โค้ด: เลือกทั้งหมด
การลงทุนเหมือนกับชีวิตคนตรงที่ว่า “โอกาสทอง” หรือโอกาสใหญ่ ๆ ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้นั้น นาน ๆ จะมาสักครั้งหนึ่ง และโอกาสทองในโลกการลงทุนหมายถึงโอกาสที่เราจะสามารถซื้อหุ้น 10 เด้ง (หุ้นที่มีผลตอบแทนสิบเท่า) ขึ้นไปได้ในจำนวนมาก ๆ แน่นอนว่าโอกาสทองประเภทนี้เป็นโอกาสที่นักลงทุนทุก ๆ คนต่างแสวงหา วิธีแรกคือเพิ่มความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอโดยการหาซื้อ “โอกาสทองแรก” เช่นหุ้น IPO หุ้นที่มีโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ หรืออาจจะไปไกลถึงการลงทุนแบบ Venture Capital หรือหุ้นนอกตลาด แต่สำหรับผมแล้วโอกาสทองแบบนี้ส่วนมากจะมาพร้อม ๆ กับความไม่แน่นอนที่สูงเกินไป แต่ถ้าถามผมว่าในการลงทุน ผมชอบ “โอกาสทอง” แบบไหนมากที่สุด ผมกลับชอบ “โอกาสทองครั้งที่สอง” มากกว่ามาก
โอกาสทองครั้งที่สอง คือโอกาสที่ให้เราซื้อหุ้นอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เราพลาดโอกาสแรกไปอย่างน่าเสียดาย คุณอาจจะพลาดหุ้นที่ประสบความสำเร็จในโมเดลธุรกิจที่ทำอยู่ และราคาหุ้นก็วิ่งไปแพงสุดกู่ แต่อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นมักจะให้รางวัลกับผู้ที่มีความอดทน ข่าวดีที่สุดสำหรับโอกาสทองครั้งที่สองของการลงทุน คือมันเหมือนจะมา “บ่อยกว่า” โอกาสอื่น ๆ ในชีวิตที่เหมือนจะหลุดลอยไปอย่างถาวร ถ้าเราไม่ไขว่คว้าไว้
ในประวัติศาสตร์การลงทุนของกูรูหลาย ๆ คน เช่น ปีเตอร์ ลินซ์, แอนโทนี่ โบลตัน หรือวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็พูดถึงการใช้โอกาสทองครั้งที่สองอยู่หลายครั้ง หรือหุ้นดี ๆ อย่าง Home Depot หรือ Coke ก็เคยปรับตัวตกต่ำเกินกว่า 50% แล้วทั้งนั้น บัฟเฟตต์สร้างชื่อซื้อ American Express, Wells Fargo ด้วยโอกาสทองครั้งที่สอง ที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายกับบริษัทชั่วคราว หุ้นเติบโตระยะยาวยอดเยี่ยมอย่าง Walmart ก็มีโอกาสทองครั้งที่สองในราคาลดถึง 50% ในทศวรรษ 80 อย่างไรก็ดีถ้าคุณรอ “โอกาสทองครั้งที่สาม” ซึ่งเป็นโอกาสที่บัฟเฟตต์รอซื้อหุ้น Walmart ในช่วงทศวรรษ 90 มันก็ไม่เกิดขึ้นอีก
ไม่เว้นแต่ตลาดหุ้นไทย แม้หุ้นคุณภาพสูงก็มักจะมีโอกาสทองครั้งที่สองให้เห็นเสมอ ๆ แต่สำหรับโอกาสทองครั้งที่สามนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่ามาก เพราะว่านักลงทุนทุกคนจ้องหุ้นตาเป็นมัน และพูดว่า “ถ้ามันลงมาอีกครั้งเราจะซื้ออย่างเต็มที่” ซึ่งโดยมากจะเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยสาเหตุไหนทำไมคนถึงพลาด “โอกาสทองครั้งที่สอง” ได้ สาเหตุหลักคือโอกาสครั้งที่สองจะมาพร้อมบททดสอบที่ยากขึ้นบางอย่าง หุ้นอาจจะดูไม่ชัดเจน หรืออาจจะดูเหมือนพื้นฐานเปลี่ยน การแยกระหว่างพื้นฐานเปลี่ยนถาวร และพื้นฐานเปลี่ยนชั่วคราวหลาย ๆ ครั้งก็ทำได้ยากลำบาก แต่หลายครั้งพื้นฐานที่เปลี่ยน อาจจะเกิดจาก “ราคาหุ้น” ที่เปลี่ยนมากกว่า ราคาหุ้นลงเป็นแรงกดดันชั้นดีที่หุ้นจะถูกปรับลดคุณภาพไปตามราคา กรณีนี้นี่คือโอกาสทองครั้งที่สองที่ดีที่สุด สำหรับนักลงทุนที่สามารถแยกตัวเองออกจากตลาดได้
วิธีการแยกโอกาสเหล่านี้คือการมองภาพใหญ่ และยาว ยิ่งนักลงทุนมองภาพที่แตกต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่มีแต่ความกังวลในช่วงตลาดแย่ ๆ ได้ เราจะใช้โอกาสทองครั้งที่สองได้ก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะหุ้นสิบเด้งไม่ใช่หุ้นเราคว้าไม่ถึง หรือหายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร รายชื่อหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดสิบอันดับของตลาดหุ้นไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ยากจนต้องตีลังกาคิด แต่ปัญหาคือหุ้นคุณภาพดีส่วนมากมักจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 10-15% แม้จะมีสะดุดบ้าง แต่ผลตอบแทนมันก็ทบต้นไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งเราก็ซื้อไม่ทัน ถ้าราคาหุ้นไม่ตกลงมารับ
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าโอกาสทองครั้งที่สองของหุ้นนั้น ๆ เกิดขึ้นในช่วงตลาดหมี ยิ่งทำให้หุ้นราคาลงมาให้มีโอกาสซื้อมากกว่าเดิม หุ้นดี ๆ หลายตัวเคยซื้อขายในราคาเพียงแค่ 20% ของราคาสูงสุด สำหรับตลาดหุ้นไทยก็ปรากฏเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยครั้ง หุ้นดี ๆ หรือหุ้นที่เคยพูดถึงว่าสุดยอด ก็ต่างเคยเจอเหตุการณ์ Sales 50% มาแล้วทั้งนั้น หุ้นอีกจำพวกหนึ่ง คือหุ้นที่มีโอกาสทองมาบ่อย ๆ หรือประเภทหุ้นวัฎจักร แต่ปัญหาสำคัญที่ยากที่สุดคือ หุ้นพวกนี้มักจะเป็นโอกาสทองที่เราจำเป็นต้องคาดการณ์ธุรกิจ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้คาดการณ์ได้ยาก ดังนั้นโอกาสทองแบบนี้จึงมีคุณค่าน้อยกว่า
ตลาดหุ้นไทยตกต่ำ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า หุ้นหลายตัวตกต่ำ ยิ่งสร้างแรงกดดันให้ “ภาพพื้นฐานเปลี่ยน” สถานการณ์แบบนี้คือเวลาที่จะมีโอกาสทองครั้งที่สองเกิดขึ้น บัฟเฟตต์ว่าการลงทุนเหมือนกับการเล่นเบสบอล เราจะทำคะแนนได้จากการมองลูกบอลในสนาม ไม่ใช่มองที่กระดานคะแนนหรือราคาหุ้น เวลานี้คือเวลาแห่งการแยกแยะโอกาสจำนวนมาก แน่นอนว่าโอกาสในหุ้นบางตัวอาจจะไม่ใช่แม้กระทั่งโอกาสเงินหรือโอกาสตะกั่ว หุ้นอาจจะปรับลดลงไปอย่างถาวร แต่อย่างน้อยมันต้องมีโอกาสทองครั้งที่สองซ่อนอยู่ ผมเชื่ออย่างนั้น