เล่นกับวอแรนต์
Value Investor กับ วอแรนต์นั้นดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยถูกกัน เพราะวอแรนต์อาจจะกลายเป็นหุ้นซึ่งจะเข้าไปเฉลี่ยกำไรกับผู้ถือหุ้นเดิมโดยเฉพาะในยามที่บริษัทมีกำไรดีและราคาหุ้นเดิมขึ้นไปสูง เพราะฉะนั้นบริษัทที่มีวอแรนต์มาก ๆ จะโตช้าลงซึ่ง Value Investor ไม่ชอบ
Value Investor ไม่ชอบลงทุนในวอแรนต์ เพราะวอแรนต์นั้นมักมีอายุสั้น และถ้าถึงวันที่มันหมดอายุแล้วราคาแปลงสภาพยังสูงกว่าราคาหุ้นแม่ วอแรนต์ก็จะหมดค่าลง ราคากลายเป็นศูนย์ คนถือวอแรนต์ขาดทุน 100% เพราะฉะนั้น Value Investor ไม่ชอบถือวอแรนต์
แต่บริษัทจดทะเบียนในเมืองไทยนั้นมีการออกวอแรนต์กันมากมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งซึ่งการออกวอแรนต์นั้นเหมือนการพิมพ์แบงค์ใช้เองได้ ซึ่งได้ล่อให้บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทที่มีคุณภาพดีเยี่ยมซึ่งไม่ควรออกวอแรนต์ก็ยังหันมาออกวอแรนต์กันเป็นว่าเล่น ดังนั้นเราจึงควรรู้จักวอแรนต์สักหน่อยและดูว่าจะมีโอกาสหาประโยชน์จากวอแรนต์ได้อย่างไร
โดยธรรมชาตินั้น ราคาวอแรนต์จะวิ่งขึ้นลงตามราคาหุ้นแม่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าหุ้นแม่ขึ้นไปหนึ่งบาท วอแรนต์ก็ขึ้นไปประมาณหนึ่งบาทเหมือนกัน และถ้าหุ้นแม่ตกลงมา 1 บาท ราคาวอแรนต์ก็มักจะตกลงมาประมาณ 1 บาท ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ราคาวอแรนต์มักจะต่ำกว่าหุ้นแม่มาก ส่วนใหญ่มักมีราคาไม่เกิน 30-40% ของหุ้นแม่ และวอแรนต์บางตัวมีราคาเพียง 10% ของหุ้นแม่ เช่น หุ้นแม่ราคา 20 บาท แต่วอแรนต์มีราคาเพียง 2 บาท เป็นต้น
ดังนั้น ด้วยเม็ดเงินจำนวนเท่ากัน เราสามารถซื้อวอแรนต์ได้มากกว่าหุ้นตัวแม่ บางทีหลายเท่า เช่น ถ้าหุ้นแม่เท่ากับ 20 บาท วอแรนต์เท่ากับ 2 บาท แปลว่าเราสามารถซื้อวอแรนต์ได้เป็น 10 เท่าของหุ้นแม่ อัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นแม่กับวอแรนต์นี้ เรียกว่า Gearing Ratio ซึ่งอธิบายเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็คือ อัตราส่วนขยายผล
หุ้นแม่ราคา 20 บาท ถ้ามีราคาเพิ่มขึ้น 1 บาท คนที่ถือหุ้นแม่ก็กำไรเพียง 5% แต่ถ้าคุณถือวอแรนต์ซึ่งมีราคาเพียง 2 บาท และราคาวอแรนต์ขึ้นไป 1 บาทตามหุ้นแม่คุณก็มีกำไรถึง 50% หรือมีกำไรเป็น 10 เท่าเมื่อเทียบกับการถือหุ้นแม่ และนี่คือผลของ Gearing ซึ่งขยายผลการลงทุนของคุณขึ้นไป 10 เท่า จากกำไร 5% เป็นกำไร 50%
นั่นก็พูดในแง่ที่ดี แต่ถ้าการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม หุ้นแม่กลับลดลง 1 บาท ซึ่งเป็นการลดลงมาเพียง 5% และราคาวอแรนต์ตกลงมา 1 บาทเช่นเดียวกัน คุณก็ขาดทุนไป 50% หรือขาดทุนมากเป็น 10 เท่าของตัวแม่ และที่อาจเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ การขาดทุนของคุณอาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่วอแรนต์จะหมดอายุซึ่งทำให้คุณต้องขาดทุนจริง ๆ ในขณะที่การขาดทุน 5% ของหุ้นแม่นั้น คุณสามารถที่จะถือต่อ และถ้าพื้นฐานของหุ้นดีจริง ในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมา และคุณอาจจะไม่เดือดร้อนอะไรเลย
พูดโดยสรุปก็คือ การเล่นวอแรนต์นั้นมีโอกาสได้เสียสูงกว่าการเล่นหุ้นแม่ และจะมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับอัตราการขยายผลหรือ Gearing Ratio ของวอแรนต์ การเล่นหุ้นแม่นั้น คุณไม่ค่อยต้องห่วงเรื่องเวลา เพราะคุณสามารถถือหุ้นรอไปได้เรื่อย ๆ ถ้าคุณเห็นว่าพื้นฐานของบริษัทดี เวลาเป็นเพื่อนของคุณ แต่การเล่นวอแรนต์นั้น คุณต้องแข่งกับเวลา เวลาที่ผ่านไปแต่ละวันหมายความว่ามูลค่าของวอแรนต์จะค่อย ๆ ถดถอยลง และถ้าคุณโชคร้าย การถือวอแรนต์อาจทำให้คุณหมดตัวได้
คำถามสำคัญก็คือ ในฐานะ Value Investor เราควรซื้อวอแรนต์ไหม และเมื่อไร?
เงื่อนไขในการซื้อวอแรนต์สำหรับ Value Investor นั้น ผมคิดว่า ประการแรกก็คือ เราต้องพอใจและอยากที่จะลงทุนในหุ้นแม่เสียก่อน นั่นคือ เราต้องวิเคราะห์หุ้นแม่ในทุกด้านเหมือนกิจการปกติ รวมทั้งได้คำนึงถึงผลกระทบของวอแรนต์ที่จะมาลดกำไรต่อหุ้นของบริษัทในอนาคตด้วยแล้ว เมื่อเห็นว่าบริษัทน่าลงทุน เราจึงมาดูต่อว่าเราควรจะซื้อหุ้นแม่หรือซื้อวอแรนต์ที่บางทีเรียกว่าหุ้นลูก
การที่เราอาจจะซื้อหุ้นลูกแทนหุ้นแม่ก็เพราะว่า ถ้าเราคำนวณโดยการเอาราคาวอแรนต์บวกกับราคาใช้สิทธิแล้วมีราคาไม่ต่างจากการซื้อหุ้นแม่โดยตรง การซื้อวอแรนต์อาจจะดีกว่าในแง่ที่ว่า การซื้อวอแรนต์เราใช้เงินน้อยกว่าในการที่จะได้ควบคุมหุ้นจำนวนมากกว่า และเรายังมีโอกาสดูผลงานของบริษัทต่อไปจนถึงวันที่วอแรนต์หมดอายุ ถ้าในระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันทำให้บริษัทเสียหายหนักหรือพื้นฐานเปลี่ยนไป เรายังมีสิทธิที่จะไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นตัวนั้นได้ และการขาดทุนของเราก็จะจำกัดอยู่แต่มูลค่าวอแรนต์ที่เราถืออยู่ แต่ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่คาด เราก็ใช้สิทธิซื้อหุ้นแม่ซึ่งมีต้นทุนเมื่อรวมกับราคาวอแรนต์ไม่ต่างจากที่เราจะซื้อหุ้นแม่ตั้งแต่ทีแรก
การเล่นกับวอแรนต์อีกแบบหนึ่งก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า Arbitrage หรือการ ทำกำไรโดยไม่มีความเสี่ยง นี่คือกรณีที่เราถือหุ้นแม่เพื่อการลงทุนระยะยาวอยู่แล้วแต่พบว่าในบางช่วงราคาของวอแรนต์ตกต่ำกว่าความเป็นจริง นั่นคือ เมื่อเอาราคาวอแรนต์บวกกับราคาใช้สิทธิแล้วยังต่ำกว่าราคาหุ้นแม่ ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ ให้ซื้อวอแรนต์แล้วขายหุ้นแม่พร้อมกันในจำนวนหุ้นที่เท่ากัน เสร็จแล้วก็เอาวอแรนต์นั้นไปใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้น ผลลัพธ์ก็คือ เราจะมีหุ้นเท่าเดิมและมีเงินเหลือจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ขายกับราคาวอแรนต์บวกราคาใช้สิทธิ
การทำ Arbitrage หุ้นกับวอแรนต์นี้ ส่วนต่างกำไรมักจะไม่มากและคุณยังต้องคำนวณเผื่อค่าคอมมิชชั่นการซื้อขายทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นของฟรีที่ควรทำนอกเหนือจาก 2 เรื่องดังกล่าวแล้ว ผมเองไม่แนะนำให้เล่นวอแรนต์ เพราะการซื้อขายวอแรนต์นั้น มีองค์ประกอบของการเก็งกำไรสูงมากและการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของวอแรนต์อย่างที่ออกในตลาดหุ้นไทยนั้นก็ยังไม่มีใครทำได้ดีหรือมีทฤษฎีสนับสนุนเพียงพอ