชะลอการอ่อนตัว โดยการขายทุนสำรองออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนค่าเงินบาท

ประเด็นต่อมาคือ การประเมินความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2023-2024 อย่างแน่นอน ซึ่งมีความเสี่ยงไม่น้อย

เพราะขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐกลัวว่าจะปราบเงินเฟ้อไม่สำเร็จมากกว่ากลัวเศรษฐกิจสหรัฐจะตกต่ำ

โดยนาย Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐกล่าวกับรัฐสภาสหรัฐว่าจะยอมให้ล้มเหลวในการปราบเงินเฟ้อไม่ได้ (”We cannot fail on this. We really have to get inflation down”) และ “Recession is certainly a possibility. (แม้ว่า) It’s not our intended outcome at all”

BIS (Bank for International Settlements) เป็นองค์กรที่รู้จักกันว่าเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารกลางทั่วโลก เพิ่งออกรายงานประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และมีบทวิเคราะห์ที่สรุปว่า ความพยายามของธนาคารกลางที่จะชะลอเศรษฐกิจเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบนโยบายนั้น

ในอดีตประสบความสำเร็จในการชะลอเศรษฐกิจลงโดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจเพียง 50% อีก 50% นั้นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (hard landing) ภายใน 3 ปีหลังจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึงจุดสูงสุด เพราะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากเกินไป

ข้อมูลที่ว่านี้เก็บในช่วง 1985-2018 จาก 35 ประเทศและมีเหตุการณ์ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 129 เหตุการณ์ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจคือตัวแปรอะไรมีความสำคัญในการกำหนดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะนำไปสู่ hard landing หรือ soft landing

ผลของงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญกับตัวแปรต่อไปนี้

1.ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับสูงหรือต่ำก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากดอกเบี้ยจริงก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยนโยบายลบเงินเฟ้อ) อยู่ที่ 1.4% ก็มักจะสามารถทำ soft landing ได้

แต่หากดอกเบี้ยนโยบายจริงก่อนเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเท่ากับ 0.4% ก็มักจะต้องเผชิญกับ hard landing ในกรณีของสหรัฐนั้นก่อนขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายจริงติดลบประมาณ 7.75% !!

2.การปล่อยกู้เพิ่มขึ้นให้กับครัวเรือน หากมีการปล่อยกู้ให้กับครัวเรือนอย่างมากคือสัดส่วนสินเชื่อต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 6.4% ก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับ hard landing แต่หากเพิ่มไม่มากคือเพิ่มขึ้น 2.8% ก็จะสามารถทำ soft landing ได้

ตรงนี้สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นผมเข้าใจว่าตัวเลขจริงใกล้เคียงกับกรณี soft landing คือเพิ่มขึ้นไม่มากนักจนเกินไป

3.การปรับขึ้นดอกเบี้ยยืดเยื้อเพียงใด ก็เป็นปัจจัยสำคัญ กล่าวคือหากปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 5 ไตรมาสหรือน้อยกว่านั้น ก็จะสามารถทำ soft landing ได้ แต่หากต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยืดเยื้อไปถึง 6 ไตรมาสหรือมากกว่า ก็เสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับ hard landing

ดังนั้น ข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงควรรีบทำเสียแต่เนิ่น ๆ และไม่ชักช้า อย่าหวังดีว่าค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างยืดเยื้อแล้วจะลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้.
โพสต์โพสต์