MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใหม่

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 293
ผู้ติดตาม: 0

MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใหม่

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Money talk@SET 13Feb2016


หัวข้อ 1 2016 เปิดโลกของมืออาชีพการเงิน
1) ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน
2) คุณมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. หลักทรัพย์เมย์แบ้งค์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
3) คุณวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ. CIMB PRINCIPAL
4) ดร.ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการ FIRM NIDA BUSINESS SCHOOL

ประวัติความเป็นมา
คุณวิน
เดิมอยากเป็นหมอ พออ่านหนังสือการเงินแล้วชอบ มี Role model คือ คุณกรณ์ จึงเบนเข็มมาเรียนด้านการเงิน
จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แล้วมาเป็นครูดอย สอนชาวเขา ที่จ.ลำปาง 1 ปี ของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์
สอบชิงทุนได้ MBA ที่เนเธอร์แลนด์ กลับมาใช้ทุนที่ประกันสังคม ตามสัญญาใช้ทุน 3 ปี (ไม่ได้หนีทุน)
ทำงาน 13 ปี บริหารเงินจากแสนล้าน เป็น 1.3 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันทำงานเป็น CIO ที่ CIMB มา 5 เดือนแล้ว 8.3 หมื่นล้านบาท

คุณมนตรี
จบ MIT (Made in Thailand) จบวิศวจุฬาฯด้านคอมพิวเตอร์ และเรียนภาคค่ำ MBA ที่ธรรมศาสตร์
เริ่มทำงาน ที่ เจ เอฟ ธนาคม ไม่ได้ทำงานการเงิน เป็นผู้จัดการฝ่าย IT 2-3 ปี
จากนั้นเริ่มผันตัวทำวาณิชธนกิจ เอาหุ้นเข้าตลาด แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ออก convertible bond ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ
และเจอวิกฤติจึงต้องหางานใหม่ ตอนนั้นสถาบันการเงิน ปิด 56 แห่ง
ได้งานใหม่ที่ AIA ดูแล direct investment จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ธนาคารฝรั่งเศสแห่งหนึ่งปีกว่า
แล้วย้ายไป บล.ของสิงค์โปร์ แล้วมีธนาคารมา takeover ไป
ช่วงนั้นปี 2000-2001 จึงได้มาสัมภาษณ์ทำ กิมเอ็ง ซึ่งตอนนั้นแข่งขันค่าคอมกันจนเหลือ 0%
อยู่มาเรื่อยจนกระทั่ง maybank มาซื้อ แล้วรวมเป็น maybank-kimeng อยู่เป็นเวลา 15 ปีแล้ว
อ.ไพบูลย์ เสริม เมื่อก่อน IB เป็นมนุษย์ทองคำ โบนัส ได้ 36 เดือน

อ.ณัฐวุฒิ
จบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬา แล้วผันไปเรียนป.โท finance ที่จุฬา และเริ่มสอบ CFA ตั้งแต่ 1997
พอสอบเสร็จก็ไปเรียนต่อป.เอก ได้ทุนเรียนที่ ม.นันยาง สิงคโปร์
แล้วกลับมาเป็น อ.ที่จุฬา สาขาการเงินและธนาคาร 7-8 ปี แล้วมาดูแลโครงการ Firm ที่นิด้า

อ.นิเวศน์
เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ทำงานวิศวกร 6-7 ปี แล้วไปเรียนต่อป.โท marketing
แล้วไปเรียนต่อ ป.เอก ด้านการเงิน 4 ปี กลับมา
เคยทำงานเกี่ยวกับการเงินธุรกิจที่ ifct, นวธนกิจ, นครหลวงไทย, แทค และได้มาลงทุนเต็มตัวเพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

เกี่ยวกับ CFA และ FRM และหลักสูตร FIRM นิด้า
คุณวิน
สอบ CFA ได้2006 ในไทยมี CFA ประมาณ 400 มีคนเข้าสอบ 800-900 คนต่อปี มี 3 level ซึ่งมีความยาก
ในแต่ละปีจะมีคนผ่าน level 3 ราว 30 คน (ได้เป็น charter holder)
อ.ไพบูลย์ จำได้ว่าเมื่อ 5 ปีก่อน คนไทยสอบ CFA ได้ราว 30 คน
นิด้าได้สร้างประวัติศาสตร์สอบ CFA ได้ 100% เพราะมีส่งคนไปสอบ 1 คน

อ.ณัฐวุฒิ
ที่นิด้า ส่งไปสอบปีละ 15 คน จะมีทุนให้ 10 คน ล่าสุดเรามีทุนเพิ่มเป็น 15 ทุนแล้ว
เป็นทุนที่เป็น Partner กับ CFA จะได้ค่าสอบถูกลงจากปกติ 1,100 เหรียญ US เหลือ 350 เหรียญ US
นอกจากนี้มีทุนสำหรับสอบ CFA, FIRM ของคณะให้ 6 ทุน ประมาณ 20,000 บาท
อ.ไพบูลย์ นักเรียนที่กำลังเป็นนักศึกษา นิด้า ถ้าสอบแล้วผ่าน สามารถเอามาเบิกคณะได้

อ.ณัฐวุฒิ
หลักสูตร FIRM ที่นิด้า มีรับรุ่นละประมาณ 20 คน เรียนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้เวลา 18 เดือน
จบป.ตรี สาขาใดก็ได้ ซึ่งจะมีเรียนเตรียมตัว คณิตศาสตร์ บัญชี ไฟแนนซ์เบื้องต้นเพื่อปรับพื้นฐาน
หลักสูตรสำหรับสอบ CFA เพราะใช้เนื้อหาในการสอบ CFA/FRM เป็นสำคัญ
ตัวผู้สอนเกือบทั้งหมดก็จะเป็นเป็นผู้ที่ผ่าน CFA/FRM แล้ว
คุณวิน เสริมว่าหลักสูตรนี้ใช้ตำราเล่มเดียวกับตำรา CFA ไม่ต้องเรียนการเงิน
แล้วต้องมาอ่านตำราเพื่อสอบ CFA อีกรอบ เป็นการทำงานครั้งเดียวจบ
และตำราที่ใช้มีการปรับตลอดมีความทันสมัย ใช้ได้จริง


คุณมนตรี
สอบได้ CFA ช่วง 20 คนแรกของเมืองไทย ซึ่งจบ MBA ไม่ใช่เนื้อหาเดียวกับ CFA ไม่ไปอ่าน CFA เพิ่มก็สอบไม่ได้
ซึ่งสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า CFA มีค่า คือ เคยมีพวก Head hunter มาชวนไปสัมภาษณ์งานที่ดีมาก
วันที่ไปสัมภาษณ์ บินไปฮ่องกง ขึ้น business class เป็นครั้งแรก มีคนถือป้ายต้อนรับ
นั่งเล่นเบนซ์ S Class ไปพักก่อน 1 คืน แล้วไปสัมภาษณ์ ปรากฏว่าไม่ได้งาน
บทเรียน คือ ที่เราจบมาก็มหาวิทยาลัยดี แต่เขาก็ไม่รู้จักว่าเราเป็นใคร
ถ้าเป็น CFA ที่ใครก็รู้จักน่าจะดี ซึ่งไม่ใช่ปริญญาที่ใครก็ซื้อได้
ใช้เวลาสอบ 6 ปี ทั้งหมด 3 ระดับ แต่คุ้มค่ามาก จะไปทำงานที่ไหน เขาเห็นเรามี CFA ก็เป็นมาตรฐานที่ยอมรับ

คุณวิน
CFA ถ้าสอบผ่าน 3 level และ ต้องมีประสบการณ์ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง 4 ปี จึงจะได้รับ charter ด้วย
เสริม เรื่องการบริหารกองทุน เป็น profession เป็นวิชาชีพ เหมือนเป็นหมอ, ผู้พิพากษา
ถ้าเราจบแพทย์ที่ไทย ไปรักษาคนไข้ที่อเมริกาไม่ได้ ต้องสอบ อเมริกันบอร์ดจึงไปรักษาคนไข้ที่นั่นได้
CFA ก็เช่นกัน ถ้าอยากทำงานด้านการเงินที่เป็นมืออาชีพและ Go inter ได้ด้วย การได้ CFA เป็นทางเดียวที่มีตอนนี้

อ.ณัฐวุฒิ
FRM ย่อจาก Financial Risk Manager เป็นประกาศนียบัตรด้านบริหารความเสี่ยง
ซึ่งในเรื่องความเสี่ยงใน CFA ก็มี แต่เป็นส่วนหนึ่งในนั้น
นายจ้างหลักได้แก่ธนาคาร, investment banker รายใหญ่ในโลก
CFA เกิดตั้งแต่ 1964 มีผู้สอบ ประมาณ 1700 คน ณ 2015 มีผู้สอบ CFA แล้ว 170,000 คน ทั่วโลก
ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสิบปีที่ผ่านมา ปี 2005 มีผู้สอบ 8 หมื่นคน
หรือแม้แต่ในช่วง crisis ผู้สอบก็ไม่ได้ลดลง
เทียบกับ ประชากรในโลก หรือ sector finance คนที่มี CFA ยังน้อยมาก
คุณวิน แชร์เคยไปสอบ CFA ที่ลอนดอน มี hall ขนาดเหมือนไบเทคบางนา
คนเยอะมาก แสดงให้เห็นว่าได้รับความนิยมสูง
อ.ไพบูลย์ แชร์ลูกสาวคนเล็กจบ BBA ที่จุฬา และจบ LSE สมัครงานที่ไทยไป 3 ที่
แต่ไม่ได้ถูกเรียกสัมภาษณ์ เพราะเป็นตำแหน่งบริหารเงิน ซึ่งจะต้องการ CFA preferable เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
คุณมนตรี ในหน้าที่การงานก็เข้าไปได้หลายอาชีพย่อย อย่างกลุ่มที่เห็นได้ชัดเจนคือผู้จัดการกองทุน
และงานด้านฝ่ายวิจัยก็ต้องการมาก ซึ่งสายนี้ก็มีรายได้สูง
นอกจากนี้ด้านวาณิชธนกิจ ช่วยบริษัทระดมทุน ออกตราสาร
รวมทั้งด้านตราสารหนี้ก็ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง คิดว่าถ้าจบ cfa ได้คุ้มค่า

ดร.นิเวศน์ จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี บัฟเฟตต์บอกให้ลงเรียนวิชา value investment
ของเบนเกรแฮม 3 หน่วยกิจพอแล้ว ยอมรับว่าถ้าจะทำงานเป็นคนบริหารเงินให้คนอื่น ต้องเรียน
ต้องได้ CFA เพราะคนที่เป็นผู้จัดการก็จบ CFA ทั้งนั้น แต่ถ้าบริหารเงินตัวเองไม่ได้จำเป็น
ไม่ได้มีอะไรพิสูจน์ว่าจะทำให้ได้กำไรเยอะ
คุณวิน เสริม ต้นกำเนิด CFA มาจากเบน เกรแฮม ตอนหนุ่มๆ ทำงาน เย็นสอนที่โคลัมเบีย
มองว่าหลักสูตรนี้จะทำให้นักการเงินเป็นมาตรฐานใช้เวลา 10 กว่าปี ผลักดันกว่าจะสำเร็จ
เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีมาตรฐานวิชาชีพ เมื่อ 50 กว่าปีก่อน
อ.ไพบูลย์เสริม เนื้อหา CFA ใกล้เคียงกับ VI แต่มีที่มาที่ไป
ยุคก่อนความรู้ที่เรียนเราสอบไม่ได้ แต่ยุคนี้คนจบป.ตรี ภาษาอังกฤษดี ชอบคณิตศาสตร์
สามารถใช้เวลา 1.5 ปี เรียนที่นิด้า สามารถสอบ level 1,2 ได้เป็นอย่างน้อย

ถ้ารับคนจบปริญญาโท ภาษาดี มี CFA ทำงานมา 5 ปี จะได้เงินเดือนเท่าไร?
คุณมนตรี ต้องดูที่ความฉลาดด้วย ถ้าฉับไว เฉียบขาด ถูกต้อง แม่นยำ ต้องได้ประมาณ 1 แสนบาทขึ้น
แต่ไม่อยากให้วาดภาพเกินไป โดยทั่วจบป.ตรี เริ่มต้นที่ 2-3 หมื่นบาท
ถ้าได้ CFA น่าจะไปถึง 5 หมื่นบาท และมีประสบการณ์ด้วยถึงน่าจะไปถึง แสนบาทได้
คุณวิน ประเทศไทยเป็นข้อบังคับ ต้องผ่าน CFA จะได้ license ผู้จัดการกองทุนได้ รวมกับจรรยาบรรณวิชาชีพ
ในไทยมีเงินให้บริหาร 7 ล้านล้านบาท มีคนได้ใบอนุญาต 450 คน ซึ่งไม่เพียงพอ จึงเป็นอาชีพที่มีค่าตัว
เทียบกับวิชาชีพแพทย์หรือผู้พิพากษา ค่าตัว 6 หลักก่อนอายุ 30 ได้
แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะสอบผ่าน จนได้ขึ้นทะเบียน
ซึ่งสิ่งที่ได้รับคือค่าตอบแทนที่สูง และตามมาด้วยความรับผิดชอบสูง
เป็นงานวิชาชีพ คนจะเอาเงินมาให้บริหารต้องเชื่อใจว่ามีความรู้ ไม่คดโกง
ต้องบริหารเงินให้ผลตอบแทนชนะ benchmark ชนะคู่แข่งในระยะยาว และไม่เสี่ยงมาก

อ.ณัฐวุฒิ
การสอบได้ CFA ยากและใช้เวลาเยอะ
จากการสำรวจ ผู้สอบใช้เวลาเตรียมเฉลี่ย 300 ชั่วโมง ต่อ 1 ระดับ
ดังนั้น 3 ระดับคือ 1,000 ชม. ซึ่งมีคนผ่านแค่ 40% ต่อ 1 level โดยต้องสอบแบบนี้ 3 ครั้ง
สถิติของโครงการ Firm จะสอบผ่าน 60-70%
อ.ไพบูลย์ เสริม มีหมอมาเรียน firm และมาเป็นนักลงทุน ก็มีเพราะอยากได้ความรู้
สำหรับคนที่ไปทำงาน การเรียน CFA จะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น


อ.ณัฐวุฒิ
คนที่มาเรียนไม่จบมีน้อยมาก มักเป็นคนไม่มีเวลา เพราะเรียนหนัก
การเรียน finance คนถนัดคำนวณได้เปรียบ การเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 2 อย่างนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ
ใครไม่ได้ตอนเรียนจะเหนื่อย ซึ่งเราจะคัดไปก่อนว่าน่าจะเรียนกับเราได้
คนที่เรียนจบส่วนใหญ่จะมุ่งไปสายการลงทุน เป็นพวก investment
ถ้าพวกที่ทำงานแบงค์จะเป็นที่ใช้ frm มากกว่า
คุณวิน สอนวิชา portfolio management ลูกค้ามีความคาดหวัง
มีข้อมูลส่วนตัวมาแล้วให้ไปจัดพอร์ต ให้มานำเสนอ ว่าเลือกเพราะอะไร เหตุผลอะไร ให้ทำจริง

เรื่องจรรยาบรรณ
คุณมนตรี
วิชาหนึ่งที่ดีมากคือจรรยาบรรณ ถ้าสอบบางวิชาได้เยอะได้น้อยยังพอไหว แต่ถ้าเป็นวิชาจรรยาบรรณได้น้อยไม่ได้
หลักสูตรนี้ต้องการให้คนเป็นคนดี อ.เคยสอนวางเงิน 10 ดอลลาร์ต่อหน้านักศึกษาคนหนึ่ง
แล้วก็ถามรู้ไหมว่าทำไมกล้าทำ เพราะเขา trust คนนั้น อาชีพต้องไปดูแลเงินคนอื่นเยอะ
ถ้าเราสอบได้ CFA ก็จะเชื่อได้ว่าเป็นคนที่ไว้ใจได้
คุณวิน
วิชาจรรยาบรรณต้องสอบทุก level และวิชานี้เป็นสิ่งที่ตกเยอะที่สุด
นอกจากนั้นต้องไปเรียนและสอบเพื่อไปขอใบอนุญาต ซึ่งมีอายุ 2 ปี
ผจก.กองทุนต้องไปเรียนเพื่อ refresh ขอต่ออายุ
สิ่งสำคัญคือถ้าทำผิด คือจะถูกเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อตัวเรา มีโอกาสที่จะเสียอาชีพได้
เมื่อเข้ามาได้ก็ยากแล้วต้องรักษาให้ได้ด้วย ลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ
อ.ไพบูลย์
วิชาจรรยาบรรณที่ตกเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษ อ่านแล้วตีความยาก
แต่เมื่อเข้าใจได้แล้ว เราก็ไม่น่าจะเป็นรองประเทศอื่น


ช่วง 2 จับตากลยุทธ์นักลงทุนรุ่นใหม่
1) คุณชาย มโนภาส อุปนายก ส.นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
2) คุณสันติ สิงหวังชา เจ้าของฉายา YOYO นักลงทุนวีไอ
3) นพ.ศุภศักดิ์ หล่อธนวณิชย์ สูตินารีแพทย์ นักลงทุนแนววีไอ
4) คุณณัฐชาต คำศิริตระกูล เลขาธิการ ส.นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
5) คุณทิวา ชินธาดาพงศ์ เจ้าของแผงหมูยอ นักลงทุนแนววีไอ

รุ่นใหม่กับรุ่นเก่าต่างกันอย่างไร?
อ.เสน่ห์ คนรุ่นใหม่มีมุมมองใหม่ โลกเปิดกว้าง เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงเทคโนโลยี
กระบวนการตัดสินใจไม่เหมือนกันกล้าเสี่ยงกว่า พวกคนรุ่นเก่า
อ.นิเวศน์ คนรุ่นใหม่ หนุ่มกว่า และ aggressive กล้าเสี่ยง
คนรุ่นเก่า กลัวความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง ไม่กล้าใช้ margin ชอบธุรกิจที่ปลอดภัย
คนสมัยนี้ภาระน้อยกว่าเยอะ ตอนอายุ 30 กว่า ยังไม่มีเงินเก็บ เพราะเพิ่งเรียนจบปริญญาเอก
เริ่มเป็นนักลงทุนจริงๆ ตอนอายุ 40 กว่าปี ซึ่งในตอนนั้นเสี่ยงไม่ได้
มีภรรยา มีลูก เรียนอินเตอร์ ด้วย เป็นข้อจำกัดที่ take risk ไม่ได้ สมัยนี้ไม่ต้องเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อแม่
อ.ไพบูลย์เสริมว่าเพราะตอนที่ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ อ.นิเวศน์กตัญญูมาก
มีเงินเก็บจากการทำงานอยู่ 2 แสนบาท ก็เอาเงินทิ้งไว้ที่ไทยเพื่อดูแลแม่ ก็มาเรียนตัวเปล่า

ประวัติความเป็นมา
คุณชาย
จบปี 1994 เริ่มลงทุน ตอนอายุ 22 หลังเรียนปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์จบ
ช่วงแรกไม่ได้เริ่มแนว vi ก็เก็งกำไร รู้จักหุ้นเพราะคุณย่าซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไทให้หลานๆ
มาเริ่มมีหลักการหลังจากเรียนปริญญาโทจบแล้ว และเห็นภาพธุรกิจชัดเจนขึ้น
และได้อ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการลงทุน รวมทั้งหนังสืออ.นิเวศน์
การลงทุนช่วงหลังจึงมองหุ้นเป็นธุรกิจ
การลงทุนไม่เคยง่าย ที่ลงทุนผ่านมาก็มีบาดแผลเยอะ
ช่วงเรียนปริญญาโทกลับมามีเงิน 2 แสนบาท กับปริญญา 1 ใบ
หลังจากนั้นเอาเงินก้อนนั้นและเงินเดือนลงทุนมาเรื่อยๆ
ติดตาม money talk ตั้งแต่ออกรายการช่อง 11 ติดตามมาตลอดและเห็นว่าวิธีที่ลงทุนหุ้นเป็นธุรกิจใช้ได้ผลจริง
เมื่อก่อนมองแค่ราคาวิ่งไปมา แต่พอเข้าใจแล้วมองหุ้นเป็นธุรกิจที่มีคนทำงาน มีแผนดำเนินงาน
หุ้นขึ้นหรือลงเพราะอะไรเข้าใจมากขึ้น
ลงทุนแนว vi ตั้งแต่ปี 2002 รวมเป็น 14 ปี
แนว vi คิดว่าใช้ได้ผลในระยะยาว
คนเอาเงินไปฝากแบงค์ได้ดอกเบี้ย 2 % แบงค์ปล่อยกู้ให้คนทำธุรกิจได้ 6%
คนทำธุรกิจค่าเฉลี่ย 30 ปีในอุตสาหกรรม ROIC 12%
ดังนั้นแปลว่าการทำธุรกิจได้ผลตอบแทนดีกว่าการปล่อยกู้และการฝากธนาคาร
ถ้าเราเข้าใจจุดนี้ ปัญหาคือต้องเลือกธุรกิจที่ดี ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสำเร็จ
เพราะธุรกิจล้มเหลวก็อัตราส่วนสูง
ดังนั้น การลงทุน VI เลือกซื้อหุ้นที่ดี ในราคาเหมาะสม ย่อมได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอย่างอื่น

คุณทิวา
ทำงานขี่มอเตอร์ไซค์ ได้เงินก้อนแรก หมื่นกว่าบาท
ช่วงก่อนปี 40 คุณพ่อ ทำงานแล้วได้หุ้น แล้วแบ่งมาให้จอง
จำได้ว่าขึ้น 80 เป็น 100 กว่าบาท พ่อบอกว่าไม่ขายต้องถือยาว จนมาดูอีกทีเหลือไม่กี่บาท
เห็นน้องชายคุณพ่อก็เจ๊งหุ้น จึงคิดว่าหุ้นไม่น่าใช่แนวทางที่จะร่ำรวยได้
จากนั้นเริ่มสนใจทำธุรกิจอย่างเดียว
ไปเรียนเมืองจีน กลับมาเป็นเซลล์ ก็ไม่ได้คิดจะเล่นหุ้น เพราะมองว่ามันน่ากลัวเป็นการพนัน
คิดว่าการค้าขายเป็นทาง มีเงินเก็บได้เป็นสิบล้าน เป็นหลักคือร้านอินเตอร์เนท
ตอนนั้นในย่านลาดพร้าวเปิดเป็นเจ้าที่ 2 เพราะเปิดร้านใหญ่สุดในอิมพีเรียลเวิร์ด มี 400 กว่าเครื่อง
ห้างตอนนั้นเงียบมากคนไปทำเจ๊งกันหมด ซึ่งได้ค่าเช่าถูกมาก 2600 บาทต่อเดือน
และแถวนั้นมีโรงเรียนมาก บรรยากาศที่เด็กนักเรียนชอบเข้า
ซึ่งตอนนั้นก็ได้ยินว่ามีพี่ที่ขายของในห้างเดียวกัน เล่นหุ้นประสบความสำเร็จคือพี่ป้อม porjai ใน thaivi
แต่ก็ยังไม่ได้ลงทุนอะไร หลังจากเลิกร้านเกม ตอนนั้นก็กลับไปช่วยภรรยาขายหมูยอ
จนมีโอกาสเดินผ่านได้ฟัง ดร.นิเวศน์ พูดถึงการลงทุน ฟังแล้วอินมาก ว่าหุ้นเป็นเรื่องธุรกิจ
จำได้ว่า การซื้อหุ้นเหมือนการทำธุรกิจ แต่เราฝากคนอื่นทำ แนวคิดแบบนี้ดี น่าสนใจ
ซึ่งช่วงแรกที่ลงทุนยังไม่สำเร็จ จนมาเจออ.สันติ(คุณโยโย่) ฟังแล้วเข้าใจว่าเขาลงทุนอย่างไร คิดอย่างไร

คุณณัฐชาติ
เริ่มลงทุนปี 2004 หลังจากเรียนปริญญาตรี/โท วิศวกรรมศาสตร์ ด้านบริหารก่อสร้าง
ทำงานที่ SCG ขายวัสดุก่อสร้าง ทำให้รู้เรื่องการขาย การตลาดมากขึ้น
คิดมาตลอดว่าในอนาคตอายุ 40 ปีจะสำเร็จได้อย่างไร
ก็เข้าไปอ่านหนังสือ หาข้อมูลในอินเตอร์เนท มาเจอเวบไซต์ thaivi มีเซียน โยโย่
คนขายของ หมอสามัญชน จนรู้ว่ามีแนวทางนี้ มีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน
ถัดมาหาความรู้อ่านเจอหนังสือตีแตก อ่านรวดเดียวจบ รู้สึกว่าใช่ มันเป็นแนวทางที่คิดว่าเป็นไปได้ไหม
ช่วงต้นไม่ได้มีเงินเก็บ ทำงานเก็บเงิน เริ่มจาก 2 แสนบาท เริ่มเปิดพอร์ตปี 2004 เก็บออมเงินเดือน
กินอยู่อย่างประหยัด เก็บออมลงทุนมาเรื่อยๆ ไปสัมมนา money talk เมื่อก่อนเป็นตลาดนัดผู้ลงทุนไทย
ก็มาฟังตลอด ถ้าไม่ติดก็มาทุกครั้ง ผ่านทั้งช่วงตลาด sideway มาจน subprime จนขึ้นมาถึงตอนนี้
นั่งนึกย้อนกลับไป ที่ลงทุนมา 10 กว่าปี ส่วนใหญ่โชคชะตามีส่วนเยอะ
ไม่ได้ออกไปแนวทางอื่น ถ้าสลับไปมาหลายครั้งคงไม่ได้มาทุกวันนี้
และในจุดที่เริ่มลงทุน เริ่มมีแนวทางเผยแพร่แล้ว ช่วงแรกยังไม่มีคนชี้แนวทาง
ไม่มีเวบไซต์รวมคนเก่งๆ จุดที่เริ่มมันพอดี อินเทอร์เนทอะไรก็ดี สามารถหาข้อมูลได้ง่าย
สมัยก่อนอยากจะหางบการเงินต้องไปถ่ายเอกสารตลาดหลักทรัพย์ ไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้
และบังเอิญว่าเราเข้ามา เลือกและมุ่งมั่นทำแนวทางนี้ต่อเนื่อง ช่วงให้ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจ
ตอนที่ลงทุนอายุ 24 ปี ก็ประหยัด เดินไปทำงาน ไม่ซื้อรถ เป็นคนคิดถึงอนาคต
ช่วงที่ตัดสินใจลาออก ที่ทำงานมีขับรถไปต่างจังหวัด เงินปันผลที่ได้จากการลงทุน ครอบคลุมค่าใช้จ่าย
ภาระแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีลูกมีภาระต้องดูแล ส่วนตัวตอนนั้นไม่มีภาระจึงกล้าตัดสินใจออกมา
โชคดีอีกอย่างที่ อาชีพนักลงทุนเป็นที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น และมีการตั้งสมาคมนักลงทุนคุณค่า

คุณโยโย่ สันติ
เริ่มลงทุนปลายปี 45 เรียนตรี วิศว เป็นรุ่นน้องคุณกานต์ เรียนโท MBA จุฬา
เพราะอบรมโครงการ nip ตอนเพิ่งเรียนจบปี 4 โชคดีที่ดร.นิเวศน์ เป็น 1 ใน อ.ที่สอนด้วย
ฟังหลายแนว จนมาฟังแนวทางอ.นิเวศน์ สอน แล้วคิดว่าปิ๊งเลย
เริ่มลงทุนโดยใช้แนวทาง VI ก่อนเรียนจบอ่านหนังสือ rich dad poor dad สอนให้เงินทำงาน
ซึ่งวันนั้นมองว่าทำธุรกิจยาก เป็น investor เป็นไปได้ คิดว่าน่าจะใช่กับตัวเอง
เงินลงทุนตอนแรกทำงานเก็บเงิน ที่ทำวิศวกร ได้เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท
และมีเงินตั้งแต่สมัยพ่อแม่ให้มาเรื่อยๆ เราไม่มีภาระ และทุกอย่างเป็นใจ
เหมือนเรามีลมใต้ปีก เริ่มลงทุนด้วยเงินตัวเอง 2 แสนบาท
จนตอนหลังคุณแม่ให้เงินมาเพิ่ม 1.5 ล้านบาท เพราะเห็นเราจริงจัง
คิดว่าที่สำเร็จได้มากเพราะ เริ่มลงทุนเร็ว(อายุ 20 ปี) เงินเริ่มต้นเยอะ ลงทุนในแนวทางใช่ เศรษฐกิจไทยก็เติบโตได้ดี
รู้สึกจริงๆว่าที่มีเงินเยอะขนาดนี้ ไม่ใช่ฝีมือทั้งหมด เป็นโชค 70-80% ทำให้เราโตได้เร็ว

หมอเค
เริ่มลงทุน 1 แสนบาท คือจริงๆ เริ่มต้นมี 4 แสนบาท
ตอนปี 2006 ใช้ทุนที่ต่างจังหวัด พิษณุโลก ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน เรื่องธุรกิจ
มีความฝันอยากเปิดร้านอาหาร เป็นร้านนม จนเศรษฐกิจไม่ดี มาอยู่กรุงเทพ ก็เลิกทำร้าน
เหลือมาแสนเดียว
จุดเปลี่ยนที่ 1 เริ่มจากอบรม nip ก็ซื้อหุ้นเริ่มตอนปี 2007 ปลายๆ เจอ subprime ก็หยุดเล่นไป
อยู่ดีๆมีวันหนึ่งปี 2008 ทาง nip ติดต่อมา อยากได้ investor มีประสบการณ์ช่วยบรรยาย
ซึ่งที่จริงให้บรรยายแทนโยโย่ แต่เขาไม่ยอมมา ตอนนั้นจะเลยได้โทรไปคุยกับโยโย่
คุณโยโย่จึงให้ความรู้ระดับหนึ่งและแนะนำให้ไปอ่าน thaivi
แล้วเราก็รู้จักคนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไปเจอ พี่ porjai แล้วก็ได้มาเป็นเลขาใน thaivi
จนมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆจนมาเป็นสมาคม
จุดเปลี่ยน 2 ที่ได้ มาร่วมเป็นพิธีกรกับทางอ.ไพบูลย์ ช่วงปี 2008-2010 ใครไม่แย่จะได้กำไร
โดยหลังจากนั้นปี 2011 เป็นช่วงทดสอบแล้ว ซึ่งเราได้โอกาสเป็นพิธีกร ก็พยายามศึกษามากขึ้น
เพื่อทำให้รายการมีคำถาม มีข้อมูลดีๆ ทำให้เราแยกออก ว่าบริษัทไหน ดูมีอนาคต
ทำได้จริงไม่จริง รู้จักคนอื่นๆ ก็ทำให้ได้ความรู้มากขึ้น
ดร.นิเวศน์เสริม หมอเคเป็นคน active มาก ทำหลายเรื่อง มีความคิดที่แหวกกฏ ชอบแสวงอะไรใหม่ๆ ตลอด
หมอเค คิดว่าหมอมีความเสี่ยงเยอะ เคยมีอ.หมอ ผ่าตัด มีเคสจี้หยุดเลือด ป้ายยาเยอะเกินไปทำให้ที่แปะขาเบิร์น
แล้วศาลตัดสินให้หมอจ่าย ต้องเสียเงิน 10 ล้านบาท เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน

กลยุทธ์การลงทุน?
คุณชาย
เหมือนดูคนเล่นกายกรรมอยู่ ไม่ใช่เราจะเล่นได้
แต่ละคนมีกลยุทธ์เฉพาะตัว ใช้ top-down กับ bottom up รวมกับ ศึกษาภาพใหญ่
แล้วเลือกบริษัทที่ดีที่สุด ที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐศาสตร์มหภาคมากที่สุด
แต่ไม่ได้คิดว่าทุกคนควรลงทุนแนวนี้
บางทีศึกษามากโดยธาตุไฟเข้าแทรก รู้เยอะแล้วกังวลไปหมด จนไม่สามารถลงเป็นกลยุทธ์และการตัดสินใจ
มันอาจจะเหมาะกับผม ผมชอบรัก และทดสอบมาแล้ว
ขอพูดว่าคนส่วนใหญ่ควรลงทุนอย่างไร ซึ่งนักลงทุนมี 3 กลุ่ม
1) กลุ่มลงทุนเป็นมืออาชีพ ต่อเนื่องมาเป็น 10 กว่าปี
2) กลุ่มทำงานประจำ แล้วศึกษาการลงทุน รู้จักเลือกหุ้น
- กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือมองให้ไกล 2 ปี, 3-5 ปี
ปัญหาของกลุ่มนี้คือ ความรู้น้อย ชอบลงทุนสั้น จะไม่สำเร็จ
เพราะทำงานอยู่ ไม่สามารถสู้ผู้จัดการกองทุนได้
ยิ่งลงทุนสั้นโอกาสเสียเงินยิ่งเยอะ แต่มองออกไปไกลๆจะได้เปรียบ
เพราะไม่ต้องแข่งกับพวกมืออาชีพต้องวัดผลทุกปีหรือทุกไตรมาส
3) กลุ่มใหญ่ของตลาด คือ กลุ่มที่เปิดงบดุล ดูไม่เป็น ไม่อยากอ่านหนังสือ
ควรซื้อกองทุนรวม หรือกองทุนลงทุนในดัชนี จะเป็นทางเลือกลงทุนที่ดีในระยะยาว
เรื่องการลงทุนถ้าคิดว่าง่ายผิดแล้ว ต้องใช้ความรู้สะสม อ่านมาเยอะ
ศึกษามามากจนมีวันนี้ ไม่ใช่ว่านักลงทุน ไม่มีอะไรมาก เคาะซ้าย เคาะขวา
อ.ไพบูลย์ เสริม เห็นด้วย มีพี่ชายที่จบเศรษฐศาสตร์ MBA ทำงานตลท.รุ่นแรกๆ ไม่มีเงินในตลาดหุ้นเลย
ไม่ได้แปลว่าทุกคนควรจะทำ

คุณทิวา
เห็นด้วยกับคุณชาย ส่วนตัวชอบ valuation หุ้นทิ้งไว้ ประมาณกำไร คร่าวๆ ไว้
แล้วทุกเช้าจะอ่านข่าว ดูข้อมูล ติดตามที่จะเป็นประเด็นว่าคนจะสนใจหุ้นตัวนี้มากขึ้น
ซึ่งทุกตัวจะเป็นหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า
บางคนจะรู้ข้อมูลมหภาคเยอะแยะไปหมด แต่ไม่รู้จักบริษัทที่ตัวเองถือดี
ให้น้ำหนักศึกษาหุ้นที่ถือ 60% เศรษฐกิจมหภาค 20-30% ที่เหลืออ่านพวกเศรษฐกิจต่างประเทศบ้าง
ระยะหลังมีความเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง เช่น เทคโนโลยี ที่จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจ
บางทีต้องพิจารณาว่า 3 ปีข้างหน้า มีเทรนด์จะฆ่าธุรกิจเดิม ก็ไปเลือกธุรกิจโตได้ แต่ไม่ถูกเขากิน
ยก quote mark twain กล่าวในหนัง big short สิ่งที่มักยุ่งยากมีปัญหา ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราไม่รู้
แต่เกิดจากสิ่งที่เรารู้ แต่มันไม่เป็นแบบนั้น ต้องถี่ถ้วน คิดแล้วคิดอีก
หรือปรึกษามุมมองคนอื่น เชื่อ ผู้บริหารน้อยลงหน่อย ทบทวนมากขึ้น

คุณโย โย่
หลักลงทุนสั้นๆ จะคล้ายพี่มี่ มีเรื่องที่อยากพูด พี่ชายแบ่งนักลงทุนเป็น 3 ประเภท
เดิมเคยลงทุนทุ่มเท ไป company visit อ่านหนังสือ พอพอร์ตโตจุดหนึ่ง เริ่มรู้สึกพอแล้ว
ไม่อยากเอาเวลาไปทุ่มเทมาก ประกอบกับการมีครอบครัว เล่นกับลูก
พอห่างจากการลงทุนระยะหนึ่ง ความรู้ที่สะสม ในแง่พื้นฐานยังแม่น
แต่ข้อมูลทีต้อง update เรื่อยๆ มัน เริ่มไม่ update จนรู้สึกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมารู้จักหุ้นในเชิงลึกน้อยลง
จนรู้สึกตัวเองไม่ใช่นักลงทุนในกลุ่มแรกแล้ว ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนมันยาก ไม่ได้ง่ายอยากที่เคยคิด
เหมือนเคยยืนอยู่ทั้ง 2 ตำแหน่ง พอเห็นคนอื่นกำไรเยอะแยะ เรามองไม่ขาดได้เหมือนกัน
เป็นการยืนยันว่าคนส่วนใหญ่ลงทุนหุ้นไม่ง่ายเลย ทุกวันนี้ต้องปรับกลยุทธ์ตัวเอง
ต้องลงทุนจำนวนไม่เยอะมาก หุ้นที่มั่นใจ ซื้อจำนวนมาก ซื้อกองทุนดัชนี
และกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายอย่าง
เวลาที่เรารู้อะไรเยอะ ก็ควรโฟกัสเยอะ แต่พอรู้น้อยควรกระจายความเสี่ยง
บางคนเล่นหุ้น ไม่รู้จักอะไร แล้วเล่นตัวเดียวทั้งพอร์ต เวลาพื้นฐานเปลี่ยน เราไม่รู้สุดท้ายก็เจ๊งหนัก
ไม่ใช่ทุกคนเป็นนักลงทุนได้ ต้องลองศึกษาแล้วมีความสุข สนุก
แต่ถ้าอ่านงบการเงินยาก เล่นหุ้นหลายปีมีแต่เจ๊ง ต้องพิจารณาตัวเอง
สำคัญคือเราต้องรู้ตัวเอง ก่อนรู้ธุรกิจ ถ้าไม่เหมาะอย่าไปฝืน
มองว่าจากนี้ไปธุรกิจต่างๆไม่ได้เติบโตดีเท่าในอดีต
ที่ผ่านมาเรามีลงทุนทั้งถูกและผิด แต่ก็กำไร
เพราะหุ้นมันถูก ภาวะเป็นขาขึ้น แต่ข้างหน้า มันทรงๆไม่ได้ไปไหนไกล
ต้องรักษาตัวเองก่อน ทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุนหนักๆ
การลงทุนที่เปลี่ยนไป สัดส่วนการลงทุนในหุ้นยังเป็นสัดส่วนหลัก
จำนวนหุ้นเยอะขึ้น อนาคตมองว่าอาจจะลดสัดส่วนหุ้น เน้นรักษาเงินต้น เช่น ลงทุนตราสารหนี้, index fund

คุณกานต์
แต่ละช่วงมีกลยุทธ์ที่เปลี่ยนไป มาถึงวันนี้ก็เปลี่ยนไป
ช่วงแรก focus ทุ่มเท เงินส่วนใหญ่อยู่ในตลาด 99% ไม่มี asset อื่น
พอลงทุนผ่านเวลาไป เริ่มเอาเงินมาซื้อคอนโด ที่ดิน
เป็นการลงทุนอีกแบบที่มีประโยชน์กับการใช้สอยด้วย
ช่วงแรกที่ลงทุนไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่พอพอร์ตใหญ่ขึ้น จะมีประเด็นในการทำให้สมดุล
การมองหุ้นไม่ได้เน้น maximize profit ต้อง balance port มากขึ้น
เลือกตัวที่มีความมั่นคง เติบโตมีความเสี่ยงต่ำ คุณภาพสูง จ่ายปันผลได้ดี
หุ้นที่สนใจ จะเป็นหุ้นนอกสายตา คนส่วนใหญ่ไม่ชอบด้วยเหตุผลบางอย่าง
เช่น ผบห.ไปลงทุนผิดพลาด ส่งผลให้งบไม่ดี คนลืม จนมีการปรับกลยุทธ์
และปรับปรุงวิธีการทำธุรกิจแนวโน้มดีขึ้น เพราะมีความคาดหวังต่ำ
PE สะท้อนความคาดหวังนักลงทุน ช่วงคนไม่สนใจ pe จะต่ำ
พอกำไรดีขึ้น ยอดขายโต pe จะrelate ขึ้นไป เราคิดเป็นแมวมอง
หา superstar เหมือนชวน ณเดชน์ เข้าสังกัด ต้องชวนตอนยังไม่ดัง ไม่งั้นต้องจ้างแพง
หุ้นขึ้นลงคนจะจิตใจไม่ดี ต้องมองให้เห็นว่า หุ้นลงเป็นการสร้างโอกาส ราคาลงในจุดที่มีความคุ้มค่า
แนวทางลงทุนนี้ มีเผยแพร่มานาน ไม่ใช่สิ่งที่ใหม่ ทุกคนรู้หลักการลงทุน VI อยู่แล้ว
สิ่งสำคัญคือ จะนำหลักการนี้ไปปฏิบัติแล้วรักษาให้ตัวเองอยู่ในแนวทางนี้ยาวกนานจนออกดอกผลได้อย่างไร
สำคัญกว่า ไม่ใช่จะราบรื่น แม้ 10 ปีที่ผ่านมาจะง่าย
ยังมีตกหลุมอากาศเป็นพักๆ ต้องอาศัยกำลังใจ จิตใจให้เข้มแข็ง
ก็อยากจะฝากไว้ว่านอกจากพัฒนาเรื่องลงทุน พัฒนาจิตใจก็สำคัญ

หมอเค
มักจะบอกคนที่เข้ามาปรึกษา ให้เลือกคนที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ เหมือนเลือกแฟน จะเลือกดีที่สุด สวยสุด
แต่เวลาเลือกหุ้น มักจะเลือกอะไรก็ได้ที่มีคนมาบอก
การเลือกคนที่ใช่ – อย่างที่พี่ชายบอก การเลือกหุ้นมี top down กับ bottom up
ส่วนตัวถนัด top down ดูว่ามีแนวโน้มอะไรที่จะทำให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเติบโต
ปัจจุบันในประเทศไทย มองว่าคงเป็นนโยบายของรัฐบาล
อีกทางคือ Bottom up ก็มีหลายอย่าง พวก หุ้น turn around ต่างๆ
แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ก็มีคนทำกำไรได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหาร เปลี่ยนแปลง ธุรกิจ
ต้นทุนวัตถุดิบลดลง เช่น น้ำมันหรือยาง บริษัทมี innovation ก็จะมีทางทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น
ถัดมาจะดูว่าบริษัทมีความสามารถแย่ง market share มี market growth เพิ่มขึ้นหรือเปล่า
เราพยายามหา concept พวกนี้เอาไว้ในใจ โดยไปดูกูรูต่างๆเขาเลือกคนที่ใช้อย่างไร ลงทุนอย่างไร
หลังๆจะเน้น passion ผู้บริหารมากขึ้น ระหว่าง passion กับ ขายฝันเป็นคนละอย่างกัน
ต้องดูว่าทำได้จริงหรือเปล่า เช่น อย่างโรงไฟฟ้าปีที่แล้วที่แห่กันไปทำ ต้องดูว่าโอกาสมากหรือน้อย
ได้มาเป็นประโยชน์หรือเปล่า
แม้เศรษฐกิจไม่ดี มันก็ยังเป็นโอกาส ตอนคุณตัน สำเร็จเขาลงทุนในช่วงต้มยำกุ้ง
เพราะคนอื่นไม่กล้าลงทุน แต่คนที่เจ๊งก็มีเยอะต้องระวังด้วย
ในช่วงเวลานี้ไม่น่าลงทุน หรือควรจะหาคนที่กล้าลงทุนแล้วชนะ
ต้องเป็นรูปแบบธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนเยอะๆ ถ้าเศรษฐกิจพลิกไปจะอันตราย
ส่วนตัวชอบธุรกิจที่เติบโตได้ เคยอ่านหนังสือสือชอบ exponential growth
หรือคำว่า snowball ลูกค้าพร้อม subscribe แล้วเพิ่มรายได้ให้บริษัทเรื่อยๆ
ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ง่าย กลับกัน snowball ในต้นทุนขาลง
สมมติทำธุรกิจชนิดหนึ่ง มีdemand กำลังมา ด้วยเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนมันลดลง
เช่น ปีก่อน solar cell ที่บูมมาก แล้วขึ้นได้เป็น 10 เท่า
เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีคนประมูลมันเจ๊งแน่ แต่คนที่เห็นก่อนประมูลก่อน
ราคาแผง solar ลดลงเป็น 10 เท่า ทำให้บริษัทสามารถกำไรได้ เพราะต้นทุนถูก
ถ้าเจอบริษัทแบบนี้ก็น่าสนใจ
อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มองหา business model ที่เหมาะสมในแต่ละเวลา
อย่างปีที่แล้วเศรษฐกิจไม่ดี แต่หุ้นที่เติบโตได้ดี เช่นถุงยาง โอกาโมโตะ
โอกาสมีตลอดเวลา เพียงแต่เราหามันเจอหรือเปล่า
หาเวลาศึกษาข้อมูลตลอดเวลา

คุณทิวา มีสูตรจำสั้นๆง่ายๆ ในการลงทุนคือ
"ขาว สวย หมวย เอ็กซ์ ตัวเล็ก ผมยาว"
ขาว-ธุรกิจมีธรรมภิบาล
สวย-งบการเงินสวย
หมวย- cost leadership เพราะหมวยเป็นผู้หญิงจีนที่ประหยัด
เอ็กซ์- มี story sexy
ตัวเล็ก- market cap มีโอกาสขึ้นเยอะ
ผมยาว - คือผมถือยาวไป

ขอให้แนะนำสั้นๆ ในการจะเป็น VI ที่ประสบความสำเร็จ
หมอเค
สำคัญสุด ต้องมีวินัย กับสิ่งที่จะศึกษา ต่อให้ตลาดแย่
เคยเรียนรู้ว่าตลาดไม่ดีให้ออกตลาดไปเที่ยว ที่จริงจะมีโอกาสซ่อนอยู่ ต้องให้เวลากับมัน
และต้องคิดบวก บางครั้งไปอยู่ในกลุ่มที่อยู่ในตลาดไม่ดี แล้วเชื่อเขามากเกินไป
ก็เอาตัวไปอยู่ในคนที่มุ่งมั่นในโอกาส แต่ก็ไม่ใช่ไม่สนใจ
ความสุขแต่ละคน เราจำกัดให้ต่ำไว้ อะไรที่ได้เกินกว่านั้นก็เป็นกำไรชีวิต ทำอย่างนั้นจะอยู่ได้ในระยะยาว
ในตอนหลังที่ทำรายการได้สัมภาษณ์ผู้บริหารก็ได้เห็นจังหวะที่หดหู่และมีความสุขกับการทำธุรกิจ
นักลงทุนไม่ได้เก่ง แต่เราไปลงทุนในบริษัทที่เก่ง เราต้องปรับตัวเอง
ที่ตามข่าวไปเรื่อยเป็นแมงเม่า ควรเปลี่ยนเป็นผึ้งแทน นักลงทุนที่ดี ควรศึกษาบริษัทต่างๆ
ได้ข้อมูลว่าดีอย่างไร ในวันหนึ่งที่เจอบริษัทใหม่
เอาความรู้ไปแนะนำบริษัทใหม่ ก็จะพัฒนาขึ้นได้
เพราะเราเป็นผึ้งละอองที่อยู่ตามตัวไปเกาะดอกไม้ใหม่ ผสมพันธ์ให้ดีขึ้น จะทำให้อนาคตบริษัทไทยดีขึ้นเรื่อยๆ

คุณทิวา
อย่างแรก เหมือนหมอเคพูดต้องมีวินัย บางทีรู้ว่าหลักการนี้ดี แต่เราสนใจผลลัพธ์ระยะสั้น
นาฬิกาตายยังบอกเวลาถูกได้วันละ 2 ครั้ง สิ่งที่ผิดยังให้ผลลัพธ์ถูกได้เหมือนกัน ให้ทำด้วยเหตุและผล
ภรรยาอยากให้เลิกลงทุนแล้วอยู่เฉยๆจะได้ไม่เสี่ยง แต่ผมอยากเก่งเหมือนคุณโยโย่ หมอประชา หมอพงษ์ศักดิ์
อยากรู้ อยากคิดได้อย่างเขาบ้าง ถ้าอยากมีความรู้ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทน ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ยังอยากทำต่อ
มีอีกเรื่อง ลูกเคยมาพูดให้ฟังว่าเขาอยากทำธุรกิจ อาชีพนักลงทุนไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ
จึงกลับมาคิดหนักอยู่ 2-3 วัน แล้วก็คิดได้ว่าไม่ใช่ มันต้องมีนักลงทุน ต้องมีคนกระตุ้น คนตรวจสอบ
ว่าบริษัทยังทำผลงานทำได้ดี มีธรรมาภิบาลที่ดี เชื่อว่าเป็นอาชีพที่ต้องมี และทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น

คุณกานต์
ทำอย่างไรให้อยู่แนวทางนี้ได้
1) คิดถึงเป้าหมายที่มีคุณค่า เช่น พี่มี่ บอกว่าอยากเก่งขึ้นกว่านี้
หรือคิดถึงชีวิตครอบครัวดีขึ้น คนรอบข้าง หรือตอบแทนสังคมได้ดีขึ้น
หรือเห็นเป้าหมายเป็นอ.นิเวศน์ เป้าหมายไม่ใช่แค่เรื่องเงิน
2) ช่วงแรกเริ่มพลังวัตรยังไม่เยอะ ไม่ได้เก่งเลย จะหักห้ามใจไม่ให้ซื้อหุ้นหวือหวา
บางทีต้องอาศัยเพื่อนๆหรือพี่ๆ ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง หรือจัดการกับจิตใจตัวเอง
หรือเลือกกลุ่มหรือกัลยานมิตรที่ถูกต้อง จะไม่ทำให้เราไขว้เขว
3) ตัวเราเอง ต้องคิดอยู่เสมอว่าการลงทุน เป็นเรื่องยาก เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนตลอด
ไม่ใช่ว่าเรามีพอร์ตขนาดนี้แล้วสำเร็จ ยังมีคนใหม่ๆที่ขยันกว่า ผู้ที่รู้มากกว่า เก่งกว่า
ถ้ารู้ตัวตลอดว่าเราไม่ได้เก่ง แค่โชคดีเกิดในเวลาที่เหมาะสม เราจะคิดพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
จะทำให้เรารักษาความสามารถแข่งขันให้ยาวนานได้

คุณโยโย่
วิธีลงทุนตอนนี้จะเน้นว่าทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน
จะทำอย่างไรไม่ให้เราไปลงทุนในธุรกิจแย่ เป็นเรื่องของเทคโนโลยี พวกบริษัท startup เกิดไวมาก
ทำให้ธุรกิจในโลกเก่าเสียความแข็งแกร่งไปเรื่อย เช่น ธุรกิจแบงค์
พวก startup ทำให้การโอนเงิน มีต้นทุนต่ำลง แบงค์ก็อาจมีค่าธรรมเนียมต่ำลง
ถ้าเราเปิดรับข้อมูล มันจะมีใครมาทดแทนธุรกิจมันได้หรือเปล่า จะเลือกไม่ลงทุนธุรกิจเหล่านี้
เริ่มจากเลือกอย่างไรไม่ให้เราลงทุนแย่ รู้สึกว่าภาพแต่ละประเทศดูแย่
ไม่ควรไปหวังการเติบโตหวือหวา จะป้องกันตัวเอง เปิดหูเปิดตา ศึกษาธุรกิจหลากหลาย ขึ้น
ธุรกิจมันจะตายด้วยสาเหตุอะไร

คุณชาย
ฝาก 3 ข้อ
ประการ 1 จะซื้อหุ้นอะไร โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่ม 2 ที่ยังทำงานประจำ แล้วเลือกหุ้นเอง
Visibility of income เป็นเรื่องสำคัญมาก เรามองกำไรของบริษัทนั้นออกไหม
ในอนาคตข้างหน้ามองออกไหม ไม่จำเป็นต้องไปซื้อบริษัทที่เราไม่เข้าใจ
อย่าง IEA ที่ทำหน้าที่ประเมิน demand supply ขนาดคนอยู่ในวงการน้ำมัน ยังประเมินราคาน้ำมันผิดตลอด
บางอย่างที่ไม่ใช่ทางเราทิ้งมันไป ต้องถามตัวเองว่าเราเห็นกำไรบริษัทนั้นชัดเจนหรือไม่
ประการ 2 ถ้าเป็นนักลงทุนทั่วไป พยายามตัดสินใจให้น้อยครั้ง
เหมือนโยนเหรียญครั้งเดียวเลือก หัว กับ ก้อย ถ้าโยนเหรียญ 3 ครั้ง โอกาสถูก 1 ใน 8 ถ้าเป็นพนักงานประจำ
จะตัดสินใจได้ยาก บางคนรู้หมด แต่ปัญหาทำไมไม่ได้ ถึงเวลาที่ตัดสินใจไม่กล้า ถือจนกำไร และขาดทุนได้
ถ้าตัดสินใจไม่ได้เฉียบคม พยายามลดการตัดสินใจลง
ประการ 3 อย่าไปสนใจสมบัติเรื่องหุ้นมาก จนลืมสมบัติ สุขภาพที่ดี ครอบครัวที่เรารัก มีมูลค่ามากกว่าสิ่งที่เรารัก

อ.นิเวศน์
ถ้ามองภาพใหญ่ การคิดจะเลือกหุ้นตัวนั้นตัวนี้ ไม่ใช่หัวใจการลงทุน เป็นแค่ 1 ใน 3
อีก 2 อย่างที่สำคัญเท่าๆกันไม่ได้ทำหรือผิดพลาด ก็ไม่ดี ขึ้นกับดวงแก้ว 3 ประการ
ประการ แรก เงินต้นที่ต้อง ทำงานหาเงินเก็บเงิน ยิ่งเก็บมากยิ่งรวยมาก
ประการ สอง ผลตอบแทนการลงทุน 15% ก็ดีกว่า 10%
แต่ถ้าทำได้ กำไรและขาดทุนก็ไม่ไปไหน
ต่อให้ลงทุนไม่เป็นซื้อกองทุนรวมยังได้ประการที่สอง ไม่ให้ขาดทุนก็ใช้ได้
ประการที่ สาม คือเวลาลงทุน หลายคนมีเวลาลงทุนยังน้อย จะทบต้นไปเรื่อย
นักลงทุนยิ่งใหญ่ส่วนมากมาจากตรงนี้ลงทุนมานาน
ทำสองประการแรกให้ดี และลงทุนให้นาน

อ.เสน่ห์
หลายคนชอบคิดถึงแต่ตัวเอง ซึ่งในโลกมีคนอื่นด้วย ถ้าเรามองถึงคนอื่นด้วยเป็นมุมมองที่ยิ่งใหญ่
มีเรื่องเล่าว่า คู่รักคู่หนึ่งเดินทางไปต่างจังหวัด นั่งรถเมล์ไปต่างจังหวัด แล้วขอแวะลงกลางทาง
ให้รถเมล์จอด พอลงเสร็จ อีกแป๊บเดียวเท่านั้นก็ มีหินตกลงมากระแทกรถเมล์ย่อยยับ คนในรถเมล์ตายทั้งหมด
คู่รักสองคนนั้นรีบเข้าไปดูเหตุการณ์ แล้วก็พูดว่าเราไม่ควรลงกลางทางเลย เราควรจะไปกับเขา
ผู้คนรอบข้างก็สงสัยว่าทำไมพวกเขาจึงคิดเช่นนั้น รอดชีวิตมาได้ก็ดีอยู่แล้ว
ที่พวกเขาคิดเช่นนั้น เพราะถ้าเราไม่ลงกลางทางก็ไม่ต้องจอดส่งพวกเรา รถเมล์ก็จะวิ่งผ่านไปเลย
แล้วหินก็จะตกไปโดยไม่โดนรถเมล์ แล้วทุกคนจะรอด
นี่คือมุมมองที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้มองถึงตัวเอง ต้องมองถึงส่วนรวมด้วย
____________________________________________________________________________

ขอขอบพระคุณอ.ไพบูลย์ อ.เสน่ห์ อ.นิเวศน์ พี่นุชและทีมงาน money talk ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
รวมถึงผู้อุปการะคุณทุกท่านที่ทำให้มีงานสัมมนาให้ความรู้ดีๆที่มีประโยชน์กับสังคม
ขอบพระคุณวิทยากรทุกท่าน ทั้งในช่วงแรกที่มาให้ความรู้ในอาชีพสายการเงิน และหลักสูตรการศึกษาต่อ
และช่วงหลังในเรื่องของข้อคิดประสบการณ์ที่ได้จากชีวิตและการลงทุน ทำให้คนรุ่นใหม่ได้แนวทางที่ถูกต้องและเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
เนื้อหาที่บันทึกหากผิดพลาดตกหล่นไปอย่างไรขออภัยด้วยนะครับ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้เลยครับ

Money talk@SET ครั้งถัดไป
เดือน มีนาคมมีจัด 2 ครั้ง
“เสาร์” 12 มีนาคม จอง 5 มีนาคม จัดที่ “ตลท.เดิม”
1) หุ้นเด่นต้องจับตา 4 บริษัท(กำลังเลือกบริษัทที่น่าสนใจ)
2) ตามรอยเซียนกลยุทธ์ลงทุนยามหุ้นผันผวน ดร.นิเวศน์, คุณพรชัย, คุณวิบูลย์, คุณฉัตรชัย
“อาทิตย์” 27 มีนาคม หัวข้ออยู่ระหว่างสรุป
เดือน เมษายน ไม่มีจัด
เดือน พฤษภาคม อยู่ระหว่างหาห้องประชุม แนวทางคือขอเช่าห้องเดิมจากเจ้าของหลังจาก
ที่ตลาดหลักทรัพย์หมดสัญญาคืนห้องแล้ว
Go against and stay alive.
Leesak
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 123
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

สุดยอดครับ ขอบคุณคุณบิ๊กที่สรุปมาให้สมาชิกได้อ่านครับ
theenuch
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1735
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากเลยจ้า "นิธิวัฒน์" :mrgreen: :B
amornkowa
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2576
ผู้ติดตาม: 1

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบใจบิ๊กมาก งวดนี้มาเร็วมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับ
Vi IMrovised
กิมหงวน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 118
ผู้ติดตาม: 1

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 293
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

...แชร์เพิ่มเติม...
อ.เสน่ห์ มีเรื่องเล่าชาวจีน เกี่ยวกับการสืบทอดแนวคิดรุ่นต่อรุ่น

เจ้าสัวกำลังจะเสียชีวิต ได้สั่งเสียให้กับอาตี๋ลูกชาย
ในการดูแล ธุรกิจต่อ ให้ทำตาม 4 ข้อ ดังนี้
1) ไปทำงานอย่าให้โดนแดด
2) กินอาหารต้องกินให้อร่อยๆ
3) ไม่ต้องลงบัญชี
4) ให้กลับบ้านดึกๆ

สั่งเสียเสร็จแล้วเจ้าสัวก็เสียชีวิตจากไป
อาตี๋ฟังแล้วก็คิดว่า 4 ข้อนี้ ง่าย สบายมาก ก็นำไปปฏิบัติตามทุกวัน
ทำงานไม่โดนแดด กินอาหารอร่อย ไม่ลงบัญชี กลับบ้านดึกๆ
ปรากฏว่าบริหารธุรกิจไม่ถึง 2 ปี ธุรกิจก็เจ๊ง

อาตี๋ก็เสียใจไลน์ไปคุยกับอาเตี่ยบนสวรรค์
โวยวายว่าทำไมทำตามที่สั่งเสียแล้วธุรกิจจึงเจ๊ง
เจ้าสัวจึงอธิบายความหมายที่สั่งเสีย ให้ฟังว่า
ข้อ 1 ไปทำงานอย่าให้โดนแดด คือ => ต้องไปแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
ข้อ 2 กินอาหารต้องกินให้อร่อยๆ คือ => อย่ารีบกิน รอให้หิวค่อยกิน คนหิวกินอะไรก็อร่อย ไม่ต้องกินอาหารแพงๆก็อร่อย
ข้อ 3 ไม่ต้องลงบัญชี => ให้ค้าขายเป็นเงินสด ถ้าซื้อเงินเชื่อ ลงบัญชีไว้ ตลอดก็เจ๊งหมด
ข้อ 4 ให้กลับบ้านดึกๆ => อย่ารีบกลับ ให้คนอื่นกลับหมดจะได้ปิดน้ำปิดไฟ
(ไม่ใช่ให้ไปเที่ยวเล้าจน์ เที่ยวผับ)


....ข้อคิดสำคัญของเรื่องนี้....
ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่สะท้อนวิธีคิดหรือวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่
ซึ่งแตกต่างกับคนรุ่นเก่ามาก ที่ไม่ต้องลำบาก ดิ้นรนจากศูนย์ สามารถใช้ชีวิตสบายและมีอิสระ
ทำให้มุมมองการรับรู้ด้วยข้อความเดียวกัน แต่ความหมายกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง :D
Go against and stay alive.
ภาพประจำตัวสมาชิก
i-salmon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 293
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

theenuch เขียน:ขอบคุณมากเลยจ้า "นิธิวัฒน์" :mrgreen: :B
5555 แหม่ กลัวชื่อผมจำไม่ได้สินะ
ขอบคุณครับ "คุณวราพรรณ"
Go against and stay alive.
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 9

โพสต์

กราบ :bow:
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee

FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
amornkowa
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2576
ผู้ติดตาม: 1

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 10

โพสต์

วันหลังน่าจะรวมเรื่องเล่าของอจ เสน่ห์ นะมีเยอะมากเลยครับ
วันนี้ยังเอาโจทย์คณิตศาสตร์ 5เท่ากับเท่าไหร่ไปถามลูกเลย
kc100
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

Re: MoneyTalk@SET13Feb2016โลกมืออาชีพการเงินและนักลงทุนรุ่นใ

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ขอบคุณมากครับ :D
โพสต์โพสต์