อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ถ้าจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว—จากอุตสาหกรรมที่ดีมากกลายเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่เพียงชั่วเวลา “ข้ามคืน” ผมคิดว่ามันคือธุรกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ธุรกิจ “TV” สาเหตุนั้นเกิดจากการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อออกอากาศแบบดิจิตอลจำนวน 24 ใบของ กสทช. ซึ่งก่อให้เกิดทีวีขึ้นใหม่ 24 ช่องที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การที่อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปมากนั้น มาจากการที่ “พลังขับเคลื่อน” ของอุตสาหกรรม 5 พลัง หรือที่เรียกกันว่า “Five Forces Model” ของ Michael Porter ของอุตสาหกรรมทีวีของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง “จากหน้ามือเป็นหลังมือ” มาดูกันว่าเป็นอย่างไร

พลังขับเคลื่อนแรกคือ “การแข่งขันระหว่างบริษัท” ตามแนวคิดของพอร์ตเตอร์ก็คือ อุตสาหกรรมอะไรก็ตาม หากคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีน้อย การแข่งขันกันของบริษัทต่าง ๆ ก็จะมีน้อยเพราะความต้องการของคนใช้มีมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ และนั่นก็คือพลังที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่เป็นแบบนี้ก็จะทำกำไรได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายเต็มไปหมด ในอดีต ทีวีช่องฟรีนั้นก็มีเพียงไม่กี่ช่อง ที่ทำงานแบบการค้าจริง ๆ ดูเหมือนจะมีเพียง 3-4 ช่อง ทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาได้สูงและบริษัทผู้ให้บริการสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติ แต่ปัจจุบันที่มีถึงเกือบ 30 ช่อง พลังขับดันข้อนี้ก็กลายเป็นด้านลบไปในทันทีเพราะมีบริษัทที่แข่งขันมากเกินไปมาก

พลังขับเคลื่อนที่สองก็คือ “อำนาจของซัพพลายเออร์” นั่นก็คือ ถ้าอุตสาหกรรมมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาเสนอขายสินค้าหรือบริการ พวกเขาก็จะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพและราคาอย่างหนัก บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนสินค้าต่ำและคุณภาพที่ดีที่จะนำมาขายต่อ นี่เป็นพลังหรือปัจจัยที่ดีที่จะช่วยให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรได้สูง แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีไม่พอในขณะที่มีบริษัทผู้ซื้อมาก อำนาจของซับพลายเออร์ก็จะสูง อุตสาหกรรมนั้นก็จะแย่ลงนั่นก็คือทำกำไรได้ต่ำลง ในอดีต ผู้ผลิตรายการป้อนให้กับฟรีทีวีนั้น มักจะไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าของช่อง ดังนั้น ธุรกิจฟรีทีวีจึงมีพลังขับที่เป็นบวก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดทีวีดิจิตอลขึ้น ซับพลายเออร์หรือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพสูงกลายเป็นสิ่งที่หายาก เพราะพวกเขาต่างก็ไปทำช่องทีวีของตนเอง ดังนั้น ช่องทีวีต่าง ๆ จึงไม่ได้เปรียบทางด้านของซับพลายเออร์อีกต่อไป พลังด้านบวกก็กลายเป็นพลังด้านลบ

พลังขับเคลื่อนที่สามคือ “อำนาจของลูกค้า” นี่คือพลังที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าติดและเป็นสินค้าที่พวกเขาจะเลือกใช้ ถ้าอุตสาหกรรมนั้นลูกค้ามักจะติดที่จะเลือกแบรนด์ นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ดีและจะทำให้บริษัทมีกำไรสูง แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สินค้ามีความคล้ายคลึงกันมาก การจดจำของแบรนด์ต่ำและลูกค้าไม่ได้มีการติดยึดและพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น แบบนี้ก็ถือว่าอำนาจของลูกค้ามีสูงก็จะเป็นผลลบต่อกิจการ กำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมก็จะต่ำ ในกรณีของธุรกิจทีวีในอดีตนั้น ผมคิดว่าอำนาจของผู้ชมมีไม่มาก เนื่องจากรายการทีวีมักจะไม่หลากหลาย ทางเลือกที่จะไปชมรายการแบบเดียวกันของช่องอื่นมีไม่มาก แต่หลังจากที่มีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย การเปลี่ยนไปชมรายการของช่องอื่นที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ

พลังขับเคลื่อนที่สี่ก็คือ “อุปสรรคในการเข้ามาและออกไปจากตลาด” ถ้าการเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ต้องมีใบอนุญาตหรือต้องลงทุนสูง หรือการแข่งขันกับผู้เล่นเดิมทำได้ยากเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ แบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ดีของอุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนในอุตสาหกรรมสูง ตรงกันข้าม ถ้าอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมีน้อย การเข้าสู่อุตสาหกรรมทำได้ง่ายและถ้ายิ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ออกไปยากก็จะทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน นอกจากนั้นบริษัทที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะสามารถลอกเลียนแบบหรือมีกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะผู้เล่นเดิมได้ ในกรณีแบบนี้ก็ถือว่าเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมทำให้ทำกำไรได้ต่ำ ธุรกิจฟรีทีวีในอดีตนั้น อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่สูงมาก ว่าที่จริงในช่วงเวลานับสิบ ๆ ปีนั้นไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเลย แต่ในปัจจุบันนั้น การเข้ามาเล่นหรือแข่งขันของรายใหม่นั้นผมคิดว่ามีอุปสรรคน้อย ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากดีเป็นร้าย

พลังขับเคลื่อนสุดท้ายก็คือ “สินค้าหรือบริการที่ทดแทนกันได้” อุตสาหกรรมที่สินค้าหรือบริการไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทนได้หรือทดแทนได้น้อยนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ผลตอบแทนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น ตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการแบบเดียวกันได้ในราคาที่น่าพอใจและสินค้าเหล่านั้นมีมากมาย แบบนี้ก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนหรือกำไรของอุตสาหกรรมต่ำลง ในกรณีของธุรกิจฟรีทีวีนั้น ในอดีต สินค้าทดแทนการชมทีวีนั้นมีไม่มาก แต่ในระยะหลังที่ระบบอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและราคาถูกลงมาก เช่นเดียวกับระบบทีวีที่มีต้นทุนในการรับชมต่ำมากเช่นกรณีของทีวีดาวเทียม สินค้าทดแทนฟรีทีวีก็สูงขึ้นมาก ดังนั้น ปัจจัยในด้านของสินค้าทดแทนของธุรกิจฟรีทีวีก็กลายเป็นลบ

การดูว่าอุตสาหกรรมไหนดีหรือไม่นั้น โดยปกติเราก็จะต้องดูพลังทั้งห้าประกอบกัน ถ้าพลังหรือปัจจัยส่วนใหญ่นั้นเป็นบวก โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยสูง ถ้าพลังส่วนใหญ่เป็นลบผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็จะต่ำ ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าพลังทั้งห้าต่างก็เป็นบวก นั่นก็แสดงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็จะทำกำไรได้ดี บริษัทที่โดดเด่นก็จะทำกำไรได้สูงลิ่ว ตรงกันข้าม ถ้าพลังทั้งหมดนั้นเป็นลบ บริษัทในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็จะมักจะทำกำไรได้ยาก แม้แต่บริษัทที่เก่งหรือดีมากในอุตสาหกรรมก็อาจจะลำบาก

ธุรกิจฟรีทีวีนั้น ในอดีตต้องถือว่าพลังขับดันทั้งห้าต่างก็เป็นบวก นั่นทำให้แทบทุกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจต่างก็ได้กำไรกันทั่วหน้าโดยที่บริษัทที่เด่นนั้นทำกำไรได้สูงมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดดิจิตอลทีวี พลังทั้งห้าก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นลบแทบจะทั้งหมด ดังนั้น ถ้าจะคาดเดาต่อก็คือ ธุรกิจทีวีจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีและน่าจะให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมาก บริษัทที่โดดเด่นเองนั้น ในระยะสั้นหรืออาจจะถึงกลางก็อาจจะยังทำกำไรได้พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งใหม่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะแข่งขัน แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะหาบริษัทที่กำไรดีเยี่ยมเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ยาก ตรงกันข้าม เนื่องจากมันอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีแล้ว บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจจะขาดทุนและบางบริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้ ว่าที่จริงในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางบริษัทได้ประกาศ “ถอนตัว” ออกจากธุรกิจแล้ว ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก อุตสาหกรรมฟรีทีวีตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น “อุตสาหกรรมดาวตก” ไปแล้วหรือ? เวลาจะเป็นสิ่งที่บอก ในระหว่างนี้ คนที่กำลังเล่นหุ้นทีวีโดยตั้งอยู่บนความคิดหรือสมมุติฐานว่านี่คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีอย่างที่เข้าใจมาตลอดนั้นจะต้องระวัง เพราะถ้ามันไม่ใช่ เราก็อาจจะไม่เห็น “กำไรที่งดงาม” ในธุรกิจฟรีทีวีอย่างที่เป็นในอดีต และดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการที่ทำฟรีทีวีก็ไม่ควรมีพรีเมียมมากหรือค่า PE สูงอย่างที่เคยเป็น
miracle
Verified User
โพสต์: 18364
ผู้ติดตาม: 1

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จริงๆๆ อุตสาหกรรม TV นั้น คู่แข่งออกมาในรูปแบบเหมือน IP TV คือ ตั้งเครื่องแม่ข่าย(SERVER) ดูดรายการจากระบบอินเตอร์เน็ตแล้วกระจายต่อไปยัง Smart TV ได้ หรือ Anroid box (ประเด็นนี้ลองไปถาม booth ของ CAT telecom หรือ TOT ที่โปรโมทเรื่อง IP TV)

คู่แข่งคนที่สองคือ Streaming ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศ คือ Youtube (เจ้าของตอนนี้คือ Google)
เพียงแค่มีความเร็วของอินเตอร์เน็ต เพื่อเข้าถึง Streaming นั้นเอง

ก่อนหน้ากระแส IP TV มา มันมีกระแสเรื่อง ทีวีดาวเทียม ติดจานกัน หลากหลายสีทีเดียว
เรียกได้ว่า ประชาชนต้องการเสพสื่อกันในช่วงเวลานั้น

จุดนี้ นักลงทุนมองข้ามไปหรือเปล่า นอกจาก Digital tv ที่เกิดขึ้น

เรื่องของ ผู้ควบคุม นั้น ยังไม่มีกฏเข้าไปจัดการในส่วนของ IP TV
ใครใคร่ทำ ทำได้ เพียงอยู่ภายใน พรบ คอมพิวเตอร์เท่านั้น

น่าติดตามครับ
:)
:)
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวนิดนึงนะครับ
ยังไม่แน่ใจว่ามีความเข้าใจได้ทั้งหมดรึเปล่า แต่เอาด้านที่ผมเข้าใจ
ถ้ามีตรงไหนเข้าใจผิดช่วยเสริม หรือช่วยแก้ด้วย


ถ้าตัดประเด็นจากคู่แข่งเรื่อง Digital Content ที่พี่มิว่าออกไปก่อน เอาแค่กระแสหลัก ที่ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ก่อน
- Free TV Analogue
- Free TV Digital
- Cable เดิม True
- Sattellite/Cable TV



ตอนนี้ การเปลี่ยนผ่านเฉพาะจาก Analogue ไป Digital สิ่งที่อาจารย์เคยพยากรณ์ไว้ ว่าอนาคตจะเกิด "ศึกชิงตา" แล้ว
จะมีใครไม่ใครต้องพ่ายแพ้ เริ่มเกิดขึ้นจริงแล้ว ทั้งที่ยกแรกเพิ่งเริ่ม มีคนน๊อคไปบ้างแล้ว

ผมว่ากสทช. มองไม่รอบด้าน
และจะมีคน "ล้ม" อีกเยอะ อย่างอาจารย์ว่าอย่างบทสรุปในบทความนี้แน่ๆ
ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก
ผมไม่อาจก้าวล่วงการทำงานของกสทช. และอีกอย่าง จะพูดไป ก็อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องของกสทช. เป็นเรื่องการแข่งขันของเอกชน
แต่ Model ปัจจุบัน กำลังก่อการให้เกิด "แข่งกันไปตาย" ของเอกชน
ถ้าเอกชนอยู่ไม่ได้ กสทช. ก็จะถูกมองว่าไม่รอบคอบอยู่ดี เพราะเอกชนอยู่ไม่ได้ จะเกิดความพิกลพิการในการส่งมอบข้อมูลข่าวสารความบันเทิงให้ประชาชน
คือ Model มันเกิดการต่อสู้ จนต้องตายเฉาไปเอง ไม่ใช่ต่อสู้ แล้วเกิดการพัฒนา
ประเด็นสำคัญที่เป็นเช่นนี้ ผมไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นทางการอย่างไร
แต่ถ้าพูดในแง่การลงทุน มันคือ ไม่สามารถ "เฉลี่ย" หรือ "เกลี่ยความไม่คุ้มต้นทุน" / "เกลี่ย margin" ของช่องรายการแต่ละประเภทได้ เพราะใช้วิธี "แยกประเภท" ของช่อง
และผมไม่มั่นใจ ว่ามีชาติไหนในโลกทำเหมือนเราหรือเปล่า หรือถ้าทำได้ แล้วอยู่รอดกัน น่าศึกษาว่าทำอย่างไร
(ตรงนี้ อยากให้ท่านอื่นๆ ถ้ามีข้อมูลในประเทศอื่นๆ ช่วยเสริม)


ถ้าถามว่า Model ใหม่นี้ ที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพราะเกิดจากการประมูล... ใช่ ไม่มีใครโต้แย้งได้ ทำให้ oligolpoly ผูกขาดจากเอกชนไม่กี่รายจากเดิม เอาชัดๆ ก็ได้ จาก ช่อง 7 ช่อง 3 ที่มีบทบาทสำคัญ กลายเป็นผู้เล่นหลากหลายมากหน้าหลายตาในตลาด
ดูเผินๆ Model นี้ควรจะดี ถ้ามองในแง่ผู้บริโภค ปลายทาง เหมือนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ น่าจะดีนะ คล้ายหลักการที่กสทช. แข่งประมูลให้บริการมือถือเลย

ถูกต้องเลย Model ทางวิศวกรรมเป็นเช่นนั้นจริงๆ
Model ทางวิศวกรรม และช่องทางการส่งมอบข่าวสาร-ความบันเทิงไปหาผู้ชม มีแต่การปรับปรุงไปในทางที่ดี... จนมีคนเล่นรายเก่ากลัว
เปรียบเหมือนการนำ Model ของ Satellite/Cable TV แต่เปลี่ยนทางเดิน แบบยิงบนอวกาศหรือกระจายในสาย cable มายัดลงบนความถี่ภาคพื้นดินเดิม
บริหารจัดการใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยี Digital ทำให้ได้ช่องเพิ่ม ทั้งชัดแจ๋วกว่าเดิมเพิ่มอีก (HD) ทั้งชัดใกล้ของเดิมอีกมากมาย (SD) จะมีช่องสาธารณะทีไม่โฆษณาอีก

แต่ความต่างด้านคนให้บริการละครับ? เริ่มจะดูออกไหมครับ
Business Model ของ Digital TV ของไทยเราตอนนี้ ต่างกันกับ Satellite/Cable TV ตรงไหน?

Satellite/Cable TV คนให้บริการ "กล่อง" หรือให้บริการ "เครือข่าย Cable" จะซื้อรายการหรือ "Content" จากแหล่งต่างๆ มาขาย เก็บเงินค่าบริการ
Content แล้วแต่จะมีข่าว สาระ บันเทิง สารพัด จนดูไม่ไหว....
จนเกิดลักษณะ ตั้งแต่ติดตั้งซื้อกล่องมา บางช่องไม่เคยกดเข้าไปดูเลย ....

แต่ผู้ให้บริการ Digital TV นี้ Model จะ "กลับด้าน" เพราะกลายเป็นถูกผูกยึด อยู่ใน "Content" ประเภทเดียว

Satellite/Cable TV นั้น ผู้ให้บริการ เป็นเจ้าของช่องหลากหลาย
อาจมีบางช่อง บางเวลา margin ติดลบก็ได้ แต่ต้องมี เพื่อความสมบูรณ์
แต่ Digital TV ช่องแบบเฉพาะด้าน margin ติดลบ คนดูน้อย คือตายไปเลย
เพราะผู้ชม จะเป็นลักษณะเดียวกัน... ลักษณะ ตั้งแต่ติดตั้งซื้อกล่องมา บางช่องไม่เคยกดเข้าไปดูเลย
หลายท่านเป็นแบบนี้ใช่รึเปล่าครับ?
เอาชัดๆ เลย อย่างรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการสารคดี อย่างนี้เป็นต้น เป็นกลุ่มที่เป็นเฉพาะด้าน แทบไม่มีโอกาส ได้แบ่ง prime time เพื่อเรียกค่าโฆษณาสูงๆ จาก agency อะไรกับเขาแบบช่อง variety เลย



ผมไม่รู้ว่า นี่เป็นเรื่องของเอกชน ที่ตายไป ล้มไป ก็ไม่เป็นไรรึเปล่า ผู้ชมเหมือนจะไม่เดือดร้อนหรือเปล่า
แต่ผมว่ากสทช. ในฐานะคนดูแลอุตสาหกรรม ควรหาทางออก

ทางออก ผมคิดว่าอยู่รอด Model ต้องคล้าย Satellite/Cable TV (แค่เปลี่ยนจากหาเงินจากสมาชิก ไปหาเงินจาก sponsor โฆษณาอย่างเดียวแทน) แต่สร้างความสมดุลย์ในการแข่งขันเสรี และยุติธรรม free & fair ไม่มีผูกขาด

คือควรต้องเกิดการ merge กัน ให้ผู้ให้บริการหลายประเภท จับกลุ่มก้อนกันได้ แต่ต้องยังแบ่งเป็นหลายๆ กลุ่ม
เป็นเช่นนีี้ ทางธุรกิจจะเกิดการ "เกลี่ย margin" เหมือนในโรงหนัง ต้องยอมเปิดแอร์ให้เย็นตลอดเสียค่าไฟให้เครื่องฉาย ทั้งที่หนังรอบนั้นอาจมีคนดูเหลือคนเดียว เหมือนโรงหนังวันพุธเช้า หนังเรื่องที่ใกล้ลาจากโรง ถอดจากโรง
แต่ที่อยู่ได้เพราะมีหลายรอบอื่นๆ หรือหนัง rate ดีอื่นๆ ที่ฟันกำไรไปได้ เฉลี่ยแล้ว ได้กำไรไปแล้ว

ถ้ากสทช. ไม่มาบริหารจัดการตรงนี้ ในไม่ช้าอาจมีคนค่อยๆ ตายอีก
ระยะสั้น อาจไม่มีปัญหาอะไร
แต่อาจมีคนคิดแอบใช้นอมินีแปลงร่างไปซื้อบริษัทต่างๆ ที่กำลังใกล้ล้ม เพราะกำลังขาลง เลยได้ของดีราคาแบกะดิน... ทีนี้ จะเกิดการผูกขาดแบบ "รู้ไม่ทัน"
หรืออาจจะ "รู้ทันแต่...เพราะธุระไม่ใช่" ก็ได้
BLSH
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1096
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

การประมูลเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้วครับ เพราะ fair ที่สุด ส่วนจำนวนช่องนั้นบางท่านอาจจะมองว่ามากเกินไป แต่ถ้าลองคิดในมุมกลับ ถ้าตอนประมูลมีจำนวนช่องน้อยกว่านี้ เพื่อนๆนลท.คิดว่าราคาประมูลต่อช่องจะวิ่งไปมากขนาดไหน? เพราะขนาดมี slot 24 ช่อง ผปก.แต่ละรายยังใช้เม็ดเงินประมูลกันช่องละ 2-3 พันล้าน อันนี้ก็เป็นไปตามหลัก demand & supply ครับ

แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาจริงๆคือการให้ข้อมูลของกสทช.มากกว่า คือให้ข้อมูลผปก.เพื่อตัดสินใจน้อยเกินไป เนื่องจากผปก.แต่ละรายมีภาพฝันว่าเมื่อเข้ามาเล่นใน digital tv จะสามารถคาดหวังเม็ดเงินโฆษณาได้หลายแสนบาทต่อนาที เหมือนกับที่ incumbents สามารถทำได้

ตรงนี้ละครับที่คือปัญหา ในความเป็นจริงนั้นเมื่อช่องเพิ่มขึ้น supply มากขึ้น ราคาขายก็ย่อมต้องลดลง ทั้งจากการแข่งขัน และจำนวน eye balls ที่จะถูกกระจายไปมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้น เอากันจริงๆแล้ว การคาดหวังเม็ดเงินหลัก “หมื่นบาท” ต่อนาทีดูจะ make sense มากกว่ามาก ข้อมูลเหล่านี้ควรจะถูก feed ให้ผปก.รับทราบจากกสทช. เพื่อที่จะทำให้ผปก.แต่ละรายทำ feasibility study แม่นยำมากขึ้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่า การทำ feasibility study ควรจะเป็นหน้าที่ของผปก.เองมากกว่า ซึ่งก็ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่า ผปก.แต่ละรายอาจจะมีความสามารถในการตีโจทย์ธุรกิจแตกต่างกัน ความสามารถในการวิเคราะห์ business landscape ที่กำลังจะเปลี่ยนไปได้ไม่เท่ากัน กสทช.ควรจะเข้ามามีส่วนช่วยในประเด็นเหล่านี้ครับ

เรื่องสุดท้ายคือกสทช.เองก็มุ่งเน้นแต่เรื่องเม็ดเงินในการประมูล “อาจจะ” ทำให้ผปก.หลายๆเจ้าเข้าใจว่านั่นก็ต้นทุนหลักๆในการประกอบธุรกิจ 15 ปีนับจากวันประมูล แต่จริงๆแล้วเม็ดเงินก้อนใหญ่สุดคือ “ค่า content” ต่างหาก

ในการเป็นเจ้าของช่อง 1 ช่อง ต้องใช้เงินในการผลิต content ไม่ต่ำกว่า หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลา 15 ปี ตัวเลขนี้ต่างหากที่กสทช.ควรจะต้องบอกผปก.ล่วงหน้า มันหมายถึง “กระแสเงินสด” ที่ผปก.แต่ละเจ้าต้องเตรียมพร้อมไว้กับการบริหารช่องทีวี 1 ช่อง

เนื่องจากผมลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มายาวนานจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า กสทช. ไม่เคยให้ข้อมูลเหล่านี้กับผปก.แม้แต่น้อย จึงอย่าได้แปลกใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการเคาะราคาอย่างบ้าละห่ำและการประมูลมากกว่า 1 ช่อง

แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่า digital tv ไม่น่าลงทุนเพราะถ้าเราวิเคราะห์ดีๆแล้ว แววของผู้ชนะนั้นดูไม่ยากเลยคือต้อง สามารถสร้าง inhouse content ได้เอง และมีประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนานเช่นเป็น content provider ให้ช่องฟรีทีวีเก่านั่นเอง

คหสต.นะครับ ลองมองหาดูครับ มันมักจะมีโอกาสซ่อนอยู่ในวิกฤตเสมอ เพียงแต่เรามองเห็นรึเปล่าเท่านั้น
You get recessions, you have stock market declines. If you don't understand that's going to happen, then you're not ready, you won't do well in the markets. - Peter Lynch
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
shumbrotta
Verified User
โพสต์: 290
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณครับผม
nut776
Verified User
โพสต์: 3350
ผู้ติดตาม: 0

Re: อุตสาหกรรมดาวตก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

กราบ. ทั้ง ดร และพี่ 3 เมนท์ บน
วิเคราะห์ได้น่าสนใจ มากกกกก. โดยเฉพาะ พี่ i8
ดูๆไป dilemma เหมือนกัน. ค่าประมูลถูกแพงตาม. content
ได้ช่องมา ลูกค้า รายได้เลยตาม ชนิดช่อง.
show me money.
โพสต์โพสต์