แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น หุ้น และการลงทุนนั้นมีมากมาย แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มนั้นต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน พวกเขาอยากที่จะเห็นตลาด หุ้น และการลงทุนมีทิศทางที่สอดคล้องตรงกับผลประโยชน์ของตนเอง พวกเขาจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยกับสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น ซึ่งก็รวมถึงการพูดโน้มน้าวจิตใจคนอื่นและสาธารณชนให้เห็นคล้อยตามคำพูดของเขา ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่โบรกเกอร์ที่ผลประโยชน์หลักอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นนั้น สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือการซื้อขายหุ้นของลูกค้าบ่อย ๆ ดังนั้นพวกเขาก็มักจะออกบทวิเคราะห์หุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสูงและเป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาสูงเนื่องจากความไม่แน่นอนของตัวกิจการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การตลาดก็มักจะให้คำแนะนำให้ลูกค้าซื้อขายบ่อย ๆ เวลาหุ้นขึ้นและลงแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ และสำหรับลูกค้ารายใหญ่หรือไม่ใหญ่มากแต่ซื้อขายหุ้นแบบเทรดเดอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมากก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พวกเขาไม่ชอบและจะไม่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนถือหุ้นระยะยาวแม้ว่าหุ้นจะเป็นกิจการที่ดีมากและเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว และถ้าลูกค้าถือหุ้นดังกล่าวไว้บางครั้งเขาก็แนะนำว่าควร “ขายไปก่อนแล้วค่อยซื้อกลับทีหลัง” ในหลาย ๆ กรณี พวกเขาอ้างการวิเคราะห์ทาง “เทคนิค” ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายทันทีเมื่อราคาหุ้นถึงจุดเปลี่ยน ดังนั้น เวลาเราฟังโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ เราจะต้องระวังว่า วัตถุประสงค์ของเขาอาจจะไม่เหมือนของเรา เราต้องการกำไรหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนเขาต้องการค่าคอมมิชชั่น แรงจูงใจไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำแนะนำหรือความเห็นของเขาจึงอาจจะ Bias หรือลำเอียงได้

เจ้าของและ/หรือผู้บริหารบริษัทนั้น ถ้ามองหยาบ ๆ ก็น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกับนักลงทุนเนื่องจากต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนกันหรือมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าของและ/หรือผู้บริหารนั้นมักมีผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีเงินเดือน โบนัส และผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างอื่นกับบริษัทด้วย ดังนั้น ถ้าผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากปันผลจากหุ้นมีมากอย่างมีนัยสำคัญ แรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารก็อาจจะแตกต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมง่าย ๆ ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการจ่ายเงินปันผลที่บางครั้งหรือบางบริษัทอาจจะจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเหตุเพราะว่าผู้บริหารอาจจะถือหุ้นน้อยหรือไม่มี ดังนั้น เขาก็อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทซึ่งเขาจะได้มีโอกาสใช้ได้มากกว่า หรืออาจจะทำให้เขามีการบริหารงานที่สบายกว่าปกติ ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นแบบนี้ก็เช่น บริษัทที่ผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติบางแห่งที่มีผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นและจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำทั้งที่มีฐานะการเงินดี เงินที่เหลืออยู่มากในที่สุดก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จและตรวจสอบได้ยาก ถ้าเราเจอบริษัทแบบนี้ก็พึงรู้ไว้ว่าแรงจูงใจของเขากับเราที่เป็นนักลงทุนนั้นไม่ไปด้วยกัน ดังนั้นแม้บริษัทอาจจะกำไรดีก็อาจจะไม่คุ้มที่จะลงทุน

หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกนั้นเราก็จะต้องรู้ว่าเจ้าของน่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร ข้อแรกนั้นชัดเจนก็คือ เขาต้องการขายหุ้นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัทเพื่อเหตุผลในการขยายงานและทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง หรือในบางกรณี เจ้าของก็พ่วงหุ้นส่วนตัวเอามาขายด้วย ในทุกกรณี เขาต้องการขายได้ในราคาที่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้และที่สำคัญก็คือเขาต้องคิดว่านั่นเป็นราคาที่เขาพอใจเมื่อเทียบกับคุณค่าของหุ้นในสายตาของเขา แรงจูงใจนี้ทำให้เขาพยายามกำหนดราคาหุ้นให้สูงโดยอาจจะทำการแต่งตัวหรือใช้จังหวะที่เหมาะสมของบริษัทหรือภาวะตลาดหุ้นในการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป ผลก็คือ หุ้น IPO มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นและนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจให้เจ้าของเอาหุ้นเข้าตลาด อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เช่น เขาต้องการเอาหุ้นเข้าตลาดเพื่อให้บริษัทมีการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานและหุ้นมีสภาพคล่องและมีราคาตลาดที่ทำให้เขารู้มูลค่าความมั่งคั่งของตนเองและสามารถขายเพื่อกระจายความเสี่ยงรวมถึงสามารถที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทได้อย่างสะดวกในอนาคต ในกรณีแบบนี้ การตั้งราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้สูงกว่าพื้นฐานก็ได้ สรุปก็คือการวิเคราะห์หรือมองถึงแรงจูงใจของเจ้าของที่นำหุ้นเข้าตลาดจะช่วยให้เรารู้ว่าราคา IPO นั้นมีความสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหนได้

นักลงทุนแต่ละคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเองนั้นก็มีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนจนได้หุ้นครบจำนวนตามที่ต้องการแล้วนั้นต่างก็ต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป แรงจูงใจนี้ทำให้เขาอยากจะเชียร์หุ้นตัวนั้นถ้ามีโอกาสทำได้ คนที่ซื้อหุ้นตัวนั้นในปริมาณที่มากและเป็นการซื้อเพื่อ “เก็งกำไร” ก็จะมีแรงจูงใจที่จะเชียร์หุ้นมากเนื่องจากเขาอยากที่จะเห็นหุ้นขึ้นไปเร็วเพื่อที่ว่าเขาจะได้ขายทำกำไรและหันไป “เล่น” หุ้นตัวอื่น คนที่ลงทุนระยะยาวเองนั้น การเชียร์อาจจะไม่มากเท่าเนื่องจากเขาไม่คิดที่จะขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นหรือคนที่ขายหุ้นตัวนั้นไปแล้วก็อาจจะมีแรงจูงใจในทางตรงกันข้าม พวกเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้น ดังนั้นเขาไม่เชียร์ แถมอาจจะวิจารณ์ในด้านลบ ดังนั้น เวลาที่เราฟังการวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นแต่ละตัวจากนักลงทุนคนอื่น เราก็ควรจะรู้ว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกันและดังนั้นการวิเคราะห์หุ้นก็อาจจะมีความลำเอียงทั้งในด้านที่ดีและร้ายขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของแต่ละคน

การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ต้องมีการแจ้งต่อ กลต. ทุกครั้งนั้นเราก็ต้องพยายามมองหาว่าแรงจูงใจของเขาเป็นอย่างไร โดยปกติ ถ้าเป็นการขายรายการใหญ่มาก เช่น ขายถึง 10% ของบริษัท ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงขายและขายให้ใคร ในราคาเท่าไร แรงจูงใจในการขายคืออะไร เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ซื้อ เป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมองเห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตของบริษัทเขาจึงขายไปในขณะที่หุ้นมีราคาที่ดี เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าคนซื้อมองเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไปอีกนานดังนั้นเขาจึงอยากซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุนและเขาคิดว่าราคาที่ซื้อนั้นคุ้มค่า ในหลาย ๆ กรณี การซื้อหุ้นล็อตใหญ่ก็เพื่อที่จะเข้ามาเป็น Strategic Partner หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นหลังจากการเข้ามาลงทุน ในกรณีแบบนี้ เราก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่ และถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากช่วงก่อนการขาย เราควรจะทำอย่างไร

การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ไม่ใช่รายการใหญ่และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเราต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป โดยปกติถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือเป็นระดับซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของบริษัทจริง ๆ นั้น มักจะไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก แรงจูงใจในการขายหุ้นของพวกเขานั้นอาจจะเกิดจากความต้องการใช้เงินธรรมดาหรืออาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าหุ้นมีราคาสูงเต็มมูลค่าหรือเกินพื้นฐานไปแล้ว เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่าหุ้นมีราคาถูก อย่างไรก็ตาม เขาอาจจะคาดผิดได้เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริง แต่ในกรณีที่ผู้บริหารคนสำคัญหรือเจ้าของเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นค่อนข้างบ่อยนั้นผมคิดว่าเราคงต้องวิเคราะห์แรงจูงใจของเขาว่าเพราะอะไร เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายาม “ส่งสัญญาณ” ซึ่งอาจจะ “ลวง” ให้นักลงทุนเข้าใจผิดในคุณค่าของหุ้นในเวลานั้น โดยมีแรงจูงใจที่จะทำให้ราคาหรือสภาพคล่องของหุ้นแตกต่างจากที่ควรจะเป็นเพื่อเหตุผลบางอย่าง เราในฐานะที่เป็น VI จะต้องติดตามและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอะไร ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะต้องคิดอย่างเป็นอิสระและไม่ถูกชักนำโดยข้อมูลที่ออกมาจากแรงจูงใจของคนอื่นที่ไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนกับเราหรือตรงข้ามกับเรา
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
theenuch
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1735
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบพระคุณมากค่ะ
great212
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 15
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
jupiterwin
Verified User
โพสต์: 176
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Samkok
Verified User
โพสต์: 1880
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
PLUSLOVE
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1523
ผู้ติดตาม: 0

Re: แรงจูงใจกับการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์