จัดอันดับหุ้น โดยดร.นิเวศน์

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

ล็อคหัวข้อ
toon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 216
ผู้ติดตาม: 0

จัดอันดับหุ้น โดยดร.นิเวศน์

โพสต์ที่ 1

โพสต์

จัดอันดับหุ้น

สมัยนี้จะดูว่าอะไรดีหรือไม่จะต้องมีการทำ Rating หรือจัดอันดับกันว่าใครดีกว่าใคร เช่นมีการจัดอันดับกันว่าบริษัทไหนมีธรรมาภิบาลดีมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้คนรู้ว่าบริษัทมีการบริหารที่โปร่งใสไว้ใจได้แค่ไหน อีกหน่อยก็จะมีการจัดอันดับว่ากองทุนรวมไหนมีผลงานโดดเด่นและกองทุนไหนไม่ได้ความ


เรื่องของหุ้นเองนั้น ในเมืองไทยยังไม่มีใครคิดหรือกล้าที่จะจัดอันดับ เหตุผลคงมีมากมาย แต่ข้อหนึ่งก็คือ ทำไปแล้วอาจจะถูกด่าว่าจากนักลงทุนเวลาจัดผิด และที่คงไม่พลาดก็คือ คงได้รับเชิญจาก กลต. ไป คุย อย่างเข้มข้น แม้ว่าในตลาดหุ้นอย่างของสหรัฐนั้น การจัดอันดับหุ้นน่าลงทุนมีมานานและบางบริษัทเช่น Value Line ได้สร้างผลงานที่น่าประทับใจมาช้านาน


ผมเองเวลาวิเคราะห์หุ้นเพื่อลงทุนนั้น ถึงจะไม่ได้จัดอันดับอย่างเป็นระบบเพราะไม่มีความจำเป็นแต่ก็ทำคล้าย ๆ กับการจัดอันดับเหมือนกันนั่นก็คือผมจะ ให้คะแนน องค์ประกอบต่าง ๆ ของหุ้นแต่ละตัว เสร็จแล้วก็เอาคะแนนของแต่ละข้อมารวมกัน หุ้นตัวที่ได้คะแนนมากก็จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจมากและผมก็มักจะลงทุนมาก ส่วนหุ้นที่ได้คะแนนน้อยผมก็ลงทุนน้อย หุ้นจำนวนมากมีคะแนนไม่ถึงขั้นผมก็ไม่ลงทุน ว่าที่จริงหุ้นส่วนมากผมไม่ต้องเสียเวลาคิดเพราะผมรู้ว่าอย่างไรก็ได้คะแนนไม่ถึงขั้นที่ผมจะลงทุนอยู่แล้ว


องค์ประกอบของหุ้นที่ผมนำมาใช้ในการจัดอันดับนั้นมีหลายข้อ เรื่องใหญ่ ๆ ก็มีกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งผมจะดูเป็นอันดับแรก ตามด้วยฐานะทางการตลาดของกิจการ ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน การเจริญเติบโตของยอดขายและกำไร ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร และสุดท้ายก็คือราคาหุ้นว่าถูกหรือไม่ มีความปลอดภัยหรือ Margin of Safety เพียงพอไหม


อุตสาหกรรมที่ได้คะแนนน้อยหรืออาจจะติดลบก็คือ อุตสาหกรรม ตะวันตกดิน นั่นคืออุตสาหกรรมที่จะค่อย ๆ ตาย เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างการส่งออกสิ่งทอคุณภาพต่ำ แต่หุ้นของกิจการที่ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์เนมขายในประเทศนั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเหมือนกันแต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่กำลังถดถอย เพราะฉะนั้น เวลาผมพูดว่าอุตสาหกรรมนั้น หลาย ๆ ครั้งไม่ได้เป็นกลุ่มตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้


อุตสาหกรรมที่กำลังโตจะได้คะแนนมาก แต่นี่ก็ต้องดูว่าเป็นการโตของหน่วยการขายไม่ใช่โตเพราะราคาสินค้าปรับตัวขึ้นตามวัฏจักร ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่โตอย่างเห็นได้ชัดก็คืออุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เวลานี้ก็ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่โตเร็วอีกต่อไปแล้วเพราะคนใช้เริ่มอิ่มตัว


ถัดจากเรื่องของอุตสาหกรรมผมก็จะดูฐานะทางการตลาดของบริษัทว่าแข็งแกร่งแค่ไหน ถ้าเป็นบริษัทที่มียอดขายอันดับหนึ่ง คะแนนที่ได้ก็จะสูง และจะสูงยิ่งขึ้นถ้าเป็นบริษัทที่ ครองตลาด มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% หรือสูงกว่าคู่แข่งอันดับสองมาก


มีอยู่บ้างเหมือนกันที่บริษัทที่มียอดขายอันดับหนึ่งกับอันดับสองหรือแม้แต่สามหรือสี่ไม่แตกต่างกันมาก และบริษัทอันดับหนึ่งก็ไม่ได้เปรียบอันดับสองหรือสามเท่าไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างกลุ่มธนาคารหรือธุรกิจหลักทรัพย์ ถ้าเป็นแบบนี้ผมก็จะไม่ให้คะแนนเพิ่มมากมายกับฐานะทางการตลาดของบริษัท


ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกิจการที่ผมจะให้คะแนนสูงก็คือบริษัทที่มีกำไรดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ผลการดำเนินงานจะต้องมีความสม่ำเสมอและค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


กิจการที่มีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเทียบกับยอดขายหรือทรัพย์สิน และกำไรเติบโตน้อยจะได้คะแนนต่ำ แต่ที่แย่ยิ่งกว่าก็คือบริษัทที่มีกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ เอาแน่ไม่ได้ และบางครั้งถึงกับขาดทุน ถ้าเป็นแบบนี้คะแนนที่ได้จะน้อยมากแม้ว่ากำไรไตรมาศล่าสุดจะดูดีน่าประทับใจ


บริษัทที่มีเงินสดเหลือและไม่มีหนี้ที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินจะได้คะแนนดีในขณะที่บริษัทที่มีหนี้เงินกู้ยืมมากถึง 4-5 เท่าของกำไรต่อปีขึ้นไปจะได้คะแนนต่ำ ยกเว้นกิจการสาธารณูปโภคบางอย่างที่ต้องลงทุนสูงและมีรายได้แน่นอน เช่นการผลิตไฟฟ้าที่จะยอมให้มีหนี้สูงได้พอสมควรโดยไม่เสียคะแนน


การเจริญเติบโตของยอดขายและกำไร ถ้าเพิ่มขึ้นเร็วน่าประทับใจ คะแนนที่ได้ก็รับไปเต็ม ๆ เพราะนี่คืออาการของ หุ้นโตเร็ว หรือ Growth Stock ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนได้มหาศาลหากยังรักษาผลงานไว้ได้ ในขณะที่บริษัทที่มียอดขายคงที่มานานเช่นเดียวกับกำไรที่ไม่เพิ่มขึ้นจะได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำ


ความน่าเชื่อถือของผู้บริหารทั้งในด้านของการดูแลกิจการและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นคะแนนบวกถ้าดูแล้วเป็นคนไว้ใจได้ แต่จะเป็นคะแนนลบถ้าดูแล้วเป็นคน สีเทา นั่นคือไว้ใจไม่ค่อยได้นักแต่ไม่ถึงกับเลวร้ายจนรับไม่ได้ ส่วนผู้บริหารที่มีประวัติและพฤติกรรมที่เลวร้ายประเภทที่เรียกว่าเป็น แบล็คลิสต์ นั้น ผมมักจะขีดฆ่าหุ้นตัวนั้นออกจากสารบบเลยไม่ว่าคะแนนอย่างอื่นจะดีแค่ไหน


หลังจากให้คะแนนตัวธุรกิจของบริษัทแล้วก็จะมาถึงเรื่องของราคาหุ้นซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมาก คิดแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 50% ของคะแนนรวม เพราะไม่ว่าบริษัทจะได้รับคะแนนดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าหุ้นมีราคาสูงเกินไป อย่างไรก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน


หุ้นที่มีราคาถูกมาก นั่นคือมีค่า PE และ PB ต่ำมาก มีการจ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม มูลค่าตลาดของหุ้นเทียบกับพื้นฐานของกิจการต่ำมาก จะได้คะแนนสูง ในขณะที่หุ้น PE และ PB สูงจะได้คะแนนต่ำลง และหุ้นที่มีมูลค่าตลาดของหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมากนั้นจะมีคะแนนติดลบ


พูดมาเสียยืดยาวแต่คนอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นมีสูตรการจัดสรรคะแนนของแต่ละองค์ประกอบเลย คนอื่นจะเอาไปใช้ได้อย่างไร?


คำตอบก็คือ ผมให้ได้แต่หลักการ แต่วิธีหรือรายละเอียดต่าง ๆ นักลงทุนแต่ละคนจะต้องไปคิดเอง เป็นศิลปของแต่ละคน สิ่งที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การวิเคราะห์หุ้นนั้น ไม่มีองค์ประกอบข้อใดเพียงข้อเดียวที่จะใช้ตัดสินใจได้ แต่จะต้องดูภาพรวมหลาย ๆ ด้านและนำมาประกอบกันเพื่อ จัดอันดับ ความน่าสนใจของหุ้นแต่ละตัว
ล็อคหัวข้อ