โค้ด: เลือกทั้งหมด
คงไม่มีใครโต้แย้งว่าต้นแบบสังคมประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีอายุเพียงสองร้อยกว่าปี ถูกสร้างด้วยจิตวิญญาณจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่เชื่อในหลักการแห่งเสรีภาพ สิทธิและความเท่าเทียมของปัจเจกบุคคลที่จะแสวงหาความสุขและโอกาสของชีวิต
การสร้างชาติของอเมริกานั้น รัฐศาสตร์และการเมืองอาจเป็นเพียงแนวคิดส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าถูกสร้างด้วยการที่ผู้คนทุกสาขาทำหน้าที่ตัวเองอย่างดีที่สุด เพื่อก่อให้เกิดมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ช่วยสร้างชาติ ประเทศอเมริกาค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและผู้ชนะทุนนิยมของโลกในยุคศตวรรษที่ 20 ด้วย “บริษัทข้ามชาติ” ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรและเป็นผู้ชนะในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ บริษัทสัญชาติอเมริกันเหล่านั้นมีขนาดตลาดใหญ่กว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของหลาย ๆ ประเทศในโลกเสียอีก และครอบครองโลกที่ไร้พรมแดนไปในแทบจะทุกอุตสาหกรรมชั้นนำ
ด้วยเหตุนี้เองการทำความเข้าใจต้นแบบผู้ชนะ จนพาโลกเข้าสู่ยุคทองของระบบทุนนิยมโดยผ่านบทบาทนักธุรกิจจึงน่าสนใจยิ่ง ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 นักธุรกิจรุ่นแรก คือนัก(พัฒนา)อุตสาหกรรม ในอเมริกาในช่วงนั้นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมจำนวนมากเช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องบิน พลังงาน ฯลฯ จอห์น ดี ร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งถูกจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์บนโลกใบนี้ก็สร้างตัวจากยุคนี้ บริษัท Standard Oil ของร็อกกี้เฟลเลอร์เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจน้ำมันบริษัทแรก ๆ และที่จริงแล้วนี่คือบริษัทแม่ของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกในปัจจุบันทั้งสิ้น เช่น ConocoPhillips, Chevron, Exxon เนื่องจากบริษัท Standard Oil ครองตลาดน้ำมันสูงมากจนถูกศาลฎีกาฟ้องเรื่อง Anti-trust หรือกฎหมายผูกขาดในปี คศ. 2454 จึงต้องถูกแตกเป็นบริษัทย่อยจำนวนมาก
ร็อกกี้เฟลเลอร์ในวัยเด็กมีความฝัน มีความพยายาม ขยันขันแข็งในการทำมาหากินตั้งแต่อายุยังน้อย ใช้ความรู้และความฉลาดหลักแหลมในวิชาคณิตศาสตร์และเคมีในการสร้างเนื้อสร้างตัวบนหลักการของประเทศที่ทุกคนมีสิทธิคิดและฝันที่จะเป็นอะไรก็ได้ แม้ว่าช่วงกลางของชีวิต ร็อกกี้เฟลเลอร์จะถูกมองว่าเป็นนายทุนที่หน้าเลือดและเอาเปรียบแรงงาน เนื่องจากในช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกานั้น นายทุนส่วนใหญ่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม กอบโกยผลประโยชน์ และใช้อำนาจที่เหนือกว่าทางการตลาดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า
แต่ในท้ายที่สุด ร็อกกี้เฟลเลอร์ก็แบ่งปันให้สังคมโดยเริ่มบริจาคเงินให้กับโบสถ์ และพัฒนาไปสู่การบริจาคให้กับการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น การสาธารณสุข การศึกษาที่เขาเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริงในระยะยาว จุดนี้เองมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller foundation) จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยในปี พ.ศ. 2456 และถือเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก และช่วยสร้างชาติอเมริกาทางอ้อมเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปี
นอกจากร็อกกี้เฟลเลอร์แล้ว จิตวิญญาณนักธุรกิจของประเทศอเมริกาถูกสะท้อนผ่าน นักอุตสาหกรรมอย่างแอนดรูว์ คาร์เนกี้ (ธุรกิจเหล็กกล้า มั่งคั่งอันดับสองรองจากร็อกกี้เฟลเลอร์ บริจาคเงินทั้งหมดที่มีพัฒนาการศึกษา) โจเซฟ วอร์ตัน (ผู้บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยเพนซิเวอร์เนียจนตั้งเป็นโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน) หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจในยุคโลกเทคโนโลยีอย่างบิลล์ เกตต์(ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์) หรือนักลงทุนเอกของโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งบริจาคเงินให้มูลนิธิเกตต์ ก็สะท้อนภาพเดียวกันได้เป็นอย่างดี บัฟเฟตต์กล่าวว่า “เขาไม่เชื่อในเรื่องความมั่งคั่งแบบสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ที่ได้มาจากการเป็นสเปิร์มที่โชคดีและเกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวย แต่เขาเชื่อในการที่คนมีโอกาสและสร้างเนื้อสร้างตัวจากสองมือและหนึ่งสมอง เขาคิดว่าลูกของเขาจะได้รับมรดกจำนวนมากพอที่สามารถทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะทำ แต่ไม่มากเกินไปที่จะทำให้พวกเขาคิดว่าเขาไม่ต้องทำอะไรเลย”
จุดร่วมของผู้คนเหล่านี้ คือพวกเขาเชื่อว่าเขาทำสิ่งที่ตัวเองทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ชาติพัฒนาและก้าวหน้า และสุดท้ายก็บริจาคความมั่งคั่งที่เกินจำเป็นที่พวกเขาได้จากสังคมคืนให้กับสังคมต่อไป
ร็อกกี้เฟลเลอร์ทิ้งท้ายในบันทึกช่วงบั้นปลายของชีวิตไว้ว่า “ผมถูกสอนตั้งแต่เยาว์วัยให้ทำงานหนักพร้อม ๆ กับใช้ชีวิต ชีวิตของผมก็เปรียบเหมือนวันหยุดที่ยาวนานและมีความสุขที่เต็มไปด้วยการทำงานหนัก ผมทิ้งความกังวลและขอบคุณพระเจ้าและทุกอย่างที่ดีต่อผมทุก ๆ วัน” และเขาก็มอบโอกาสเหล่านี้ต่อให้ผู้คนรุ่นหลัง
นี่คือประวัติศาสตร์ของต้นแบบประเทศชาติที่เป็นผู้ชนะ และคือตำนานของผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจและการสร้างตำนานที่เล่าต่อได้ไม่รู้จบ และเป็นแบบอย่างที่ควรจะศึกษาเป็นอย่างยิ่ง