จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
blueplanet
Verified User
โพสต์: 1155
ผู้ติดตาม: 0

จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมได้หนังสือพิมพ์เป็นสมุดเล่มเล็กๆ อธิบายเหตุผลของ ปตท แต่ผมไม่มั่นใจในเหตุผลที่ ปตท อธิบาย
ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น บางกลุ่มบอกว่าแพงมาก เอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศ
ผมอยากฟังเหตุผลดีๆ จริงๆแล้ว ผมอยากให้ ปตท ดีเบต กับพวกที่ โจมตี ปตท
ผ่านสื่อหลักของประเทศ เช่น ช่อง สามไม่ใช่สื่อเล็กๆแบบ ASTV
Blueplanet
WaayVI
Verified User
โพสต์: 234
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ดี หรือไม่ดี มันอยู่ในตลาด ซื้อได้ทุกวัน ไม่เข้าใจจะไปทวงทำไมเหนื่อยๆ

บางทีก็คิดเล่นๆ แบบสุดโต่งนะ ถ้าเค้าคิดว่าดี ผูกขาด เอาเปรียบ ดีทุกๆ อย่าง กำไรแสนล้าน (แต่ไม่รู้ลืมดู NPM GPM หรือความเสี่ยงราคาคอมโมรึเปล่า) ก็เปิดพอร์ตซื้อได้เลย ซื้อได้ทุกวันที่ตลาดเปิด ใครอยากทวงคืนคนละไม้คนละมือ ก็เข้าไปช่วยกันซื้อคนละไม้คนละมือเลย จนเหลือถือกันอยู่แค่สองฝ่ายคือ ก.การคลัง กับ คนรักชาติ ทีนี้ก็ของไทยล้วนๆไม่มีของคนอื่น

ผมละไม่เข้าใจจริงๆ ของผูกขาดที่ใครๆเค้าว่าเอาเปรียบผู้คนนู่นนี่ ขุมทรัพย์คนบางพวก ทำไมราคาหุ้นมันมี PE แค่ 8เท่ากว่า PB 1 เท่ากว่า แถมปันผลตอนนี้่อยู่ที่ประมาณปีละ 4%

หุ้นๆ เน่าบางตัวละ PE 78 PB 9.6 ปันผล N/A (ผมสมมตินะ)

โลกมันก็แปลกดี
ภาพประจำตัวสมาชิก
kissme
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1311
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมว่ากระทู้นี้ล่อแหลม พาลจะไปดราม่าได้นะครับ ยังไงระมัดระวังความเห็นกันนิสนุง เสียวววววว :mrgreen:
WABISABI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 103
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้ความรู้ มากกว่าความรู้สึก
พอมันมีข้อมูลแบบนี้ มันเชคง่ายกว่าว่าจริงหรือไม่จริงครับ


พลังงานไทย เพื่อคนไทย (จริงๆ) - ตอนที่ 2 โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย
"น้ำมันแพง" "พรุ่งนี้น้ำมันจะขึ้นอีก 60 สตางค์ต่อลิตร" ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ คงเป็นคำพูดที่ได้ยินจนชินไปซะแล้วในปัจจุบันนี้ ทุกวันนี้คนที่เข้าใจโครงสร้างราคาน้ำมันที่แท้จริงมีอยู่ไม่มาก พอรู้สึกราคาน้ำมันแพงก็จะโทษบริษัทน้ำมันก่อนว่าเอาเปรียบบ้าง ขูดรีดบ้าง ดังนั้นผมจึงมีแรงบันดาลใจที่จะเขียนบทความนี้ ขึ้นมาแชร์ข้อเท็จจริงถึงโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศไทยดังต่อไปนี้นะครับ

ในบทความตอนนี้เอาเรื่องน้ำมันล้วนๆ จะพูดถึงน้ำมันดิบ (Crude) และน้ำมันสำเร็จรูป อย่างเดียวก่อนนะครับ ไม่พูดถึงพลังงานอย่างอื่นที่เราบริโภคกันยังกะซดน้ำนะครับ

ปัจจุบัน เรายังต้องพึ่งพานำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามากลั่นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ในปี 2555 (1 บาร์เรล เท่ากับ 159 ลิตร)
http://www.eppo.go.th/info/stat/T01_01_01.xls

ประเทศไทยมีความต้องการในการนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิสูงถึง 819,173 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบแค่เพียง 148,977 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น แถมคอนเดนเสทให้ด้วยอีก 81,584 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้นถ้ามีใครบางคนบิดเบือนบอกว่าเรามีแหล่งพลังงานน้ำมันเยอะพอๆกะซาอุฯนี่ อย่าไปหลงเชื่อเด็ดขาดนะครับ

หลังจากเอาน้ำมันดิบที่เรานำเข้ามากลั่นออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว เรามีการบริโภคในประเทศ ในส่วนน้ำมันสำเร็จรูป 709,223 บาร์เรลต่อวัน และมีส่วนที่ไม่ใช้เป็นพลังงาน เช่น LPG ในปิโตรเคมี น้ำมันหล่อลื่น ยางมะตอย ฯลฯ อีก 332,301 บาร์เรลต่อวัน ส่วนที่กลั่นเหลือเราก็ส่งออกในส่วนน้ำมันสำเร็จรูปนะครับ เป็นจำนวน 158,646 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันสำเร็จรูปที่เรากลั่นมาเกิน (จากกำลังการกลั่นสูงสุดประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เพราะน้ำมันดิบเวลากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป จะได้น้ำมันชนิดต่างๆ เช่น LPG น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา ยางมะตอย ฯลฯ เราก็ต้องกลั่นให้ทุกอย่างเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศใช่มั้ยครับ เราไม่สามารถกลั่นน้ำมันดิบจำนวนนึงให้ออกมาเท่ากับความต้องการการใช้ของประเทศไทยได้ทุกตัวแน่นอน ก็ต้องมีส่วนที่เกินมา นอกจากนี้ โรงกลั่นในประเทศไทยมีผู้เล่นเป็นบริษัทต่างชาติอยู่ ซึ่งโรงกลั่นทั้งไทยและเทศก็จะมีการกลั่นออกมาแข่งขันจำนวนนึง รวมถึงกลั่นในจำนวนให้มากพอๆกับกำลังการกลั่นของโรงกลั่นเพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยน้อยที่สุด ซึ่งพอขายไม่หมดก็ต้องส่งออกไปขายข้างนอกส่วนที่เกินถ้าเราสต๊อกไม่ไหว ก็ต้องขายออกไปเอาเงินกลับเข้ามาดีกว่า

ในจำนวนนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิยังมีส่วนที่ส่งออกประมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน (ราวๆ 15% ของที่ผลิตได้) นี้ เราผลิตอยู่ในประเทศเนี่ยแหละ แต่ไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้กับโรงกลั่นของเราได้ (โรงกลั่นจะออกแบบเพื่อรองรับน้ำมันดิบดูไบเป็นส่วนประกอบหลักซึ่งกลั่นแล้วได้ดีเซลเป็นหลักที่ประเทศไทยต้องการใช้มากที่สุด) อย่างเช่นสารปรอทสูงเกินไป (ซึ่งปัจจุบันโรงกลั่นได้เริ่มมีปรับปรุงติดตัั้งระบบกำจัดปรอทแล้ว แต่ยังติดสัญญาขายระยะยาวให้ต่างประเทศจากอดีดบางส่วนด้วย คาดว่าจะสิ้นสุดในปีสองปีนี้)หรือมีส่วนประกอบไม่เหมาะสมจะทำให้กลั่นได้เบนซินมากเกินไปเกินความต้องการของประเทศ (โดยเฉพาะพวกคอนเดนเสท) ฯลฯ ก็ส่งออกไปขาย แต่ทางการไทยก็พยายามบังคับให้ลดการส่งออกส่วนนี้ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ และต้องมีภาระการปรับปรุงโรงกลั่นให้สามารถรองรับน้ำมันดิบเหล่านี้ได้เพื่อลดคำครหา (ที่ผิดๆ)

ข้อมูลนำเข้า ส่งออก การผลิต น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปอย่างละเอียด
http://www.doeb.go.th/info/info_sum.php
http://www.eppo.go.th/info/2petroleum_stat.htm

กรณีน้ำมันดิบไทยกลั่นแล้วได้เบนซินเป็นส่วนประกอบหลัก
http://www.manager.co.th/iBizChannel/Vi ... 0000122090

กรณีน้ำมันดิบกับคอนเดนเสทจากอ่าวไทยมีสารปรอทสูง ...
http://www.democrat.or.th/th/news-activ ... p?ID=13683

บางคนบอกว่าเราส่งออกน้ำมันมีมูลค่ามากกว่าข้าว แต่เดี๋ยวก่อน หยุดคิดนึดนึงครับ เพราะมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง น้ำมันที่เราส่งออกบางส่วนไม่สามารถกลั่นในไทยและบางส่วนเกิดจากการซื้อน้ำมันดิบจำนวนมหาศาลเข้ามาก่อนแล้วค่อยกลั่นแล้วเหลือใช้ในน้ำมันบางชนิดแล้วจึงขายออกไป คิดเป็นจำนวนสุทธิ เรามีการนำเข้าน้ำมันสุทธินะครับ ส่วนข้าว เราผลิตเองในประเทศทั้งหมด เหลือจากการบริโภคภายในประเทศแล้วส่งออกหมด ดังนั้นมูลค่าการผลิตข้าวของเรา เราถือว่าเราส่งออกข้าวสุทธิครับ

ในเมื่อประเทศไทยรับประทานน้ำมันดิบสูงกว่าที่ผลิตได้ 3-4 เท่า แถมที่ผลิตได้บางส่วนก็กลั่นไม่ได้อีก ก็ต้องนำเข้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเงินตราไหลออกต่างประเทศจนรัฐบาลต่อให้เป็นรัฐบาลไหนๆก็ต้องเก็บภาษีเข้าคลังเยอะๆไว้ก่อนครับ จะไปเทียบกับประเทศที่มีน้ำมันเยอะขนาดส่งออกได้ไม่ได้นะครับ

มาดูโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าปั๊มกันดีกว่า ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จากข้อมูลจริงที่เป็น Official จากกระทรวงพลังงาน ถ้าเราใส่ใจหาข้อมูลก็จะรู้ที่มาที่ไปครับ เพราะบางคนเล่นเอาราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามตลาดซื้อขายสิงคโปร์มาหาราคาต่อลิตรแบบง่ายๆนะครับ (บางคนหนักกว่านั้นเล่นเอาราคาน้ำมันดิบ WTI มาใช้หน้าตาเฉย (ไทยใช้ Dubai)!!!) ยิ่งไปกว่านั้นเล่นเอาราคาขายปลีกสิงคโปร์มาอ้างแบบไม่กลัวหน้าแหกด้วย (ราคาซื้อขายในตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาขายปลีกในสิงคโปร์ ระวังอย่าสับสน เดี๋ยวจะมีรายละเอียดต่อไปครับ)

มาดูกราฟแท่งที่ผมทำให้ดูอย่างง่ายดีกว่าครับ
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน
http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html

Ex-Refin. = ราคาขายหน้าโรงกลั่น
Tax = ภาษีสรรพสามิต
M. Tax = ภาษีเก็บเข้าเทศบาล
Oil Fund = เงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน
Consv. Fund = เงินเก็บเข้ากองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
Marketing margin = ค่าการตลาด
Retail price = ราคาขายหน้าปั๊มน้ำมันในเขตกรุงเทพและปริมณฑล


กราฟที่ 1: โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 (บาท/ลิตร)

โดยรวมนะครับ
จะเห็นได้ว่า น้ำมันเบนซิน ไม่ว่าจะเป็น เบนซินไร้สารตะกั่ว (Unlead) หรือ เบนซินแก๊สโซฮอล (Gasohol) เนี่ย ราคาหน้าโรงกลั่นแทบไม่ได้แตกต่างกันเลย เอาจริงๆ แก๊สโซฮอล์ต้นทุนสูงกว่าด้วยซ้ำ
ส่วนน้ำมันดีเซล น้ำมันเศรษฐกิจ นั้นมีต้นทุนสูงที่สุด เมืองนอกขายกันแพงกว่าเมืองไทยเยอะ


มาวิเคราะห์กันเป็นแต่ละชนิดเลยนะครับ (จะพูดถึงราคาล้วนๆนะครับ ไม่พูดถึงอัตราสิ้นเปลือง)


เบนซิน 95 (Unleaded 95) กับ เบนซิน 91 (Unleaded 91)
จะเห็นว่า ราคาปัจจุบันแทบไม่ต่างกัน ไม่เหมือนช่วงๆนึงที่ทางรัฐรณรงค์ลดการใช้เบนซิน 95 ให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล 95 กันมากขึ้น แต่ขณะนั้นรถเก่าบางจำนวนยังไม่สามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ได้ ทางรัฐจึงไม่ได้เก็บภาษีของน้ำมันเบนซิน 91 เยอะเท่ากับตอนนี้
หลังจากที่ประชาชนเห็นว่า แก๊สโซฮอล ก็ไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับเครื่องยนต์รุ่นหลังปี 2538 จำนวนการใช้แก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วทั้ง 95 และ 91 ทางรัฐเลยรีดภาษีกับกองทุนน้ำมันจากน้ำมันทั้งสองประเภทนี้เต็มที่ (รวมกันประมาณ 20 บาท) ทำให้ราคาน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ แพงมากอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งๆที่ราคาหน้าโรงกลั่นพอๆกับน้ำมันชนิดอื่นๆ


แก๊สโซฮอล 95 (Gasohol 95, E10) กับ แก๊สโซฮอล 91 (Gasohol 91)
เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมเอทานอล 10% ราคาหน้าโรงกลั่นเอาจริงๆแพงกว่าราคาน้ำมันเบนซินนิดนึงด้วยซ้ำเพราะความจริงแล้ว การมีเอทานอล (Ethanol, C2H5OH) ผสมต้องมีต้นทุนในการผสมด้วย แต่ที่ทางภาครัฐสนับสนุนให้ใช้เพราะว่า เอทานอลที่เติมลงไปในเบนซินนั้น เราสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง จากพวกมันสำปะหลังหรืออ้อย เมื่ออยู่ในแก๊สโซฮอล์ E10 จะทำให้เราสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบได้ถึง 10% ถือว่าเป็นการลดเงินตราไหลออกนอกประเทศได้ส่วนนึงและเป็นการสนับสนุนภาคการเกษตรของเกษตรกรบ้านเราด้วย ในด้านภาษีน้ำมันทั้งหมด เก็บน้อยกว่าภาษีของเบนซินอยู่ประมาณบาทกว่าๆ แต่ทางกองทุนน้ำมันจะเก็บน้อยกว่าเบนซินอยู่ถึง 6-7 บาท ทำให้ราคาห่างจากเบนซินอยู่ราวๆ 8-9 บาทเลยทีเดียว เป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์มากกว่าเบนซินล้วนๆ


แก๊สโซฮอล E20 (Gasohol E20)
เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล 20% ให้ค่าออกเทนสูงถึง 98 เพราะตามธรรมชาติ เอทานอล ให้ค่าออกเทนสูงมากยิ่งมีส่วนผสมเยอะค่าออกเทนก็ยิ่งสูงตามไป แต่มีคุณสมบัติกัดกร่อนทำให้รถรุ่นเก่าๆไม่สามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงได้ อย่างที่กล่าวไปในส่วนของแก๊สโซฮอล 95, 91 นั้น เอทานอลสามารถผลิตได้ในประเทศไทย ดังนั้นยิ่งมีเอทานอลผสมเยอะเท่าไร ภาครัฐยิ่งสนับสนุนมากครับ ส่วนของ E20 เนี่ยรัฐจะเก็บภาษีทั้งหมดน้อยกว่า E10 อยู่ บาทกว่าๆ น้อยกว่า เบนซิน 95 ประมาณ 2.60 บาท และส่วนกองทุนน้ำมันกับกองทุนอนุรักษ์พลังงานอุดหนุนราคา (Subsidy) ให้อยู่ 65 สต.ต่อลิตรด้วย เลยทำให้ราคาโดยรวมต่ำกว่า แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ 5 บาทกว่าต่อลิตร ดังนั้นคนที่มีรถรุ่นใหม่ๆก็อยากจะใช้น้ำมันชนิดนี้มากกว่าเพราะราคาถูกกว่าเยอะ


แก๊สโซฮอล E85 (Gasohol E85)
เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล 85% ให้ค่าออกเทนสูงถึง 100-105 มีคุณสมบัติกัดกร่อนทำให้รถรุ่นเก่าๆไม่สามารถใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงได้ รถที่ใช้น้ำมันชนิดนี้ในเมืองไทยยังมีน้อยครับ เพราะต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษที่ทนสภาพการกัดกร่อนได้ ราคาขายหน้าโรงกลั่นต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ 1.30 บาท ซึ่งถ้าขายราคานี้คงไม่มีใครซื้อ ก็ต้องปรับราคากันที่ส่วนอื่น ภาษีรัฐก็เก็บน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆอยู่ราวๆ 6-9 บาท ซึ่งขณะนี้เก็บอยู่ที่ 2.67 บาท ขณะที่ภาษีของเบนซิน 95 เก็บอยู่ 10.89 บาท เห็นมั้ยครับว่าต่างกันลิบเลย ส่วนของกองทุนน้ำมันและอนุรักษ์พลังงานอุดหนุนราคา (Subsidy) ให้ 10.85 บาท แต่ที่น่าสังเกตอยู่อย่างนึง ค่าการตลาดของน้ำมันชนิดนี้สูงมากอยู่ที่ 7.78 บาทต่อลิตร เนื่องจากน้ำมันชนิดนี้คนเติมน้อย ทำให้มีต้นทุนการขายสูงกว่าน้ำมันชนิดอื่น เพราะต้องเสียพื้นที่สต๊อกน้ำมันทั้งๆที่ขายไม่ค่อยได้ ถ้าไม่ขายน้ำมันชนิดนี้ ก็เอาพื้นที่ไปเก็บน้ำมันชนิดอื่นจะดีกว่า ถือว่าเป็นค่าเสียโอกาสการทำรายได้จากน้ำมันชนิดอื่นด้วย


ดีเซลหมุนเร็ว (H-Diesel)
ถือว่าเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะทั้งภาคการค้า ขนส่งและการเกษตร ยังต้องพึ่งพาน้ำมันชนิดนี้มาก เป็นน้ำมันที่มีความต้องการใช้มากถึง 42% ของน้ำมันทั้งหมดจึงเป็นน้ำมันที่ทางภาครัฐเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันชนิดอื่นๆทั้งหมด เก็บไม่ถึง 2 บาท เป็นน้ำมันที่รัฐพยายามควบคุมราคา ปัจจุบันไม่เกิน 30 บาท จำได้เคยพยายามจะควบคุมไม่ให้เกิน 14 บาท แต่เอาไม่อยู่เพราะความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นสูงมากรวมถึงราคาน้ำมันโลกมันสูงจนเกินที่จะตั้งเพดานไว้ได้ (สถานการณ์คล้ายๆ LPG ในปัจจุบัน) แถมกองทุนน้ำมันและอนุรักษ์พลังงานใจดีเก็บแค่ 95 สตางค์ ดังนั้นคนที่ใช้ดีเซลก็เลยได้ใช้น้ำมันถูกมาก (ซึ่งพวกกูรูไม่เคยหยิบยกขึ้นมาอ้างเลย) ตอนสมัยผมเรียน ป.โท ที่อังกฤษ ผมจะสังเกตเห็นว่า น้ำมันดีเซลที่นั่นแพงที่สุดครับ เพราะเป็นน้ำมันที่มีอุปสงค์ (Demand) มากที่สุด และต้นทุนการกลั่นแพงกว่าเบนซินด้วย



ตารางที่ 1: ราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซสำเร็จรูปในประเทศอังกฤษ (pence/litre)


ปัจจุบันราคาน้ำมันของประเทศอังกฤษ น้ำมันดีเซลธรรมดาอยู่ที่ 1.4625 ปอนด์ต่อลิตร (66 บาทต่อลิตร) ส่วนเบนซิน 95 (Unleaded) ราคา 1.3977 ปอนด์ต่อลิตร (63 บาทต่อลิตร) ที่ราคาแรงขนาดนี้เพราะประเทศทางแถบยุโรปเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก (ซึงผู้กล่าวอ้างไม่เคยมีการยกราคาฝั่งยุโรปมาเปรียบเทียบ)

ข้อมูลราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศอังกฤษ
http://www.petrolprices.com/
http://www.whatgas.com/petrol-prices/index.html
http://www.parliament.uk/briefing-papers/sn04712.pdf

ข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศอังกฤษ
http://www.petrolprices.com/the-price-of-fuel.html


น้ำมันเตา (Fuel Oil)
ส่วนใหญ่เอาไว้ในโรงงานอุตสาหกรรม รายละเอียดไม่พูดถึงก็แล้วกันครับ เพราะห่างตัวจากปชชทั่วไป



ทำไมต้องมีภาษี (ภาษีสรรพาสามิต+ภาษีเทศบาล+Vat)
ภาษีเป็นหน้าที่ที่เราต้องเสียกันอยู่แล้ว เพื่อให้รัฐเก็บไว้เป็นงบประมาณประเทศเพื่อใช้จ่ายในรัฐบาล หน่วยงานราชการและภาครัฐ นอกจากภาษีนั้นยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้น้ำมันบางชนิด อย่างเช่น เบนซิน 95 รัฐไม่อยากให้ใช้เยอะ ก็คิดอัตราที่สูงให้แพงไปเลย คนจะได้ไม่อยากใช้

ดังนั้น ภาษีสรรพสามิต จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมราคาน้ำมันโดยการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่แตกต่างกันระหว่างน้ำมันชนิดต่างๆเป็นการสะท้อนนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการใช้น้ำมันบางประเภท ส่วนนโยบายอื่นๆที่ไม่ใช่นโยบายทางพลังงานที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ผมไม่อาจจะไปวิจารณ์ตรงจุดนี้ได้ครับ


ทำไมต้องมีกองทุนน้ำมัน
การส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต (ส่วนน้ำมันกลั่นในประเทศ) และ กรมศุลกากร (ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้า) ตามอัตราที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานกำหนด เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน ถ้าไม่มีกองทุนน้ำมันก็จะทำให้ราคาขายปลีกจะแกว่งตามราคาตลาดโลกที่ผันผวน อาจถึงขั้นปรับราคากันทุกวัน ดังนั้นกองทุนน้ำมันจึงมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันขายปลีกโดยการปรับเพิ่มหรือปรับลดของอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

นอกจากนี้กองทุนนี้ก็มีส่วนในการอุดหนุนราคาน้ำมันบางชนิด เช่น E20, E85 ตามที่กล่าวไว้แล้ว


ทำไมต้องมีกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เก็บในส่วนของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล ในอัตราลิตรละ 0.25 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับอนุรักษ์พลังงาน โดยมี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบาย


ทำไมต้องมีค่าการตลาด (Marketing Margin)
หลายๆคนสงสัยว่าค่าการตลาดมีทำไม? คืออะไร? คือกำไรล้วนๆหรือ? จริงๆแล้วทุกๆปั๊มก็จะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินการในการขายปลีกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างปั๊ม การขนส่ง ค่าเช่าที่ ค่าจ้างเด็กปั๊ม ค่าจ้างคนทำงาน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ยิ่งถ้าต่างจังหวัดก็จะมีค่าการตลาดสูงขึ้นเนื่องจากค่าขนส่งที่ไกลขึ้น และถ้าน้ำมันที่คนเติมน้อยเนี่ย เช่น เบนซิน 95, 91, E85 ค่าการตลาดก็ยิ่งสูง เพราะต้องสต๊อกน้ำมันไว้นาน ขายไม่ค่อยออกเลยมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เป็นกำไรจริงๆ แทบจะไม่มี หรือมีน้อยจัดๆ คนที่เคยทำธุรกิจปั๊มน้ำมันก็จะรู้ดีครับ กำไรไม่ได้ดีอย่างที่คิดหรอกนะครับ (แถมห้องน้ำก็ต้องให้ใช้ฟรีอีก) ต้องขายให้ได้ปริมาณมากๆๆๆๆจริงๆ

สรุป ราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันทุกๆชนิด มันมีโครงสร้างราคาของมันเองและเหตุผลของมันเอง โดยราคาขายหน้าโรงกลั่นจากอ้างอิงตามราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ ดังนั้นเวลามีใครอ้างตัวว่าเป็นกูรูน้ำมันก็ให้ฟังหูไว้หูครับ อย่าหลับหูหลับตาเชื่อ แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าสิ่งที่เค้าพูดมันจริงหรือถูกต้องหรือป่าว เพราะเค้ามักจะเล่นเอาราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ มาแปลงเป็นราคาต่อลิตรซะเฉยๆ หรือ บางทีที่หนักกว่านั้นก็เอาราคาน้ำมันดิบ WTI มาอ้างหน้าตาเฉย (ไทยใช้น้ำมันดิบดูไบ)


ทำไมต้องราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์ (SIMEX)
น้ำมันเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดหนึ่ง (Commodities) ซี่งมีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดน้ำมัน จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องปรับราคาให้สามารถแข่งขันกันได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อใช้ “อ้างอิง” จึงควรจะกำหนดมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิต ภายใต้กลไกระบบการค้าเสรีของกลุ่มตลาดซื้อขายน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียงกัน คล้ายกับสินค้าทางการเกษตร อย่างเช่น ราคาผลไม้ซึ่งอ้างอิงราคาที่ตลาดไท หรือราคาข้าวซึ่งอ้างอิงราคาที่ท่าข้าวกำนันทรง เป็นต้นสำหรับศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ก็คือ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยที่ตลาดกลางการซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคเอเชียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ หรือที่เราเรียกกันว่า "ตลาดสิงคโปร์" (The Singapore International Monetary Exchange หรือ SIMEX) เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ หรือราคาขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางฯที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียและตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมันอื่นๆทั่วโลก

การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยขึ้นเอง แทนที่จะอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ เพราะหากว่าราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาถูกกว่าตลาดสิงคโปร์ ก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายเพื่อทำกำไร ซึ่งมีผลให้ประเทศขาดแคลนน้ำมัน ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาแพงกว่าตลาดสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันก็จะนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่ง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงานนอกจากนี้ การอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ซึ่งเหล่าโรงกลั่นในไทยจะมีค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆลิตรละ 2 บาท ขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลาเรียกว่า Gross Refinery Margin ดูข้อมูลได้จาก http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html

คำอธิบายค่าการกลั่น
http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1115


อ้างอิงคำอธิบายราคาสิงคโปร์ http://esso-th.listedcompany.com/faq.html#01
ข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย จาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf


น้ำมันประเทศไทยแพงที่สุดในโลกจริงเหรอ???
ลองมาดูข้อมูลตรงนี้กันว่า ประเทศไทย เบนซิน 95 ราคาเราอยู่อันดับใดของโลกนี้
http://www.bloomberg.com/slideshow/2013 ... ml#slide48

อยู่อันดับ 47 ของโลกจากข้อมูลล่าสุด จะบอกว่าเราเก็บแพงมันก็แพงอยู่ แต่ประเทศที่เก็บแพงกว่าเราในภูมิภาคนี้มี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้ง จีน ฮ่องกงและอินเดีย ส่วนใหญ่ประเทศยุโรปอยู่ลำดับท๊อป 20 แต่ถ้าเข้าใจว่าทำไมถึงแพงก็จะเข้าใจครับ ว่าเราต้องนำเข้าเยอะ รัฐต้องการรายได้จากส่วนนี้ด้วย และต้องอุดหนุนพลังงานบางชนิดอีกต่างหาก ส่วนประเทศที่ขายได้ถูกก็ต้องเข้าใจว่าถูกเพราะอะไร ต้องดูที่โครงสร้างภาษี,กองทุนน้ำมันและการอุดหนุนพลังงานของแต่ละประเทศ
http://www.opec.org/opec_web/en/about_us/171.htm

*** ทำไมไม่เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำหรือรายได้เฉลี่ยของแต่ละประเทศ ***
น้ำมันเราต้องนำเข้าใช่มั้ยครับ ราคาที่ซื้อมันอิงกับ Demand Supply ของโลก ราคาทั่วโลกจริงๆเค้าซื้อที่ราคาเดียวกันในแต่ละชนิด ณ ตลาดซื้อขายอ้างอิง ในเมื่อเราจำเป็นต้องซื้อมาใช้ เราก็ต้องใช้ตามราคาน้ำมันโลก ไม่มีแบ่งแยกว่าประเทศไหนรวยหรือจนครับ ดังนั้นพอบริษัทน้ำมันซื้อน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาใช้ต้นทุนก็เป็นราคาตลาดโลก พอบริษัทน้ำมันกลั่นได้แล้วจะขายได้ตามราคาอ้างอิงออกจากโรงกลั่น (ตามราคาตลาดสิงคโปร์ที่กล่าวไว้ที่สะท้อนถึงต้นทุนน้ำมันดิบตามตลาดโลก) + ค่าการตลาดเท่านั้น (ถ้ารัฐบังคับให้ขายต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ ผู้ประกอบการก็จะขนออกไปขายที่สิงคโปร์ทันที เพราะได้ราคากว่า) ส่วนราคาที่เพิ่มเติมในโครงสร้างทางภาษีและกองทุนน้ำมัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ ผมไม่สามารถเข้าไปวิจารณ์ในส่วนนี้ได้ครับ

ผมยกตัวอย่าง ทองคำ มีราคาอ้างอิงตามตลาดโลก เราก็ต้องซื้อราคานั้นตราบใดที่เราไม่สามารถผลิตทองคำได้เองถึงขั้นส่งออก หรือเป็นรายใหญ่ขนาดกำหนดราคาเองได้ คือต้องซื้อเข้ามา ไม่เกี่ยวว่า ค่าแรงขั้นต่ำหรือรายได้เฉลี่ยของแต่ละประเทศเป็นเท่าไรครับ ทุกประเทศต้องซื้อราคาเท่ากัน ณ ตลาดซื้อขายอ้างอิง ที่สะท้อนถึงอุปสงค์อุปทาน (Demand Supply) ของโลก ที่จะต่างกันคือภาษีของแต่ละประเทศ



โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นราคาน้ำมันของอีกประเทศนึงที่มักจะถูกอ้างอิงมาเปรียบเทียบเสมอ มาดูแผนภาพที่อ้างอิงจาก ข้อมูลพลังงานจากสหรัฐอเมริกาครับ โดยราคาน้ำมันเฉลี่ยอ้างอิงจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556
http://www.eia.gov/petroleum/gasdiesel/


รูปที่ 1: โครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน 95 และ ดีเซล ของประเทศสหรัฐอเมริกา (January 2013)

จะเห็นได้ว่า ราคา Regular Gasoline (เบนซิน 91 บ้านเรา) ราคาเฉลี่ยทั้งประเทศสหรัฐอมริกาอยู่ $3.784/gallon แปลงเป็นหน่วย บาท/ลิตร จะเป็น 29.99 บาทต่อลิตร เท่านั้น ส่วน ดีเซล ราคาเฉลี่ยทั้งประเทศสหรัฐฯอยู่ที่ $4.159/gallon หรือ 32.96 บาทต่อลิตร (ราคาอ้างอิง ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556)

1 US gallon = 3.78541178 litres
1 USD = 30 Thai Baht (Approx.)

ทางอเมริกาก็มีโครงสร้างทางภาษีกับค่าการตลาดเหมือนกัน แต่จะเห็นได้ว่า

น้ำมันเบนซิน 91
ราคาแค่ราคาหน้าโรงกลั่นก็ประมาณ 80% (72% ราคาน้ำมันดิบ +8% ค่าการกลั่น) (23.99 บาทต่อลิตร) ไปแล้ว ภาษีเก็บแค่ 13% (3.89 บาท) เอง นอกนั้นเป็นค่าการตลาด ไม่มีกองทุนน้ำมันกับอนุรักษ์พลังงาน ส่วนค่าการตลาดพอๆกัน

น้ำมันดีเซล
ราคาแค่ราคาหน้าโรงกลั่นก็ประมาณ 73% (61% ราคาน้ำมันดิบ +12% ค่าการกลั่น) (24.06 บาทต่อลิตร) ไปแล้ว ภาษีเก็บแค่ 12% (3.95 บาทต่อลิตร) เอง นอกนั้นเป็นค่าการตลาด ไม่มีกองทุนน้ำมันกับอนุรักษ์พลังงาน ส่วนค่าการตลาดพอๆกัน อเมริกาแพงกว่านิดหน่อย

ซึ่งพอชำแหละโครงสร้างราคาน้ำมันออกมา จะเห็นได้ว่า ต้นทุนที่ออกจากหน้าโรงกลั่น แทบไม่ได้แตกต่างกันเลยทั้งราคาน้ำมันในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยจะแพงกว่านิดหน่อยเพราะใช้น้ำมันดิบดูไบ (Dubai Fateh) ($108.36/bbl) เป็นส่วนประกอบหลักที่แพงกว่าน้ำมันดิบ WTI (West Texas Intermediate) ที่สหรัฐอเมริกาใช้ ($92.76/bbl) รวมถึงค่าการกลั่นน้ำมันดิบดูไบแพงกว่า WTI เล็กน้อยด้วยเพราะคุณภาพน้ำมันดิบ WTI ดีกว่า (ที่ราคา WTI ถูกลงเนื่องจากอุปสงค์อุปทาน Demand Supply ในภูมิภาคนั้น รวมถึงสภาวะทางการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วยหลายๆอย่าง)

นอกจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯเก็บภาษีอัตราที่ต่ำแล้วยังมีการอุดหนุนภาษีในรูปแบบต่างๆให้แก่บริษัทน้ำมันด้วย ปีๆนึงตกมากกว่าหมื่นล้านดอลล่าร์ !!! เพื่อให้บริษัทน้ำมันปรับปรุงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและให้มีความสามารถในการลงทุนในกลุ่ม Unconventional Fuel หรือพวก Enhanced Oil Recovery ที่ใช้เงินลงทุนสูง ถึงขนาด ปธน.โอบามา เสนอต่อสภาคองเกรสให้ตัดงบอุดหนุนมูลค่า $4 พันล้าน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

อ้างอิง
http://priceofoil.org/fossil-fuel-subsidies/
http://www.taxpayer.net/library/article ... -subsidies
http://www.elistore.org/Data/products/d19_07.pdf

ข้อมูลราคาน้ำมันดิบจากบมจ.ไทยออยล์
http://www.iwebgas.com/oil/oil.html

ข้อมูลราคาน้ำมันดิบจาก OPEC http://www.opec.org/opec_web/static_fil ... y_2013.pdf

แต่ที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือภาษีและกองทุนน้ำมันและอนุรักษ์พลังงาน ที่บ้านเราเก็บโหด แต่ก็ยังน้อยกว่ายุโรปนะ เพราะใช้น้ำมันดิบ Brent ที่แพงสุดๆ และเก็บภาษีอย่างโหด

(ปล. อ่านต่อว่าทำไมต้องน้ำมันดิบดูไบ http://www.scbeic.com/THA/document/knowledge_dubai/)



โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย
มาเลเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน น้ำมันที่มาเลเซียผลิตได้เรียกว่าน้ำมัน Tapis เป็นน้ำมันที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก ราคาแพงกว่า Brent อีกนะครับ พบมากในรัฐซาบาห์ ซาราวัก แถบเกาะบอร์เนียว และเป็นผู้ส่งออกก๊าซ LNG อันดับสองของโลก (ปี 2012) ทำให้รัฐบาลมาเลเซียเอารายได้บางส่วนจากการขายพลังงานมาอุดหนุน (Subsidy) ราคาพลังงานในประเทศมาเลเซียทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซียถูกลง


กราฟที่ 2: ปริมาณการผลิต (Production) และบริโภค (Consumption) น้ำมันดิบและคอนเดนเสทของประเทศมาเลเซียปี 1991-2010


ข้อมูลจาก
http://www.eia.gov/countries/cab.cfm?fips=MY



กราฟที่ 3: โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย


จากกราฟที่ 3 จะเห็นได้ว่า ทางรัฐบาลมาเลเซียทั้งยกเว้นภาษี (Tax exemption) และอุดหนุนราคา (Subsidy) ให้กว่า 40% ของราคาน้ำมันขายปลีก (Retail Price) ที่ควรจะเป็นของประเทศมาเลเซีย ดังนั้นเวลามีใครบอกว่าน้ำมันมาเลย์ถูกกว่าบ้านเราเยอะ ก็ต้องรู้ด้วยว่า ถูกเพราะอะไรนะครับ
อ้างอิงจาก http://www.mier.org.my/presentations/ar ... ubsidy.pdf

ราคาขายปลีกน้ำมันมาเลเซียในปัจจุบัน
PETROL RON95 หรือเบนซิน 95 อยู่ที่ ~ 19 บาท (RM1.9) ส่วนดีเซลอยู่ที่ 18 บาท (RM1.80) ครับจากข้อมูลเดือน มีนาคม พ.ศ. 2556


รูปที่ 2: โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย จากปั๊มน้ำมัน SHELL ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 16 มี.ค.2556

ราคาซ้ายคือ PETROL RON 95 หรือ เบนซิน 95 (กระดาษลอกๆหน่อย)
ราคาขวามือคือ DIESEL (ดีเซล)
Harga sebenar termasuk cukai ราคาที่แท้จริงรวมภาษี
Harga kawalan ราคาขายปลีกที่ถูกควบคุมราคาแล้ว (ราคาที่ประชาชนซื้อ)
Pelepasan Cukai oleh Kerajaan งดเว้นภาษีโดยรัฐบาล
Subsidi oleh Kerajaan เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
RM 1 ประมาณ 10 บาท


http://www.mytravelcost.com/petrol-prices/

แต่ทางมาเลเซียเองก็พยายามหาทางลดการอุดหนุนลงเรื่อยๆ (อารมณ์ LPG ของบ้านเรา) แบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป เพื่อให้คนใช้พลังงานตามราคาตลาดโลก จะได้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหน่อย ไม่ใช่พอใช้ถูกก็ผลาญกันยังกะซดน้ำ ทำให้รัฐบาลมีภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นเรื่อยๆจนรับไม่ไหว ถ้าเล่นหักดิบกันจะเหมือนประเทศไนจีเรีย ที่หยุดการอุดหนุนไปเฉยๆทันที ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นเท่าตัว ประชาชนก็เลยก่อม๊อบออกมาประท้วงต่อต้านทันทีเช่นกัน


รูปที่ 3: การประท้วงการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน (Fuel Subsidy Elimination) ในทันทีของรัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันทุกชนิดเพิ่มขึ้นเท่าตัวในวันเดียวกัน (Credit: Reuters)


ข่าวสารอ้างอิงเกี่ยวกับการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย
http://www.themalaysianinsider.com/mala ... subsidies/
http://www.themalaysianinsider.com/mala ... unchanged/
http://www.topsecretwriters.com/2012/07 ... more-18437
http://www.malaysia-chronicle.com/index ... ?&Itemid=2

ข่าวการประท้วงการหยุดการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศไนจีเรีย
http://www.reuters.com/news/pictures/sl ... USRTR2VY9V

และ CEO ของ Petronas บริษัทน้ำมันของมาเลเซีย ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซของมาเลเซีย เพราะทำให้คนใช้ก๊าซไร้ประสิทธิภาพ เพราะ Petronas ตอนนี้เป็นผู้ส่งออกก๊าซ LNG อันดับสองของโลก (จากข่าว) ได้ทำสัญญาระยะยาวในการส่ง LNG ไปที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ถ้าความต้องการพลังงานในประเทศมาเลเซียสูงขึ้นจะทำให้มีผลกระทบต่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของมาเลเซียอย่างแน่นอน พอต้องส่งออกตามสัญญา ถ้าประเทศผลิตเหลือจากการส่งออกไม่พอ ก็ต้องนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านแทนหรือใช้พลังงานทางเลือกอื่นปั่นไฟฟ้าที่แพงกว่าก๊าซ แต่ข้อดีของการอุดหนุนราคาพลังงานทำให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของมาเลเซียต่ำกว่าเพื่อนบ้านใน ASEAN แต่จะทำให้รัฐถังแตกในไม่ช้านี้


กราฟที่ 4: ปริมาณการบริโภค (Consumption) และกำลังการผลิต (Production) ของก๊าซธรรมชาติของประเทศมาเลเซียปี 1991-2010


กราฟที่ 5: ข้อมูลผู้ส่งออกก๊าซ LNG หลักของโลก ปี 2010

ข่าวและข้อมูลอ้างอิง
http://www.eia.gov/countries/cab.cfm?fips=MY
http://www.intelasia.net/petronas-ceo-c ... ies-207078
http://www.themalaysianinsider.com/mala ... cost-rm28b

สรุปราคาน้ำมัน (บางชนิด) ที่ไทยแพงเพราะ
1. ภาษีอัตราที่สูงในน้ำมันบางชนิด
2. กองทุนน้ำมันและส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานในอัตราที่สูงในน้ำมันบางชนิด
3. ต้นทุนและค่าขนส่งน้ำมันดิบแพงกว่าในบางประเทศ (Dubai Fateh แพงกว่า WTI)

ย้ำนะครับ ผมไม่ได้คาดหวังให้ทุกๆคนมาเชื่อผม ผมแค่นำข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ผมเคยศึกษาเอาไว้มาแชร์ ได้โปรดวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณของตัวท่านเองและหาข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ และฟังข้อมูลหลายๆด้านอย่างมีสติด้วยครับ ด้วยความหวังดี

เรื่องพลังงานต้องใช้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึก
ซาบิ ; ความงามที่ผ่านคุณค่าของกาลเวลา
WABISABI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 103
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 5

โพสต์

อ่านที่ http://www.facebook.com/notes/siriwat-w ... 1058934124 น่าจะง่ายกว่าครับ
ซาบิ ; ความงามที่ผ่านคุณค่าของกาลเวลา
Zolaa
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 6

โพสต์

สมแล้วที่เป็นวีไอข้อมูลยิบนับถือ :wink: สมมุตินะถ้าทวงคืนได้จริงเราจะได้ใช้น้ำมันถูกจริงหรือ...
ภาพประจำตัวสมาชิก
canuseeme
Verified User
โพสต์: 302
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 7

โพสต์

เรื่อง นี้ ถกเถียงกันหลายเวปมาก
สรุปว่า คนไม่ฟังก็คือไม่ฟัง
คนอธิบายก็อธิบายไป
ปัญญาไม่มีในผู้ไม่พิจารณา

There is no fate but what we make

https://www.facebook.com/pages/คัดหุ้นซวย
KriangL
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1487
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 8

โพสต์

มีจุดหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับการกำหนดราคา คือ
ราคาหน้าโรงกลั่นคิดจากราคาน้ำมันสิงคโปร์ ตามหน้า 14 ของเอกสาร
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf
แต่เวลาส่งออกกลับใช้ราคาน้ำมันสิงคโปร์หักด้วยค่าขนส่ง ฯลฯ

ผมว่ามันควรจะทำให้เท่ากันครับ ไม่ใช่ให้ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศแพงกว่าราคาส่งออก :wall: :wall: :wall:
blueplanet
Verified User
โพสต์: 1155
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 9

โพสต์

สิ่งที่ชัดที่สุดที่ผมเห็นว่า ปตท เอาเปรียบคนไทย คือ ราคาหน้าโรงกลั่น
ราคาหน้าโรงกลั่นของไทย=ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร+ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า+ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
นี่มาจากเอกสารของ ปตท เอง อยู่หน้า 14 ของ
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf
แต่ไม่ได้ระบุว่าเท่าไหร่ ไอ้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
แปลว่า โรงกลั่นน้ำมันในเมืองไทยได้เงินฟรีๆนี้มาจาก คนไทยทั้งประเทศ
เงินจำนวนนี้มหาศาลเป็นการเอาเปรียบ โดยที่คนไทยส่วนมากไม่รู้
ส่วนค่าการตลาด ผมคงต้องศึกษาต่อว่า มีอะไรประหลาดๆอีกไม๊
Blueplanet
WABISABI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 103
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 10

โพสต์

blueplanet เขียน:สิ่งที่ชัดที่สุดที่ผมเห็นว่า ปตท เอาเปรียบคนไทย คือ ราคาหน้าโรงกลั่น
ราคาหน้าโรงกลั่นของไทย=ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร+ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า+ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
นี่มาจากเอกสารของ ปตท เอง อยู่หน้า 14 ของ
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf
แต่ไม่ได้ระบุว่าเท่าไหร่ ไอ้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน
แปลว่า โรงกลั่นน้ำมันในเมืองไทยได้เงินฟรีๆนี้มาจาก คนไทยทั้งประเทศ
เงินจำนวนนี้มหาศาลเป็นการเอาเปรียบ โดยที่คนไทยส่วนมากไม่รู้
ส่วนค่าการตลาด ผมคงต้องศึกษาต่อว่า มีอะไรประหลาดๆอีกไม๊
จากที่ไปค้นมานะครับ
ราคาหน้าโรงกลั่นของไทย=ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร+ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า+ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน วิธีนี้เรียกว่า import parity (ถ้าไม่บวกอะไรเลยเรียก export parity)
ค่าใช้จ่ายในการนำเข้านี้ประมาณ 25-50 สตางค์ต่อลิตร
ค่าปรับปรุงคุณภาพนำมันนี้แพงกว่ามาก เพราะคุณภาพน้ำมันเราเข้มงวดกว่าสิงคโปร์ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เรากำหนดค่ากำมะถันไว้ต่ำมากที่ 0.035% ในขณะที่ของสิงคโปร์อยู่ที่ 0.5%
ราคาหน้าโรงกลั่นเราแพงกว่าสิงค์โปร์ 1.50 บาท แสดงว่าค่าปรับปรุงคุณภาพนำมันนี้แพงถึงลิตรละ 1 บาทเลยทีเดียว

ตรงนี้ถ้าใครจะตรวจสอบคงไปตรวจสอบว่าค่าปรับปรุงคุณภาพนำมันนี้แพงถึงลิตรละ 1 บาท จริงหรือไม่ ทุกวันนี้ยังแพงแบบนี้หรือไม่หรือว่าจริงๆลดลงมาแล้วแต่...

สำหรับความคิดเห็นผมนะครับ ต่อให้เราตั้งหน้าโรงกลั่นราคาแบบ export parity ราคาน้ำมันหน้าปั้มเราก็สูงอยู่ดี เพราะเราก็จะเจอกับภาษีต่างๆและค่าการตลาดมากมายหลายชั้น เรื่องถ้าจะเรียกร้องให้มีการแก้ไข ก็คงเป็นที่ตรงนี้ เพราะว่าส่วนหนึ่งเราเอาน้ำมันไปชดเชยให้กับ LPG ด้วยไม่ให้ราคาสูงเกินไป เราอาจจะได้น้ำมันถูกลง แต่แก๊สหุงต้มแพงขึ้น อะไรก็ว่ากันไปครับ

ถ้าอยากกำหนดราคาน้ำมันให้ได้ ก็ต้องถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมในนโยบายพลังงานมากแค่ไหน ตรงนี้สำคัญมากกว่าการทวงคืนปตท (ผู้ถือหุ้นอันดับ 1-2-3 รวมกัน 61 % นี่คือเป็นรัฐนะครับ)

และที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเราใช้นำเข้าน้ำมันมากกว่าที่ผลิตได้ ราคาน้ำมันก็จะแพงกว่าประเทศอื่นอยู่ดีครับ
ซาบิ ; ความงามที่ผ่านคุณค่าของกาลเวลา
WABISABI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 103
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 11

โพสต์

KriangL เขียน:มีจุดหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับการกำหนดราคา คือ
ราคาหน้าโรงกลั่นคิดจากราคาน้ำมันสิงคโปร์ ตามหน้า 14 ของเอกสาร
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf
แต่เวลาส่งออกกลับใช้ราคาน้ำมันสิงคโปร์หักด้วยค่าขนส่ง ฯลฯ

ผมว่ามันควรจะทำให้เท่ากันครับ ไม่ใช่ให้ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศแพงกว่าราคาส่งออก :wall: :wall: :wall:
ดังที่ว่าไปแล้วนะครับ ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศแพงกว่าส่งออก เพราะว่ามีค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน(ที่แพง)ด้วย ?
และราคาส่งออกอาจจะต้องถูกกว่า? เพราะว่าเวลาส่งออกเราต้องแข่งกันกับสิงค์โปร์ที่เป็นเจ้าใหญ่ในภูมิภาคครับ
ซาบิ ; ความงามที่ผ่านคุณค่าของกาลเวลา
WABISABI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 103
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 12

โพสต์

Zolaa เขียน:สมแล้วที่เป็นวีไอข้อมูลยิบนับถือ :wink: สมมุตินะถ้าทวงคืนได้จริงเราจะได้ใช้น้ำมันถูกจริงหรือ...
:D

ถ้ายึดมาแล้วเอากลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม เราจะได้ใช้น้ำมันถูกๆมั้ย ผมว่าถูกลงไม่มากครับ ถ้าจะถูกลงมากเราต้องเลิกอุดหนุน LPG LPG ก็จะแพงขึ้น และขอเท็จจริงที่ว่าเรานำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก ราคาน้ำมันเราไม่ถูกเหมือนประเทศที่ขายน้ำมันแน่ๆ ถ้าอยากให้น้ำมันถูกมากๆ มากๆ เราก็ต้องอุดหนุนราคาน้ำมันแทน (เหมือนที่มาเลเซียเอาเงินที่ขายพลังงานได้มาอุดหนุนราคาน้ำมัน 40 % ของที่ควรจะเป็น) ถ้าเราทำอย่างนั้นรัฐก็จะจนลงในไม่ช้า


ผมถามเล่นๆนะครับ หรือถ้าสมมติยึดบริษัทมาได้ มาแบ่งขายหุ้นให้ประชาชนทุกคนได้คนละเท่าๆกัน แต่ว่าบริษัทก็บริหารภายใต้นโยบายพลังงานที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนด คือทำให้ราคาน้ำมันถูกที่สุดเท่าที่จะถูกได้ พี่จะซื้อหุ้นบริษัทนี้ไหมฮะ
ซาบิ ; ความงามที่ผ่านคุณค่าของกาลเวลา
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ผมและเพื่อนๆหลายๆท่านที่เรียนและทำงานด้านพลังงาน พยายามชี้แจงข้อครหาผิดๆ ให้แก่คนรอบข้างมาเกือบสิบปีแล้วครับ จนป่านนี้ยังไม่รู้เลยว่าเกือบสิบปีที่ทำมาเห็นผลเป็นรูปธรรมแค่ไหนกับสังคม

หลังๆผมถ้าเห็นแววว่าอธิบายแล้วจะไม่รอด ผมก็จะ "ฮาคูน่า มาทาท่า" ครับ
Vi IMrovised
Zolaa
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 14

โพสต์

WABISABI เขียน:
Zolaa เขียน:สมแล้วที่เป็นวีไอข้อมูลยิบนับถือ :wink: สมมุตินะถ้าทวงคืนได้จริงเราจะได้ใช้น้ำมันถูกจริงหรือ...
:D

ถ้ายึดมาแล้วเอากลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม เราจะได้ใช้น้ำมันถูกๆมั้ย ผมว่าถูกลงไม่มากครับ ถ้าจะถูกลงมากเราต้องเลิกอุดหนุน LPG LPG ก็จะแพงขึ้น และขอเท็จจริงที่ว่าเรานำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก ราคาน้ำมันเราไม่ถูกเหมือนประเทศที่ขายน้ำมันแน่ๆ ถ้าอยากให้น้ำมันถูกมากๆ มากๆ เราก็ต้องอุดหนุนราคาน้ำมันแทน (เหมือนที่มาเลเซียเอาเงินที่ขายพลังงานได้มาอุดหนุนราคาน้ำมัน 40 % ของที่ควรจะเป็น) ถ้าเราทำอย่างนั้นรัฐก็จะจนลงในไม่ช้า


ผมถามเล่นๆนะครับ หรือถ้าสมมติยึดบริษัทมาได้ มาแบ่งขายหุ้นให้ประชาชนทุกคนได้คนละเท่าๆกัน แต่ว่าบริษัทก็บริหารภายใต้นโยบายพลังงานที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนด คือทำให้ราคาน้ำมันถูกที่สุดเท่าที่จะถูกได้ พี่จะซื้อหุ้นบริษัทนี้ไหมฮะ
อิอิคงไม่ บริษัทมหาชนยังมีคอรัปชั่นถ้ามาอยู่ในมือรัฐไม่อยากคิด55+แค่เรื่องธรรมมาภิบาลก็ไม่ผ่านละ :mrgreen:
Frontline
Verified User
โพสต์: 21
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 15

โพสต์

WABISABI เขียน:
KriangL เขียน:มีจุดหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับการกำหนดราคา คือ
ราคาหน้าโรงกลั่นคิดจากราคาน้ำมันสิงคโปร์ ตามหน้า 14 ของเอกสาร
http://www.eppo.go.th/admin/km/KM-OilPriceStructure.pdf
แต่เวลาส่งออกกลับใช้ราคาน้ำมันสิงคโปร์หักด้วยค่าขนส่ง ฯลฯ

ผมว่ามันควรจะทำให้เท่ากันครับ ไม่ใช่ให้ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศแพงกว่าราคาส่งออก :wall: :wall: :wall:
ดังที่ว่าไปแล้วนะครับ ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศแพงกว่าส่งออก เพราะว่ามีค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน(ที่แพง)ด้วย ?
และราคาส่งออกอาจจะต้องถูกกว่า? เพราะว่าเวลาส่งออกเราต้องแข่งกันกับสิงค์โปร์ที่เป็นเจ้าใหญ่ในภูมิภาคครับ
น้ำมันดีเซลในประเทศไทย ตอนนี้เป็นEURO4, sulfur 50ppm ซึ่งเป็นเกรดที่ดี ส่วนน้ำมันส่งออกตอนนี้เป็นพวก 500ppmโดยส่วนมาก เพราะกฎหมายต่างประเทศยังไม่บังคับให้ใช้ EURO4

การกำหนดราคาส่งออกส่วนมากจะเป็นไปตาม Supply Demand ของตลาด และ ตามค่าของ ppm 50-500-5000

เท่าที่เข้าใจนะครับ โรงกลั่นเขาต้องกลั่นเพื่อให้ได้ค่าการกลั่น เขาจะพยายามขายในประเทศก่อนเพราะได้ราคาที่ดีกว่า ส่วนน้ำมันที่เหลือเขาก็จะทำการส่งออกเนื่องจากเป็น oversupply คลังจะขายในราคาที่ถูกกว่า เืพื่อระบายน้ำมันชุดเก่าออก เพื่อจะได้มีพื้นที่รองรับน้ำมันชุดต่อไป .. ส่วนมากแล้ว การส่งออกราคาจะต่ำกว่าในประเทศครับ
cobain_vi
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 358
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 16

โพสต์

ปตท จะเอาเปรียบหรือไม่ก็แล้วแต่ความคิดและข้อมูลที่ได้รับของแต่ละบุคคลครับ แต่ที่แน่ๆคนไทยโดนนักการเมืองเอาเปรียบแน่นอนครับ ตอนขายหุ้นใหม่ๆนักการเมืองอ้างสารพัดสุดท้ายก็แอบให้นอมินีในรูปกองทุนต่างประเทศต่างๆไปซื้อ ผมจำได้ตอนวันจองบางคนไปรอตั้งแต่เช้าสุดท้ายก็ไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียว(นักการเมืองบอกว่าหุ้นน้อยไม่มีทางที่จะได้ทุกคน แต่กลับเอาหุ้นจำนวนมากไปให้กองทุนต่างประเทศ ถ้าเอาหุ้นส่วนนี้ไปกระจายให้ประชาชนที่สนใจจริงๆผมว่าน่าจะพอนะ แต่นักการก็ออกมาพูดอีกแหละว่าให้ต่างชาติมาถือราคาหุ้นจะได้มีสเถียรภาพมากกว่ารายย่อยชาวไทย ดูเลห์เหลี่ยมนักการเมืองเอาเถอะครับ(จะต้องให้บอกไหมครับว่านักการเมืองคนนั้นคือใคร จำได้ไหมเอ่ย) โกงกันไม่รู้จักพอ ประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ บางคนน่าสมเพศมากกว่าตรงที่ไปเข้าข้างนักการเมืองอีกเช่น เค้าก็โกงทั้งนั้น โกงแล้วมีผลงานก็ช่างมันเถอะ เฮ้อ ขอให้ตัวเองได้แค่เศษเดนของเค้าก็พอใจแล้ว
มรณฺง เม ภวิสฺสติ ความตายจักมีแก่เรา
ภาพประจำตัวสมาชิก
Sumotin
Verified User
โพสต์: 1141
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 17

โพสต์

cobain_vi เขียน:ปตท จะเอาเปรียบหรือไม่ก็แล้วแต่ความคิดและข้อมูลที่ได้รับของแต่ละบุคคลครับ แต่ที่แน่ๆคนไทยโดนนักการเมืองเอาเปรียบแน่นอนครับ ตอนขายหุ้นใหม่ๆนักการเมืองอ้างสารพัดสุดท้ายก็แอบให้นอมินีในรูปกองทุนต่างประเทศต่างๆไปซื้อ ผมจำได้ตอนวันจองบางคนไปรอตั้งแต่เช้าสุดท้ายก็ไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียว(นักการเมืองบอกว่าหุ้นน้อยไม่มีทางที่จะได้ทุกคน แต่กลับเอาหุ้นจำนวนมากไปให้กองทุนต่างประเทศ ถ้าเอาหุ้นส่วนนี้ไปกระจายให้ประชาชนที่สนใจจริงๆผมว่าน่าจะพอนะ แต่นักการก็ออกมาพูดอีกแหละว่าให้ต่างชาติมาถือราคาหุ้นจะได้มีสเถียรภาพมากกว่ารายย่อยชาวไทย ดูเลห์เหลี่ยมนักการเมืองเอาเถอะครับ(จะต้องให้บอกไหมครับว่านักการเมืองคนนั้นคือใคร จำได้ไหมเอ่ย) โกงกันไม่รู้จักพอ ประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ บางคนน่าสมเพศมากกว่าตรงที่ไปเข้าข้างนักการเมืองอีกเช่น เค้าก็โกงทั้งนั้น โกงแล้วมีผลงานก็ช่างมันเถอะ เฮ้อ ขอให้ตัวเองได้แค่เศษเดนของเค้าก็พอใจแล้ว
อย่าเปลี่ยนประเด็นไปไกลครับ ดูกฎของเวปบ้างนะครับ

อีกอย่างช่วงที่เข้าหลังจาก IPO ราคา PTT ก็ต่ำกว่าจองอยู่เป็นปีเหมือนกันนะครับ บางช่วงลงไปถึง 29 บาทด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นโอกาสให้นักลงทุนลงทุนได้ไม่ใช่หรือครับ??

ส่วนเรื่องข้อมูลมีอยู่เยอะแยะให้อ่านอยู่แล้วเลือกอยู่ว่าจะเชื่อฝ่ายไหน ลองคิดย้อนไปถึงเหตุผลกันบ้างก็ดีนะครับ ว่าืำทำไมต้องแปรรูป อย่างแรกประสิทธิภาพ อย่างที่ 2 ทรัพยากรในประเทศก็ลดลงเรื่อยๆ ถ้าไปทำให้บริษัทเป็นสากลและเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ก็ไม่ได้ทรัพยากรนั้นมาหรอกครับ นอกจากถ้าไม่ทำก็ซื้อตรงจากต่างประเทศเท่านั้นแหละครับ
Timing is everything, no matter what you do.

CAGR of 34% in the past 15 years of investment
ภาพประจำตัวสมาชิก
Tibular
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 531
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 18

โพสต์

ขอบคุณ คุณ WABISABI ที่ให้ข้อมูลคับ
เรื่องข้อมูลน่าเชื่อถือได้คับ

เรื่องการใช้ทรัพยากรต่างๆเนี๊ย ทรัพยากรมันจำกัด แต่
ความต้องการใช้มันเหมือนไม่จำกัดซะงั้น

เป็นปัญหาตลอดละคับ เพราะมันต้องมีการแลกเปลี่ยนกันไป ได้อย่าง-เสียอย่าง
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆนั่นเอง ได้อันนี้มาก อีกอันก็ต้องน้อยลง
ก็อยู่ที่การจัดการให้เกิดประโยชน์ที่สุด ได้ประโยชน์ที่สุด เหมาะสมที่สุด

กรณี ปตท. ที่ว่าการซื้อหุ้น IPO ไม่ทัน ก็เข้าใจเห็นใจ แต่ก็ต้องมองกลับไปว่า
บ้านเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา (ต้องการเงินทุนมาพัฒนาประเทศ)
เราไม่มีเงินออมพอลงทุนใหญ่ๆ และเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วย พอดีกองทุนเค้ามีกำลังซื้อพอควร
เพราะเค้าซื้อทีเยอะๆ และการขายหุ้น IPO มีส่วนพรีเมี่ยมอยู่แล้ว เงินจาก
ประชาชนไม่พอสำหรับการระดมทุนใหญ่ๆแบบนี้

แล้วต้องลองดูเหตุผลว่าทำไมต้องให้กองทุนก่อน (ถ้าจริงอย่างที่อ้างๆกัน
ว่านักการเมืองมีใบสั่ง อย่างนั้นอย่างนี้) เพราะพวกนี้ซื้อเยอะ
แล้วก็ในเรื่องของความน่าสนใจลงทุนในอนาคต เป็นทางอ้อมให้ประเทศอื่นๆ
สนใจลงทุนในบ้านเราต่อไปด้วย ถ้าถามว่าจะมาลงทุนทำไมบ้านเราซึ่งในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
จริงๆถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วย เราก็ปลูกข้าวกินกัน จับปลา ตามสมัยก่อนได้

แต่คนส่วนใหญ่ไม่เอาคับ (อย่างน้อยก็มองภาพรวมของคนส่วนใหญ่
ซึ่งก็เกี่ยวกับเรื่องของระบบการปกครองอีก) แต่โดยรวม ทุกคนอยากมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งนั้น และระบบที่
ทำให้ความเป็นอยู่เราดีขึ้น มีสินค้าบริการตอบสนองความพอใจได้ดี
ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีหลักประกันในการดำเนินชีวิต สวัสดิการให้ทุกคนไม่ลำบาก
ก็คือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (คือไม่ดีที่สุด แต่ได้รับการยอมรับว่าตอบสนองต่อ
เป้าหมายส่วนใหญ่ได้ ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาไปอีก) สิ่งเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากวิชาเศรษฐศาสตร์
ซึ่งไม่ได้เน้นแต่เงินทอง แต่เน้นเรื่องสวัสดิการสังคมโดยรวม ให้ทุกคนอยู่ดีกินดีนั่นแหละ

สุดท้าย หุ้น ปตท. ก็ผ่านวัฏจักรที่ดีและแย่มาหลายรอบแล้ว ถ้าประชาชนอยากเป็นเจ้าของ
ก็ซื้อได้ตลอดนะคับ ไม่มีใครห้ามเลย เผลอๆ อาจะได้ราคาต่ำกว่า IPO เสียอีก
แต่ก็เข้าใจคับสมัยก่อนมันวุ่นวายในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่สายคับ
ปัจจุบันหุ้นพลังงานก็ยังไม่แพงมากมาย แนวโน้มก็พอไปได้ เพราะเป็นสินค้าพื้นฐานเหมือนกัน
เติบโตเรื่อยๆตามเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการซื้อคืนประเทศไปก็ได้คับ ไม่แน่พอเป็นเจ้าของหุ้น
แล้วเราจะเข้าใจอะไรมากขึ้นก็ได้
cobain_vi
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 358
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 19

โพสต์

ขอโทษด้วยนะครับที่เขียนอะไรรุนแรงไป ถ้าผิดกฎลดได้เลยครับ
มรณฺง เม ภวิสฺสติ ความตายจักมีแก่เรา
ภาพประจำตัวสมาชิก
kissme
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1311
ผู้ติดตาม: 0

Re: จริงหรือ ที่ ปตท เอาเปรียบคนไทย

โพสต์ที่ 20

โพสต์

เตือนแล้วว่าจะดราม่าเข้าการเมือง จนได้ 55

แต่ผมไม่ได้กดลบเด้อ ไม่ชอบกดลบใคร กด love เป็นอย่างเดียว อิอิ :mrgreen:
ล็อคหัวข้อ