น้ำมันหมด !!!!!

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

น้ำมันหมด !!!!!

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

น้ำมันหมด!

"ทุกวันนี้ เราอาศัยอยู่ในโลกที่พลังงานเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง"

Paul Roberts

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน




ผลจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้กลายเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน จะเป็นวาระความมั่นคงเร่งด่วนที่สำคัญสำหรับทุกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต และปัญหานี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า น้ำมันจะกลายเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งอย่างมาก

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์ของน้ำมัน (Geo-politic of Oil) ก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์ของสงครามนั่นเอง

ฉะนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาน้ำมันจึงเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง กรณีของสงครามในอิรักเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

เพราะสงครามที่เกิดขึ้นทำให้อิรักไม่สามารถส่งออกน้ำมันให้แก่ตลาดโลกได้ในปริมาณเช่นที่เป็นมาในอดีต คือ การผลิตน้ำมันวันละ 2.5 ล้านบาร์เรล

อีกทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มโอเปค ก็มีปริมาณการผลิตที่ลดต่ำลง และลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างเดือนมิถุนายน 2002 - มิถุนายน 2003 การผลิตน้ำมันของสามประเทศหลักที่ไม่ได้อยู่กลุ่มโอเปค ได้แก่ สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และอังกฤษ มีจำนวนการผลิตลดลงโดยรวมประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล

และสำหรับประเทศนอกกลุ่มโอเปคอีกประเทศหนึ่ง อาจจะยังมีน้ำมันอยู่มาก เช่น ในกรณีของรัสเซีย แต่ก็ประสบปัญหาและความยุ่งยากในการได้มาซึ่งน้ำมัน ซึ่งก็คือจะต้องลงทุนอย่างมากในการขุดเจาะและการขนส่ง

ผลจากสภาพเช่นนี้จะเห็นได้ว่า การสำรวจและการขุดเจาะน้ำมันนั้น เป็นการลงทุนที่สูงมาก การลงทุนจึงไม่ทำโดยบริษัทเดียว แต่มักจะอยู่ในรูปของการลงทุนร่วม (consortiums) ของบริษัทน้ำมันหลายบริษัท แต่ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่า แนวโน้มของประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปค จะมีปริมาณการผลิตลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งก็ดูจะสวนทางกับความต้องการพลังงานของโลก ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

โดยมีความต้องการในแต่ละปีสูงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรืออุตสาหกรรมน้ำมันบางแห่งประเมินว่าอาจจะสูงถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันก็ได้

ในทางทฤษฎี เราอาจจะกล่าวได้ว่า การตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเพิ่มปริมาณการผลิตเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะนอกเหนือจากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางแล้ว น้ำมันยังมีอยู่อย่างมากในรัสเซีย ในแอฟริกาตะวันตก และในพื้นที่แถบทะเลสาบแคสเบียน

แต่ในความเป็นจริง การได้มาซึ่งน้ำมันพร้อมๆ กับการนำน้ำมันไปให้แก่ผู้ที่ต้องการ ไม่ได้ง่ายอย่างในทางทฤษฎี สภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคงที่ไม่มีเสถียรภาพ และความต้องการน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในหลายๆ ประเทศ อาจจะส่งผลให้น้ำมันไม่เป็นความประหยัดในทางเศรษฐศาสตร์อีกต่อไปก็ได้ เพราะการให้ได้มาซึ่งน้ำมันในอนาคต มีความหมายถึงการลงทุนทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ตัวเลขจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency) ระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำมันในอนาคตจะต้องลงทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อที่จะสามารถดำรงการผลิตน้ำมันได้เช่นในระดับปัจจุบัน

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือ บริษัทน้ำมันจะต้องเร่งหาบ่อน้ำมันใหม่เพื่อทดแทนต่อบ่อเก่าซึ่งกำลังจะหมดลงให้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งบริษัทน้ำมันจะต้องลงทุนเพิ่มอีก 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อหาน้ำมันสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย

หากนำยอดของเงินลงทุนจากทั้งสองกรณีมารวมกัน ก็จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันในอนาคตต้องการเงินลงทุน ซึ่งมียอดรวมมหาศาล

ปัญหาก็คือ เงินมหาศาลเหล่านี้จะมาจากแหล่งใด



นอกจากนี้ ในกรณีของกลุ่มโอเปค ถ้าพิจารณาจากความต้องการน้ำมันของโลกที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการผลิตของกลุ่มนอกโอเปคกลับลดลงนั้น ทำให้ในอนาคตโอเปคจะต้องผลิตน้ำมันให้ได้สูงขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าของการผลิตในปัจจุบัน

กล่าวคือ ในปัจจุบันโอเปคผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 26 ล้านบาร์เรล ในปี 2020 ประมาณว่าโอเปคควรจะต้องผลิตให้ได้วันละ 54 ล้านบาร์เรล และมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณนี้จะต้องขนส่งไปให้ประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชีย โดยเฉพาะจีน

หรือประมาณการว่าในระยะเวลาไม่ไกลของปี 2009 โอเปคจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 5.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เกิดขึ้นในโลก

แม้การเพิ่มผลผลิตวันละ 5 ล้านบาร์เรลอาจจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ในอนาคตดังตัวอย่างการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาและไนจีเรีย ซึ่งเป็นสมาชิกของโอเปค และต้องประสบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองภายในอย่างมาก

และผลจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็คือ โอกาสของการลงทุนเพื่อขยายการผลิตน้ำมัน กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวเพื่อการส่งออกน้ำมันของอิรัก ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่ทันกับความต้องการของตลาดโลก

ในกรณีของอิรักนั้น ใช่ว่าจะเป็นเพียงผลจากการก่อวินาศกรรมท่อส่งน้ำมันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผลมาจากการบริโภคน้ำมันอย่างมากของกองกำลังต่างชาติที่เข้าไปรักษาความสงบในอิรักอีกด้วย ซึ่งมีอัตราการบริโภคอยู่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน

นอกจากสภาพการณ์ที่ไร้เสถียรภายในอิรักแล้ว ปัญหาการเมืองภายในของซาอุดีอาระเบียก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด และว่าที่จริงก็ใช่แต่กรณีของซาอุดีอาระเบียเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงประเทศแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางโดยทั่วไปด้วย

ซึ่งประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 ต้องประสบกับปัญหากลุ่มศาสนาจารีตนิยมหัวรุนแรง ที่มีแนวคิดต่อต้านตะวันตก และขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ประเทศของตนกลับเข้าสู่ความเป็น "รัฐอิสลาม" เช่นในประวัติศาสตร์

ผลของแนวคิดต่อต้านตะวันตกของสังคมภายใน ทำให้โอกาสที่บริษัทน้ำมันต่างชาติซึ่งมักจะเป็นของโลกตะวันตกต้องคิดมากขึ้นกับการลงทุนในประเทศเหล่านี้

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีสมมติฐานว่า ไม่ต้องกังวลกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเหล่านี้ เพราะแม้นว่า กลุ่มศาสนาจารีตนิยมจะขึ้นสู่อำนาจในการเป็นรัฐบาล พวกเขาก็ยังคงต้องการเงินตราต่างชาติในการพัฒนาประเทศไม่ต่างไปจากรัฐบาลเดิม

ดังกรณีของอิหร่าน แม้จะมีการประกาศตนเป็นรัฐอิสลาม และมีผู้ปกครองเป็นกลุ่มศาสนาจารีตนิยม แต่รัฐบาลก็ยังคงต้องการส่งออกน้ำมันไปสู่ตลาดโลก และแม้การส่งน้ำมันขายให้แก่สหรัฐก็ตาม แต่ก็ติดด้วยกฎหมายของสหรัฐเองที่ไม่อนุญาตให้มีการติดต่อทางการค้ากับอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในระยะสั้นก็คือ ผลจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันไร้เสถียรภาพตามไปด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า

ยิ่งมีสงครามและความรุนแรงในประเทศเหล่านี้มากขึ้นเท่าใด ราคาน้ำมันก็จะยิ่งพุ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

ประกอบกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่อาจจะเกิดกรณีการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐต่อการบุกอิหร่าน แม้จะมีแรงกดดันทางการเมืองมาโดยตลอด ที่จะให้ผู้นำอิหร่านยุติโครงการระเบิดปรมาณูของตน แต่ผู้นำอิหร่านก็มิได้มีท่าทีตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐแต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในหมู่อุตสาหกรรมน้ำมันว่า

ถ้าสงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเริ่มขึ้นจริง ความมั่นคงด้านพลังงานของโลกจะถูกกระทบอย่างมาก และจะส่งผลต่อประเทศเล็กๆ ให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงานอย่างรุนแรงด้วย

เพราะแม้จะไม่มีสถานการณ์สงครามดังกล่าวเกิดขึ้น สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกเช่นในปัจจุบันก็เดินไปสู่ความเป็นวิกฤตแล้ว



สถานการณ์การเมืองและพลังงานเช่นนี้ ทำให้โลกในอนาคตอาจจะต้องหันไปพึ่งแหล่งน้ำมันในรัสเซียมากขึ้น (หมายรวมถึงแหล่งน้ำมันในทะเลสาบแคสเบียนด้วย) อย่างน้อยสถานการณ์การเมืองในรัสเซียก็มีเสถียรภาพมากกว่า ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันในการลงทุนในระยะยาว

แต่ปัญหาก็คือ การลงทุนเช่นนี้จะสามารถนำน้ำมันขึ้นมาใช้อย่างรวดเร็วได้เพียงใด เพราะนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า อุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซีย จะขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ราวปี 2015 แล้ว ซึ่งก็อาจจะไม่ทันกับความต้องการของตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน

เรื่องราวที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ว่าที่จริงก็คือสิ่งที่บอกแก่เราว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจาก 20 ปีที่ผ่านมา ที่เรามีน้ำมันใช้อย่างเหลือเฟือ พร้อมๆ กับน้ำมันราคาต่ำ กลายเป็นยุคสมัยที่กำลังสิ้นสุดลง

สถานการณ์ใหม่ก็คือ การผลิตน้ำมันมีความตึงตัวมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง

ธุรกิจน้ำมันกลายเป็นความเสี่ยง ถ้าคิดจะหาผลตอบแทนในระยะสั้น และกลายเป็นธุรกิจที่ต้นทุนของสินค้ามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สมมติฐานว่าน้ำมันเป็นสินค้าราคาถูกและมีอย่างไม่จำกัด ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว!
โพสต์โพสต์