แฉ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ไม่เจ๊งจริง แอบขน 1.6 พันล้านออกนอก แถมไปตั้งใหม่ในฟิลิปปินส์
ปปง.เผยเส้นทางการเงิน “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ไม่เจ๊งจริง ผลตรวจสอบพบหลักฐานโอนเงินออกไปต่างประเทศกว่า 1.6 พันล้าน ทั้งที่มีสถานะล้มละลาย และแจ้งขาดทุนตลอด เร่งประสาน ก.ล.ต. เอาผิดฐานฉ้อโกง ระบุมีการไปตั้งบริษัทใหม่ในฟิลิปปินส์ และประเทศต่างๆ ด้วย
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนท์ หลังมีประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกฟิตเนสได้รับผลกระทบ โดยระบุว่า จากการตรวจสอบพบพฤติการณ์ของบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน
ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีการโอนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการทำธุรกรรมรายปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2545-พ.ศ.2556 ซึ่งตั้งแต่บริษัทแคลิฟอร์เนียเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2549 มีการแจ้งผลกำไรเพียง 1 ปี หลังจากนั้น แจ้งผลประกอบการขาดทุนโดยตลอด แต่กลับมีการโอนเงินไปต่างประเทศต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะปี 2553 มีการโอนเงินออกไปต่างประเทศสูงสุดถึงกว่า 495 ล้านบาท รวม 10 ปี มีเงินหมุนเวียนกว่า 1,600 ล้านบาท
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา พบว่า มูลค่าสูงสุดของการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในช่วง 3 ปี คือ พ.ศ.2552-2554 โดย 99% เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบ SWIFT คือ การโอนเงินออกไปต่างประเทศ ธุรกรรมของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ เกือบทั้งหมดจึงเป็นการโอนเงินออกไปต่างประเทศ และจากการตรวจสอบบุคคลเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในเบื้องต้นมีจำนวน 10 ราย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้เพราะอยู่ระหว่างขยายผล
“พฤติการณ์โอนเงินจำนวนมากไปต่างประเทศที่ตรวจพบ ขณะที่แจ้งผลประกอบการขาดทุน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องส่อเจตนาที่จะฉ้อโกงลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ หรือเรียกได้ว่า เป็นการวางแผนฉ้อโกงอย่างเป็นระบบ” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปปง.รู้ปลายทางประเทศที่มีการโอนเงินไปแล้ว และพบข้อมูลว่า บริษัทแคลิฟอร์เนียฯ ที่มีสถานะล้มละลายขณะนี้ แต่กลับมีการไปตั้งบริษัทใหม่ในฟิลิปปินส์ และประเทศต่างๆ ด้วย
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ปปง.จะจัดส่งข้อมูลให้แก่หน่วยบังคับใช้กฎหมายที่ดำเนินคดีเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะกองปราบปราม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบว่าเหตุใดบริษัทดังกล่าวจึงทำเช่นนี้ได้ ก.ล.ต.ตรวจสอบพบความผิดปกติหรือไม่ ในส่วนของ ปปง. จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และติดตามเงินที่มีการโอนออกไปต่างประเทศโดยไม่ถูกต้อง เพราะกรณีนี้นอกจากสมาชิกผู้ใช้บริการเสียหายแล้ว ผู้ถือหุ้นก็เสียหาย รวมถึงประเทศไทยเสียหายทางด้านภาษี
เงินค่าสมาชิกผม เอาคืนนนมาาาา