อนาคตกับรถยนต์ไฟฟ้า / โดย คนขายของ
“ตู้เย็น” เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านราวๆปี 1920 ในช่วง 15 ปีแรกของการออกสู่ตลาด ยอดขายของตู้เย็นนั้นโตแต่คิดเป็นมูลค่าไม่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยเช่น ราคายังสูง ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ทำให้มูลค่าตลาดยังเล็ก แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี 1935-1960 ยอดขายตู้เย็นทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นเป็น อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของการขายตู้เย็น แต่ในยุคต่อมาตลาดดูเหมือนจะอิ่มตัว ทุกบ้านเริ่มมีตู้เย็น กันหมดแล้ว การเติบโตสูงๆในอดีตก็หมดไป ตลาดตู้เย็นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือน แต่ก่อน วัฏจักรทำนองนี้มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์สี ที่เริ่มในปี 1960 หรือ โทรศัพท์ มือถือ ในปี 1985 วงจรที่มีลักษณะที่ เติบโตในตอนต้น พุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงมากในตอนกลาง และชะลอ ตัวลงในตอนท้ายนั้น เป็นวงจรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “S-Curve”
อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม Electric Vehicle (EV) เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่ในช่วงต้นของ S-Curve ที่ตลาดกำลังเติบโต แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าตลาดจึงยังไม่ใหญ่มาก ข้อมูลจากสถาบัน ZSW ของเยอรมันได้รวบรวมว่า จำนวน EV ในโลกในช่วง ปี 2013 อยู่ที่ หนึ่งแสนคัน ในปี 2014 ตลาดขยายตัว 100% ปี 2015 ขยายตัว 83% และในปี 2016 ตลาด EV คาดว่าจะขยายตัว 76% มาอยู่ที่ราวๆ 560,000 คัน แล้วบริษัทไหนที่ผลิต EV ออกมาแล้วมี ยอดขายสูงสุด? ใช่ค่ายรถยนต์ชื่อดังหรือเปล่า? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะ TESLA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ราวห้าหมื่นคันในปี 2015 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับแชมป์ระดับโลกอย่าง TOYOTA ที่ผลิตรถถึงสิบล้านคัน แต่ TESLA กลับได้เป็นแชมป์โลกในตลาดของรถไฟฟ้า (ในด้าน ยอดขายเป็นตัวเงิน ไม่ใช่จำนวนคัน)
จากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2015 ที่ราว 83 ล้านคัน เราจะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ EV ตอนนี้อยู่ที่แค่ราว 0.4% เท่านั้นเอง TESLA ประเมินว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถยนต์ได้เกือบ 1 แสนคัน หรือโตขึ้น 100% จากปี 2015 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภายในปี 2040 รถ EV จะมีส่วน แบ่งราว 35% ของรถยนต์ทั้งหมด ทำไมตลาด EV ถึงมีการขยายตัวที่สูงมาก? ผมคิดว่าเป็นเพราะ หนึ่ง แรงจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลในหลายประเทศ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี สัดส่วนของ EV มากที่สุดในโลก ราว 25% ของรถใหม่ในตลาด รัฐบาลยกเว้นภาษี VAT 25%, ค่าผ่านทาง (Toll Road) ฟรี, วิ่งเข้าเลนรถเมล์ได้ และ จอดรถในตัวเมืองได้ฟรี ประเด็นผลักดันที่สอง คือ ราคารถ EV ที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากราคาของ Lithium-ion Battery ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของรถยนต์ EV มีราคาลดลงจาก 1,000$ ต่อ KWH ในปี 2010 มาเหลือเพียง 380$ ในปี 2015 และ ประเด็นที่สาม คือการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน ของรัฐบาลและประชาชน ทำให้มีกฎควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่ง EV ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษของไอเสีย เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิด
แต่ถึงกระนั้นโลกของ EV ก็ไม่ได้สวยหรูไปหมดทุกอย่าง ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะทางที่วิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งในตอนนี้รถ EV ในเซกเมนท์ประหยัด วิ่งได้แค่ 250 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันในตอนนี้ วิ่งได้ถึง 500-600 กิโลเมตรเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง นอกจากนั้น เรื่องแท่นชาร์จไฟ ก็ยังเป็นปัญหาหลักเมื่อวิ่งออกไปนอกเมือง ตอนนี้ TESLA ต้องมาลงทุน เรื่องสถานีชาร์จไฟเองเพื่อตอบสนองลูกค้า ระยะเวลาในการชาร์จก็ยังเป็นปัญหา ในตอนนี้เครื่องชาร์จแบบเร็วที่สุดจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่ก็ยังเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าการเติมน้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ที่ชาร์จที่พบทั่วไปในที่สาธารณะจะเป็นแบบ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่สะดวกเท่าไรนัก และประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราคา รถ EV ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง อย่าง BMW i8 ที่อเมริกาขายราคา 4.9 ล้านบาท TESLA Model S ราคา 2.45 ล้านบาท หรือ แบบประหยัดอย่าง Nissan Leaf ก็ตกราว 1.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคา Honda Civic ที่ 7 แสนบาท ก็ดูเหมือนว่า EV ยังเป็นรถราคาสูงอยู่
อุตสาหกรรม EV ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S-Curve ดูเหมือนว่าตลาดนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆจากแรง ผลักดันจากหลายภาคส่วน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นอุตสากรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพของ ตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีกยี่สิบปี บริษัทอย่าง TESLA ซึ่งหันมาโฟกัสทางด้านนี้ ในปี 2010 มียอดขาย แค่เพียง 117 ล้านเหรียญ แต่กลายมาเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2015 ถึงแม้ว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปีล่าสุด สามารถทำได้ ในระดับเดียวกับ TOYOTA และ HONDA ณ เวลานี้คงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในศึก EV ของวงการรถยนต์ เพราะในช่วงแรกของ S-Curve เมื่อทุกคนเห็นว่าตลาดเติบโต จะมีผู้สนใจเข้ามา ร่วมแข่งขันกันเป็นอย่างมาก หากเรานึกถึงตลาดชาเขียวในเมืองไทยเมื่อราวสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลาก หลายแบรนด์ แต่ตอนนี้หลักๆคือแค่สองแบรนด์ ตลาด EV นั้นคงต้องผ่านการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่จะรู้แน่ชัดว่า ใครกันจะได้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดเมื่อการดีดตัวอย่างรุนแรงของ S-Curve มาถึง