เปิดมุมมอง 5 กูรูมองโลก สะท้อนไทยปี 2015 ในงานสัมมนา “มองโลก มองไทย สู่ปี 2015”
วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2013 เวลา 18:10 น. ศรีอรุณ จังติยานนท์ ข่าวรายวัน - คอลัมน์ : ข่าวในประเทศ
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “มองโลก มองไทย สู่ปี 2015”จัดโดยสภาธุรกิจไทย-จีน ถึงโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทยว่า ในบรรดามหาอำนาจในเอเชีย 3 ชาติ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ อินเดีย ในอนาคตประเทศจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของจีนมีประสบการณ์และความชำนาญสูง ประกอบกับประเทศจีนมีความพร้อมทุกด้านทั้งเงินทุน และบุคลากร จึงเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่เพียงแค่แสวงหาลู่ทางในการลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงวิธีการที่จะนำสินค้าไทยเข้าไปขายในจีน และนำสินค้าจีนเข้ามาจำหน่ายให้กับคนไทย ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะคาดว่าในช่วง 10 ปีหลังจากนี้ เศรษฐกิจและธุรกิจของจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้เริ่มฟื้นตัวแล้ว ซึ่งถ้าเศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัว ไทยจะลำบากเพราะเม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับ ส่วนยุโรปแม้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวแต่ก็กำลังรอเวลาฟื้นตัว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาลู่ทางในการร่วมทุน หรือควบรวมกิจการกับธุรกิจเจ้าถิ่นนในอเมริกาและยุโรป ซึ่งจะได้ประโยชน์ 2 ด้านคือ โอกาสในการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายผ่านเครือข่ายกิจการที่มีศักยภาพ และยังมีโอกาสนำความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วไปใช้ในตลาดในประเทศกำลังพัฒนา
ส่วนอาเซียนด้วยกัน แต่ละประเทศเศรษฐกิจกำลังขยายตัว และมีการดูดเงินลงทุน จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมา คือเวียดนาม ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 4 มีเงินลงทุนจากญี่ปุ่นประมาณ 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นการจะเข้าไปลงทุน และค้าขายกับประเทศในอาเซียนด้วยกันนั้น ต้องนำสินค้าที่เป็นที่สนใจ และแปลกใหม่เข้าไปขาย
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักธุรกิจไทยจะต้องปรับแนวความคิดในการขยายตลาดและฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชาเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในอาเซียนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรง หรือ FDI เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับแนวโน้มดุลอำนาจของโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองย้ายจากตะวันตกมาอยู่ในภูมิภาคเอเชีย เห็นได้จากการที่จีนผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจและยังมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศ ทำให้ไทยยิ่งต้องเร่งปรับตัวให้คุ้นเคยกับจีนและอาเซียน เพื่อนำไปสู่การเป็นคู่ค้าที่ดีในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมากคือการที่ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นแรงกดดันที่จะดูแลผู้ที่ไม่สามารถอยู่ในวัยผลิตจำนวนมากในขณะที่วัยทำงานของประเทศมีจำนวนลดลง
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า6 %ซึ่งสูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้จะอยู่ที่5 %เนื่องจากมีปัจจัยบวกด้านการส่งออกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่จะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และการลงทุนภาครัฐ ตามนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งตัวเลขการท่องเที่ยวที่ดีกว่าที่คาดไว้ ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพที่อยู่ที่40-45% ต่อจีดีพี โดยต่ำกว่าระดับหนี้ที่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่50 %
อย่างไรก็ตามยังมีความเป็นห่วงจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร ดังนั้นจึงสนับสนุนธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินราคาพื้นฐาน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในบางประเภทสูงเกินไป ซึ่งทำให้เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่บ้างแล้ว เนื่องจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปยังใช้มาตรการ QE เข้าสู่ระบบเพื่อลดอัตราการว่างงานในประเทศเหล่าให้ต่ำกว่า6.5 %จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 7.7 %
ด้านนายธนากร เสรีบุรี ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน ระบุสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากนักธุรกิจได้ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว และมองว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่ภาคธุรกิจก็ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าของสินค้าสำหรับการดูแลค่าเงินบาทนั้น สิ่งสำคัญคือทางการต้องไม่เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท โดยควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้เอง
ขณะที่นาย กว่านมู่ เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “ความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-จีน” ว่า การพัฒนาของจีนหลังจากได้ผู้นำคนใหม่จะต้องมีการเปลี่ยนโฉมอย่างแน่นอนในแง่ของการลงทุน หลังจากที่จีนเปิดประเทศมากขึ้น เพราะจีนถือว่าเป็นมหาอำนาจทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และการที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯมีความสนในในตลาดเอเชียมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องดีที่จะร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และพยายามให้ทุกประเทศมีโอกาสแข่งขันเพื่อมีส่วนแบ่งในเค้กของโลกนั่นคือเศรษฐกิจของโลก เพื่อสนองความต้องการของประชากรโลกที่มีมากขึ้น ซึ่งต้องมีการร่วมทุนระหว่างกัน และจีนเองก็พร้อม
"เป็นเรื่องที่ดีที่ทางสหรัฐฯจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้เจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน ซึ่งเราก็มีการพูดคุยกัน เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไป ประเทศใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ถ้าเราสามารถทำให้ทุกฝ่ายมีโอกาสพัฒนาไปด้วยกัน ก็จะทำให้เศรษฐกิจโตไปพร้อมๆกัน"
โดยแนวโน้มจากนี้ไป 3 ปีจีนจะชื้อสินค้าจากต่างประเทศถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯและจะเพิ่มขึ้นทุกๆปีนับจากนี้ไป ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯได้ในปี 2015 (2558)ทั้งนี้โดยจีนทำการค้าขายกับไทย 6.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยไทยมีมูลค่าส่งออกไปจีนที่ 3.80 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัดส่วน 25% เป็นสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล และผลไม้ไทย และมูลค่าลงทุนในจีน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยชื้อสินค้าจากจีน3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
"คนจีนชอบประเทศไทยเพราะมีความผูกพันกันมานาน ดังนั้นเราต้องใช้ประโยชน์นี้ในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยนโยบายของผู้นำคนใหม่ได้มีการส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น"
http://www.thanonline.com/index.php?opt ... z8.twitter
เปิดมุมมอง 5 กูรูมองโลก สะท้อนไทยปี 2015
-
- Verified User
- โพสต์: 458
- ผู้ติดตาม: 0