ตอนที่ 3...
จากบทความ "ความใฝ่ฝันของนักลงทุน" ของ วีระพงษ์ ธัม เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ผมจึงได้เพิ่มภาพบรรยากาศสถานการณ์จากสถานที่จริง เพื่อบันทึกความทรงจำที่ไม่มีวันลืม ของพวกเราทั้ง 4 คน ตลอดไป
ความใฝ่ฝันของนักลงทุน โดย วีระพงษ์ ธัม
ความใฝ่ฝันในชีวิตของนักลงทุนมีมากมายแตกต่างกันไป สำหรับตัวผมแล้ว นอกจากความฝันในการสร้างความมั่งคั่งหรือการมีอิสรภาพทางการเงิน ยังมีหนึ่งความฝันคือการได้เข้าร่วมประชุมประจำปีของบริษัทเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ เพื่อพบกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบและตำนานของนักลงทุนเน้นคุณค่าที่เมืองโอมาฮา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าย้อนไปสิบปีก่อน ผมไม่เคยคิดว่าความฝันนี้จะเป็นจริง
ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความฝันชิ้นนี้ให้สำเร็จ ประกอบกับความโชคดีที่ผมมีบุคคลต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำสามารถทำความฝันนี้ให้เป็นจริงได้ บุคคลนั้นคือพี่เวป พรชัย รัตนนนทชัยสุข ผมได้เริ่มเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศและซื้อหุ้นเบิร์กไชร์ วางแผนการเดินทาง และหา “ผู้ร่วมความฝันและอุดมการณ์” และเป็นความน่าอัศจรรย์ที่ผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด ตกลงยืนยันพร้อมกันเพียงแค่คำแรกที่ผมเอ่ยปาก ง่ายราวกับว่าชวนกันไปร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอย และเป็นความบังเอิญอีกอย่างหนึ่งว่าพวกเราทั้งสี่คนเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ผลิตรายการ VI สายดำร่วมกัน ที่กำลังเดินทางไปพบกับ VI สายดำอันดับหนึ่งของโลก
การเดินทางข้ามทวีปใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม พวกเราก็มาถึงเมืองโอมาฮา เมืองกลางทุ่งหญ้าในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ทุกวันเสาร์แรกของเดือนพฤษภาคม มันคือ เทศกาลคาร์นิวัลใหญ่ของนักลงทุนเน้นคุณค่า ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศร่วมสี่หมื่นคนเข้าร่วมประชุมในปีนี้ และดูเหมือนว่ามันจะมากขึ้นทุก ๆ ปี และสุดสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงที่โอมาฮาคึกคักเป็นพิเศษในฐานะจุดศูนย์กลางของนักลงทุนเน้นคุณค่าของโลก
พวกเราเดินทางมาถึงที่ประชุมล่วงหน้าก่อนวันประชุมสองวัน โดยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ตามรอยชีวประวัติบัฟเฟตต์ที่เราเคยอ่านในหนังสือ เยี่ยมอาคารธรรมดา ๆ ที่เป็นที่อยู่ของออฟฟิศเล็ก ๆ ของเบิร์กไชร์ ซึ่งมีพนักงานเพียงแค่ 22 คน แต่บริหารหลักทรัพย์มากถึงสามแสนล้านเหรียญสหรัฐ
เยี่ยมบ้านหลังน่ารักตรงหัวมุมถนนที่บัฟเฟตต์ซื้อมาตั้งแต่ปี 1958 โดยไม่เคยย้ายไปไหน บ้านซึ่งดูธรรมดาเกินกว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่มีความมั่งคั่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แวะเยี่ยมมหาวิทยาลัยที่บัฟเฟตต์เคยสอน
เข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเมืองที่ให้เกียรติตระกูลบัฟเฟตต์โดยจัดแสดงร้านขายของชำตั้งแต่รุ่นปู่ของตระกูล
และขลุกตัวกับร้านหนังสือซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานที่โปรดปรานของนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่างพวกเรา
สองวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว และคืนก่อนวันประชุม พวกเราก็เดินทางไปถึงที่ประชุมตั้งแต่ตีสองครึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถต่อแถวเข้าคิวได้เป็นคนแรก ๆ และสามารถจับจองที่นั่งที่สามารถใกล้ชิดกับบัฟเฟตต์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาตีสอง มีผู้คนจำนวนมากมายืนรอเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
ผมเข้าแถวเดียวกันกับนักเรียน MBA ของโคลัมเบียกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยนั่งทานข้าวกับบัฟเฟตต์มาแล้ว มันคงมีแรงดึงดูดบางอย่าง ที่ทำให้คนไทยที่คลั่งไคล้การลงทุนได้เจอกับนักเรียนที่ลุ่มหลงกับการลงทุนเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนความเห็นและพูดคุยเรื่องการลงทุนอย่างถูกคอเป็นการฆ่าเวลาเป็นอย่างดี และทำให้เราลืมความหนาวเย็นของค่ำคืนนั้น นอกจากจะทำให้ผมได้ไอเดียใหม่ ๆ เกี่ยวกับการลงทุนแล้ว ยังทำให้คิดได้ว่าการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ง่ายเลย ตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ มีประสิทธิภาพสูงมาก หากคิดว่าตลาดหุ้นนี้เต็มไปด้วยนักลงทุนที่ชาญฉลาดเหมือนกับคนที่ผมคุยด้วย
ห้าชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก เวลาก่อนเจ็ดโมงตรง ประตูเปิดแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว ทุกคนแตกตื่น และวิ่งกรูเข้าไปแบบไม่คิดชีวิต เราทำทุกอย่างตามแผนคือฝากกระเป๋าไว้เพื่อให้สามารถผ่านด่านตรวจความปลอดภัยให้เร็วที่สุด ศึกษาเส้นทางแผนที่เป็นอย่างดี และถึงเวลาก็วิ่งให้เร็วที่สุด เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผมตื่นเต้นมากช่วงหนึ่งในชีวิต และในที่สุดพวกเราก็ได้ที่นั่งแถวที่ 5 ตำแหน่งตรงกลางพอดี พวกเรารู้สึกพอใจและคุ้มค่ากับการลงทุนอดหลับอดนอนทั้งคืน ชั่วขณะนั้นผมอิ่มเอิบและปลาบปลื้มใจว่าความฝันเป็นจริงแล้วในวันนี้ เพราะถ้าไม่มีบัฟเฟตต์ ก็จะไม่มีอาจารย์ผมอีกหลาย ๆ คน รวมถึงไม่มีผมในวันนี้เช่นเดียวกัน
เรามีเวลาประมาณชั่วโมงครึ่งก่อนการประชุมจะเริ่ม ผมเดินไปช็อปปิ้งในฮอลข้าง ๆ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์หนึ่งของการประชุมนี้ เพราะคุณสามารถซื้อของที่ระลึกของเบิร์กไชน์ที่มีจำนวนจำกัดและไม่ซ้ำกันทุก ๆ ปี
รวมถึงมีหนังสือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าพร้อมลายเซ็นต์ของผู้เขียนมาวางขายมากมาย
ในงานนี้ผมบังเอิญเจอปู่บัฟเฟตต์ที่กำลังเดินไปเยี่ยมบูธต่าง ๆ ในขณะที่ให้สัมภาษณ์สื่อ ยิ่งทำให้ผมตื่นเต้นเข้าไปอีก ผมรู้สึกได้ถึงความกระตือรือล้นของท่าน รวมถึงความจดจ่อและมีวินัยอย่างสูง ซึ่งเห็นไม่บ่อยนักในชายวัย 84 ปี ได้สัมผัสไอของปรมาจารย์ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้
และพอเริ่มประชุม ผมรู้สึกประหลาดใจกับบุคลิก ความเฉลียวฉลาด และคำตอบที่เฉียบคมของคน ๆ หนึ่ง บุรุษคนนั้นนั่งข้าง ๆ บัฟเฟตต์และชื่อว่าชาร์ลี มังเกอร์
หากความใฝ่ฝันของบัฟเฟตต์คือการอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อการลงทุน การเห็นเงินงอกเงย และสร้างตำนานชีวิต คู่หูอย่างชาร์ลี มังเกอร์ เหมือนจะเป็นสิ่งที่เกือบจะตรงกันข้าม มังเกอร์ชอบชีวิตที่เรียบง่าย เป็นส่วนตัว และเขาสนใจการลงทุนเป็นเพียงกิจกรรมที่น่าสนุกอย่างหนึ่งเท่านั้น การเป็นรองประธานในเบิร์กไชน์ภายใต้เงาที่ยิ่งใหญ่ของบัฟเฟตต์ ทำให้นักลงทุนทั่วไปรู้จักมังเกอร์น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่มังเกอร์คือครึ่งหนึ่งของอาณาจักรแห่งนี้ เหมือนที่บัฟเฟตต์เปรียบไว้ว่า ส่วนผสมของการลงทุนที่นี่ คือผมเห็น และมังเกอร์ได้ยิน
การมาประชุมที่โอมาฮาในคราวนี้ ทำให้ผมได้พบกับความเฉียบคม ปนอารมณ์ขันแบบฉบับส่วนตัวของมังเกอร์ ไม่แน่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ถือหุ้นเบิร์กไชน์ถึงรักมังเกอร์ ไม่แพ้บัฟเฟตต์ทีเดียว
คำแนะนำของมังเกอร์ สำหรับนักลงทุนข้อแรก ๆ คือ เราควรเก็บออมตั้งแต่อายุยังน้อย โดยใช้จ่ายให้น้อยกว่าความมาตรฐานความมั่งคั่งที่เรามีเป็นระยะเวลายาวนาน และต้องทำงานให้หนัก เพราะชีวิตในช่วงเริ่มต้นนั้นสำคัญที่สุด การเริ่มต้นได้เร็วช่วยเราได้ในทุกเรื่อง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงทุน มังเกอร์มีลูกทั้งหมดแปดคน และพยายามสอนลูกอยู่บ่อย ๆ แต่เขาก็ยอมรับอย่างหนึ่งว่า ลูกคนที่เกิดมาภายหลัง ในขณะที่เขามีความมั่งคั่งแล้ว จะมีจิตวิญญาณของการทำงานหนักน้อยกว่าพี่ ๆ ของเขา
สาเหตุที่มังเกอร์คือส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เบิร์กไชน์ และการลงทุนของบัฟเฟตต์เป็นตำนาน คือเขาเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่พยายามซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เป็นการซื้อกิจการที่มีราคาเหมาะสม แต่มีคุณภาพยอดเยี่ยม นี่คือการให้ความสำคัญกับการค้นหาความสามารถในการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมและถูกซ่อนเร้นอยู่ในกิจการ
“เกมของการลงทุนคือการคาดการณ์อนาคตได้ดีกว่าผู้อื่น และวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณทำสิ่งนี้ได้ คือการจำกัดขอบเขตของมันเอาไว้ หากคุณพยายามคาดเดาอนาคตของทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นความพยายามที่มากจนเกินไป และคุณกำลังจะสูญเสียความเชี่ยวชาญของการคาดเดาอนาคต” ชาร์ลี มังเกอร์
ชีวิตหลังจากที่มังเกอร์ติดอันดับ Top 400 ของอภิมหาเศรษฐีสหรัฐฯในนิตยสาร Forbes เหมือนจะตรงกันข้ามกับบัฟเฟตต์ เขาไม่อยากมีชื่ออยู่ใน List ในปีถัด ๆ ไปและอยากมีชีวิตส่วนตัวที่เขาชื่นชอบ คือการตกปลา อ่านหนังสือที่หลากหลาย รวมถึงการดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในบั้นปลายของคู่หูคู่นี้คือ การบริจาคสู่สังคม มังเกอร์เริ่มบริจาคความมั่งคั่งก่อนบัฟเฟตต์หลายสิบปี ให้กับหลาย ๆ องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา หากมีคนถามังเกอร์ว่าเขาจะเหลืออะไรไว้หลังจากที่เขาเสียชีวิต เขาบอกว่าเขาจะเหลือทิ้งไว้ทุกอย่างโดยไม่เก็บเอาไว้ และเหมือนกับว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้บัฟเฟตต์ในเวลาต่อมา
กลับมาที่ Omaha ที่ ๆ ผมได้เจอตำนานทั้งบัฟเฟตต์และมังเกอร์ในเวทีเดียวกันหนึ่งวันเต็ม การประชุมสไตล์เบิร์กไชน์นั้นเริ่มต้นด้วยการสรุปผลประกอบการเป็นวีดีโอที่มีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นวีดีโอที่เต็มไปด้วยความหมายหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่การเล่าผลประกอบการ การขอบคุณผู้บริหารทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมพัฒนาบริษัทให้ก้าวหน้า บัฟเฟตต์เคยบอกว่า หน้าที่ของเขานอกจากการจัดสรรทรัพยากรหรือการหาโอกาสลงทุนใหม่ ๆ แล้ว เขาต้องทำให้ผู้บริหารปัจจุบันมีความสุข ซึ่งในเวลาหนึ่งวันที่ผมเห็น ผู้บริหารได้รับเกียรติเหล่านี้เป็นอย่างสูง แม้ว่าหลายครั้งบัฟเฟตต์จะคอยตักเตือนผู้บริหารบ่อย ๆ ว่า จงอย่าอยู่นอก “วงกลมแห่งความเชี่ยวชาญของตนเอง” นั่นคือพยายามจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี โดยไม่พยายามทำอะไรที่สร้างความเสี่ยงให้บริษัทโดยไม่จำเป็น
หลังจากนั้นบัฟเฟตต์และมังเกอร์ก็ปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้ร่วมประชุมสี่หมื่นคน คำถามในวันนั้นหลายคำถามยากมาก และบัฟเฟตต์ก็ไม่รู้คำถามมาก่อน
ทักษะการลงทุน พร้อม ๆ กับวินัยการลงทุนที่สูงมาก อยู่ในทุกคำตอบของทั้งสองคน บัฟเฟตต์และมังเกอร์แทบจะมองข้ามปัญหาสั้น ๆ และมองไปที่ภาพใหญ่ และภาพระยะยาวของกิจการ รวมถึงการค้นหาไอเดียการลงทุนตลอดเวลา มุมมองของบัฟเฟตต์และมังเกอร์ต่างจากทฤษฎีทางการเงินมาก เช่น
คุณคิดว่าต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ของเบิร์กไชน์คืออะไร ? คำตอบบัฟเฟตต์คือ ผลตอบแทนที่ได้จากไอเดียการลงทุนอันดับสอง (ดังนั้นเราต้องพยายามให้ไอเดียการลงทุนของเรา เหนือกว่าต้นทุนตรงนี้ให้ได้มาก ๆ)
งานประชุมประจำปีของเบิร์กไชน์ ถูกปิดท้ายด้วยกิจกรรม วิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร ในหัวข้อที่ว่า Invest in Yourself หรือลงทุนในตัวเอง นี่คือหัวใจของความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิต และมันคือการลงทุนที่ดีที่สุด ผมได้เบอร์วิ่ง 2596 ซึ่งเป็นปี พ.ศ.ในอนาคตที่ผมจะอายุเท่าปู่วันนี้พอดี พวกเราวิ่งรอบ Downtown ของโอมาฮา อากาศเย็นสบาย นักวิ่งตั้งแต่เด็กยันวัยชราวิ่งไปข้างหน้าด้วยกันด้วยรอยยิ้ม หลังจากวิ่งไปซักพักก็เห็นเส้นชัยที่อยู่ริมแม่น้ำมิซซูรี่ “ผู้วิ่งถึงเส้นชัยคือผู้ชนะทุกคน” และได้เสียงปรบมือกึกก้อง และผมก็เชื่อว่าชีวิตและความใฝ่ฝันของการลงทุนก็เป็นเช่นเดียวกันครับ