การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึง ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ของ Keynes ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยเครื่องยนต์ 4 เครื่องคือ C, I, G, X ว่าเป็นแนวคิดที่ใช้ได้ในการแก้ปัญหาระยะสั้นที่อุปสงค์ต่ำกว่าอุปทาน แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เป็นปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างที่นำทฤษฎี Keynes มาใช้แก้ไขไม่ได้ เพราะหากใช้แนวคิดดังกล่าวต่อไปอีกก็คงจะเห็นแต่นโยบายคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“The political problem of mankind is to combine 3 things: economic efficiency, social justice and individual liberty”

“Capitalism is the extraordinary belief that nastiest of men for the nastiest of motives will somehow work together for the benefit of all” (John Maynard Keynes)

ผมเขียนบทความนี้เพราะประเทศไทยใกล้จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องนำเสนอแนวนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศ

ซึ่งผมไม่อยากเห็นการอ้างเอาเครื่องยนต์ 4 เครื่องมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีก เพราะทำกันแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เศรษฐกิจไทยก็ยังถูกทิ้งโดยประเทศคู่แข่ง

ในอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามเขียนการปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติเข้าไปในรัฐธรรมนูญ แต่หากเขียนกฎหมายแล้วแก้จนได้ ก็คงจะไม่มีความจนหลงเหลืออยู่ในโลกแล้ว

ในระยะยาวนั้นจะต้องดูที่ปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก เพราะอุปสงค์นั้นมีมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือต้องสร้าง supply เพื่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ที่จะนำมาซึ่ง effective demand หรือการมีกำลังซื้อจริง

ไม่ใช่มีแต่ความอยากได้ แต่รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วก็จะทำให้เข้าใจว่าการเพิ่มวันหยุดมากๆ นั้นในระยะยาวจะต้องทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง เพราะการผลิตจะต้องลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

หากมองการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวก็อาจมองได้ว่ามีตัวแปรที่จะขับเคลื่อนอุปทานอยู่ทั้งหมด 4 ตัวแปรคือ

1.การลงทุน (capital investment) : ทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะการจะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างต่อเนื่องนั้น สังคมจะต้องบริโภคต่ำกว่าผลผลิต

ส่วนต่างคือการออมทรัพยากรเพื่อจัดสรรไปสู่การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือหากลงทุน 100 บาท ก็ต้องคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทน คือผลผลิตเพิ่มขึ้นที่ทำให้เกิดผลกำไรมากขึ้นปีละ 15 บาทต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ 3 ไปจนกระทั่งถึงปีที่ 20 เป็นต้น

ดังนั้น การลงทุนจึงขึ้นอยู่กับความมั่นใจของนักลงทุนว่าจะได้ผลกำไรที่คุ้มกับความเสี่ยง นอกจากนั้นการลงทุนมักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวทางแนวคิดในการบริหารใหม่ๆ (จึงจะทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น)

การลงทุนจึงเป็นปัจจัยที่ผมให้ความสำคัญสูงสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว (ไม่ใช่ C หรือ G หรือ X) และการลงทุนที่ว่านี้ย่อมจะรวมถึงการลงทุนในการศึกษา (human capital) อีกด้วย

ในส่วนนี้การที่สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของประเทศไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ และต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างมาก (ตามที่ผมนำเสนอข้อมูลในตอนก่อนหน้า) จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

2.แรงงาน : ปัจจัยการผลิตนี้ประเทศไทยจะมีลดลงไปเรื่อยๆ เพราะอัตราการเกิดใหม่ของประชากรตกต่ำ ทำให้ไอเอ็มเอฟเคยประเมินว่าจะทำให้การขยายตัวของรายได้ต่อหัวของไทยลดลงปีละประมาณ 0.8%

ซึ่งมีทางแก้หลักๆ 2 ทางคือ นำเข้าแรงงานจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุดหรือเร่งการลงทุน เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนหรือทำทั้งสองอย่าง

ประเทศสิงคโปร์นั้นในช่วงแรกที่เผชิญการขาดแคลนแรงงานได้พยายามทำวิธีที่สอง แต่ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนมานำเข้าแรงงานอย่างเป็นระบบ แต่ก็ต้องบริหารจัดการให้มีการยอมรับและเกิดเสถียรภาพในเชิงสังคมด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย

เช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ขาดแรงงานอย่างมาก แต่ก็ยังจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพราะยังต้องการรักษาเอกลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น

3.พลังงาน : ปัจจัยที่กำลังท้าทายเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยก็กำลังจะหมดลงและประเทศไทยก็ใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 13-14% ของจีดีพี (สหรัฐใช้พลังงานเป็นสัดส่วนเพียง 6-7% ของจีดีพี)

ที่ผ่านมาไทย “แก้ปัญหา” โดยการเพิ่มการพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา และไฟฟ้าจากประเทศลาว นอกจากนั้นแล้วการที่ต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อนในช่วงศตวรรษนี้ ย่อมแปลว่าการแสวงหาพลังงานแหล่งใหม่ๆ ก็มีแต่จะราคาแพงมากขึ้นและย่อมจะต้องมีเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในอนาคต

4.ที่ดิน : ประเทศไทยมีที่ดินอยู่ไม่น้อย แต่ความขาดแคลนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรที่ยังเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นก็ต้องยอมรับว่าราคาที่ดินจะไม่ได้แพงขึ้นเพียงเพราะมีการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยชาวต่างชาติอย่างที่มีข้อกังวลกันอยู่ในขณะนี้

กล่าวคือ การใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ว่าจะในด้านใดก็ย่อมจะต้องทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น (เพราะที่ดินดังกล่าวมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ) เช่น พื้นที่ทางธุรกิจ (CBD) จึงมีราคาที่ดินสูงที่สุดในประเทศ

ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างงานและเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศ

กล่าวโดยสรุปคือ ในระยะยาวการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับตัวแปรด้านอุปทานไม่ใช่อุปสงค์ แต่ก็ยังมีโจทย์อีกข้อหนึ่งที่ต้องตอบคือจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไร จึงจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

เช่น เดิมทีประเทศไทยเป็น Detroit of Asia และรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 40 ล้านคน ในอนาคตเราจะยังควรทำเช่นเดิมหรือไม่ โดยในกรณีของรถยนต์นั้นกำลังนำเสนอให้หันไปผลิตรถ EV แทน

ผมมีความเห็นว่าประเทศไทยควรหันไปทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีและการบริการขั้นสูงกว่าการท่องเที่ยว มากกว่าหวังพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม เพราะความสำเร็จจากการพัฒนาการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาลของไทยที่ผ่านมา

สะท้อนว่าคนไทยมีทักษะในด้าน high-touch ดังนั้น หากลงทุนผนวก high-tech ไปอีก ก็น่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและทำกำไรเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างมาก

แต่ในหลักการนั้น ผมคิดว่าควรให้เป็นการลองผิดลองถูกของภาคเอกชนโดยรัฐบาลเป็นผู้ให้ความร่วมมือ (facilitation) ไม่ใช่การทำแผนยุทธศาสตร์โดยภาครัฐ

ตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เช่น Apple, Google และ Amazon นั้น มิได้เกิดขึ้นจากการบงการหรือวางแผนจากภาครัฐ แต่เป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานไปกับความกล้าเสี่ยงและการอาศัยการระดมทุนจากตลาดทุน

ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องการทำกำไรให้กับตัวเอง ไม่ได้ต้องการพัฒนาประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวเริ่มใหญ่-โตมากเกินไปจนมีอำนาจเหนือตลาดก็จะต้องมีการเข้ามาควบคุมไม่ให้เกิดภาวะผูกขาดครับ
โพสต์โพสต์