โค้ด: เลือกทั้งหมด
หนึ่งธุรกิจที่เป็น Megatrend ใหม่ในโลกยุคนี้ที่คนไทยพูดถึงกันไม่บ่อยนัก คือธุรกิจ “แบ่งปัน” ทรัพยากรด้วยกัน ตั้งแต่มนุษย์มีอารยธรรม มนุษย์ก็ได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เรามีบ่อน้ำอยู่กลางหมู่บ้าน มีโรงอาบน้ำที่ใช้ด้วยกัน มีการแบ่งกันทำอาชีพตามความถนัด มีจุดนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างจตุรัสหรือลานของประชาชน พอมายุคที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สินค้าราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เราก็เอาทุกอย่างเข้ามาอยู่ในบ้านตัวเอง จนกระทั่งเราก็มาถึงจุดหนึ่งที่มนุษย์เริ่มมองไปไกลกว่ารุ่นตัวเอง มองไปถึงอนาคต มองเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน เหตุผลหลักคือโลกมีทรัพยากรจำกัด แต่มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด ทำให้แนวคิด Collaborative Consumption หรือการบริโภคทรัพยากรด้วยกันเกิดขึ้น
เรื่องนี้เริ่มพูดคุยและพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ยุคที่อินเตอร์เน็ตและดิจิตอลเข้ามาในชีวิต เป็นความคิดที่ TIMES magazine ยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในสิบความคิดที่เปลี่ยนโลก แนวคิดหลักของ Collaborative Consumption คือ ทรัพยากรบางอย่างเราไม่ได้ใช้ตลอดเวลา หลาย ๆ อย่างมีเวลาว่าง หรือ Idle Time จำนวนมาก ทรัพยากรเหล่านี้แทนที่จะทิ้งไว้เฉย ๆ ก็หา “วิธีการจัดการ” เพื่อแบ่งปันไปสู่ผู้ที่ต้องการใช้ มาถึงวันนี้ Sharing Business ขยายตัว พร้อม ๆ กับโอกาสใหม่ ๆ จำนวนมาก และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Economy
ตัวอย่างของ Sharing Business มีมากมาย ผมจะลองยกตัวอย่างบางส่วนเช่นในธุรกิจโรงแรม ในอดีตเราพึ่งพิงการให้ “ดาว” สำหรับการเลือกพักโรงแรมต่าง ๆ จน Tripadvisor เริ่มเป็นศูนย์กลางการแบ่งปัน “ข้อมูล” มีการให้คะแนนกันโดยใช้ประสบการณ์ผู้พักจริง ๆ จนเริ่มขยายผลมาเป็นธุรกิจการจองโรงแรมโดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็น “มูลค่าเพิ่ม” ของธุรกิจ หลังจากนั้นก็เกิดธุรกิจแบ่งปัน “ที่พัก” อย่าง Airbnb ใครมีห้องว่าง ๆ ก็สามารถหาประโยชน์จากการปล่อยเช่าได้ หรือแบ่งปันที่พักเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนใหม่ผ่าน Couchsurfing หาคนมาแชร์ที่พักด้วย Easyroommate หรือแม้กระทั่งแบ่งปันหนังสือหรือ Textbook ด้วยกันผ่าน
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันสิ่งของอื่น ๆ ที่เป็น “ทรัพยากรการผลิต” เช่นแบ่งปัน “ที่ทำงาน” จนเกิดแนวคิด Co-Working Space ขึ้นมากมาย อาจจะเป็นรูปแบบจริงจังเหมือน Office อย่าง Regus จนกระทั่งเป็นบ้าน เป็นร้านกาแฟ นอกจากที่ทำงาน แบ่งปันพื้นที่ขายของ (e-commerce) อย่าง Alibaba หรือ eBay แบ่งปันพาหนะ ตั้งแต่จักรยานยนต์ จนไปถึงรถยนต์ส่วนตัวที่แทนที่จะจอดเฉย ๆ ก็มาสร้างธุรกิจอย่าง Uber (ที่จริงอีกมุมหนึ่งบริษัทอย่าง Uber ก็แชร์เวลาจากคนขับ เป็น “พนักงานบริษัท” Uber ชั่วคราวด้วย) ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครไม่มี “ทุน” ทำธุรกิจ ก็สามารถเข้าไปหาทุนได้ด้วยตัวเองผ่าน Crowdfunding อย่าง Kickstarter ได้ การแลกเปลี่ยนทำให้โลกหมุนเร็วมาก เพราะคนที่ส่งสารและรับสารเข้าถึงกันอย่างรวดเร็วจนเกิด Feedback Loop ที่เร็วกว่าเดิมหลายร้อยเท่าตัว การพัฒนาแนวคิดต่าง ๆ ในยุคนี้จึงมีข้อจำกัดลดลงอย่างมาก
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เอื้อประโยชน์ให้วงการ Freelance เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะข้อจำกัดในการทำงานลดลง ข้อจำกัดในการใช้ทุนในการทำธุรกิจลดลง คนไม่กี่คนก็สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ยอดเยี่ยมได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานภายใต้บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานหลายร้อยหลายพันคน และด้วย Ecosystem แบบ Sharing Business นี่เองที่ทำให้ธุรกิจ STARTUPS เติบโตอย่างก้าวกระโดด อันที่จริงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็เริ่มต้นแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ Steve Jobs สร้าง APPLE จากโรงรถ แต่ธุรกิจกว่าจะเติบโตต้องใช้เวลายาวนานมาก แตกต่างจาก Startups ใหม่อย่าง Xiaomi ในยุคนี้ที่ใช้เวลา 5 ปีก็มียอดขาย 15 Billions และคาดว่ามีมูลค่าตลาดถึง 46 Billion USD
Airbnb กำลังทำ IPO เข้าตลาดหุ้นด้วยมูลค่าการตลาด 25.5 Billion USD (สูงกว่าเครือข่ายโรงแรมอย่าง Hyatt เสียอีก) หรือ Uber กำลัง IPO ด้วยการคาดหมายมูลค่าสูงถึง 50 Billion USD ไม่มีใครตอบได้ว่านี่คือฟองสบู่หรือไม่ แต่นี่คือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ถัดจาก Dotcom ที่เติบโตเร็วมาก ในประเทศไทย ก็มีคนรุ่นใหม่ริเริ่มสร้างธุรกิจเหล่านี้ นี่คือโอกาสใหม่ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ การสร้างกฎระเบียบที่เอื้อ เพราะสิ่งนี้เป็น Cluster ธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจดั้งเดิม และเราก็หวังว่ามันจะเป็นฐานในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสิ่งที่เรามีอยู่ ใครจะไปรู้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะ “แบ่งปัน” ให้โลกในอนาคต อาจจะต่อยอดไปไกลกว่าที่เราเคยทำอยู่มากมายก็เป็นได้