อาทิตย์ มี.ค. 06, 2011 3:51 pm
ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้แล้ว
ลองอ่านมุมมองนักบุกเบิกด้านนี้ดู
ตอนนี้ ค่อนข้างแนใจว่าธุรกิจของเสี่ยอ๊อด ลูกชายนายห้างไทยนครพัฒนา อยู่ในเพื่อนบ้านขนาดใหญ่กว่าในไทย
เป็น brand แถวหน้าทั้งนั้นในประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ในไทยจะรู้จักแต่แอนตาซิลแจกแผลแตกตอนชกมวย แต่นอกบ้านธุรกิจของเขากว้างขวางใหญ่โต
ผมไม่ได้อยู่แวดวงธุรกิจด้านนี้นะ แต่เฝ้าดูและเห็นการเจริญเติบโตของธุรกิจไทยเป็นธุรกิจระดับภูมิภาคจริงได้แบบนี้ ก็เป็นปลื้มด้วย
เห็นมาตั้งแต่ยังไม่มีอะไร แม้กระทั่งเป็นเหยื่อเคยถูกเผาเชิงสัญลักษณ์ (ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจมีเอี่ยวกับธุรกิจอยู่บ้าง) ยังกลับมาโตได้อีก และกลับมาใหญ่กว่าเดิม
http://www.brandage.com/Modules/Desktop ... oupID=1206
มุมมองศุภชัย วีระภุชงค์ นักบุกเบิกไทยในอินโดจีน
ขนิษฐา อดิศรมงคลชัย
มุมมองศุภชัย วีระภุชงค์
นักบุกเบิกไทยในอินโดจีน
“สำหรับผมไม่มีคำว่าสายเกินไปในการทำธุรกิจ”
นี่คือมุมมองส่วนตัวของ คุณศุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาประเภทโอทีซีรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าเขาจะเป็นนักลงทุนไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปบุกเบิกการค้าขายในภูมิภาคอินโดจีนครอบคลุมประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามมานานเกือบ 20 ปีก็ตาม แต่ก็ยังมองว่า 3 ประเทศดังกล่าวยังมีโอกาสที่เปิดกว้าง และศักยภาพในการลงทุนอย่างล้นเหลือ
อย่างเช่นที่ไทยนครเข้าไปสร้างอาณาจักรเทรดดิ้งขายยาที่ลาวเมื่อต้นปี 1991 ปลายปีของปีเดียวกันเข้าไปทำธุรกิจจัดจำหน่ายยา ตามด้วยสนามกอล์ฟ ,โรงงานน้ำดื่ม , สถานีโทรทัศน์ และธุรกิจโรงแรม 2 ในเสียมราฐ และพนมเปญ อีก 2 ปีถัดมาเข้าไปเปิดโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายยา และโรงงานน้ำดื่มที่เวียดนาม
“อยู่ที่ว่าคุณส่ง The Right Person ไปคุมเกมได้รึเปล่า เรื่องความพร้อมของทรัพยากรบุคคลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าปัจจัยการลงทุน”
Getting to Know…
จากประสบการณ์เกือบ 20 ปีเต็มของการลงทุนในภูมิภาคอิโดจีนของคุณศุภชัย ชี้ว่านักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้าไปจะต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติ และวิธีคิดของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะกัมพูชา และเวียดนามที่ไม่เหมือนกัน
เริ่มจากประเทศกัมพูชาที่ผ่านสงครามมาตั้งแต่ปี 1979 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นคนที่อยู่ในวัยค้าขายในปัจจุบันจะมีอายุราว 45-60 ปี เพราะหากต่ำกว่า 45 ปียังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจยุคสงครามในช่วงนั้น
ดังนั้น กลุ่มนักธุรกิจที่พบอยู่ตอนนี้จะมีอายุ 45 ปี ขึ้นไป ซึ่งล้วนแต่ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงสงครามที่คิดเพียงว่าจะผ่านวันนี้ไปได้อย่างไร จะมีกินไหม หรือคิดแบบวันต่อวันไม่มีคำว่า Tomorrow ซึ่งมีผลพวงต่อเนื่องมาถึงการทำธุรกิจในปัจจุบันของเขา เพราะเมื่อมาเจอกับนักธุรกิจต่างชาติซึ่งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและไม่มีประสบการณ์กับภาวะสงครามก็จะสะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานและวิธีคิดของการทำธุรกิจว่า
เปรียบเสมือน “ปลาคนละน้ำ”
ไม่ใช่เรื่องความฝังใจ หรืออคติกับชาวตะวันตก แต่เกี่ยวข้องในแง่วิธีคิดของการทำธุรกิจ ตั้งแต่การทำตลาด นโยบายการกำหนดราคา กระทั่งวิชั่นหรือยุทธศาสตร์ของบริษัทก็มีทิศทางแตกต่างกัน ด้วยธรรมชาติของคนกัมพูชาที่มีประสบการณ์การเอาตัวรอดไปวันๆ จากสงคราม จึงมักมองธุรกิจแบบ Short Term ต่างจากนักธุรกิจข้ามชาติที่ต้องการทำธุรกิจ Long Term เช่นมีวิธีเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ตามหลักธรรมาภิบาล ฉะนั้นเมื่อนักลงทุนต่างสัญชาติมาหุ้นกันแล้วย่อมมีความคิดไม่เหมือนกัน
แน่นอนว่ามักไปด้วยกันไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่พบเห็นมากของการทำธุรกิจในกัมพูชา
สำหรับเวียดนามแม้จะผ่านภาวะสงครามมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่จะอยู่คนละแนวกับกัมพูชา กล่าวคือ สืบเนื่องมาจากระบบการปกครองของเวียดนามเป็นสังคมนิยม ในขณะที่กัมพูชามีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้การทำธุรกิจร่วมกับคนเวียดนามจะมีปัญหาน้อยกว่า เพราะนักธุรกิจต่างชาติที่ไปลงทุนจะไปหุ้นกับภาครัฐในฐานะผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด 100% ต่างกับกัมพูชาที่รัฐปล่อยให้เช่าเอกชนเช่า 70 ปี หรือ 99 ปี และอนุญาตให้เอกชนซื้อขายที่ดินได้
ฉะนั้นการที่นักลงทุนไปลงทุน โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ อย่างดอกนาย หรือเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์ซิตี้ หรือฮานอย จะมีสภาจังหวัด หรือกรมการลงทุนจังหวัดร่วมหุ้นด้วย โดยลงทุนในลักษณะเป็นที่ดินของรัฐ จากนั้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านการเงิน เครื่องจักร โนว์ฮาว และการตลาด
ชี้ให้เห็นว่าการถือหุ้นในแง่นิติบุคคลที่มาถือของทั้ง 2 ประเทศจะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ กัมพูชาถือครองโดยเอกชน แต่ในเวียดนามจะมีรัฐเป็น State Own Enterprise เข้ามาถือหุ้นด้วย
จุดนี้กลายเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัดเข้ามาถือหุ้นก็จะส่งข้าราชการมาเป็นตัวแทนของหน่วยงานนั้นๆ ในตำแหน่งกรรมการ หรือบอร์ด คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้มองตัวเองว่ามีความเป็นเจ้าของ แต่เป็นเพียงข้าราชการทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐทำงานตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จังหวัดนั้นๆ การดำเนินธุรกิจก็จะทำตามหลักการที่วางไว้ ดังนั้นปัญหาสำหรับธุรกิจใหญ่ๆ ที่เข้าไปลงทุนก็จะน้อยกว่า
ยกเว้นถ้าไปลงทุนกับนักธุรกิจเวียดนาม หรือพูดง่ายๆ ว่า ระหว่างนักธุรกิจ Individual กับ Individual ด้วยกันก็จะเข้าข่ายปัญหาเดียวกับกัมพูชา เนื่องจากมีวิธีคิดต่างกันอย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น
“การผ่านประสบการณ์สงครามทำให้คนเวียดนามมีวิธีคิดคล้ายกับกัมพูชา คือคิดแบบเอาตัวรอด นักธุรกิจที่เริ่มทำธุรกิจใน 15 ปีที่ผ่านมาก็จะเป็นแบบนี้ซึ่งจะไม่ค่อยมีหลักธรรมาภิบาล ความน่าเชื่อถือในคำพูดหรืออะไรก็แล้วจะค่อนข้างน้อย ตรงนี้ไม่ผิด เพราะเป็นใครที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาย่อมคิดไม่ต่างกัน ดังนั้นนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนต้องเข้าใจวิธีคิดของเขาก่อน ที่สำคัญต้องอดทน และมีการวางระบบที่รัดกุม”
สำหรับข้อจำกัด และอุปสรรคในการทำธุรกิจแต่ละประเทศนั้น คุณศุภชัย มองว่าทุกประเทศกลายเป็นระบบทุนนิยมเสรีกันหมดแล้ว หลังได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด จากที่ระบบข้าราชการของรัฐทั้งสองประเทศนี้เคยมีปัญหามาก กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะทั้งสองประเทศถูกอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมเข้ามาครอบงำ และต้องการเปลี่ยนเป็นทุนนิยมซึ่งขัดกับหลักการปกครองโดยตรง
การปรับรูปแบบการปกครองระบบสังคมนิยมที่ต้องการนโยบายการค้าขายให้เป็นทุนนิยมเสรีตามรอยผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ของเวียดนามใช้เวลาเป็นสิบปีเช่นเดียวกับกัมพูชา โดยทั้งสองประเทศนี้เรียนรู้บทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยในการออกกฎหมายต่างๆ ทำให้กฎหมายในประเทศกัมพูชา และเวียดนามมีลักษณะคล้ายคลึงกับไทย เพียงแต่พยายามแก้บางจุดที่ไทยเคยล้มเหลว โดยปิดช่องโหว่ตรงนั้น
“ยกตัวอย่างประเทศเวียดนามจากเดิมการนำเข้าสินค้าใดๆ จะต้องผ่านรัฐ ตามมาตรการที่ให้ Importer จะต้องเป็นรัฐเท่านั้น ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายยอมให้นักธุรกิจเวียดนามนำเข้าได้ จนในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติสามารถขึ้นทะเบียนค้าขายทำเทรดดิ้งได้”
ในขณะที่กัมพูชามีทิศทางในการพัฒนาคล้ายกัน เพียงแต่ว่าระบบการปกครองของ 2 ประเทศต่างกัน คือ กัมพูชาปกครองแบบประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้ง ส่วนเวียดนามก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่มีพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นการเมืองเวียดนามจะมั่นคงมากเหมือนจีน นักลงทุนที่เข้าไปไม่ต้องห่วงเรื่องการเมือง เพราะการมีพรรคเดียวทำให้มีเสถียรภาพมาก สัญญาที่ตกลงกับนักลงทุนก็จะเป็นไปตามข้อตกลงนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดในเรื่องการเมืองของกัมพูชาเทียบกับเวียดนามแล้ว การเมืองกัมพูชาจะ Fluctuate มากกว่า สืบเนื่องตั้งแต่การเข้าไปของ UNCTAD ในปี 1991 จากนั้นปี 1993 ในการเลือกตั้ง ทำให้กัมพูชามีนายกรัฐมนตรี 2 คน คือเจ้ารณฤทธ์ และสมเด็จฮุนเซน ทำให้บรรยากาศการลงทุนระหว่างปี 1993-1996 ถดถอยไปในระดับหนึ่ง เพราะการเมืองไม่นิ่ง นักลงทุนไม่มั่นใจ ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงตั้งไข่หาทิศทางในการแก้ปัญหาการเมืองในประเทศก่อนเรื่องอื่น จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองมีการปฏิวัติเมื่อ 1997 และสมเด็จฮุนเซนขึ้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จจากการเลือกตั้งในปี 2004 ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพเรื่อยมาจนทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาเปรี้ยงปร้างอีกครั้งในปี 2007-2008 นักลงทุนจากจีน เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซียตบเท้าเข้าไปลงทุนเยอะ
คุณศุภชัย ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องการเมืองในกัมพูชาว่า ปัญหาการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือแม้แต่การเมืองของประเทศไทยเองจะส่งผลกระทบอย่างมากกับบรรยากาศการลงทุนในกัมพูชา ลาว และพม่า เพราะ 3 ประเทศนี้ใช้ไทยเป็นฮับ ไม่ว่าจะในแง่นักลงทุน หรือนักท่องเที่ยวที่จะไป 3 แห่งนี้จะอาศัยสนามบินสุวรรณภูมิเป็นทางเข้า เมื่อการเมืองไทยมีปัญหาจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการค้าขายของ 3 ประเทศนี้ชะลอตัวไปด้วย ในขณะที่เวียดดนามจะได้รับกระทบน้อย เพราะปัจจุบันเวียดนามเป็นฮับใหญ่เหมือนประเทศไทย
Potential & Attraction
เมื่อพูดถึงอุปสรรคของการทำธุรกิจของแต่ละประเทศไปแล้ว ก็มาถึงโอกาส ศักยภาพ และความน่าดึงดูดในการเข้าไปลงทุนกันบ้าง
ไล่ตั้งแต่กัมพูชาที่มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ภูเขาน้อย มีแม่น้ำโขง และทะเลสาบยาว 200 กิโลเมตรครอบคลุม 6 จังหวัด เท่ากับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำอย่างดี จึงเอื้อต่อการทำธุรกิจด้านการเกษตรไม่ว่าจะเป็นอ้อย ยางพารา กระดาษ และข้าว แต่ปัญหาในวันนี้ คือ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลสาบได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดระบบชลประทานที่ดี หากไม่มีปัญหาตรงนี้จะทำให้กัมพูชาสามารถทำนาข้าวได้ตลอดปี ทั้งยังเปิดกว้างในธุรกิจพลังงาน เพื่อป้อนแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังขาดแคลน
“ตั้งแต่ไทยนครเข้าไปทำเทรดดิ้งบริษัทยาในปี 1992 เราก็เห็นศักยภาพทางธุรกิจในกัมพูชาเรื่อยมา ประกอบกับได้เห็นเมืองเสียมราฐ สีหนุวิว ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ และประวัติศาสตร์ที่มีครั้งหนึ่งเคยมีความเจริญมาก เพราะเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสเมื่อ 50 ปีก่อน และมีท่าเรือใหญ่กัมปงสม ในแง่ภูมิประเทศก็มีทางออกทะเล มีทรัพยากรป่าไม้ มี World Heritage อย่างนครวัด นครธม เรียกว่ามีศักภาพเกือบทุกอย่างเพียงแต่ขาดการบริหารจัดการ ไทยนครจึงมีพอร์ตการลงทุนในกัมพูชามากที่สุด โดยขยายเข้าไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโรงแรม สนามกอล์ฟ สถานีโทรทัศน์ และโรงงานน้ำดื่ม”
ในขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในธุรกิจด้านการเกษตร เพราะระบบชลประทาน อุตสาหกรรมเอื้ออำนวยมีความได้เปรียบทางจุดยุทธศาสตร์ประเทศที่ดี สามารถทำท่าเรือน้ำลึกได้เกือบทุกจังหวัด อีกประการหนึ่งมีแม่น้ำเดลต้าทำให้พัฒนาการเกษตรได้ดี แต่อาจมีปัญหาน้ำท่วมหากปีไหนน้ำมากขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ
สำหรับลาวนั้น เนื่องจากประเทศมีขนาดเล็กมีประชากรเพียง 7 ล้านคน ซ้ำยังมีความหนาแน่นของประชากรน้อยทำให้มีปัญหาเรื่องการกระจายสินค้า หรือ Distribution Channel จึงไม่เหมาะกับธุรกิจค้าขายโดยทั่วไป เพราะประชากรจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักเท่านั้น เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาสัก และสุวรรณเขต ดังนั้นลาวมักจะถูกวางตำแหน่งเป็นทางผ่านที่เชื่อมระหว่างไทยกับเวียดนาม
อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่น่าเข้าไปลงทุนในตอนนี้จะเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ การทำเขื่อนพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองทองแดง
“เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว ไทยนครลงทุนในประเทศลาวน้อยที่สุด คือมีเพียงธุรกิจเทรดดิ้งขายยาชื่อบริษัท ไทยเมด (เมดดิซีน) ค้าขายแต่ยา แล้วมีเจ้าหน้าที่ลาวค้าขายอยู่ บริษัทไม่มีแผนลงทุนที่นั่น ทั้งๆ ที่บริษัทเข้าไปค้าขายเกือบ 20 ปีเต็มตั้งแต่ปี 1991 และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอินโดจีนที่เข้าไป ตลาดยาก็เติบโตแต่เติบโตตามจำนวนประชากร ส่วนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวผมมีความคิดว่ายังเป็นรองจากกัมพูชา และเวียดนามเยอะ เพราะลาวเป็นประเทศเล็กกึ่งปิดไม่มีทางออกทะเล และไม่มีสนามบินขนาดใหญ่”
ทั้งนี้รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามออกมาตรการเพื่อเอื้ออำนวยแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยให้สิทธิประโยชน์หลายด้านด้วยกัน
โดยรัฐบาลกัมพูชาเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนด้านการเกษตรด้วยการให้เช่าที่ดินนานถึง 99 ปี และให้สิทธิ์การถือหุ้นโดยเอกเชน 100% ได้ ยกเว้นที่ดินที่ต้องเป็นคนท้องถิ่นถือครอง 51% (เหมือนประเทศไทย) แต่มีสิทธิ์ซื้อขายที่ดินได้
ส่วนเวียดนามเปิดโอกาสให้เอกชนถือหุ้น 100% ยกเว้นกรณีที่ดินต้องเช่ารัฐบาลตามสัญญาเช่า 50 ปีแล้วต่อสัญญาใหม่ (เหมือนประเทศจีน) โดยค่าเช่าจะต่างกันตามทำเลแบ่งเป็น พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐจะมีไกด์ในการกำหนดราคาเช่าแต่ละพื้นที่มาให้ ในกรณีมูลค่าการลงทุนไม่ถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลเวียดนามจะให้อำนาจของแต่ละจังหวัด (Decentralize) ในการอนุมัติคิดค่าเช่ากับนักลงทุนโดยตรง
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของทั้งเวียดนาม และกัมพูชามีความใกล้เคียงกัน เนื่องจากยกเว้นภาษีให้กับนิติบุคคลนาน 8 ปี เพียงแต่เวียดนามจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดีกว่า 5%
“กัมพูชาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 25% ส่วนเวียดนาม 20% แล้วถ้าใครลงทุนเยอะนอกจากไม่ต้องเสียภาษี 8 ปี ยังมีบวกให้อีก คือ ลด 50% ต่อไปอีก 3 ปี โดยรวมแล้วการค้าขายที่นี่สะดวกสบายกว่า ระบบการลงทุน ระบบภาษีทำให้ประเทศนี้พร้อมที่จะวิ่งได้”
ความได้เปรียบอีกประการหนึ่งของเวียดนามคือ ระบบปกครองแบบสังคมนิยม ทำให้รัฐบาลมีขั้นตอนการตัดสินใจเร็วในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2008 เวียดนามต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อจึงออกนโยบายลดภาษีเงินนิติบุคคลให้กับห้างร้านตั้งแต่เดือน 7-12 โดยยกเว้นการเสียภาษีที่เก็บ 30%
ในปี 2009 ยกเว้นภาษี 30% ตลอดทั้งปี (แต่ต้องเป็นธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปมีพนักงานไม่เกิน 300 คน หรือเงินลงทุนไม่เกิน 5 แสนเหรียญ เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจขนาดย่อมและกลาง)
เมื่อเทียบกันแล้วกัมพูชาจะมีอุปสรรคการลงทุนในด้านภาษีมากกว่า เพราะส่วนใหญ่แล้วรายได้ประเทศมาจากภาษีหัก ณ ที่จ่าย 12% จึงจะเป็นปัญหาต่อค่าเช่า ค้าจ้างทำของ และภาษีเงินกู้จากต่างประเทศ อีกประการหนึ่งของคืออินฟราสตักเจอร์ไม่พร้อม เช่น ถนน หรือไฟฟ้าแพงกิโลวัตต์ละ 7 บาท แพงกว่าไทยเท่ากว่า
Golden Opportunities!
“โอกาสทำธุรกิจเปิดอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจไม่มีคำว่าสาย แต่อยู่ที่การประเมินตัวเองว่าเรามีความพร้อมที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ไหม แต่ไม่มีคำว่าสายสำหรับการทำธุรกิจ เพราะประเทศเขาเป็นประเทศเสรีเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้าไป”
ทั้งนี้ กัมพูชาจัดให้มีกรมการลงทุน CDC (Council for Development of Cambodia) ในขณะที่เวียดนามมีกระทรวง MPI (Ministry of Planning and Investment ในสังกัด Foreign Investment Agency) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้าดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมระบบ One Stop ในการทำเอกสารทั้งหมดโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งยังมีการแข่งขันการให้สิทธิประโยชน์โดยศึกษาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อที่จะดึงนักลงทุน
จะเห็นได้ว่าทุกประเทศเปิดรับนักลงทุนมาก เพราะต้องการได้โนว์ฮาว และเงินมาร่วมพัฒนาประเทศ เพียงแต่วันนี้รัฐบาลอาจจะสกรีนโปรเจ็กต์มากกว่าในอดีต หลังจากเศรษฐกิจเริ่มที่จะแข็งแรงในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีความคิดในการจำกัดธุรกิจบางประเทศที่อาจเข้าไปสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม
“แต่สิ่งที่นักลงทุนต้อง Concern หากต้องการเข้าไปลงทุน นอกจากความพร้อมด้านเงินทุนแล้ว ความสำเร็จของนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านขึ้นอยู่กับบุคลากรมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะต้องส่งคนที่เข้าใจคนในชาตินั้นๆ ทั้งในแง่สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ว่าเขาคิดอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วคนเวียดนาม และกัมพูชาเปิดรับอะไรได้ง่าย เพราะเขาคิดไม่ต่างจากไทย คือ นับถือพุทธเหมือนกัน พื้นฐานด้านภาษาก็คล้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกัมพูชานั้น กลุ่มคนที่กุมธุรกิจค้าขายเกือบทุกประเภทกว่าครึ่งเป็นคนจีนแต้จิ๋ว ฉะนั้นเวลาไปก็เหมือนค้าขายกับคนจีน โมเดลนี้คล้ายกับไทยซึ่งทำธุรกิจโดยคนจีน”
นอกจากนี้จะต้องศึกษากฎหมายในแต่ละประเทศ และติดตามสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะมีผลกระทบกับธุรกิจได้เหมือนกัน อย่างเหตุการณ์เขาพระวิหาร และการปักเขตพรมแดน จะสร้างความไม่เข้าใจระหว่างประชาชนกับประชาชนในระดับหนึ่ง จึงกลายเป็นตัวแปรที่ไม่ควรมองข้าม
ต่างจากเวียดนามที่ผ่านจุดขัดแย้งทางด้านการแบ่งแยกทางเชื้อชาติไปแล้ว เพราะคนเวียดนามมองในแง่ของธุรกิจ และการพัฒนาประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่นำเรื่องประวัติศาสตร์มาเป็นประเด็น
สรุปว่าไม่ใช่เรื่องยากหากส่ง Right Person ไป เมื่อรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง...