โค้ด: เลือกทั้งหมด
พูดถึงคำว่า”ความสุข” ทุกคนอยากมีความสุขกันทั้งนั้น อวยพรปีใหม่ยังกล่าวว่า”ส่งความสุข”หรือสคส. มุมมองของคนทั่วไปมองว่าถ้าอยากมีความสุขก็ต้องมีเงินเยอะๆ แล้วนำเงินนั้นมาใช้ให้เกิดความสุขเช่นซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถใหม่หรือซื้อกระเป๋าถือใบใหม่เป็นต้น หลายคนคิดว่ายิ่งมีเงินมากยิ่งมีความสุขมาก ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับรายได้และความสุขของคนทั่วโลกเป็นเวลาหลายสิบปีพบว่าในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา รายได้ของประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเช่นสหรัฐอเมริกาที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 3,000 เหรียญเป็น 30,000 เหรียญ แต่ดัชนีความสุขของประชากรในช่วงเวลาเดียวกันไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย นั่นแสดงว่ารายได้ที่มากขึ้นอาจไม่ได้มีผลกับความสุขอย่างแท้จริง นักวิจัยพบว่าเหตุผลหลักๆที่ทำให้ความสุขของประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้นั้นมาจากสองสาเหตุหลัก หนึ่งคือ”ความเคยชิน”และสองคือ”การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น”
“ความเคยชิน”คือปัญหาทางจิตวิทยาของมนุษย์ จะสังเกตุเห็นว่าในช่วงแรกที่เราได้ของชิ้นใหม่ๆมาไม่ว่าจะเป็นของเล่นใหม่ บ้านใหม่หรือรถยนต์คันใหม่ เราจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจและรู้สึกพออกพอใจในสิ่งของชิ้นนั้นอยู่ตลอดเวลาจนแทบไม่อยากพลัดพรากจากมันไปหรือแม้แต่ไม่ยอมให้คนอื่นนำไปใช้ อย่างเด็กเล็กๆที่ได้ของเล่นมาใหม่มักจะหวงของเล่นชิ้นนั้นและไม่ยอมให้เด็กคนอื่นจับต้องเลยแม้แต่นิดเดียว ความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในช่วงแรกจะสูงมาก หลายคนอาจเห่อรถยนต์ใหม่จนต้องตั้งชื่อให้กับรถยนต์ของตนเองหรือไม่ก็เช็ดล้างทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา รถยนต์มีร่องรอยนิดหน่อยก็อาจทำให้อารมณ์เสียหรือพาลโกรธคนรอบข้าง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ของเล่นชิ้นใหม่นั้นก็ไม่ใหม่อีกต่อไป รถยนต์ใหม่กลายเป็นรถยนต์เก่าดูเหมือนความรู้สึกในช่วงแรกของการเป็นเจ้าของได้หายไป รถยนต์คันเดิมที่เคยขับดีวิ่งเงียบดูเหมือนว่าจะเริ่มมีเสียงดังและไม่ทันสมัยเท่ารถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวขายรุ่นล่าสุด ความเคยชินทำให้สิ่งที่เรามีกลายเป็น”เรื่องธรรมดา” นักลงทุนหลายคนเริ่มต้นจากเงินไม่กี่แสนบาทจนทำเงินได้หลายสิบหรือหลายร้อยล้าน ในช่วงแรกดูเหมือนจะตื่นเต้นที่ทำเงินได้มาก แต่พอเวลาผ่านไปเงินที่มีก็ดูเหมือนจะเฉยๆไม่ได้รู้สึกอะไรมาก หลายคนมีเงินล้านอยากมีเงินเป็นสิบล้าน พอมีสิบล้านก็อยากจะมีร้อยล้าน พันล้านต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดเพราะความเคยชินต่อเงินที่มีอยู่ เศรษฐีหลายคนไม่มีความสุขทั้งๆที่มีเงินมากมายเพราะปัญหาเรื่องความเคยชิน
ปัญหาที่สองคือ”การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น” มีการทำแบบสอบถามนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถามว่าถ้าให้เลือกทางเลือกสองข้อ ข้อแรกจบมาแล้วนักศึกษามีรายได้ 5 หมื่นเหรียญต่อปีขณะที่นักศึกษาคนอื่นมีรายได้ 3 หมื่นเหรียญ หรือข้อสองจบมาแล้วนักศึกษาคนนั้นมีรายได้ 1 แสนเหรียญต่อปีขณะที่คนอื่นมีรายได้ 2 แสนเหรียญ จะเลือกข้อไหน จากการทดลองพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่เลือกข้อหนึ่งนั่นคือยอมมีรายได้ลดลงครึ่งหนึ่งแต่ขอให้ได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่น แสดงว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ชอบเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ถึงแม้จะมีเงินมากน้อยแค่ไหนก็ตามขอแค่มีมากกว่าคนอื่นก็จะพอใจ แต่ถ้ามีน้อยกว่าคนอื่นอาจทำให้ไม่มีความสุขได้ ถ้าดูรอบตัวจะพบว่าในความเป็นจริงเวลาเพื่อนบ้านหรือญาติสนิทออกรถยนต์คันใหม่ เรามักจะคิดว่ารถยนต์ที่เรามีนั้นดูเก่าไปในทันที บางคนทำเงินจากตลาดหุ้นได้หลายแสนบาท แต่พออีกคนทำได้เป็นล้านดูเหมือนจะทำให้เราทำเงินได้น้อยลงเช่นกัน มีนักลงทุนท่านหนึ่งบอกว่ามีเงินในพอร์ต 30 ล้านบาท บางคนอาจมองว่าโอ้โหเยอะมากเลยไม่รู้ว่าชาตินี้จะหาเงินจำนวนนี้ได้หรือไม่ ขณะที่อีกบางคนอาจมองว่ามีเงินในพอร์ตไม่กี่สิบล้านบาทแค่นี้น้อยมากๆ ซึ่งในความเป็นจริง เงินจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ามากหรือน้อยขึ้นกับมุมมองของแต่ละบุคคล
ดังนั้นถ้าอยากมีความสุขคงต้องเอาชนะปัญหาของมนุษย์ในสองเรื่องนี้ให้ได้นั่นคือเรื่องของ”ความเคยชิน”และ”การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น” ถ้าทำได้จะทำให้เรา”พอใจ”ในสิ่งที่มีอยู่และมีความสุขอยู่กับปัจจุบันไม่ว่าเราจะมีเงินมากหรือน้อยเพียงใดอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะมีผู้รู้กล่าวว่าเมื่อไหร่ที่เรา”พอ” เมื่อนั้นเราก็จะมี”ความสุข”