โค้ด: เลือกทั้งหมด
เรากำลังคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว เพราะการท่องเที่ยวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแพร่กระจายไปหลายแห่งในประเทศและส่วนใหญ่เป็นของคนไทยและมีการจ้างงานในประเทศมาก ดังนั้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจึงเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยมากกว่าการที่บริษัทไทยจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น
แต่อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจคือการเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติอยากมาอยู่อาศัยและทำงาน ซึ่งตรงนี้ได้มีการออกข่าวแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของตนเอง (expat) โดยธนาคาร HSBC ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนอิสระรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยในปีล่าสุดนี้ได้สำรวจแบบ online จำนวน 9,288 รายจากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งผมได้นำผลส่วนหนึ่งมาสรุปพร้อมกับผลการสำรวจใน 4 ปีก่อนหน้ามาเปรียบเทียบอีกด้วย ทั้งนี้ การสำรวจของ HSBC นี้ได้จัดทำมาครั้งล่าสุดเป็นปีที่ 7
จะเห็นได้ว่าผลการสำรวจนั้นไม่ “นิ่ง” มากนัก โดยรวมเช่นในปี 2010 นั้น ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่น่าอยู่เป็นอันดับแรก ตามด้วยประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ในปีหลังๆ นี้หายตกออกจากลำดับ 1-15 ไปเลย บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ตกอันดับในปี 2010 และปี 2013 แต่กลับมาเป็นอันดับ 6 ในปี 2014 ในขณะที่แคนาดาซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ก็จะอยู่ที่ลำดับค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด แต่ผมก็ยังมองว่ามีข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้
1. น่าสังเกตว่าประเทศไทยมีลำดับความน่าอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในระยะหลังและผลการสำรวจก็ไม่ค่อยแกว่งตัวมาก ทั้งๆ ที่ในช่วงปี 2012 ปี 2013 และปี 2014 ก็มีทั้งปัญหาน้ำท่วม (ปลายปี 2011) และความผิดปกติทางการเมือง
2. HSBC สรุปว่าประเทศที่ได้รับเลือกเป็นประเทศที่น่าอยู่เป็นอันดับ 1, 2 และ 3 (สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และจีน) ให้ความเป็นอยู่ที่ “สมดุล” ที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งในการสำรวจนี้จะแบ่งปัจจัยสำคัญของการพำนักในต่างประเทศออกเป็น 3 ปัจจัยได้แก่ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (economics) ประสบการณ์/ความบันเทิง (experience) และการเลี้ยงลูก (raising children)
3. ใน 10 อันดับแรกนั้นมีประเทศเอเชียมากถึง 5 ประเทศบวกฮ่องกงรวมเป็น 6 ซึ่ง HSBC ชี้ว่าเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก กล่าวคือชาวต่างชาติที่ทำงานในเอเชีย มีสัดส่วนมากถึง 14% ที่จะมีรายได้สูงกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อปี เทียบกับสัดส่วนเพียง 5% ที่ทำงานในยุโรป
การให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักข้างต้น (รายได้ ความบันเทิงของชีวิตและการเลี้ยงลูก) เป็นการสะท้อนคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบว่าชาวต่างชาติที่ทำงานในต่างแดนส่วนใหญ่คือ 46% อายุระหว่าง 35-54 ปี กล่าวคือเป็นวัยที่มีศักยภาพในการหารายได้ มีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับบุตรและครอบครัว ซึ่งในรายละเอียดนั้น ผลสำรวจเป็นรายประเทศสำหรับ 7 ประเทศแรก (เพื่อให้รวมถึงประเทศไทย) มีดังนี้
HSBC มีข้อสรุปสำคัญๆ ดังนี้
1. สวิตเซอร์แลนด์ได้อันดับ 1 เพราะเป็นประเทศที่ภูมิอากาศดีเหมาะสมสำหรับเล่นกีฬา ทำให้เกิดความสมดุลของชีวิตกับการงานและลูกก็มีชีวิตที่สุขภาพดีอีกด้วย จะเห็นได้ว่ารายได้ก็น่าจะสูงแต่ค่าครองชีพก็น่าจะสูงเช่นเดียวกัน
2. สิงคโปร์นั้นได้ที่ 2 เพราะเป็นประเทศที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพและคุณภาพความเป็นอยู่ดี รวมถึงอาหารการกินที่สมบูรณ์ (vibrant food scene) และชนชาติต่างๆ ก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสมานฉันท์อีกด้วย
3. จีนนั้นคุณภาพอากาศต่ำมาก แต่ชาวต่างชาติมีรายได้สูง (สูงที่สุดอย่างที่ประเทศอื่นๆ เทียบไม่ติด) กล่าวคือ 25% ของชาวต่างชาติที่ทำงานในจีนมีรายได้ 300,000 ดอลลาร์ต่อปีหรือสูงกว่า
4. กรณีของเยอรมันกับบาห์เรนนั้น ถ้าสนใจผมขอให้ผู้อ่านหาอ่านจากข่าวดู เพราะผมอยากกล่าวถึงประเทศในเอเชียแปซิฟิกในครั้งนี้ ซึ่งสำหรับนิวซีแลนด์นั้น ได้เป็นอันดับ 6 จากการได้เป็นอันดับ 1 สำหรับคุณภาพชีวิตครอบครัวและความปลอดภัยของลูก ทำให้สามารถเลี้ยงลูกให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รอบรู้ และครบถ้วน (well-rounded individuals)
5. สำหรับไทยได้อันดับ 7 เพราะชาวต่างชาติสามารถใช้ชีวิตได้อย่างหรูหรา (lavish life style) โดยมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศของตนเองมาก
ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพราะผมเห็นว่า การทำให้ประเทศไทยสามารถเชื้อเชิญให้ต่างชาติที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น มาทำงานในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่ามากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการบังคับให้ประเทศไทยปรับปรุงตัวเองให้เป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนไทยเราเองด้วย
ซึ่งการที่สิงคโปร์ได้มาเป็นอันดับ 2 นั้นมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากการกำหนดนโยบายอย่างแน่วแน่ และออกมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์น่าอยู่สำหรับผู้บริหารของบริษัทต่างชาติ โดยสิงคโปร์ต้องการคนมีคุณภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการวิจัยและเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ใช่การมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหนักเพื่อการผลิตสินค้า
สำหรับไทยนั้นหากต้องการให้ต่างชาติมาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศก็คงจะต้องทำการบ้านอีกมาก การจะไปเชิญชวนเขาให้เข้ามาโดยใช้มาตรการด้านภาษีอย่างเดียวน่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้วย