จันทร์ ส.ค. 15, 2005 2:52 pm
คัดลอกจาก
http://www.bangkokbizweek.com/20050801/ ... 45926.html
แผนโต "SNC" รับจ้าง "ผลิตแอร์บ้าน" ผู้บริหาร "ตุนหุ้น"..ดักทาง "Auto Hub"
"เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์"(SNC) ซ่อนแผนโตรุกเงียบเจรจาลูกค้ารายใหญ่รับจ้างประกอบ "แอร์ในอาคาร" จากปัจจุบันผลิตแค่ "ชิ้นส่วนแอร์" ตามคำสั่งของลูกค้า(OEM) หวังกินรวบ "ต้นน้ำ" ถึง "กลางน้ำ" ส่วนธุรกิจชิ้นส่วน "แอร์รถยนต์" พบทางสว่างจากนโยบาย "Auto Hub of Asia" ผู้บริหารวางเป้ารายได้ปีนี้แตะ 1,200-1,300 ล้าน โตขึ้น 40% พบ "สมชัย ไทยสงวนวรกุล" กระเป๋าตุงแอบเก็บตอนหุ้นร่วง 3.44 ล้านหุ้น ต้นทุนแค่ 3.08 บาท
-----------------------
ภายหลังรัฐบาลวางนโยบายให้ไทยเป็น "Auto Hub of Asia" ดึงดูดให้ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย ส่งผล "เชิงบวก" โดยตรงต่อกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนความเย็นเติบโตตาม
โดยเฉพาะ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตในธุรกิจ "ชิ้นส่วน" และ "ท่อโลหะ" จากทองแดง ทองเหลือง และอะลูมิเนียม เพื่อใช้ในระบบเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ แอร์ในอาคาร และคอมเพรสเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนตามคำสั่งของลูกค้า (OEM) นำไปประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศเกือบทุกยี่ห้อ ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนความเย็น
"ทุกวันนี้ไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนแอร์เพื่อการส่งออก (ทางตรงและทางอ้อม) ถึง 90% ใช้ในประเทศแค่ 10% เราเป็นฐานการ "ประกอบแอร์" เพื่อการส่งออกใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น จึงมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแน่" สามิตต์ ผลิตกรรม กรรมการผู้จัดการบ. เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek"
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลักของเอส เอ็น ซี มาจากรายได้ชิ้นส่วน "แอร์บ้าน" ในสัดส่วน 60% ชิ้นส่วน "แอร์รถยนต์" 30% และชิ้นส่วน "คอมเพรสเซอร์" 10%
"เรามองว่าธุรกิจชิ้นส่วน (แอร์) รถยนต์จะเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นธุรกิจหลักของประเทศ และรัฐบาลให้การสนับสนุน..ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ปีนี้ยังเติบโตได้อีก 20% จากการตั้งเป้ายอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภท 1.1 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดการส่งออก 4 แสนคัน และขายในประเทศ 7 แสนคัน เทียบปี 2547 มียอดรวม 9 แสนคัน"
สำหรับแผนการขยายธุรกิจของเอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ สามิตต์ เปิดเผยว่า บริษัทกำลังจะก้าวจากผู้ผลิต "ชิ้นส่วนแอร์" (ต้นน้ำ) ไปสู่การเป็นผู้ "ประกอบแอร์" (กลางน้ำ) โดยจะเริ่มเฉพาะ "แอร์ในอาคาร" (แอร์บ้าน) ก่อน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าแต่ละยี่ห้อทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา คาดว่ามูลค่าการผลิต และโอกาสสร้างรายได้ให้แก่บริษัทจะสูงมากในอนาคต
"ตอนนี้มีลูกค้าแบรนด์ดังหลายรายสนใจจะจ้างเราเป็นผู้ประกอบแอร์ให้ เพราะเขามองว่าการประกอบเองไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูง ซึ่งต่อไปการผลิตแอร์จะเหมือนกับการรับจ้างผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ต่างๆ..คาดว่าการเจรจาจะจบภายในปีนี้ และจะเริ่มผลิตได้จริงในปี 2549"
ปัจจุบัน SNC ผลิตชิ้นส่วนแอร์ในอาคารให้กับเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ มิตซูบิชิ, ฟูจิตสึ, ยอร์ค และ ไดกิ้น เป็นต้น โดยคิดเป็นจำนวนการผลิต 7 ล้านยูนิตต่อปี เฉพาะยี่ห้อมิตซูบิชิเจ้าเดียวมีกำลังการผลิต 1.4 ล้านยูนิตต่อปี
นอกจากนั้นบริษัทยังมีแผนขยายการผลิตชิ้นส่วน "โลหะแผ่น" เพื่อใช้สำหรับการประกอบตัวถังแอร์บ้านอีกด้วย โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้จะเริ่มเข้าสู่บริษัทตั้งแต่ไตรมาส 3/2548 เป็นต้นไป
ในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนตู้เย็น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำการตลาด และได้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผลิตตู้เย็นเข้ามาเป็นผู้บริหาร โดยรายได้เริ่มเข้าสู่บริษัทตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้แล้ว
ทางด้านธุรกิจผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์นั้น สามิตต์ กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Pyongsan Corporation บริษัทผลิตแอร์รถยนต์อันดับ 2 ของเกาหลี โดย SNC ถือหุ้นในสัดส่วน 51% จัดตั้ง "บริษัท เอส เอ็น ซี ไพยองซาน อีโวลูชั่น" ในจ.ระยอง เป็นการซื้อโรงงานและเครื่องจักรเก่ามาปรับปรุงใหม่ บริษัทมีแผนที่จะดำเนินการผลิตสินค้าตัวใหม่ คือ ชิ้นส่วนท่อที่ทำจากอะลูมิเนียมและท่อยางสำหรับแอร์รถยนต์ คาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนก.ค.2548 และรายได้จะเริ่มเข้าบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 3/2548
นอกจากนั้นบริษัทดังกล่าวยังมีแผนขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ผลิตแอร์รถยนต์ของเกาหลี ฟอร์ด-มาสด้า รวมถึงโตโยต้า อีซูซุ เป็นต้น
ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนคอมเพรสเซอร์ บริษัทมีความตั้งใจที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเกาหลี เช่น กลุ่ม LG โดยอาศัยพันธมิตรธุรกิจจากกลุ่มไพยองซาน เป็นตัวขยายตลาดเพิ่มเติม ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจคอมเพรสเซอร์มีกำลังการผลิตคิดเป็นยอดขาย 180-200 ล้านบาทต่อปี
"ในปีนี้เราจะมีกำลังการผลิตรวมคิดเป็นมูลค่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้เรามีรายได้ราว 1,200-1,300 ล้านบาทหรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% จากปี 2547 ที่มีรายได้ 800 ล้านบาท ขณะที่ผลงาน 6 เดือนปีนี้ มียอดขาย 718 ล้านบาท เติบโตถึง 65% จากช่วงเดียวกันที่มียอดขาย 434 ล้านบาท และมีกำไร 85 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180%"
ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2549 สามิตต์ มั่นใจว่า บริษัทจะมีรายได้เติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 50% จากธุรกิจใหม่โดยเฉพาะผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ตัวใหม่ โลหะแผ่น และก้าวไปเป็นผู้ประกอบแอร์บ้านให้แก่เจ้าของสินค้า
ภาพรวมธุรกิจของเอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ที่ยังเติบโตทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารมองเห็นโอกาสเข้าเก็บหุ้นเพิ่ม ช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำในช่วงปลายปี 2547 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2548 ซึ่งหุ้นราคาต่ำกว่าราคาจอง (ไอพีโอ) ที่ 3.8 บาท
"กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" พบว่า "สมชัย ไทยสงวนวรกุล" ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้า "เก็บหุ้น" มาตลอดระหว่างวันที่ 8 ธ.ค.2547- 3 พ.ค.2548 รวมทั้งสิ้น 14 รายการ คิดเป็นหุ้นจำนวน 3,437,800 หุ้น มีต้นทุนเฉลี่ยเพียงแค่ 3.08 บาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 10.57 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้น SNC ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.25 บาทเมื่อ 2 ส.ค.2548 เท่ากับว่า มูลค่าหุ้นของ "สมชัย" ได้เพิ่มขึ้นเป็น 18.05 ล้านบาท มีกำไรแล้ว 7.50 ล้านบาท หรือราว 70% จากการที่เขารู้ล่วงหน้าว่าในปีนี้บริษัทยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง