การผันผวนของค่าเงินบาท/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การผันผวนของค่าเงินบาท/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เงินบาทจะด้อยค่าลงมากเพียงใด ย่อมต้องขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เช่น หากเงินเฟ้อเท่ากับ 7% ต่อปีอย่างต่อเนื่องก็ย่อมจะแปลว่าเงินบาทเสื่อมค่า 7% ทุกๆ ปี

หากประเทศสหรัฐอเมริกาควบคุมเงินเฟ้อได้ที่ 3% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ก็แปลว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงปีละ 4% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐในระยะยาว

กล่าวโดยสรุปคือเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศไทยและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา

แต่ในระยะสั้นและระยะปานกลาง (1-2 ปี) นั้นอัตราแลกเปลี่ยนย่อมจะขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆ เป็นหลักมากกว่า คือ อัตราดอกเบี้ยซึ่งส่งผลต่อดุลเงินทุนและสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งกำหนดโดยส่วนต่างระหว่างการส่งออกสินค้าและบริการกับการนำเข้าสินค้าและบริการ

นอกจากนั้น จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาด รวมทั้งการคาดการณ์อนาคต ก็ย่อมส่งผลต่อการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมง

ดังนั้น การคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นอย่างแม่นยำ ย่อมจะเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำได้

ตัวแปรที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้น ก็คือ การเข้าแทรกแซงซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลาง

แม้ว่าธนาคารกลางมักจะต้องการเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยมีความตั้งใจที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนน้อยลง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่มากๆ แต่แล้วในที่สุดก็อาจประสบความล้มเหลวซึ่งก็ได้เคยพบเห็นกันมาแล้วบ่อยครั้ง

ในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้านั้นดูเสมือนว่ามีความเป็นไปได้สูงกว่ามากที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเพราะ 2 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

1. ส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายที่มีแต่จะต่างมากขึ้น เมื่อต้นปีดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐเท่ากับ 0.25% ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 0.50% แต่มาวันนี้ (18 กรกฎาคม) ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเท่ากับ 1.75%

ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยก็ยังอยู่ที่เดิมและเมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% (ตามที่ตลาดคาดการณ์จากการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ) ส่วนต่างของดอกเบี้ยก็จะต่างออกไปอีกเป็น 2.0% (2.5% กับ 0.5%) ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้

และหากเป็นไปที่ตลาดคาดการณ์คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งละ 0.25% ในการประชุมทุกครั้งอีก 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็จะอยู่ที่ 1.25% ตอนสิ้นปี

และหากธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50% บวกกับการปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 14 ธันวาคม (ตามที่ตลาดคาดการณ์)

ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐก็จะไปอยู่ที่ 3.75% ตอนปลายปี สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย (1.25%) ถึง 2.5% ซึ่งย่อมจะมีความเป็นไปได้สูงว่าดุลเงินทุนคงจะขาดดุลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนต่างของดอกเบี้ยจะสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

นอกจากนั้นดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ ก็ได้ปรับขึ้นเกินหน้าประเทศไทยไปมากแล้ว เช่น ดอกเบี้ยนโยบายของเกาหลีใต้ และมาเลเซียอยู่ที่ 2.25% ในขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์เพิ่งปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.75% ไปที่ 3.25% เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม

ในวันเดียวกันธนาคารกลางสิงคโปร์ก็ประกาศปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นโดยตลาดไม่ได้คาดหมาย ทำให้เงินสิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 0.7%

2. ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในครึ่งหลังของปีนี้ ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021 เกือบ 18 เดือนแล้ว (จากตัวเลขที่มีอยู่ล่าสุด) คือขาดดุลเฉลี่ยไตรมาสละเกือบ 2 พันล้านเหรียญในปี 2021 และอีก 2,190 ล้านเหรียญในไตรมาส 1 ของปีนี้

แปลว่าจริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยใช้จ่ายเกินตัวต่อเนื่องมานานแล้ว (แม้ว่าจะเพิ่งรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า) แปลว่าอุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ซึ่งจะผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น

ที่สำคัญคือไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนเมษายน (เดือนเดียวขาดดุล 3,060 ล้านเหรียญ) และเดือนพฤษภาคม (3,720 ล้านเหรียญ)

ดังนั้น จึงไม่น่าจะแปลกใจเลยเมื่อเห็นเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กล่าวคือตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึง วันที่ 30 มิถุนายน (ที่ผมประเมินว่าเราก็คงจะยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด)

เงินบาทจึงอ่อนค่าลงจาก 33.51 ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ (วันที่ 1 เมษายน) มาเป็น 35.56 ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ (วันที่ 1 กรกฎาคม)

ดังนั้น แนวโน้มของดุลบัญชีเดินสะพัดในครึ่งหลังของปีนี้จึงจะมีความสำคัญอย่างมาก และผมเชื่อว่าภาครัฐคงจะคาดหวังว่าไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก

เพราะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวและการอ่อนตัวของเงินบาทก็จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้คงคาดหวังว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเพียงพอที่จะหักลบกับการไหลออกของเงินทุนเพื่อทำให้ไทยไม่ต้องขาดดุลชำระเงินมากและช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว

แต่ความเสี่ยงคือ การคาดหวังดังกล่าวนั้นจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด เช่น รายได้จากนักท่องเที่ยวนั้นมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าคาด

เพราะการระบาดของ Omicron สายพันธุ์ BA.4 BA.5 และ BA.2.75 ซึ่งหลบระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างเฉลียวฉลาดมาก จะต้องกระทบทั้งผู้ที่จะมาท่องเที่ยวและผู้ที่จะให้บริการท่องเที่ยว นอกจากนั้นเศรษฐกิจยุโรปก็อ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคนี้อาจมีไม่มากดังคาดการณ์เอาไว้และคงไม่ต้องหวังนักท่องเที่ยวจากจีนในช่วงฤดูท่องเที่ยวหลักที่เริ่มต้นตอนไตรมาส 4 ของปีนี้

สำหรับการเพิ่มขึ้นของการส่งออก เพราะเงินบาทอ่อนค่านั้นก็น่าจะเพิ่มไม่ได้มาก เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

แปลว่าทรัพยากรปัจจุบันขาดแคลนอยู่แล้วและต้นทุนการผลิตก็คงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านพลังงานและแรงงานที่รวมกันน่าจะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ดังนั้น ความเสี่ยงคือปลายปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกินดุล ดุลชำระเงินขาดดุลมากเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้ทุนสำรองจำนวนมากแทรกแซงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่ารวดเร็วเกินไป

และต้องรับสภาพที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบตอนปลายปีนี้และในปีหน้า เพื่อควบคุมค่าเงินและชะลอเงินเฟ้อครับ.
โพสต์โพสต์