โค้ด: เลือกทั้งหมด
“วันแม่” เมื่อหลายปีก่อน “คุณสุภศักดิ์ จุลละศร” ผู้เขียนหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น”, “ปลุกความคิด พิชิตการลงทุน” และผู้เขียนร่วมของหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ 1, 2” ได้เขียนบทความที่น่าสนใจไว้บทความหนึ่งชื่อว่า “อยากซื้อมั๊ย หุ้นตัวนี้ ?” ลงในบล็อกการลงทุน MonkeyFreeTime ของเขา ผมได้อ่านแล้วรู้สึกประทับใจในความช่างคิดช่างเปรียบเทียบของเขา จึงขออนุญาตนำมาฝากให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันเป็นควันหลงวันแม่ในปีนี้ เชิญอ่านครับ…
ผมมีคำถามน่าสนใจมาถามครับ ผมจะเล่าเรื่องของหุ้นตัวหนึ่งให้ฟัง จากนั้นลองคิดดูว่า “คุณอยากซื้อมันมั๊ย?”
หุ้นตัวนี้เป็นหุ้นนอกตลาดครับ มันเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหุ้นตัวนี้จะยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับคุณได้ มิหนำซ้ำคุณยังต้อง “เพิ่มทุน” ให้กับมันอยู่เป็นประจำ ก่อนที่กระแสเงินสดของบริษัทจะกลับมาเป็นบวกและยืนบนขาของตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะราวๆ 20 ปี
หลังจากที่ตั้งตัวได้แล้ว บริษัทก็อาจจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผลให้คุณก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร
ดูจากแนวโน้มอุตสาหกรรม เมื่อบริษัทเริ่มมีฐานะทางการเงินมั่นคงก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ “ควบรวมกิจการ” ซึ่งก็อาจจะต้องขอเพิ่มทุนจากคุณอีกรอบ รวมถึงอาจมีการออกมาตรการ “ลด” อัตราการจ่ายเงินปันผลประกอบไปด้วย เพราะบริษัทต้องนำเงินสดไปใช้ในการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ที่สำคัญคุณไม่สามารถขายมันทิ้งได้ เพราะมันเป็นหุ้นนอกตลาด พูดแบบบ้านๆ ก็คือ “ต้องถือมันไปเรื่อยๆ”
มาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่าหุ้นตัวนี้ช่างไม่น่าซื้อเอาเสียเลย…
เสียดายที่ผมต้องบอกว่าหุ้นตัวนี้ก็คือ “ตัวเรา” นั่นเองครับ
ในช่วงแรกของชีวิตที่เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมี “ใครบางคน” คอยใส่ใจดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำ หาเงินส่งเสียให้เราเรียน จนถึงวันที่เราเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้
หลายคนแบ่งเงินเดือนออกมาให้ “ใครบางคน” นั้น เพื่อตอบแทนพระคุณ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังที่มี ขณะที่อีกหลายคนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้ ยิ่งใครแต่งงานแยกครอบครัวออกมาก็จะรู้ว่า ภาระทางการเงินในช่วงอายุ 30-40 ปี หนักหนาสาหัสขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เลี้ยงลูก จ่ายค่าเทอม ฯลฯ แต่ “ใครคนนั้น” ก็พร้อมจะเข้าใจ
ความรักที่บริสุทธิ์ทำให้เขายินดีซื้อหุ้นตัวนั้น แม้จะรู้ว่ามันไม่มีทางคุ้ม!
การเป็นพ่อเป็นแม่คนนั้น ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ หากลองย้อนขึ้นไปดูตัวอย่างหุ้นข้างต้นก็จะเห็นว่า ผู้ถือหุ้น “แทบจะไม่ได้อะไรเลย” นอกจากความชื่นอกชื่นใจและความสุขในชีวิต ผมถึงคิดว่า นั่นแหละ! คือสิ่งที่เราควรทำให้กับพ่อแม่ของเรา
ลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ “ชื่นใจ” และ “ภูมิใจ” ไม่มีทางที่จะเสื่อม