พุธ พ.ค. 18, 2016 10:10 pm
อ่านข้อสงสัยของคุณ sakkaphan แล้วก็ขออนุญาต ถือวิสาสะเขียนตอบแบบองค์รวม ตามที่ผมเข้าใจเลยแล้วกันนะครับ ซึ่งความคิดเห็นผมนี้คงจะมีความผิดอะไรบางอย่างอยู่อย่างแน่นอน เพราะ ผมยังเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ความเข้าใจนี้เป็นเพียงผลของการศึกษา ตามระดับปัญญาอันน้อยนิดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ หากเข้าใจถูกมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ภาพใหญ่ โลกุตรธรรม ถ้าคุณ sakkaphan ได้มีโอกาสศึกษาดู ความหมายเป็นภาษาไทย นั่นน่าจะหมายถึง พ้นจากโลก ซึ่งธรรมอันพ้นจากโลกหากมองในมุมของอภิธรรม ในมุมของจิต นั่นก็คือ มรรคจิต 4 ผลจิต 4 (สภาวะ)นิพพาน 1
ถ้าว่ากันโดยเป้าหมายของผู้เห็นภัยของโลก ของวัฏสงสาร การถึงซึ่งพระนิพพานนั้นเป็นเป้าหมาย เพราะ อะไร เพราะ นิพพานเป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มีเหตุต้องเกิด ไม่ต้องมาผจญกับทุกข์จากการปรุงแต่งอีก ดังนั้นเป้าหมายของการถึงพระนิพพาน จึงแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ตามระดับของอริยบุคคล
ในขั้นต้น นี่ก็จะได้เสวยอารมณ์พระนิพพานแบบแว่บๆ แต่ไม่สามารถทรงอยู่กับอารมณ์พระนิพพานได้
ในขั้นกลาง จะสามารถทรงอยู่ในอารมณ์พระนิพพานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะ มีความสามารถทางจิตที่สมบูรณ์เพียงพอแล้ว ในการดับวิญญาณ ส่งผลให้ไม่มีการปรุงแต่งของจิต แต่ยังไม่หลุดพ้นโดยสมบูรณ์ เมื่อผ่านไประดับหนึ่งจิตที่ดับไปตามกำลังของการอธิษฐานก็จะกลับมาทำงานตามเดิม
ในขั้นสุดท้าย เมื่อปัญญาแก่กล้าถึงขีดสุด ก็ไม่เห็นประโยชน์ของการยึดอะไรเอาไว้อีก จึงเข้าสู่นิพพานได้อย่างสมบูรณ์ แม้แต่จิตก็ไม่ยึดเอาไว้อีก
ทีนี้ มาตอบคำถามเกี่ยวกับ ผู้รู้ กับ วิญญาณขันธ์ จริงๆ แล้วสิ่งๆ หนึ่ง อาจจะมีชื่อได้หลายๆ ชื่อ ตามเจตนาของการใช้ หรือ ตามสภาวะที่แต่ละคนประสบ ในความเข้าใจของผม วิญญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งอารมณ์ หากจิตมีความตั้งมั่นอยู่ในระดับฌาน 4 ความบริสุทธิ์ของสติ ที่เกิดขึ้น จะทำให้ มโนวิญญาณธาตุ ปรากฎขึ้นอย่างเด่นชัด
อันที่จริงแล้ว ทุกๆ การรับรู้ทางอายตนะต่างๆ สุดท้ายจะมารวมกันที่มโนวิญญาณธาตุ และที่จุดที่สติบริสุทธิ์มากเพียงพอ มโนวิญญาณธาตุ ก็จะปรากฎขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ปฏิบัติบางคนจะรู้สึกเหมือนกับว่ามี ตัวรู้ ผู้รู้ ที่แยกออกมาต่างหาก จากสิ่งอื่นๆ ที่ปรากฎขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบใช้ความว่า "ตัว" หรือ "ผู้" เพราะ ผมรู้สึกว่าคำดังกล่าวมันแฝงด้วยอัตตาอยู่ อีกทั้งสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีจริตแตกต่างกัน สภาพการปรากฎขึ้นของ มโนวิญญาณธาตุ นี้ก็จะปรากฎขึ้นแตกต่างกัน บางคนก็เกิดขึ้นด้วยสภาพที่มีนิมิต บางคนก็ไม่มี บางคนมีที่ตั้ง บางคนก็ไม่มี สภาพความรู้แจ้งนี้ จึงรับรู้โดยอาการที่แตกต่างกันไป ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว จิตของผมจะเห็นธรรมต่างๆ โน้มไปในทางอนัตตา สภาพธรรมที่ผมเข้าไปรู้นั้นเป็นแค่สภาพธรรมหนึ่งๆ ที่ปรากฎขึ้นแล้วก็ดับไป ต่อเนื่องๆ กันไป จึงทำให้ผมไม่ค่อยชอบใช้คำพูดที่เชื่อมโยงไปที่ตัว ที่ตน ที่บุคคล เหล่าเขา จึงไม่ค่อยอยากใช้คำว่า "ตัวรู้" หรือ "ผู้รู้" จึงเลือกที่จะใช้คำว่า "วิญญาณขันธ์" แทน
ที่นี้ จริงๆ แล้ว ผมควรที่จะใช้คำว่า มโนวิญญาณธาตุ แทนคำว่า ผู้รู้ อย่างไรก็ตาม มโนวิญญาณธาตุ ถือว่าเป็น subset ของ วิญญาณขันธ์ มันเป็นลักษณะจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งในการเบื่อหน่าย เห็นทุกข์โทษของจิต จนนำไปสู่ความพยายามในการดับการปรุงแต่งของจิต จริงๆ มันก็คือ การดับวิญญาณ(ขันธ์) นั่นเอง เพราะ จริงๆ แล้ว จิต วิญญาณ มโน
ก็คือสิ่งเดียวกัน และผมเข้าใจว่าคำว่า "แบกผู้รู้" หมายถึงการเบื่อหน่ายการมีอยู่ของจิต ซึ่งก็คือ วิญญาณขันธ์ นั่นเอง
ส่วนการที่คุณ sakkaphan บอกว่า ผู้รู้ นี่ไม่ร่วมอยู่ในขันธ์ 5 น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะครับ ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ธรรมชาตินั้นเรียกว่าวิญญาณ ลองอ่าน
มหาเวทัลลสูตร ดูนะครับ เผื่อจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของ วิญญาณ ปัญญา สัญญา และเวทนามากยิ่งขึ้น
ทีนี้ในการปฏิบัติจนได้ความบริสุทธิ์ของสติมากจนเกิด "ตัวรู้" ขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้สภาพธรรมต่างๆ ที่ปรากฎขึ้น ทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งหากฝึกจนมีความเชี่ยวชาญ การที่อยู่กับตัวรู้นี้จะทำให้เรียนรู้ธรรมะได้ตลอดเวลา ซึ่งก็เหมาะสมกับการที่จะเดินวิปัสสนาอย่างยิ่ง เพราะ จิตเบาบางจากกิเลสมากเพียงพอที่จะเห็นความจริงต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนคำที่ว่า วิปัสสนาแท้ วิปัสสนาเทียม นี่ ผมเข้าใจว่ารากฐานน่าจะมาจาก ญาณกถา ในปฏิสัมภิทามรรค ของพระสารีบุตร ซึ่งท่านก็ไม่ได้แบ่งว่าอะไรเป็นวิปัสสนาแท้ วิปัสสนาเทียม เป็นคัมภีร์รุ่นหลังๆ ที่มาแบ่งแยกว่า โดยแบ่งญาณต่างๆ ที่พระสารีบุตรได้อธิบายเอาไว้ ซอยย่อยออกเป็น วิปัสสนาญาณ 9 และญาณ 16 โดยวิปัสสนาแท้ เค้าจะนับ ญานที่ 4 ที่ชื่อ อุทยัพพยานุปัสนาญาณ เป็นต้นไป
ในขณะที่ ญานที่ 3 ซึ่งก็เป็น ญานที่สำคัญเช่นกัน ที่ชื่อว่า สัมมสนญาณ เป็นปัญญาในการสรุปธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยความเป็นไตรลักษณ์ และโดยความเป็นปัจจัย อันนี้นี่แหละที่เค้าว่ากันว่ายังไม่ใช่วิปัสสนาแท้ๆ เพราะ ยังเป็นปัญญาในระดับจินตามยปัญญา
ในขณะที่ ญานที่ 4 ที่เข้าไปใส่ใจสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ โดยเห็นความเกิดดับที่เกิดขึ้นของสภาวะต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ต่อหน้าต่อตา นั่นแหละ ถึงจะเริ่มนับเป็นวิปัสสนาญาณแท้
และเมื่อจิตได้เห็นการเกิดดับของสภาวะธรรมต่างๆ จิตอีกดวงหนึ่งก็เข้าไปเห็นการแตกไปของจิตที่เกิดขึ้นก่อนหน้า จึงเป็น ญาณต่อมา ซึ่งพระสารีบุตร เรียก ญาณนี้ว่า วิปัสสนาญาณ
และเมื่อเห็นความเกิดดับของสภาพธรรมต่างๆ และการแตกไปของจิตบ่อยๆ เข้า ก็จะเกิดปัญญาที่เข้าไปเห็นว่าสังขารธรรมที่กำหนดรู้นั้นๆ ว่าเป็นภัย ว่าเป็นทุกข์โทษ เมื่อเห็นภัย เห็นทุกข์โทษ ก็จึงเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนด เมื่อคลายกำหนดก็อยากที่จะสลัด เมื่ออยากจะสลัดจึงหาทาง เมื่อหาทาง จึงฝึกฝน ทำให้มรรคเจริญขึ้น
อย่างไรก็ตามการน้อมใจสั่งสมทั้ง สุตมยปัญญา และ จินตามยปัญญา เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดภาวนมยปัญญาขึ้น เปรียบเทียบตามที่ผมเข้าใจ เหมือนกับการตัดสินโทษนักโทษ ในการตัดสินโทษนักโทษ จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินโทษ สุตมยปัญญา และ จินตามยปัญญา ก็เหมือนกับกระบวนการสอบสวนคดี ก่อนที่ได้ข้อมูล เหตุผลมากเพียงพอ เมื่อข้อมูลเหตุผลมากเพียงพอ เราจึงตัดสินประหารกิเลส ด้วย ภาวนมยปัญญา
ทีนี้หากเราเอาแต่สอบสวน ไตร่สวน กันไม่จบไม่สิ้น ไม่ตัดสินคดีความซะที คดีความก็คาราคาซัง ท่านเลยอยากให้เราขึ้น วิปัสสนาแท้ เพื่อที่จะได้ขึ้นไปประหารกิเลสกันสักที ไม่ใช่มัวแต่หาข้อมูล หาหลักฐานไม่จบไม่สิ้น อย่างพระสารีบุตรพอขึ้นเป็นพระอนาคามีแล้วก็ใช้เวลาไปกับสัมมสนญาณนานอยู่กว่าที่จะพิจารณาธรรมเสร็จสิ้น จึงใช้เวลาในการบรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระโมคคัลานะ
เขียนไปเขียนมาทั้งยาว และนอกเรื่อง สรุปเลยละกัน ผมว่าคุณ sakkaphan ลุยไปเรื่อยๆ เลยครับ ศึกษาธรรมชาติต่างๆ ของกายใจให้มากๆ เข้า ลุย ไถ ดะ แบบนี้แหละครับ ดีแล้ว พอเจอสภาพจิตที่หลากหลายแบบ บ่อยๆ เข้า มันก็จะสะสมเป็นองค์ความรู้มากขึ้นๆ ถ้ายังไม่รู้จักขันธ์ 5 มากเพียงพอ ยังไม่รู้จักสภาพจิตในแต่ละแบบมากพอ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ มันก็ยังไปได้ไม่สุดอยู่แล้ว และการฝึกแบบลุยดะ ไม่ต้องคิดมากแบบนี้แหละครับดีแล้ว มันจะวิปัสสนาเทียม วิปัสสนาแท้ อะไรก็ช่างมัน ขอให้เป้าของเราถูก คือ การออกจากกาม การไม่พยาบาท และไม่เบียดเบียน ทุ่มเทกายใจ ศึกษาให้มาก ปฏิบัติให้มากๆ พูดให้น้อยๆ อ่าน และถามผู้รู้ให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา จะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้นเอง
ขออนุโมทนากับคุณ sakkaphan และกราบขออภัยด้วย หากเขียนยาวเกินไป