เช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากัน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เช่าหรือซื้อบ้านดีกว่ากัน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สัปดาห์ที่แล้ว มีผู้นำบทความมาแชร์ในโลกออนไลน์มากมาย เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับการที่คนญี่ปุ่นปล่อยบ้านทิ้งไว้ให้ร้าง แล้วย้ายไปอยู่บ้านเช่าแทน นัยว่าเพื่อความ “เบาตัว” ไม่ต้องแบกภาระการดูแลบ้าน ค่าซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าภาษีอสังหาริมทรัพย์ และเห็นแนวโน้มเช่นนี้มากขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ไม่ใช่ดิฉันไม่เห็นด้วยนะคะ แต่เวลาเราจะนำข้อเขียนหรือแนวทางปฏิบัติใดมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง เราต้องดูบริบทแวดล้อมด้วย สังคมสูงวัยแบบประเทศญี่ปุ่นที่ประชากรหนึ่งในสามเป็นผู้สูงวัย หรือในยุโรปนั้น การคิดเช่นนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้สูงวัยทุกคนรวมถึงดิฉันด้วย ย่อมไม่อยากมีภาระผูกพันในการต้องดูแลอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งถ้ามีหลายหลัง ก็ยิ่งลำบาก บางคนถึงกับย้ายไปอยู่ในสถานที่ซึ่งซื้อไว้โดยมีข้อกำหนดว่า ให้อยู่จนจากไป และผู้ดำเนินการสามารถนำห้องนั้นไปให้ผู้อื่นอยู่อาศัยต่อ อย่างนี้ก็ไม่ต้องผูกพันเป็นทรัพย์สินให้ลูกหลาน และแน่ใจได้ว่า ที่อยู่อาศัยนั้นจะได้รับการดูแลให้มีสภาพดี สามารถใช้งานได้ต่อไป

แต่หากคนหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนทุกคน อ่านแล้วจะลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองด้วยการขายบ้านทิ้ง เอาเงินไปหาอาหารอร่อยๆกิน ไปเที่ยวรอบโลกหาประสบการณ์ และไปเช่าบ้านอยู่ ดิฉันไม่เห็นด้วยเด็ดขาด โดยเฉพาะหากคนหนุ่มสาวเหล่านั้นมีอายุยืนไปถึง 90 ปี 100 ปี มันจะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นคือ “เงินหมดแล้วยังไม่ตาย”

ดังนั้น อายุ จึงเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่านิยมและแนวคิดเกี่ยวกับการ เช่าบ้านหรือซื้อบ้าน แตกต่างกัน

หากเจาะลึกถึงข้อเท็จจริงจะพบว่า บ้านที่คนญี่ปุ่นทิ้งนั้น มักจะเป็นบ้านเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจจะอยู่ในชนบทห่างไกล ไม่สามารถไปดูแลได้เนื่องจากลูกหลานแยกย้ายกันไปทำงานและอาศัยในเมืองหรือใกล้เมืองใหญ่ ทั้งยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล เรื่องภาษี และคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็ไม่นิยมเช่าบ้านเก่ามากนัก (กลัวผี) การจะนำบ้านที่ไม่ได้อยู่ออกให้ผู้อื่นเช่าจึงค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในชนบทห่างไกล ในสารคดีบางเรื่องที่ดู รัฐบาลเขาก็พยายามให้เงินและแรงจูงใจทางภาษี ให้ครอบครัวอายุน้อยเข้าไปอยู่ในบ้านเหล่านี้ตามหมู่บ้านต่างๆที่ประชากรมีจำนวนลดลง และมีผู้สูงวัยเป็นสัดส่วนสูง เช่น 50% เหล่านี้เป็นต้น

อายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการพิจารณาว่าควรจะเช่าบ้านหรือซื้อบ้านเองนะคะ ราคาอสังหาริมทรัพย์และทำเลที่ตั้งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง หากเรานำสถิติของทั่วโลกมาดู จะพบว่าคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรือประเทศที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาสูง จะมีสัดส่วนของการเช่าที่อยู่อาศัยสูงกว่าคนที่อยู่ในเมืองเล็ก หรือประเทศที่อสังหาริมทรัพย์ราคายังไม่สูง เนื่องจากความสามารถในการซื้อบ้านราคาสูงย่อมมีน้อยกว่า

ข้อมูลจากการสำรวจของ Statista ช่วงปี 2020 ถึง มีนาคม 2021 ซึ่งทาง World Economic Forum นำมารวบรวม แสดงให้เห็นว่า ชาวสวิส เช่าบ้าน 68% เป็นเจ้าของเพียง 31% ชาวเยอรมนี เช่าบ้าน 64% เป็นเจ้าของ 35% ชาวฝรั่งเศส เช่าบ้าน 47% เป็นเจ้าของ 50% สหราชอาณาจักร เช่า 44% เป็นเจ้าของ 56% แคนาดา เช่า 42% เป็นเจ้าของ 54% ญี่ปุ่น เช่า 39% เป็นเจ้าของ 61% (แต่ในโตเกียว คนเป็นเจ้าของเพียง 45%) สหรัฐอเมริกา เช่า 37% เป็นเจ้าของ 58%(แต่ในเมืองนิวยอร์คคนเป็นเจ้าของเพียง 32%) อิตาลี เช่า 24% เป็นเจ้าของ 71% จีน เช่า 14% เป็นเจ้าของ 83% รัสเซีย พื้นที่กว้างใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ราคายังไม่สูง คนจึงเช่าบ้าน 11% และเป็นเจ้าของถึง 87%

ส่วนจำนวนที่ขาดไปไม่เต็มร้อยในแต่ละประเทศเพราะเขาไม่สามารถแจกแจงได้ค่ะ ดิฉันคิดว่าอาจจะอยู่ในที่พักที่ต้นสังกัดจัดให้พัก พักอาศัยกับญาติหรือเพื่อน หรือไม่มีบ้านก็เป็นได้

โควิด-19 ก็ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับบ้านในฝันเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย ตามที่ดิฉันเคยเขียนไปเมื่อสองปีก่อน จากการสำรวจพบว่า หลังการระบาดของโควิด-19 คนต้องการพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สีเขียว สวน ระเบียง ในห้องพักหรือบ้านของตัวเองมากขึ้น

ดิฉันอยู่ในฝ่ายแนะนำให้ซื้อบ้านเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่สูง ราคาบ้านก็ยังไม่แพงเกินกว่าที่จะซื้อหาได้ ค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนจึงออกมาใกล้เคียงกับค่าเช่าห้องมาก เพราะยามสูงวัย หากคิดว่าเงินสะสมที่มีจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย เราก็สามารถทำ “การจำนองย้อนกลับ” หรือ Reverse Mortgage ได้เงินมาทยอยใช้ได้ ดิฉันเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ลองไปหาอ่านดูนะคะ

ขอนำข้อมูลสนับสนุนการซื้อบ้านของดิฉันเพิ่มเติม คือ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีวิกฤติหลายครั้งหลายครา แต่จากข้อมูลของ IMF Housing Watch ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก BIS มาแสดงว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นมาถึงประมาณ 72% เพราะฉะนั้น บ้านจึงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมาก ในสายตาของดิฉันค่ะ

ดิฉันอยากชี้แนะและเน้นย้ำว่า “คนในแต่ละวัยต้องใช้แนวคิดในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน” วัยเด็กต้องเรียนรู้ วัยหนุ่มสาวต้องขยัน อดทน และเพิ่มความรอบคอบ ส่วนคนสูงวัยต้องใจเย็น คนหนุ่มสาวของไทยมีแนวโน้มรักสบาย หากไม่ยอมกัดฟันทำอะไรใหญ่ๆสักครั้งในชีวิต เช่นการซื้อบ้าน ภายภาคหน้าเมื่อแก่ตัวแล้ว จะสบายได้อย่างไร

อยากเน้นให้ทุกคนพึ่งตนเองให้มาก เราจะชินต่อการพึ่งคนอื่นและร้องหาความช่วยเหลือจากคนอื่นในยามเดือดร้อน ความช่วยเหลือจะมาอย่างเต็มใจและท่วมท้น หากมีคนเห็นว่าเราได้พยายามช่วยตัวเองเต็มที่แล้ว
โพสต์โพสต์