โค้ด: เลือกทั้งหมด
“Small is beautiful” คือ 1 ใน 100 หนังสือที่มีอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่งโดย อี เอฟ ชูมัคเกอร์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ (Buddhist Economics) เมื่อปี ค.ศ. 1973 ซึ่งเสนอแนวคิด “ทางสายกลาง” ของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและแบบสังคมนิยม ทั้งด้านการผลิตและการบริโภคเพื่อความสมดุลของระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือการผลิตสินค้าและการให้บริการอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความจำเป็นของผู้บริโภค เพื่อคุณภาพ ราคาและใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมที่สุด
แนวโน้มใหญ่ที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกคือ “Convenience” หรือการเพิ่มลำดับสำคัญของ “ความสะดวกสบาย” ในการดำรงชีวิตมากขึ้น นี่คือสาเหตุหลักสนับสนุนแนวโน้มใหญ่สังคมคนเมือง (Urbanization) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะการมีแหล่งน้ำ อาหารที่สะอาดและปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค การเดินทาง ขนส่ง สาธารณสุข การศึกษาที่ดีขึ้น ล้วนเป็นสิ่งตอบสนองพฤติกรรมมนุษย์ที่ต้องการความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
หากผนวกแนวความคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน จะพบว่าผู้บริโภคนั้นต้องการสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานและเพื่อ “ความสะดวกสบาย” ของตนในราคาที่ “เหมาะสมและรับได้” ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการจะต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการโดยใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและ “เหมาะสมและรับได้” ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต”
ตัวอย่างของผู้ประกอบการที่นำเอาแนวคิด Small is beautiful มาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคอย่างได้ผล
บริษัทแอปเปิล เล็งเห็นโอกาสมหาศาลของธุรกิจเพลง สมาร์ทโฟน อุปกรณ์พกพา จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ iPod, iPhone, iPad เพื่อทดแทนเครื่องเสียง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบเดิม แต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนมี “ขนาดเล็กและเพิ่มความสะดวกสบาย” เหมาะกับการใช้งานแต่มีประสิทธิภาพดีกว่าและใช้งานง่าย ผู้บริโภคจึงยอมจ่ายเงินซื้อในราคาสูงกว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้เปิดตัว iPad Mini ที่มีขนาดเล็กลงและราคาประหยัดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น
เทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน เราจึงเห็นบริการหนังสือออนไลน์ (eBook) ชอบปิ้งออนไลน์ (eBook) เกมออนไลน์ การประมูลออนไลน์ (eAuction) การจองออนไลน์ต่างๆ ทั้งโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น ธุรกิจดังกล่าวล้วนเพิ่มความ “สะดวกสบาย” ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกในการเสนอสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างความพึงพอใจของลูกค้าออนไลน์และผลประกอบการที่ดีของบริษัท
รถประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ (Eco Car) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รถมี “ขนาดเล็ก” จึงคล่องตัว ประหยัดน้ำมัน บำรุงรักษาง่ายและราคาเหมาะสม เพื่อ “ความสะดวกสบาย” ผู้บริโภคยอมซื้อแม้จะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้น สำหรับปีนี้ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมรถคันแรกของภาครัฐ ทำให้มีปริมาณจำหน่ายรถเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน ส่วนผู้ผลิตแต่ละค่ายต้องเร่งผลิตรถอีโคคาร์เพื่อจำหน่ายทั้งในและส่งออกไปยังต่างประเทศ
การขยายสาขาในรูปแบบ “ขนาดเล็ก” ของร้านปลีกขนาดใหญ่ทั้ง Lotus Express, Mini BIGC เป็นการเพิ่ม “ความสะดวกสบาย” ให้แก่ผู้บริโภคในชุมชนมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้นำร้านสะดวกซื้อ 7-11 การขยายสาขา “ขนาดเล็ก” นั้นทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าทั้งการจัดหาทำเลและขนาดเงินลงทุน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังพัฒนาและจำหน่ายสินค้าที่ “ขนาดและปริมาณ” เหมาะสมกับการบริโภคแต่ละครั้งและพฤติกรรมความถี่ในการใช้บริการบ่อยขึ้นแม้จะจ่ายที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อยก็ตาม
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทที่นำแนวคิด Small is beautiful และ Convenience มาประยุกต์ใช้ให้เกิดความสมดุลทั้งด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานการตลาด 4P ซึ่งได้แก่ Product (ผลิตภัณฑ์สินค้า) Price (ราคา) Place (ทำเลหรือช่องทางสินค้าสู่ผู้บริโภค) Promotion (กิจกรรมทางการตลาด) กล่าวคือ การผลิตหรือมีสินค้าที่ทั้งขนาดและราคาเหมาะสมตรงความต้องการ ผู้บริโภคเข้าถึงได้สะดวกผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่ดีนั่นเอง
ในฐานะ Value Investor ต้องคำนึงถึงหลักการตลาดพื้นฐานสำคัญนี้ในการพิจารณาเลือกกิจการก่อนเข้าลงทุน เพราะบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างสูงนั้น ล้วนสั่งสมประสบการณ์และพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณสมบัติทั้งสี่ด้านอย่างโดดเด่นและครบถ้วน และหากสามารถสร้างความสมดุลตามแนวคิด Small is beautiful และยังเพิ่ม Convenience ให้ผู้บริโภคตามแนวโน้มใหญ่แล้ว นั่นคือกิจการยอดเยี่ยมที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาวที่นักลงทุนค้นหาอยู่นั่นเอง