ตลาดเงินโลกเกิดภาวะ"โอเวอร์ รีแอ็ค"แบบที่เรียกว่า "ซื้อทุกอย่าง"ที่ขวางหน้า หลัง"เบน เบอร์นันเก้"ประธานเฟดออกมาเป่าฟองสบู่ลูกที่ใหญ่ขึ้นอีก
วันที่ 20 กันยายน 2556 10:04
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังอ่อนแอจึงยังไม่เป็นหลักประกันว่า จะทำให้ต้องถอน หรือปรับลดปริมาณเงินเชิงผ่อนคลาย หรือ คิวอี (Quantitative Easing) โดยประกาศจะเดินหน้าอัดฉีดเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Treasury bands) ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และพันธบัตรสินเชื่อบ้าน MBS (Mortgage backed securities) ต่อไป
"เบอร์นันเก้" บอกว่า เฟดทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแล้ว และไม่อยากถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวทำตลาดการเงินของประเทศเกิดใหม่ปั่นป่วน
แต่พอหลังจากที่คำแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาจบลง ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกก็พุ่งทะยานขึ้น โดยที่ดัชนี S&P500 สหรัฐ พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1,725 ขณะที่ราคาหุ้นเอเชียในกลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) ทะยานขึ้น 3-4%
ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสวนทางกับดอกเบี้ยผลตอบแทนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วถึง 18 basis points มาอยู่ที่ 2.75% นับเป็นการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ได้ทะยานขึ้นไปแตะ 3% เมื่อต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยอ่อนตัวลงที่ 2.865% เมื่อ นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ประกาศถอนตัวชิงเก้าอี้ประธานเฟดคนใหม่
ราคาน้ำมันในตลาดเทกซัสก็พุ่งขึ้นมากกว่า 1.1% รวมทั้งราคาทองในนิวยอร์กพุ่งขึ้นถึง 70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มายืนเหนือ 1,366 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง โดยสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงถึง 1%
จบไปแล้ว กับ Fedral Reserve ที่ประชุมต่อเนื่องเป็นเวลาสองวัน ระหว่าง 17-18 ก.ย. ได้ผลสรุปที่พลิกล็อกจากการคาดเดาของตลาดการเงินทั่วโลก ลงมติ 9 ต่อ 1 โดย "เบอร์นันเก้" แถลงข่าวว่า เฟดจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป โดยจะยังไม่ถอนหรือปรับลด QE (QE Tapering) จนกว่าจะมองเห็นสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก่อน
เรียกได้ว่า เบอร์นันเก้ กลับลำ 180 องศา หลังจากที่พูดมา 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. และ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า จะมี QE Tapering ทำให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินทุนอย่างรุนแรง และรวดเร็วออกจากประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มบริคส์ ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ รวมทั้งในเอเชียและกลุ่ม TIP จนส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดช่วงเวลานับจากเดือนพ.ค. ลดลงกว่า 24% จากราคาที่เป็น Book value มูลค่าทางบัญชี
คราวนี้ อาจเป็นการจบเกษียณอายุจากเฟดของ เบอร์นันเก้ ที่เรียกว่าทุ่มเททำงานอย่างหนักในช่วง 5 ปี พร้อมกับการฉลองครบรอบ 5 ปี ของวิกฤติเลแมน บราเดอร์ส นับจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2551 อย่างไม่สดสวยนัก แม้ว่าจะพยายามปูทางลงมาในช่วงเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมานี้
โดยก่อนหน้านี้ เบอร์นันเก้ บอกว่าจะลดขนาดคิวอี วงเงิน 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เสมือนหนึ่งยาทำให้ตลาดการเงินเคลิบเคลิ้ม เหลือระหว่าง 7.5-6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน รวมทั้งให้สัญญาว่า งานปาร์ตี้ประเทศเกิดใหม่ที่สนุกสนานจากเม็ดเงิน คิวอี ที่มีต้นทุนถูก กำลังจะจบลงแล้ว
รอบนี้ เบอร์นันเก้ กลับมาบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตไม่ได้ตามเป้าอยู่ระหว่าง 2.0-2.3% ในปี 2556 ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 2.3-2.6% ส่วนเงินเฟ้อก็ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.5% มากเช่นกัน แค่อยู่ที่ 1.95% ในปีนี้ โดยสิ่งที่ เบอร์นันเก้ ห่วงมากที่สุด คือ เรื่องของคนอเมริกันที่ตกงานวางเป้าไว้ที่ 6.5% แค่ปลายปีนี้จะทำได้แค่ 7.2% เท่านั้น ขณะที่ล่าสุดการว่างงานอยู่ที่ 7.3%
เบอร์นันเก้ อาจคิดว่า ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศสหรัฐในรอบ 5 ปี ที่เกิดวิกฤติซับไพร์มและเลแมน บราเดอร์ส เพราะเม็ดเงินคิวอีที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงิน และเศรษฐกิจนั้นมีมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้งบดุลของเฟดโป่งบานเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าสินทรัพย์ในตลาดการเงินสหรัฐ เพราะต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาล และ MBS เพื่ออุ้มทั้งรัฐบาลที่มีหนี้สินพอกพูนสูงถึง 17 ล้านดอลลาร์ และหนี้สินของระบบธนาคารพาณิชย์ ในวงเงินที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งรัฐบาลสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับภาระหนี้สินที่ชนเพดานกฎหมายในช่วงกลางเดือนต.ค. นี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะตกอยู่ในภาวะที่ผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค (defaults) ได้
ดังนั้น นโยบาย คิวอี ของ เบอร์นันเก้ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ที่มียอดคงค้างมาถึงวันนี้มากกว่า 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากจะทำให้ตัวเองเป็นฟองสบู่เสียเอง และทำให้ตลาดหุ้นการเงินสหรัฐเป็นฟองสบู่ลูกที่ใหญ่ขึ้นๆ แล้ว ยังส่งผลต่อความปั่นป่วนของตลาดการเงินในเอเชีย และค่าเงินเอเชียที่เหวี่ยงตัวแข็งค่า และอ่อนค่าอย่างรุนแรง ทั้งรูปีของอินเดีย รูเปี๊ยะห์ของอินโดฯ และบาทของไทย มากกว่า 13%, 12% และ 11% ตามลำดับ
สรุปว่า การทำงานหนักของ "เบอร์นันเก้" ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ แทบจะไม่คุ้มค่าเลย เพราะนอกจากการสะสมฟองสบู่ให้ตัวเองสูงถึง 300% ของ จีดีพี ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ และยังทำให้เกิดความผันผวนอย่างสุ่มเสี่ยงของกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกในประเทศเกิดใหม่ที่รวมไทยด้วยแล้ว แต่กลับช่วยคนอเมริกันให้มีงานทำเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น