Trading System โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
คนที่ศึกษาติดตามเกี่ยวกับกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนมักจะได้พบกับกลยุทธ์การซื้อขายหุ้นประเภทที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์แน่นอนเป็นระบบ เช่น ซื้อหุ้นมาแล้วถ้าราคาลดลง 10% ก็ให้ขายตัดขาดทุน แต่ถ้าหุ้นขึ้นไป 20% ก็ Take Profit คือขายทำกำไร บางทีก็บอกว่า Let Profit Run คือปล่อยให้หุ้นขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าหุ้นกลับตกลงมาใหม่ก็ให้ขายเมื่อยังมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ปัญหามักจะเกิดเวลาหุ้นอยู่เฉย ๆ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎที่กำหนดไว้
ยกตัวอย่างเช่นกลยุทธ์การซื้อขายหุ้นบอกว่าเมื่อซื้อหุ้น A มาจำนวนหนึ่งแล้ว พอมีกำไร 30% ก็ให้ขายส่วนหนึ่งเพื่อ ลดต้นทุน นั่นคือเอากำไรที่ได้จากการขายมาหักออกจากต้นทุนที่ซื้อหุ้น A มา พอหุ้นขึ้นไปอีกเป็นกำไร 50% ก็ให้ขายไปอีกส่วนหนึ่งเพื่อ ลดต้นทุน ลงไปอีก จนสุดท้าย เมื่อเงินที่ได้จากการขายหุ้นนั้นเท่ากับเงินลงทุนครั้งแรก ก็แปลว่าเราได้ทุนคืนหมด ไม่มีต้นทุนแล้ว หุ้น A ที่เหลืออยู่เป็น ของฟรี ซึ่งจะถือไว้นานเท่าไรก็ได้ เพราะขายได้เท่าไรก็กำไรเท่านั้น ปัญหาของกลยุทธ์หรือระบบการซื้อขายหุ้นแบบนี้ก็คือไม่ได้บอกว่าถ้าซื้อหุ้น A มาแล้วราคาเกิดตกลงไปจะทำอย่างไร
การซื้อขายหุ้นแบบ อัตโนมัติ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดนี้ ในทางวิชาการเรียกว่า Mechanical Rule แต่เรียกให้เข้าใจกันง่าย ๆ ในที่นี้ว่า Trading System หรือระบบการซื้อขายหุ้นนี้ ใครจะกำหนดอย่างไรก็ได้ และจะเรียกชื่อให้เท่แค่ไหนก็ไม่มีใครว่า คนร้อยคนอาจจะมี Trading System 100 แบบ ตามความคิดของแต่ละคนที่อาจจะเคยลองใช้แล้วเห็นว่าดี บางทีก็มีการแนะนำต่อกันในอินเตอร์เน็ต หรือไม่ก็เขียนเป็นหนังสือขายก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วความนิยมใน Trading System แต่ละแบบก็จะหายไปเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนแฟชั่น
Trading System ที่ดูเหมือนจะเป็น สุดยอด ของทั้งหมด เพราะได้รับความนิยมมานานและไม่เสื่อมหายไป รวมทั้งมักได้รับการบรรจุอยู่ในหนังสือแนะนำการลงทุนรวมทั้งตำราและแบบเรียนการลงทุนต่าง ๆ ก็คือระบบที่เรียกว่า Dollar Cost Average ซึ่งบอกให้ซื้อหุ้นด้วยเม็ดเงินเท่ากันทุกเดือนหรือทุกปี เช่น ต้องการลงทุนในหุ้น A 120,000 บาท ก็ให้ซื้อหุ้น A ทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท จนครบ 120,000 บาทในเวลาหนึ่งปี
ข้อดีของ Dollar Cost Average ก็คือมีการกระจายการซื้อหุ้นตลอดปีทั้งในยามที่ตลาดดีและตลาดไม่ดี เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะซื้อที่ยอดดอยจะน้อยลง นอกจากนั้น การที่เราซื้อด้วยเม็ดเงินเท่ากันทุกเดือนจะช่วยให้เราซื้อหุ้น A ได้ในจำนวนที่มากขึ้นในยามที่ราคาหุ้น A ต่ำ เช่นถ้าหุ้น A มีราคาหุ้นละ 1 บาทเราซื้อได้ 10,000 หุ้น แต่ถ้าเดือนไหนหุ้นขึ้นไปเป็น 2 บาทต่อหุ้นเราก็ซื้อหุ้น A เพียง 5,000 หุ้น เรียกว่าถ้าหุ้นแพงเราซื้อน้อยลง ถ้าหุ้นถูกเราซื้อมากขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับนักลงทุนทั่วไปที่ชอบเข้ามาซื้อเวลาหุ้นวิ่งขึ้นแต่ขายทิ้งเวลาหุ้นลง
Dollar Cost Average ไม่ได้พูดถึงเรื่องการขาย อาจจะเพราะว่านี่คือกลยุทธ์การลงทุนสำหรับคนที่มีรายได้ประจำที่อยากเก็บหุ้นลงทุนระยะยาว เผลอ ๆ จนเกษียณอายุ และถ้าหากมีการกำหนดตัวหุ้นที่จะซื้อว่าต้องเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ตัวแล้วละก็ วิธีการลงทุนแบบนี้น่าจะเป็นระบบการซื้อขายหุ้นที่เหมาะสมที่สุดของคนที่มีความรู้และเวลาที่จำกัดในการลงทุน
สำหรับ Value Investor ที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว Trading System เป็นเรื่องที่ไม่มีสาระอะไรนัก ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างวินัยในการที่จะ ลดความเสี่ยง ให้กับคนที่ ไม่รู้อะไรมากนัก เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยระบบที่จะมาช่วยในการตัดสินใจแทนการวิเคราะห์คุณค่าของหุ้นอย่างละเอียดรอบคอบ
ผมเองไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านการใช้ Trading System โดยเฉพาะสำหรับคนที่ยัง ทำใจ ไม่ค่อยได้เวลาหุ้นขึ้นหรือลงอย่างแรง หรือเวลาตลาดกำลังเฟื่องหรือเงียบเหงาหมดหวัง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเลือกใช้ Trading System ที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจจะไปหักล้างวิจารณญาณในการลงทุนที่ดีของเรา คำแนะนำสุดท้ายของผมก็คือ เวลาเลือกตัวหุ้นนั้น เราควรใช้หลักการพิจารณาแบบ Value Investment ส่วนเรื่องของการซื้อขายนั้น ถ้าอยากจะใช้ Trading System ผมก็คิดว่าไม่มีอะไรเสียหายมากนักแม้ผมจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์