ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในโลกของการลงทุนนั้น เรามักจะพูดถึงหลักการลงทุนแบบต่าง ๆ เช่น ลงทุนแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ แบบ เบน เกรแฮม แบบ ปีเตอร์ ลินช์ หรือแบบ จอร์จ โซรอส เหตุผลก็คงเป็นเพราะความสำเร็จที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ของนักลงทุนเหล่านี้รวมถึงการที่มีหนังสือและข้อเขียนที่อธิบายกลยุทธ์ วิธีการ และหลักการของพวกเขาอย่างแพร่หลาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ความมี “เอกลักษณ์” ในวิธีการลงทุนของแต่ละคนที่แตกต่างจากคนอื่น อย่างไรก็ตาม วิธีการลงทุนและคุณสมบัติบางประการของเหล่า “เซียน” ที่กล่าวถึงนั้น บางทีก็เป็นเรื่องยากของ “คนธรรมดา” ที่จะเลียนแบบ เอากันง่าย ๆ สำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางการเงินหรือการวิเคราะห์ที่แข็งแกร่ง พวกเขาก็อาจจะไม่สามารถที่จะไปขุดคุ้ยหรือค้นหาหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ อะไรแปลว่าดีหรือไม่ดี? อะไรแปลว่าถูกหรือแพง? เรื่องแบบนี้ “พูดง่ายแต่ทำยาก” ดังนั้น นักลงทุน “สมัครเล่น” จำนวนมากจึงต้องหาวิธีของตนเองแบบ “ลองผิดลองถูก” ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คือ “ผิดมากกว่าถูก” และก็ไม่ได้อะไรจากการลงทุนนอกจากความสนุกสนานชั่วคราวในยามที่หุ้นขึ้นแต่ขาดทุนหนักในยามที่หุ้นตก

แนวทางการลงทุนแบบหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะเหมาะกับนักลงทุนหลายคนที่อาจจะมี “ความสามารถ” จำกัด แต่มีความตั้งใจสูง มีศรัทธากับการลงทุน และมีวินัยพอที่จะยึดมั่นกับสิ่งที่คิดว่าถูกต้องแม้ว่าในระยะสั้นมันอาจจะดูว่าผิด ก็คือ การลงทุนในแบบของ Anne Scheiber นักลงทุน “รายย่อยผู้ยิ่งใหญ่” – หลังจากที่เธอตายไปแล้ว

ผมเองเคยเขียนเรื่อง “ชีวิต” ของ แอนน์ ไชเบอร์ นานมาแล้ว แต่ก็ขอทบทวนประวัติเล็กน้อยสำหรับคนที่ไม่ได้อ่าน แอนน์ เป็นคนยิวอเมริกัน เกิดปี 1893 เคยทำงานเป็นพนักงานตรวจภาษีในเมืองนิวยอร์คจนอายุ 51 ปีก็เกษียณตัวเอง ระหว่างที่เป็นพนักงานนั้น ได้เงินเดือนน้อยมาก สูงสุดเคยได้ไม่เกิน 3-4,000 เหรียญต่อปี ไม่เคยได้รับการเลื่อนขั้นและรู้สึกว่าตนเองถูก “กีดกัน” เนื่องจากเป็นผู้หญิงและเป็นยิว หลังจากเกษียณและด้วยเงิน 5,000 เหรียญ แอนน์กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้งหลังจากที่เคยเจ๊งจากตลาดหุ้นเพราะให้เงินน้องที่เป็นโบรกเกอร์ไปบริหาร จากเงินเพียง 5,000 เหรียญ แอนน์ลงทุนและอยู่ตัวคนเดียวแบบไม่มีเพื่อนและญาติทั้ง ๆ ที่มีพี่น้องท้องเดียวกัน 5-6 คน เธอใช้ชีวิตสมถะสุด ๆ อยู่ในห้องพักแบบสตูดิโอ ใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ ตลอด และประหยัดมากแม้กระทั่งอาหารก็เคยมีเรื่องเล่าว่า เวลาเธอไปประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเธอทำเป็นประจำ เธอก็จะนำถุงไปใส่อาหารกลับมากินที่บ้านได้อีกหลายวัน

วันที่แอนน์ตายด้วยวัย 101 ปี ในปี 1995 พอร์ตของเธอโตขึ้นกลายเป็น 22 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอบริจาคเงินทั้งหมดให้กับมหาวิทยาลัยเยชิวาเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงโดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสเหมือนเธอ และนั่นทำให้แอนน์กลายเป็นคนที่ “ดัง” เพราะนิตยสารไทม์และพีเพิลนำเรื่องของเธอตีพิมพ์ ตามการประมาณการของหลายคน ผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นต่อปีของแอนน์นั้นสูงถึงปีละ 18% ตลอดเวลา 50 ปี นั้น ต้องถือว่าเป็นสถิติ “ระดับโลก” ที่น้อยคนจะทำได้และทำให้บางคนยกย่องว่าเธอเป็น “นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ใน ศตวรรษที่ 20” คนหนึ่ง

หลักการลงทุนของแอนน์ที่มีการพูดถึงกันหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้วพอสรุปคร่าว ๆ ได้ดังต่อไปนี้

1 ลงทุนในบริษัทที่ผลิตสินค้าที่มียี่ห้อ “ดัง” และเป็นสินค้าที่เธอรู้จักดีและมีโอกาสได้ใช้ตลอดเช่น ยาและอาหาร บริษัทที่เธอถือหุ้นจำนวนมากประกอบไปด้วยหุ้นของ บริษัทยาเช่น เชอริงก์ พลาว หุ้น โค๊กและเป๊ปซี่ เป็นต้น นอกจากนั้น ค่าที่เธอชอบดูหนังและทีวี เธอจึงลงทุนในหุ้นอย่างโคลัมเบียพิคเจอร์ พาราเม้าท์ และ แคปปิตอลซิตี้ที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น

2 แอนน์ชอบบริษัทที่มีผลประกอบการหรือกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยไม่ค่อยสนใจเรื่องของความถูกความแพงมากนัก นั่นคือ ไม่ค่อยดูค่า PE เธอบอกว่าบางช่วงหุ้นถูก บางช่วงหุ้นก็แพง ดูยาก แต่ถ้ากำไรของบริษัทโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ในที่สุดราคาหุ้นก็จะขึ้นตามไป ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะซื้อถูกหรือแพงถ้าเราถือลงทุนระยะยาว

3 ต่อจากข้อสองที่ทำให้เธอไม่ห่วงเรื่องหุ้นแพงหรือถูกก็คือ เธอจะสะสมหุ้นดีตามข้อหนึ่งไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย นั่นคือ เมื่อได้รับปันผลเข้ามาก็จะนำเงินกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นอีก ดังนั้น ในบางคราวที่หุ้นตก เธอก็จะซื้อได้ถูกลง เฉลี่ยราคาลงมา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การทำคล้าย ๆ กับวิธีที่เรียกว่า Dollar Cost Average หรือซื้อไปเรื่อย ๆ ทุกเดือนหรือทุกงวดที่ได้เงินมา ดังนั้น ราคาต้นทุนเฉลี่ยของหุ้นเหล่านั้นก็จะไม่สูงหรือไม่ต่ำแต่เป็นหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม

4 กลยุทธ์สำคัญอย่างหนึ่งของแอนน์ก็คือ “ซื้อแล้วเก็บ” โดยเฉพาะในหุ้นที่เธอเชื่อมั่นว่ามันเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม แม้ในยามที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักหรือตัวหุ้นตกลงมา บางที 50% เธอก็ไม่ขาย ความ “ศรัทธา” ของเธอนั้นแรงกล้า เธอคิดว่าถ้ากิจการมันดี ราคาหุ้นก็ต้องกลับมา และถ้าดูจากหุ้นที่เธอถือ ก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ามันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

5 “ทำการบ้าน” นี่คือสิ่งที่แอนน์ทำมาตลอด เธอจะไปประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่ทำได้โดยเฉพาะที่จัดในเมืองนิวยอร์ค เธอจะศึกษาข้อมูลและไปซักถามผู้บริหารอย่างลึกซึ้งแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของนักวิเคราะห์และความเห็นของตนเอง แอนน์เองเคยเป็นผู้ตรวจสอบด้านภาษีของบริษัทต่าง ๆ ดังนั้น เธอจึงรู้เรื่องเหล่านี้ดี

6 เนื่องจากอัตราภาษีโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสูงมาก แอนน์จะพยายามหลีกเลี่ยงให้ต้องจ่ายน้อยที่สุด เช่น เธอจะขายหุ้นน้อยมากเนื่องจากการขายหุ้นจะเสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น นอกจากนั้น ในวันที่เธอตายยังพบว่าเธอถือพันธบัตรถึง 30% ของพอร์ต เนื่องจากประเด็นเรื่องภาษีที่จ่ายน้อยกว่าการถือหุ้นทั้งหมด และนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แอนน์ใช้ประโยชน์จากความรู้ด้านภาษีของตนเองในการลงทุน

7 กลยุทธ์การสร้างความมั่งคั่งของแอนน์ที่สำคัญสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การประหยัด ใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคน้อยมาก บ่อยครั้งเธอเดินแทนที่จะใช้รถสาธารณะ ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลย เสื้อโค้ทและหมวกสีดำของเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ “ประจำตัว” กินอาหาร “ฟรี” ทุกครั้งที่มีโอกาส อยู่ในอพาร์ทเม้นต์ห้องเดียวและตัวคนเดียว เธอแทบไม่มีเพื่อนเลย คนเล่าว่าใน 5 ปีสุดท้ายของชีวิตนั้น เธอไม่เคยได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนแม้แต่ครั้งเดียวและนี่ก็อาจจะเป็น “ต้นทุน” ของความประหยัด หรืออาจจะเป็นสิ่งที่เธอเลือกก็สุดจะเดา แต่คนบอกว่าเธอมีชีวิตที่ “น่าสังเวช” วันที่ยิ่งใหญ่มีความสุขของเธอก็คือวันที่เธอเดินไปเปิดตู้นิรภัยที่เมอริล ลินช์ ใกล้ ๆ ตลาดหุ้นนิวยอร์คเพื่อที่จะดูใบหุ้น ซึ่งเธอก็ทำอยู่บ่อย ๆ

ผมเองไม่อยากที่จะตัดสินว่าเธอเป็นคนที่น่าอนาถ ผมคิดว่าเธอมีความคิดของเธอเอง และเธอก็คงไม่ได้มีความทุกข์หรือความเศร้าหมองอะไรนักมิฉะนั้นคงไม่อยู่ถึง 100 ปีในยุคที่คนส่วนใหญ่อยู่กันแค่ 60-70 ปีก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ในส่วนของวิธีการลงทุนของแอนน์เองนั้น ผมคิดว่ามันยังน่าจะดีเยี่ยมและไม่ล้าสมัยและน่าจะเหมาะกับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากของบ้านเรา โดยเฉพาะที่กำลังเป็น “ป้า” และไม่เคยแต่งงานแบบ “ป้าแอนน์”
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6483
ผู้ติดตาม: 1

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับอาจารย์

แหม..มันฮาตรงท้ายนี่ละ
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

555
millofacil
Verified User
โพสต์: 8
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ :)
sci
Verified User
โพสต์: 678
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

5ปีสุดท้ายเพื่อนๆตายหมดแล้วครับ ฮ่า

ปันผลปีหลังๆ คงเยอะน่าดู แกคงมีความสุข

ที่ได้เก็บ ไม่ได้มีความสุขที่ได้ใช้
Night90
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 160
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ปรกติผมรู้จักแต่ Guru หลายๆท่าน วันนี้พึ่งรู้สึก จอมยุทธนักลงทุนสไตน์แม่บ้าน น่าสนใจวิธีคิดนี้มากครับอาจารย์ น่าสนใจจริงๆ ขอบคุณมากครับ
chamnan028
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 365
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนแบบป้าแอนน์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณมากครับ ขอบคุณ อ.ดร.นิเวศน์ ด้วยนะครับ

สำหรับบทความดี ๆ

ผมอ่านบทความนี้ แล้วประทับใจมาก ๆ ครับ

ความเรียบง่าย สมถะ สุดท้ายบริจาคเงินทั้งหมดให้ รพ.

เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ครับ

รูปภาพ
โพสต์โพสต์