Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์และไม่ได้มีความรู้ความชำนาญด้านวิศวกรรมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นผู้ที่ใช้และชอบรถยนต์ (และจักรยานยนต์) มาตั้งแต่เด็กและในวัยที่เรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยก็มีประสบการณ์ซ่อม และดูแลรถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุมากกว่าตัวเองมาเกือบ 10 ปี ทำให้เข้าใจว่ารถยนต์ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนั้นหัวใจคือ Internal Combustion Engine (ICE) หรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นกระบวนการนำมาซึ่งพลังงานเพื่อขับเคลื่อนที่มีความยากลำบากและสลับซับซ้อนมาก กล่าวคือ

1) ต้องกลั่นน้ำมันดิบมาเป็นเบนซินหรือดีเซลและนำของเหลวที่ไวไฟดังกล่าวมาเก็บ เอาไว้เต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถ ICE

2) ICE จะต้องนำเอาเชื้อเพลิงมาผสมกับอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม (ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์) และฉีดส่วนผสมลงไปในลูกสูบและลูกสูบต้องอันส่วนผสมดังกล่าวเพื่อให้เกิดการ จุดระเบิด ซึ่งทำให้ลูกสูบเคลื่อนลงในกระบอกสูบ ในขณะที่อีก 3-5- หรือ 7 สูบก็จะต้องรอเตรียมทำหน้าที่เดียวกัน ซึ่งการฉีดส่วนผสมการอัดแน่น การจุดระเบิดและไหลออกหลังการจุดระเบิด (รวมกันเป็น 4 จังหวะ) นั้นถูกนำมาหมุนเพลาที่ขับเคลื่อนรถยนต์ในที่สุด

3) แต่กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพต่ำมากในการนำเอาพลังงานมาใช้ให้เป็น ประโยชน์ (ทำให้ล้อหมุนและรถเคลื่อนที่) เพราะพลังงานส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการสันดาป (จุดระเบิด) ก็คือความร้อน ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ICE มีประสิทธิภาพในการใช้งานเพียง 20% โดยที่เหลือเป็นความร้อนที่ไม่พึงต้องการ

4) ดังนั้น ICE จึงต้องมีระบบระบายความร้อนบวกกับเครื่องกรองมลพิษ (catalytic converter) เพิ่มขึ้นอีกด้วย กล่าวโดยสรุปคือเครื่อง ICE จะต้องมีระบบไฟ (เพื่อจุดระเบิด) และเพื่อใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นไฟรถยนต์ ระบบควบคุมการใช้น้ำมัน ระบบการระบายความร้อนและระบบการถ่ายเทก๊าซดังกล่าว กล่าวคือมีทั้งหมด 5 ระบบที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ (ในกรณีของดีเซลไม่ต้องจุดระเบิด แต่การเพิ่มแรงอัดเชื้อเพลิงระเบิดเองทำให้เครื่องยนต์ต้องแข็งแรงมากขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น) นอกจากนั้นเมื่อต้องการเพิ่มศักยภาพของ ICE ก็ต้องเพิ่มระบบเทอร์โบหรือซูเมอร์ ชาร์ตเจอร์เข้าไปอีก (คือการนำเอาไอเสียมาหมุนกังหันเพื่อเร่งการไหลเข้าของน้ำมัน/อากาศในเสื้อ สูบ ในกรณีของเทอร์โบหรือการนำเอากำลังเครื่องไปหมุนกังหันดังกล่าวในกรณีของซู เมอร์ ชาร์ตเจอร์)

5) เครื่อง ICE นั้นยังต้องมีระบบหล่อลื่น (lubrication system) ชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีอยู่มากมายอีกด้วย ดังนั้นนอกจากการเติมน้ำมันแล้วจึงต้องการตรวจดูน้ำมันเครื่องและเปลี่ยน ถ่ายทุกๆ 10,000 กิโลเมตร

6) เนื่องจากเครื่อง ICE สร้างพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ในรอบเครื่องที่จำกัด กล่าวคือจะมีแรงม้าและแรงบิดในระดับที่เพียงพอที่รอบเครื่องประมาณ 2,000-7,000 รอบ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเสริมด้วยระบบเกียร์คือเป็นเกียร์ธรรมดา 5-6 จังหวะหรือเกียร์อัตโนมัติ 6-8 จังหวะ ซึ่งระบบเกียร์ย่อมเพิ่มต้นทุนเพิ่มน้ำหนักรถและเพิ่มความสลับซับซ้อนในขณะ ที่เครื่องไฟฟ้าไม่ต้องมีระบบเกียร์แต่อย่างใดและพลังงานจากเครื่องไฟฟ้า สามารถนำไปหมุนเพลาได้เลยโดยตรง

7) ต่อมาบริษัทรถยนต์ยังเพิ่มเครื่องไฟฟ้าไปช่วยขับเคลื่อน ICE อีก ที่เราเรียกกันว่าไฮบริด (hybrid) ตรงนี้ยิ่งมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น เพราะ จะต้องมีทั้ง ICE ทั้งเครื่องไฟฟ้า ถังน้ำมันและที่ไว้แบตเตอรี่ ตลอดจนต้องมีระบบคอมพิวเตอร์มาสั่งการ (อีซียู) เพื่อสลับการใช้งานระหว่างเครื่องไฟฟ้ากับ ICE หรือใช้ทั้งสองร่วมกัน นอกจากนั้นยังระบบที่พยายามให้การเบรกรถยนต์ (ซึ่งทำให้เกิดความร้อนและแรงหมุนของล้อจากการชะลอตัวของรถยนต์) สามารถปั่นไฟเข้าไปในแบตเตอรี่อีกด้วย ผมมีเพื่อที่บ่นว่าอีซียูของไฮบริดนั้นเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งแล้วชำรุด ก็ทำให้รถยนต์ใช้การไม่ได้เลยและจะราคาแพงกว่า 2 แสนบาทก็เป็นได้

ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยจะเห็นดีเห็นงามกับการใช้เครื่องไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ปัจจุบันนำมาใช้ร่วมกับ ICE แต่ผมต้องยอมรับว่าต้องกลับมาคิดใหม่ ในกรณีของรถยนต์ Tesla ที่ เป็นรถไฟฟ้าที่ไม่นำเอา ICE มาเกี่ยวข้องเลย เพราะเจ้าของบริษัท Tesla คือนาย Elon Musk เขาประกาศว่าที่เขาจะต้องสร้างรถไฟฟ้าก็เพราะเขาต้องการลดมลภาวะและลดปัญหา โลกร้อน เนื่องจากรถไฟฟ้าจะไม่สร้างมลพิษเลยและไม่เป็นภาระต่อสภาพสิ่งแวดล้อม (ซึ่งไม่จริงทีเดียว เพราะการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ ลิเทียมนั้น ก็คือการต้องขุดหาแร่ลิเทียมมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก)

แต่ผมก็ต้องจำนนด้วยเหตุผลว่าเครื่องไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่เป็นประโยชน์ได้ดีกว่า ICE ถึง 4-5 เท่า กล่าว คือเครื่องไฟฟ้า (electric motor) นั้นเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้า เครื่องก็จะหมุนตัวและให้พลังงานและแรงบิดเต็มที่ทันที ไม่ทำให้เกิดความร้อนมากนัก เกือบจะไม่มีเสียงเลย จึงสรุปได้ว่าเครื่องไฟฟ้ามีประสิทธิภาพประมาณ 80-90% ในขณะที่ ICE มีประสิทธิภาพ 20% คำว่าประสิทธิภาพนี้หมายถึงการนำเอาพลังงานมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อน (propulsion) นะครับ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อเรียบเรียงให้ผู้ที่สนใจในเชิงของสาระทางเทคนิคเกี่ยวกับความแตกต่างของ ICE ที่มนุษย์เราใช้ขับเคลื่อนรถยนต์มานานกว่า 100 ปี (และคิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแล้ว) กับเครื่องไฟฟ้าซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่อาจเป็น “game changer” หรือ “disruptive technology” ที่ทำให้ ICE สูญพันธุ์ได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

บางคนอาจไม่อยากเชื่อว่ารถไฟฟ้าจะมาทดแทนรถยนต์ที่เราใช้กันอย่างแพร่ หลายและคุ้นเคยกันมาโดยตลอด กล่าวคือเราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้น่าจะใช้รถที่ผูกขาดโดยเครื่อง ICE เพียงอย่างเดียว และรถยนต์ปัจจุบันก็คุณภาพและสมรรถนะก็พัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นในครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงสรรพคุณของรถไฟฟ้า (เท่าที่มีข้อมูล) มาเปรียบเทียบกันครับ
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 2

โพสต์

มีตอนหนึ่งด้วยรึเปล่าครับ พยายาม search แล้วหาไม่เจอ
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 3

โพสต์

นายมานะ เขียน:มีตอนหนึ่งด้วยรึเปล่าครับ พยายาม search แล้วหาไม่เจอ

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ (1)

โดย : ASEAN Insight วันที่ 06 มิถุนายน 2559

บทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจในขณะนี้ ให้ความสำคัญกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าฟื้นจริงหรือไม่จริง ฟื้นมากหรือไม่มาก ฟื้นดีกว่าอาเซียนหรือไม่ หรือพยายามคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมหรือกันยายน อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ารอไปเดี๋ยวก็รู้และคงไม่น่ามีผลกระทบมากนักเมื่อเกิดขึ้น เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือการคาดการณ์

ดังนั้นผมจึงจะขอยุติการเขียนเรื่องเศรษฐกิจมหภาคเอาไว้สักระยะหนึ่งก่อน และขอหันมาเขียนเรื่องรถยนต์ Tesla และความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ ภาคการขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน และการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า ตามแนวคิดของอาจารย์ Tony Seba จากมหาวิทยาลัย Stanford ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งตัวเองเป็นนักพยากรณ์อนาคต โดยคาดการณ์ว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า โลกเราจะหยุดใช้น้ำมันดิบและรถยนต์ จะเป็นรถไฟฟ้าที่ขับเองโดยอัตโนมัติทั้งหมด

ผมไม่เคยพบอาจารย์ Seba แต่ได้รับการบอกเล่าจากคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกลุ่มเกียรตินาคิน-ภัทรฯ ว่าได้ไปฟังอาจารย์ Seba กล่าวสุนทรพจน์ตามคำเชิญของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยประมาณกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อฟังแล้วก็รู้สึก “อึ้ง” เพราะสิ่งที่นำเสนอนั้นดูมีเหตุผล แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมรถยนต์ การขนส่งและพลังงานนั้นจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 15 ปีเท่านั้น ซึ่งผมจึงมาหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่ามีอยู่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ตและ YouTube (ใครที่อยากดูของจริงเสียงจริงสามารถ search ชื่อ Tony Seba ได้เลยโดยไม่ต้องอ่านบทความของผม) ซึ่งผมจะพยายามเรียบเรียงและพยายามหาจุดอ่อน/ข้อตำหนิคำทำนายของอาจารย์ Seba พร้อมไปด้วย

ทำไมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ? เพราะประเทศไทยอาจเป็น Detroit of Asia และปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นที่ 9 ของโลก โดยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน (ส่งออก 1.2 ล้านคันและใช้ในประเทศ 8 แสนคัน) แต่อาจารย์ Seba มองว่ารถยนต์แบบที่ไทยผลิตอยู่นั้นอาจขายไม่ได้เลย ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า นอกจากนั้นตลาดหุ้นของไทยนั้นประมาณ 1/3 ประกอบด้วยมูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน การกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี แต่อาจารย์ Seba คาดการณ์ว่าโลกเราจะเลิกใช้ถ่านหินในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ตามด้วยการเลิกใช้ก๊าซธรรมชาติและไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันดิบภายในปี 2030 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะส่งผลต่อโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด การคาดการณ์ของอาจารย์ Seba นั้นดูเหมือนนิยาย ซึ่งเคยมีนักทำนายอนาคตหลายคนในอดีตที่ทำนายผิดพลาด ซึ่งในกรณีนี้ผมก็ต้องการมองหาข้อผิดพลาด เพื่อจะได้ไม่ต้องตื่นตระหนกเกินควรและขอให้ผู้อ่านพยายามหาข้อมูลมาเสริม หรือแย้ง เพราะน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

อาจารย์ Seba เริ่มโดยฉายภาพถนนใหญ่ในนครนิวยอร์ควันอีสเตอร์ปี 1900 ซึ่งมีรถม้าอยู่เต็มถนนและถามว่า “เห็นรถยนต์ไหม?” ซึ่งหากเพ่งมองก็จะเห็นอยู่เพียง 1 คัน แต่อีก 13 ปีให้หลังในวันอีสเตอร์ปี 1913 จะเห็นภาพถนนเดียวกันเต็มไปด้วยรถยนต์ และคำถามคือ “เห็นรถม้าไหม?” (มีอยู่ตัวเดียว) ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า Disruptive technology เกิดขึ้นได้และเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตกับม้าและรถลาก เมื่อถูกเทคโนโลยีใหม่คือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เข้ามาครอบงำอย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถล่มสลายได้ในพริบตานั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยอาจารย์ Seba ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัทยักษ์ของสหรัฐคือ AT&T ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นเจ้าตลาดโทรคมนาคมอยู่ในขณะนั้นได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญคือ McKinsey & Co ในปี 1985 ให้ตอบคำถามว่าภายในอีก 15 ปี (ปี 2000) น่าจะมีคนอเมริกันใช้โทรศัพท์มือถือกี่คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ไปทำการวิเคราะห์/วิจัยมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและให้คำตอบว่าน่าจะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 900,000 คน แต่ในความเป็นจริงนั้นปรากฏว่ามีคนใช้มือถือในสหรัฐทั้งสิ้น 109.5 ล้านคน ในปี 2000 AT&T จึง “ตกขวบรถไฟ” เพราะไมได้ลงทุนในโทรศัพท์มือถือ

อาจารย์ Seba บอกว่าในบางกรณีผู้ที่อยู่วงในหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกลับเป็นผู้ที่คาดไม่ถึงว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีความสำคัญ โดยยกตัวอย่างนายพลที่เป็นเสนาธิการทหารของฝรั่งเศสซึ่งพูดว่า “เครื่องบินเป็นของเล่นที่น่าสนใจ แต่จะไม่มีความสำคัญทางการทหาร” ในปี 1904 และซีอีโอของบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ของสหรัฐกล่าวในปี 1977 ว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนจะต้องการมีเครื่องคอมพิวเตอร์เอาไว้ใช้ในบ้านของตัวเอง”

กลับมาเรื่องของรถไฟฟ้าและเหตุผลที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอนาคตอันใกล้ ตรงนี้หากค้นคว้าหาข้อมูลก็จะพบว่า รถไฟฟ้านั้นเมื่อ 120 ปีที่แล้วได้รับความนิยมมากกว่ารถยนต์ที่วิวัฒนาการมาจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันเสียอีก Wikipedia ให้ข้อมูลว่านาย Thomas Parker เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เริ่มผลิตรถไฟฟ้าที่ใช้การได้จริงเมื่อปี 1884 และต่อมาในปี 1888 นาย Andreas Flocken ผลิตรถ Floken Elektrowagen ที่จุดกระแสความนิยมในรถไฟฟ้า ซึ่งสามารถขี่ได้สะดวกสบายกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทำให้รถไฟฟ้ามียอดขายสูงถึง 30,000 คันในช่วงที่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แต่ต่อมาวิวัฒนาการของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในด้านต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมแซงหน้ารถไฟฟ้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเติมน้ำมันได้รวดเร็วกว่า การที่รถยนต์ขับไปได้ไกลกว่าและการติดเครื่องยนต์โดยใช้ไฟฟ้าแทนการต้องหมุนเครื่องให้ติดโดยใช้มือ

ในครั้งต่อไปผมจะขออธิบายข้อแตกต่างบางประการที่สำคัญเกี่ยวกับรถไฟฟ้าและรถยนต์ ซึ่งช่วยให้เข้าใจได้ว่าวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบพลิกโฉมหน้าธุรกิจรถยนต์อีกครั้งในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณคุณ seattle มากครับ ^^
cobain_vi
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 358
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ตอนนี้เห็นมีการพัฒนาเเบตเตอรี่ให้จุไฟได้มากขึ้นและขนาดลดลง อยากทราบว่ามีการพัฒนาโซลาร์เซลลแสงอาทิตย์ให้มีขนาดบางและเบาและจ่ายกระเเสไฟฟ้าได้มากขึ้นไหมครับ
มรณฺง เม ภวิสฺสติ ความตายจักมีแก่เรา
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 6

โพสต์

cobain_vi เขียน:ตอนนี้เห็นมีการพัฒนาเเบตเตอรี่ให้จุไฟได้มากขึ้นและขนาดลดลง อยากทราบว่ามีการพัฒนาโซลาร์เซลลแสงอาทิตย์ให้มีขนาดบางและเบาและจ่ายกระเเสไฟฟ้าได้มากขึ้นไหมครับ
ผมว่าน่าจะอีกนาน ที่จะสามารถใช้เป็นจริงเป็นจังได้

ชาร์จจากแสงอาทิตย์ ตอนนี้ก็ได้แค่รถกอล์ฟครับ ขนาดนั้นยังต้องใช้แบตที่ชาร์จมากไฟบ้านเป็นหลัก โดยเฉพาะเจอช่วงแดดไม่มี แผงแค่ช่วยประหยัดไฟ
ยิ่งนั่งหลายคน บรรทุกสัมภาระ ยิ่งใช้ไฟมาขึ้นในการขับเคลื่อน ถ้ามาเป็นรถเก๋งยิ่งเอามาใช้บ้านเรา ต้องการติดแอร์เย็นสบาย ก็กินไปอีก

Tesla รถของ Elon Musk ยังชาร์จจากไฟ 3 เฟส ตั้งเป็นชม.
ล่าสุด บอกเร่งให้ชาร์จได้เร็วสุดๆ แล้ว model S ก็ยังได้เร็วสุด 20 นาที ที่คิดกัน ก็มี solution บริการเปลี่ยนแบต (ที่ชาร์จไว้แล้ว) ระหว่างทาง กับอีกอย่าง ถนนใส่กระแสไฟฟ้า คล้าย wireless charger ของมือถือ วิ่งไปชาร์จไฟไป


คิดดูง่ายๆ แบบไม่ต้องซับซ้อน แผงขนาดเต็มหลังคารถกอล์ฟ อย่างมากสุด ก็ราว 300W หรือ 0.3kW (k คือ kilo, 1000 Watt = 1kW) ----> เอามาชาร์จ Batt ที่ใช้กับ Tesla ตอนนี้มี 60, 70, 85, 90 kWh

เห็นตัวเลขแค่นี้ ยังไม่ได้จับหารจริงจังก็พอจะเห็นแววแล้ว เทียบกับไฟจากแผง 0.3kW คือแค่เกินครึ่งของครึ่งกิโลวัตต์ไปนิดเดียว แล้วยังมีเงื่อนไขแดดแรงเต็มที่ ถึงจะได้ไฟสูงสุดตาม spec

อนาคตยังไม่รู้ แต่ตอนนี้ ยังเหมือนฝันที่จะเอาไฟที่ได้จากการจุดไม้ขีด ไปต้มน้ำชงกาแฟ :roll:
KriangL
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1487
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 7

โพสต์

cobain_vi เขียน:ตอนนี้เห็นมีการพัฒนาเเบตเตอรี่ให้จุไฟได้มากขึ้นและขนาดลดลง อยากทราบว่ามีการพัฒนาโซลาร์เซลลแสงอาทิตย์ให้มีขนาดบางและเบาและจ่ายกระเเสไฟฟ้าได้มากขึ้นไหมครับ
https://en.wikipedia.org/wiki/File:PVeff(rev160420).jpg
โซลาร์เซลล์มันพัฒนากันทีละเปอร์เซนต์ครับ จะหวังว่าจะจ่ายไฟมากขึ้น 5 เท่า 10 เท่าเหมือนอีกหลายเทคโนโลยีคงไม่ได้ครับ
jonny11
Verified User
โพสต์: 572
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 8

โพสต์

อเมริกาเค้ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เปิดเผยหมด จะบอกเมื่อถึงเวลาและโอกาสเหมาะสม. อย่างเชลออยเนี่ยเพิ่งคุยกันไม่เกินห้าปี. ตอนนี้ผลิตออกมาเยอะจนทำให้บริษัทน้ำมันทั่วโลกร่อแร่ ถ่านหินจะเจ๊ง
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 9

โพสต์

นายมานะ เขียน:ขอบคุณคุณ seattle มากครับ ^^

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ (3)

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ วันที่ 20 มิถุนายน 2559


ครั้งที่แล้วผมพยายามอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับรถที่ใช้เครื่องยนต์ Internal Combustion Engine (ICE) ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายในปัจจุบันที่ได้พัฒนามานานกว่า 100 ปี โดยกล่าวว่าเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสลับซับซ้อนมาก แต่มีประสิทธิภาพต่ำ (นำเอาพลังงานที่ผลิตออกมาใช้งานได้เพียง 20% และอาจถูกตีตลาดโดยรถที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ รถ Tesla ซึ่งผมขอสรุปสรรพคุณของรถ Tesla โดยไม่ต้องอธิบายในเชิงเทคนิคดังนี้

1) รถ Tesla นั้นนำไปบรรจุ (ชาร์จ) ไฟฟ้าครั้งหนึ่งวิ่งได้ประมาณ 320-400 กิโลเมตร จะจ่ายค่าไฟประมาณ 150 บาท แต่ในสหรัฐอเมริกาบริษัท Tesla มีแหล่งชาร์จไฟเป็นพันแห่ง (และจะเพิ่มเป็นหลายพันแห่งทั่วประเทศภายในปลายปีหน้า) โดยอาจให้เติมไฟได้โดยไม่คิดเงินเลย ในขณะที่เราเติมน้ำมันรถยนต์เต็มถังครั้งหนึ่งประมาณ 1,500-2,000 บาท

2) เครื่องไฟฟ้ามีชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อยกว่า ICE มาก บริษัท Tesla จึงรับประกันเครื่องยนต์ไฟฟ้า 8 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง (รถ Taxi น่าจะพอใจมากที่สุด) รถไฟฟ้าไม่มีระบบระบายความร้อน ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่สร้างมลภาวะ และไม่มีเกียร์ นอกจากนั้นยังไม่มีเสียง จึงไม่ต้องมีท่อเก็บเสียง

3) รถ Tesla ที่เป็นรถโดยสาร 5 คนคือ modelS และล่าสุดรถอเนกประสงค์ (SUV+minivan) ที่เรียกว่า X นั่งได้ 6 คน สามารถเร่งแซงรถ Ferrari (หรือ Lamborghini หรือ McLaren) ได้เพราะเครื่องไฟฟ้านั้น แรงม้าและแรงบิดจะมา 100% ในทันที โดยไม่ต้องรอรอบ เช่น รถ ICE แต่จะต้องยอมให้ใช้พลังจากแบตเตอรี่สูง ซึ่งบริษัท Tesla ให้ทางเลือกที่เรียกว่า Ludicrous speed/mode หรือ “เร็วอย่างบ้าบิ่น” ทั้งๆ ที่รถ Tesla model X นั้น ราคาเพียง 4-5 ล้านบาท ในขณะที่ซูเปอร์คาร์ที่กล่าวถึงนั้นราคาสูงกว่า 4-5 เท่า (Ludicrous mode ทำให้ Tesla model X เร่งจาก 0 ถึง 100 กิโลเมตร/ชม. ได้ในเวลากว่า 3 วินาทีเล็กน้อย เทียบเท่ากับ Super car ที่ต้องมีแรงม้าประมาณ 500 ตัวขึ้นไป

กล่าวคือ Tesla กำลังขายรถไฟฟ้าในอเมริกาที่ราคาถูกกว่า กินน้ำมันน้อยกว่า เร็วกว่าและมีประกันศูนย์ยาวนานกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ทุกยี่ห้อ และยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษ จึงมีประโยชน์ในการลดภาษีมลภาวะ

ปัญหาหลักของ Tesla คือ ผลิตไม่ทันความต้องการ เพราะเข้าใจว่ารุ่น X และรุ่น S ก็ต้องรอหลายเดือน ในขณะที่เมื่อประกาศรุ่นล่าสุดคือ model 3 ราคา 35,000 ดอลลาร์ ก็มียอดจองใกล้ 4 แสนคันแล้ว ทั้งๆ ที่จะยังไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ จนกระทั่งปลายปีหน้า

ยอดจองรถ Tesla model 3 นั้น สร้างประวัติศาสตร์รถยนต์ เพราะไม่เคยมีการจองรถยนต์รุ่นใดมากมายขนาดนี้ตั้งแต่มีการผลิตรถยนต์เกือบ 150 ปีที่ผ่านมา (โดยปัจจุบันน่าจะมีรถยนต์บนโลกนี้หลายร้อยล้านคัน) การสั่งจองรถ Tesla model 3 นั้นต้องวางเงินมัดจำคันละ 1,000 ดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา (และที่อังกฤษ 1,000 ปอนด์ แปลว่าบริษัท Tesla ได้รับเงินสดมาแล้วเกือบ 14,000 ล้านบาทสำหรับรถยนต์รุ่นเดียว ซึ่งตัวเองยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเลย ทั้งนี้เพราะรถ Tesla รุ่นก่อนหน้าคือ Tesla S นั้น ได้รับคำชมเชยมากมาย เช่น consumer reports ให้คะแนน 103 จาก 100 และสรุปว่าขับดีกว่า Rolls Royce โดยมีราคาที่สหรัฐประมาณ 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับรถเบนซ์รุ่น S และต่อมามียอดขายแซงหน้ารถสุดหรูรุ่นดังกล่าวของเยอรมันในบางตลาด

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ บางคนอาจบอกว่าเป็นการคัดกรองเอาข้อมูลด้านเดียวมานำเสนอให้เกิดกระแสว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะเป็น disruptive technology ซึ่งก็เคยมีการสร้างกระแสเช่นนี้มาก่อนหน้า แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งผมก็ยอมรับว่า ผมเองนั้นเชื่อมั่นในรถยนต์ ICE มาโดยตลอด จึงได้พยายามหาข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าเริ่มเป็นห่วงว่ารถยนต์ ICE อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการรุกฆาตทางเทคโนโลยีจริงๆ และอาจไม่แตกต่างจากเทคโนโลยีการถ่ายแบบ digital ที่ทำให้ฟิล์มต้องสูญพันธ์ไปเกือบหมดสิ้น ทำไมจึงคิดเช่นนั้น? เพราะผมไปพบรายงานในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2016 เรื่อง “Germany to subsidize electric autos” ซึ่งสาระของข่าวมีดังนี้

Wall Street Journal เริ่มรายงานข่าวว่าเมื่อต้นปีนี้ผู้ช่วยคนสนิท (top aide) ของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นาง Angela MerKel ได้เรียกประชุมลับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทรถยนต์ของประเทศเยอรมนี และถามผู้บริหารดังกล่าวว่า What are you going to do about Tesla? และ 3-4 เดือนให้หลังคำตอบของรัฐบาลเยอรมัน บริษัทรถยนต์ Volkswagen BMW และ Diamler Benz คือรัฐบาลจะออกมาตรการ “รถไฟฟ้าคันแรก” โดยจะคืนเงินให้กับผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้าคันละ 4,000 ยูโรและผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้าลูกผสม (Hybrid) คันละ 3,000 ยูโร (ลดราคาประมาณคันละ 12%) นอกจากนั้นรัฐบาลก็ยังจะต้องอุดหนุนการสร้างเครือข่ายสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสามารถ “เติมน้ำมัน” ได้โดยสะดวกยิ่งขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนา ตลอดจนจ่าย 50% ของภาระของรัฐบาลมาตรการดังกล่าวข้างต้น โดยจะจ่ายเป็นผ่อนส่ง ทั้งนี้เพราะหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล บริษัทรถยนต์เยอรมนีจะไม่สามารถแข่งขันกับ Tesla ได้ เพราะตามเทคโนโลยีของ Tesla ไม่ทัน

ตรงนี้ผมต้องขอเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ให้ครบถ้วนดังนี้ครับ Tesla เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ปัจจุบันผลิตรถยนต์เพียง 2 รุ่น (รุ่น S กับรุ่น X) รวมปีละไม่กี่หมื่นคัน โดยบริษัทมีอายุประมาณ 12-13 ปี แต่บริษัทรถยนต์เยอรมนี 3 บริษัทนั้นผลิตรถยนต์ปีละเป็นหลายล้านคันและผลิตรถยนต์มานาน 150 ปีแล้ว บริษัท Volkswagen นั้นผลิตหลายยี่ห้อ เช่น Volkswagen Audi Bentley Lamboghini และร่วมลงทุนผลิตรถ Porche Seat และอื่นๆ ในขณะที่ BMW ก็ยังเป็นผู้ผลิต Rolls Royce และเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่อีกด้วย สำหรับ Diamler Benz นั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มอีกมาก เพราะคนไทยรู้จักและนิยมยี่ห้อนี้มากที่สุด

ครั้งต่อไปผมจะเล่าต่อว่าประเทศเยอรมนีกลัวรถ Tesla จนต้องออกมาตรการ “รถยนต์ไฟฟ้าคันแรก” ครับ
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ไทยเจ๋งอุตรถยนต์ไฟฟ้าแห่ลงทุน จี้กรมขนส่งรื้อระเบียบเก่า-ตั้งเป้าดีเดย์ผลิต ปี 2560

20 มิ.ย. 2559 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นหารือกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในไทย คาดเดินเครื่องผลิตได้ภายในปี 2560 ตั้งเป้ายอดขาย 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เจาะกลุ่มอาเซียน-ยุโรป

นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นเข้าพบว่า บริษัท FOMM Corporation จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีแผนที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ผลิตของไทย เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เพื่อส่งขายในตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีราคาประมาณคันละ 3 แสนบาท ขณะนี้รถต้นแบบได้ผลิตเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบด้านความปลอดภัย

ที่ผ่านมา FOMM ได้เข้ามาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิจัยพัฒนาด้านความปลอดภัย โดยในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าของ FOMM สามารถวิ่งได้ไกล 150 กม./ชม. ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง (6 ชม.) มีความเร็ว 90 กม./ชม. แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าหลังจากสร้างโรงงานเสร็จในปี 2017 จะเพิ่มระยะทางวิ่งได้ 300 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้สามารถสู้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถลอยน้ำ และขับเคลื่อนในน้ำได้หากเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ FOMM ยังได้จับมือลงนามเอ็มโอยูกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในความร่วมมือพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งการบริหารหลังการขายร่วมกัน โดยในระยะแรกจะตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับการเข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ทาง FOMM ขอให้กระทรวงผลักดันแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งตามท้องถนนจะต้อง มีกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 15 กิโลวัตต์ จึงจะสามารถจดทะเบียนได้ แต่จากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้กำลังไฟฟ้าได้ ต่ำกว่าที่กำหนดได้แล้ว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือในเรื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขนาดเล็กในท้องถนนว่าจะมีความปลอดภัยเพียงไร ซึ่งหากผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัยได้ ก็เชื่อว่าจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งในท้องถนนหลวงได้

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องการผลิตรถบัสไฟฟ้า ที่ภาคเอกชนอยากให้ในระยะแรกนำเข้ารถบัสไฟฟ้าทั้งคันจากจีนก่อนเพื่อทดสอบ ตลาด จากนั้นจึงค่อย ๆ ส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานประกอบ และผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องหารือในรายละเอียดของการส่งเสริมว่าจะต้องมี มาตรการใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

"มาตรการอุดหนุนทางภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุด 8 ปี ยังไม่เพียงพอต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะประเทศคู่แข่งต่างอุดหนุนในด้านต่าง ๆ มากกว่านี้ ดังนั้นหากไทยต้องการดึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต จะต้องมีมาตรการอื่น ๆ สนับสนุน จึงจะมีแรงในการชักจูงการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยไทยยังมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นในด้านของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่ ที่สุดในอาเซียน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก หากมีมาตรการด้านอื่น ๆ มาเพิ่ม ก็จะทำให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น" นายสมชายกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าได้เกือบทุกพื้นที่ เพราะระบบไฟฟ้าของไทยเป็นไฟฟ้าแรงสูง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 20 นาที ขณะที่การเติมน้ำมันใช้เวลา 5 นาที ขณะที่ต่างประเทศตามถนนในเมืองจะเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ จะมีความยุ่งยากในการสร้างสถานีชาร์จ"
nut776
Verified User
โพสต์: 3350
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 11

โพสต์

trend รถขับเคลื่อน มอเตอร์ไฟฟ้า กับ รถน้ำมัน พอมองออก


แต่บอกว่า โลกไม่ใช้น้ำมัน นี่ผม มองไม่ออกจริงๆคับ
เพราะ ปิโตรเคมี ที่เป็นผลพวงมันอยู่รอบตัวเรามากเหลือเกิน
ถ้า ไม่กลั่นน้ำมันใช้ แล้วของพวกนี้จะทำอย่างไร
ราคาจะเป็นไง สินค้าทดแทนมีหรือไม่

คือ รถม้าไป รถยนต์ เชน มันต่างกัน มันไม่ซับซ้อนมาก
คนเลี้ยงม้า คนปลูกหญ้า คนประกอบตัวถัง

พอเป็นรถยนต์ ไปรถไฟฟ้า น้ำมัน มันมี เชน ซับซ้อนกว่ามาก
ไม่ทราบ ใครพอมีไอเดีย ตรงนี้ไหมคับ
หรือต่อไป เราจะเอาน้ำมันมากลั่น เอาเฉพาะ บายโปรดัก หว่า
show me money.
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 12

โพสต์

ผมเชื่อว่าเราจะใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ต่อไปเรื่อยๆ ผสมผสานกันกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น จนกว่ามันจะไม่มีให้ใช้ ตอนนี้ก็มีเชลแก้ส เชลออยล์ ขุดลงไปลึกกว่ามามากขึ้น

คิดถึงโลกความเป็นจริง รถบอกไม่ใช้น้ำมัน แต่ไฟฟ้าที่ได้มาเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ที่ขั้นตอนการผลิต ยังมาจากการเผา fossil fuel จากน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก

พลังงานมีตัวเลือกไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับ งั้นลองพยายามไล่อื่นๆ ทีละอัน ว่าอันไหนผลมาก-น้อย
แสงอาทิตย์และลม ใช้มากขึ้น ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ แค่ช่วยให้เผาพลังงานเหล่านั้นลดลง และความสม่ำเสมอในการแปลงพลังงานนั้นมาเป็นไฟฟ้า คือจุดอ่อนที่พึ่งมันเป็นหลักไม่ได้
ชีวมวลนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย จะบอกทำรายได้ให้บริษัทไหน เท่าไหร่ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเอาไปเทียบสัดส่วนการผลิตโดยรวม มันน้อยนิดอยู่มาก
"การเผา" เหลืออีกตัวเล่น คือถ่านหิน ก็รังเกียจว่ามลพิษ แต่ก็ยังคงใช้อยู่ จริงๆ มีการปรับปรุงขึ้นเยอะ... ที่จริงก็เป็นมันเป็น fossil fuel ชนิดหนึ่งเหมือนกัน แค่คนละรูปแบบ ไม่ได้เป็นของเหลวหรือก๊าซ แต่ไม่ได้มี by-product แบบจากปิโตรเคมี


ที่เหลือล่ะ... ของดั้งเดิมเขื่อนพลังน้ำปกติก็ได้น้อยอยู่แล้ว นับวันป่าต้นน้ำถูกทำลาย จะปลูกทดแทน หรือรอป่าฟื้น ก็ไม่ทันกับการทำลายของคน ที่ประชากรล้นโลกขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็คือผลาญทรัพยากรกันหนักขึ้น
ผมไม่ได้มาพูดในแง่แบบนักอนุรักษ์นะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะพูดในแง่ไหนดี ไม่ต้องอิงทฤษฎีอะไร ว่าแบบบ้า่นๆ นี่แหละ ก็เห็นอยู่ว่าสมัยก่อนไปภาคไหนก็ป่าเขียว แต่ตอนนี้ เราเริ่มเห็นเรื่องภูเขาหัวโล้นเยอะขึ้น ต่างจังหวัด หมู่บ้านเคยห่างๆ กัน ต้นไม้รกทึบที่เคยบังตา ต้นไม้ค่อยๆ ถูกตัดหายไป ก็กลายเป็นหมู่บ้านหนาแน่น

เอาแง่ความเป็นจริงอีกด้าน ที่นักอนุรักษ์ต้านและคนมองด้วยความกลัว ก็เหลือนิวเคลียร์ ... ผมคิดว่า ไฟไม่พอจริงๆ การเผาเชื้อเพลิงเพื่อไปปั่น turbine ด้วยวิธีดั้งเดิมพอผลิตไม่ทัน ถ้า fossil fuel เหลือน้อยจนทุกประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจทั้งหลายต้องเก็บเป็นพลังงานสำรองจนกลายเป็นของแพงมาก สุดท้ายคงหนีไม่พ้น ... ผมไม่ได้เชียร์ แต่ผมว่าซักวัน มันจะเป็นภาคบังคับอัตโนมัติเอง ยังไม่มีบ้านเราก่อน ก็จะเริ่มจากเพื่อนบ้าน...

การพัฒนาของมนุษย์ นอกจากประชากรจะเยอะขึ้นแล้ว การที่เราประดิษฐ์สิ่งต่างๆ แล้ว ก็ทำเป็นอุตสาหกรรมด้วย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายเหนือธรรมชาติ ต้องแลกมากับการทำลายธรรมชาติ การทำอุตสาหกรรมเพื่อชึวิตสะดวกสบายเหล่านี้ต้องมีราคาทั้งสิ้น แลกกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นธรรมดา แบบที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี (แม้กระทั่งพลังงานจากแหล่งที่บอกว่าน่าจะเป็นของฟรี ก็มีต้นทุนในการแปลงมาใช้ทั้งสิ้น ... ผลิตกังหันลมแต่ละตัว ต้องไปขุดไปถลุงแร่เหล็ก กับทองแดงมาตั้งเท่าไหร่)



ความเห็นส่วนตัว: ผมว่า เราคงได้เห็นรถไฟฟ้าเยอะขึ้นมากกว่าที่ผ่านมาจริงตามที่คาดการณ์กันกันจริง นอกจากแนวโน้มเรื่องบอกว่าอนุรักษ์แล้ว รถแนว Smart Car ออกมา รถไฟฟ้าจะควบคุมได้ง่ายกว่า รถ Hybrid หรือรถเชื้อเพลิง
(เหมือนที่ 20 ปีก่อน ไม่มีใครเชื่อว่า มือถือจะมีการ Hack มีการติดไวรัสกันได้ วันนี้กับรถยนต์เริ่มมีคำว่าถูก Hack แล้ว อีกหน่อย จะมี OS สำหรับรถโดยเฉพาะ และการโจรกรรมรถก็น่าจะพัฒนาตามด้วย) พอตลาดใหญ่ขึ้น มีแรงจูงใจมีปัจจัยช่วยกระตุ้นในการผลิต ทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาสมรรถนะให้สูงขึ้น และมี feature ใหม่ๆ ตามมา
รถยนต์คงมีโอกาสเรียกเป็นทำนอง 2G, 3G, ... เหมือนกันบ้าง

แต่การใช้ปิโตรเคมี คิดว่ายังต้องใช้อยู่ ต้นทางคือการผลิตไฟฟ้า ทางปลายทางรถใช้น้ำมัน
รถไฟฟ้ามา รถ Hybrid มี แต่รถน้ำมันก็ไม่น่าหมดไปสูญพันธุ์ทันที น่าจะค่อยๆ เป็นแชร์ส่วนแบ่งตลาดกัน

ประเด็นสำคัญ จะทำให้เปลี่ยนไปเร็วขนาดไหน ผมกลับคิดว่าไม่น่าใช่เรื่องเทคโนโลยีและ trend เรื่องอนุรักษ์ เป็นหลัก ปัจจัยน่าจะอยู่ตรงที่ว่า จะไปถึงขั้นพลิกสถานการณ์แบบแรงๆได้ ถึงแม้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหลาย ยังอยากให้เป็นเหมือนเดิมก็ตามที ตรงข้ามกับคนที่อยากใช้ของง่่ายๆ กลไกไม่ซับซ้อนอย่างรถไฟฟ้า
จะมาแรงๆ ได้คิดว่าเมื่อมหาอำนาจทั้งหลายแข่งกันเก็บเป็นพลังงาน fossil fuel เป็นพลังงานสำรองของตัวเอง กั๊กไว้มากจนกลายเป็นของแพงมาก ถึงจะเป็นแรงบีบให้รถยนต์ใช้น้ำมันน้อยลงไปเรื่อยๆ เร็วมาก
ตอนนั้น หัวจ่ายน้ำมัน คงทยอยเป็นหัวจ่ายชาร์จไฟฟ้ามากขึ้นๆ ทำจริงๆ ไม่ยาก ไม่อันตรายเท่าน้ำมันระเหย แก้สระเบิด แค่ทำให้ไม่ชอร์ตกันง่ายๆ




ข้างบนนี่ ไม่แน่ใจว่ามองผิดหรือเปล่า ลองแชร์กัน แย้งกันได้นะครับ อาจมีมุมมองอื่น ปัจจัยอื่นที่ความรู้ผมไม่ถึงอีกก็ได้ ถึงเขียน open ไว้ว่าเป็น "ความเห็นส่วนตัว"
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 1

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ออกตัวก่อนว่าผมไม่มีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมเลยนะครับ คืออ่านมา ฟังมา มโนมาล้วนๆ ครับ

ส่วนตัวผมมองว่าที่น่ากลัวต่ออุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิมจะไม่ใช่แค่รถยนต์ไฟฟ้า แต่เป็น combination ของ Taxi app (Uber)+EVs+Self-driving car

เหมือนเรากดเรียก Uber ที่ AI ขับแทนคน ระหว่างไม่มีผู้โดยสาร AI ก็ขับไปชาร์ตไฟเอง ซึ่งจะทั้งประหยัด และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการคมนาคมขนส่งแบบที่เป็นอยู่ และยิ่งถ้ารถยนต์บนท้องถนนลดลงไป (จากความสะดวกของการใช้ AI Taxi) ก็จะยิ่งทำให้การจราจรไม่ติดขัด ปริมาณการใช้พลังงานก็ยิ่งลดลงไปอีก ซึ่ง Google เคยทำวิจัยตรงนี้ว่าจะลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและการใช้พลังงานของรถยนต์เหล่านี้ไปได้ถึง 90%

ส่วนสมมติฐานเรื่องโลกเลิกใช้น้ำมัน ผมคิดว่าคงไม่ได้หมายถึง "เลิกใช้ 100%" อะไรทำนองนั้น แต่เป็นโลกที่ใช้น้ำมันลดน้อยลงไปมาก คล้ายกับที่เราใช้ถ่านหินน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีต เทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ที่พัฒนาขึ้น จุไฟได้มากขึ้น และราคาถูกลง จะช่วยให้ปัญหาความไม่เสถียรของ solar energy ลดลง และทำให้ต้นทุนถูกลง จนวันนึงอาจถูกกว่าระบบไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าอย่างที่เป็นอยู่

ซึ่งเมื่อประกอบประเด็นนี้เข้ากับ AI Taxi ความจำเป็นในการใช้น้ำมันจะลดลงอย่างมากมายมหาศาลเลย

ส่วนภาพเหล่านี้จะเกิดเมื่อไหร่ ผมคงไม่อาจหาญพอจะบอกได้ครับ เพียงแต่เชื่อและหวังว่าภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสักวันหนึ่งครับ
dsdumrong
Verified User
โพสต์: 530
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 14

โพสต์

:roll:
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 15

โพสต์

จาก page คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช CEO PTT

https://www.facebook.com/tevinatptt/

Tevin at PTT added 4 new photos.
June 22 at 8:00pm ·
Energy Storage : ธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท.
ตอนนี้กระแสรถไฟฟ้าหรือ eCar กำลังมาแรงนะครับ รถ Tesla ก็เข้ามาโชว์โฉมในเมืองไทยแล้ว ปตท. เห็นแนวโน้มการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต จึงได้เริ่มลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า โดยมีบริษัทในกลุ่มคือโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด รวมถึงพลังน้ำและพลังแสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศ
การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์มีความท้าทายหลักๆ คือ ไม่สามารถควบคุมกำลังการผลิตได้สม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากจะใช้เป็นพลังงานหลัก จะต้องพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเก็บประจุไฟได้มาก ปล่อยกระแสได้สม่ำเสมอ และอายุใช้งานนาน ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอุปกรณ์อิเลคโทรนิคต่างๆที่กำลังขยายตัวเพิ่มชึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และรถยนต์ไฟฟ้า
GPSC ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท 24M Technologies, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทผู้วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่สามารถลดการใช้วัตถุดิบ ลดระยะเวลาในการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนลดลงอย่างมาก ในขณะที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น
ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมแล็บผลิตแบตเตอรี่ Prototype ของ 24M ที่เมือง Boston ซึ่งมีความร่วมมือกับงานวิจัยของ MIT และรับทราบแผนการลงทุนในขั้นแรกที่จะตั้งโรงงานผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น รู้สึกประทับใจกับศักยภาพของเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะมีโอกาสเป็นธุรกิจ New S curve ของกลุ่ม ปตท.แล้ว ยังสามารถสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทยได้ด้วย
ในระหว่างนี้ ปตท.กำลังเตรียมการรองรับการใช้ eCar ในวงกว้าง โดยวางแผนเพิ่ม Charging Station ทั้งในและนอกปั๊ม สำหรับท่านที่ใช้ eCar วันนี้ ถึงไม่ต้องเติมน้ำมัน ก็แวะมาจิบกาแฟ ทานอาหาร ใช้ห้องน้ำ และซื้อของที่ PTT Life Station ได้นะครับ
หมายเหตุซ แต่ผมอ่านจากความเห็นหลายท่านเรื่องที่ forward ต่อกันทาง social media เมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่มีรถ Tesla Model S ป้ายแดงออกมาวิ่งในกทม.
หลายคนบอกว่าเป็นภาพเก่า ที่เป็นข่าวก่อนหน้า

ไปค้นข่าว ว่ามีบริษัทได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนเป็นนักธุรกิจหญิงท่านหนึ่ง
http://car.kapook.com/view134197.html และออกข่าวตรงกับที่ forward กัน
(วางแผนติดตั้งซูเปอร์ชาร์จ (Supercharger) ตามปั๊มน้ำมันประมาณ 120 แห่งทั่วประเทศ หรือทุก ๆ ระยะ 200 กม. ที่สามารถชาร์จไฟรถ Tesla Model S ให้เต็มได้ใน 20 นาทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น)

แลัว Tesla Asia ปฏิเสธไป ก่อนหน้างานมอเตอแร์โชว์
https://www.blognone.com/node/75343
http://thailand.carbay.com/th/car-news/ ... 5-21135053


น่าเสียดาย... ไม่รู้ว่าเมื่อใด ตัวแทนที่แต่งตั้งโดย Tesla เอง จะมาไทยจริง

รถที่เห็น นำเข้ากันเอง ที่เรียกว่า Grey Market
คือนำเข้าขออนุญาตตามกฎหมาย แต่ไม่ได้มีตัวแทนบริษัทเจ้าของ product มามีส่วนร่วม
(ถ้าผิดกฎหมายขั้นตอน เรียกตลาดมืด หรือ Black Market)
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 16

โพสต์

นายมานะ เขียน:ขอบคุณคุณ seattle มากครับ ^^

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ (4)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ วันที่ 27 มิถุนายน 2559

ครั้งที่แล้วผมอาศัยรายงานข่าวของ Wall Street Journal วันที่ 28 เมษายน 2559 ซึ่งขอเล่าต่อจากครั้งที่แล้วครับ

WSJ รายงานว่า The government fears that Germany’s leadership is threatened by a massive change in the industry…the emergence of electric cars coming from Tesla and from Silicon Valley and Asia” สังเกตการณ์ใช้คำว่า “fear” “threatened” และ “massive” ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลนายก Merkel คือนาย Sigmar Gabriel สรุปว่า “The reinvention of the automobile is mainly being driven by companies that do not have their headquarter in Germany” โดยกล่าวว่ารัฐบาลเยอรมนีจำเป็นต้องให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์เหมือนกับการสนับสนุนบริษัทเครื่องบิน Airbus เพื่อให้ยุโรปสามารถแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อต่อสู้กับบริษัทผลิตเครื่องบินของสหรัฐเมื่อ 40 ปีก่อนหน้า

รายงานของ Wall Street Journal ทำให้มองได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมันและรัฐบาลเยอรมันเห็นถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมหลักของเยอรมันได้ หากรถยนต์ไฟฟ้าทำได้ตามที่สัญญาเอาไว้กับผู้บริโภค คือการผลิตรถออกมาขายเป็นจำนวนล้านคันที่ราคาถูกกว่า ค่าบำรุงซ่อมแซมต่ำกว่าและค่าเติม “น้ำมัน” ต่ำกว่า แต่ยังใช้งานได้ดีหรือดีกว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

แต่บางคนอาจมองว่าเป็นการตีตนไปก่อนไข้หรือเปล่า เพราะก็ยังเป็นการคาดเดาและปัจจุบันรถไฟฟ้า (หมายถึงที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าและที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน/ดีเซล ผสมกับเครื่องยนต์ไฟฟ้า) ก็ยังมียอดขายไม่ถึง 500,000 คันในปี 2015 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้นมีสูงถึง 74 ล้านคันทั่วโลก และในขั้นนี้ก็ต้องยอมรับว่ารถยนต์ “ลูกผสม” ที่นำมาขายในตลาดประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้หลายคนยังมองไม่เห็นว่ารถเครื่องยนต์ไฟฟ้าจะมาทดแทนรถเครื่องยนต์ ICE ได้อย่างไร

เช่น รถยี่ห้อหรูชั้นนำที่เสนอขายราคา 6-7 ล้านบาทในขณะนี้ มีที่เก็บของท้ายรถลดลงอย่างมาก เพราะต้องถูกกันเอาไว้เป็นที่เก็บแบตเตอรี่ ซึ่งนอกจากจะกินที่จนทำให้ไม่สามารถใส่ถุงกอล์ฟได้ 3-4 ถุง เช่นรถปกติ (อันนี้เขาบอกว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับรถหรู) นอกจากนั้นยังทำให้รถมัน้ำหนักขึ้นอีกเป็นร้อยกิโลกรัม และเพิ่มความสลับซับซ้อนเวลาต้องซ่อมแซม (เพราะมีเครื่อง 2 ประเภท ระบบเชื้อเพลิง 2 ประเภท และระบบบริหารจัดการและประสานงานเครื่องยนต์ 2 ประเภทในรถคันเดียว) แต่หากใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน ก็จะขับได้เพียง 30-40 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่พอที่จะใช้งาน 1 วันด้วยซ้ำ

ปัจจุบัน Tesla ก็ยังมียอดขายเพียงไม่กี่หมื่นคันและยอดขายรถที่มีเครื่องยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกนั้นก็มีไม่ถึง 500,000 คันในปีที่แล้ว ดังที่กล่าวข้างต้นและจำนวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งโลกก็เพิ่งเกิน 1 ล้านคันเมื่อปลายปีที่แล้ว ในขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดในโลกนั้นน่าจะมีอยู่เกือบ 1 พันล้านคัน (รวมรถบรรทุกและรถโดยสารทั้งหมดด้วย) สำหรับคนไทยนั้นก็ได้สัมผัสรถประเภทลูกผสม (Hybrid) คือมีทั้งเครื่องเบนซิน/ดีเซลและเครื่องไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักเพราะราคายังสูงและมีข้อจำกัดเช่นทำให้ห้องเก็บของเล็กลง รถมีน้ำหนักมากขึ้น และค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาก็สูงมากขึ้นไปอีกด้วย เพราะต้องดูแลทั้งเครื่อง ICE และเครื่องไฟฟ้า ตลอดจนระบบที่ควบคุมทั้งสองเครื่องยนต์ให้ทำงานร่วมกัน

หากจะตอบแบบหักมุม ก็ขอให้ดูข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกคือ GM Ford Benz และ BMW เมื่อเทียบกับข้อมูลหุ้นของบริษัท Tesla ซึ่งเพิ่งก่อตั้งมาได้ไม่ถึง 15 ปี ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นแต่ละบริษัทมีอายุ 100 ปีหรือมากกว่านั้น ดังปรากฏในตารางข้างล่างครับ

ปกติราคาหุ้นที่ต่างกันคือ 30, 50 หรือ 200 ดอลลาร์ ไม่ได้บอกอะไร แต่ในกรณีนี้ราคาหุ้นของบริษัทรถยักษ์ใหญ่อยู่ที่ระดับนี้มาหลายสิบปี ในขณะที่ราคาหุ้น Tesla นั้นอยู่ที่ 20-35 ดอลลาร์ในช่วงแรกที่เข้าตลาด แต่ราคาปรับขึ้น 5-6 เท่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญคือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตรถยนต์มียอดขายบริษัทละเกือบ 10 ล้านคันต่อปี กลับมีมูลค่าหุ้นมากกว่าบริษัท Tesla เพียง 1 เท่าตัว (Tesla มีมูลค่าหุ้น 30,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ Benz BMW Ford และ GM มีมูลค่าหุ้น 50,000-70,000 ล้านดอลลาร์) ทั้งๆ ที่ยอดขายของ Tesla นั้นมีเพียง 20,000-30,000 คันต่อปี

นอกจากนี้ Tesla ไม่มี P/E กล่าวคือขาดทุนมาโดยตลอดทุกปี ดังนั้น Tesla จึงมีแต่ขอเพิ่มทุน ไม่เคยมีกำไรมาแบ่งสรรให้กับผู้ถือหุ้น ในขณะเดียวกันบริษัทรถยักษ์ใหญ่นั้น P/E ต่ำเพียง 5-7 เท่า กล่าวคือราคาหุ้น 50 ดอลลาร์นั้นสามารถทำกำไรได้ 15-20% ของราคาหุ้น จึงมีเงินเหลือที่จะปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เกือบ 5% ทุกปี (ยกเว้น Volkswagen ซึ่งคงจะขาดทุนในช่วงนี้)

การที่ราคาหุ้น Tesla สูงมากกว่าราคาหุ้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ แปลว่านักลงทุนคาดหวังในการขยายตัวของบริษัท Tesla และความสามารถของบริษัท Tesla ในการทำกำไรให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ไม่แพ้บริษัทยักษ์ใหญ่ข้างต้น ซึ่งเป็นข้อสรุปเดียวกันกับรัฐบาลเยอรมันและบริษัทรถเยอรมัน แต่หากประเมินจากการคาดการณ์ของ Tesla เองว่าจะมียอดขายรถ Tesla model 3 ปีละ 500,000 คันในปี 2018 ก็ยังต้องตั้งคำถามว่าบริษัทรถยนต์ที่มียอดขายเท่ากับ 5% ของยอดขายของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ (Toyota, Volkswagen, GM, Nissan, Hyundai, Ford) จึงมีมูลค่าหุ้นประมาณ 40% ของมูลค่าหุ้นบริษัทดังกล่าว
KriangL
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1487
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 17

โพสต์

สถิติยอดขายรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาล่าสุด (ข้อมูลถึงเดือนพฤษภาคม)
http://www.hybridcars.com/may-2016-dashboard/
ตั้งแต่ต้นปี ขายรถยนต์ได้ 7,091,131 คัน
เป็นรถไฟฟ้าอย่างเดียว 28,067 คัน ของ Tesla 3,500 คัน
เป็นรถ plug-in hybrid 23,826 คัน
KriangL
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1487
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 18

โพสต์

KriangL เขียน:สถิติยอดขายรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาล่าสุด (ข้อมูลถึงเดือนพฤษภาคม)
http://www.hybridcars.com/may-2016-dashboard/
ตั้งแต่ต้นปี ขายรถยนต์ได้ 7,091,131 คัน
เป็นรถไฟฟ้าอย่างเดียว 28,067 คัน ของ Tesla 15,300 คัน
เป็นรถ plug-in hybrid 23,826 คัน
ตัวเลขข้างบนผิดไปครับ ของ Tesla ต้องเป็น 15,300 คัน เผลอดูตัวเลขผิดตัว
KriangL
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1487
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 19

โพสต์

Wood Mackenzie คาดรถไฟฟ้าสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันในอเมริกาได้ 5% (base case) ถึง 20% (best case) ในปี 2035 เทียบกับปัจจุบัน
http://www.wsj.com/articles/u-s-gasolin ... 1466395260
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 20

โพสต์

Monday, 23 May 2016

อนาคตกับรถยนต์ไฟฟ้า / โดย คนขายของ


“ตู้เย็น” เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้านราวๆปี 1920 ในช่วง 15 ปีแรกของการออกสู่ตลาด ยอดขายของตู้เย็นนั้นโตแต่คิดเป็นมูลค่าไม่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยเช่น ราคายังสูง ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย ทำให้มูลค่าตลาดยังเล็ก แต่หลังจากนั้น ในช่วงปี 1935-1960 ยอดขายตู้เย็นทั่วโลก ได้เติบโตขึ้นเป็น อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของการขายตู้เย็น แต่ในยุคต่อมาตลาดดูเหมือนจะอิ่มตัว ทุกบ้านเริ่มมีตู้เย็น กันหมดแล้ว การเติบโตสูงๆในอดีตก็หมดไป ตลาดตู้เย็นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือน แต่ก่อน วัฏจักรทำนองนี้มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์สี ที่เริ่มในปี 1960 หรือ โทรศัพท์ มือถือ ในปี 1985 วงจรที่มีลักษณะที่ เติบโตในตอนต้น พุ่งขึ้นด้วยอัตราเร่งที่สูงมากในตอนกลาง และชะลอ ตัวลงในตอนท้ายนั้น เป็นวงจรที่ฝรั่งเขาเรียกว่า “S-Curve”

อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม Electric Vehicle (EV) เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่ในช่วงต้นของ S-Curve ที่ตลาดกำลังเติบโต แต่ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดของมูลค่าตลาดจึงยังไม่ใหญ่มาก ข้อมูลจากสถาบัน ZSW ของเยอรมันได้รวบรวมว่า จำนวน EV ในโลกในช่วง ปี 2013 อยู่ที่ หนึ่งแสนคัน ในปี 2014 ตลาดขยายตัว 100% ปี 2015 ขยายตัว 83% และในปี 2016 ตลาด EV คาดว่าจะขยายตัว 76% มาอยู่ที่ราวๆ 560,000 คัน แล้วบริษัทไหนที่ผลิต EV ออกมาแล้วมี ยอดขายสูงสุด? ใช่ค่ายรถยนต์ชื่อดังหรือเปล่า? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะ TESLA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ราวห้าหมื่นคันในปี 2015 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับแชมป์ระดับโลกอย่าง TOYOTA ที่ผลิตรถถึงสิบล้านคัน แต่ TESLA กลับได้เป็นแชมป์โลกในตลาดของรถไฟฟ้า ในด้าน ยอดขายเป็นตัวเงิน ไม่ใช่จำนวนคัน)


จากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปี 2015 ที่ราว 83 ล้านคัน เราจะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ EV ตอนนี้อยู่ที่แค่ราว 0.4% เท่านั้นเอง TESLA ประเมินว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถยนต์ได้เกือบ 1 แสนคัน หรือโตขึ้น 100% จากปี 2015 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภายในปี 2040 รถ EV จะมีส่วน แบ่งราว 35% ของรถยนต์ทั้งหมด ทำไมตลาด EV ถึงมีการขยายตัวที่สูงมาก? ผมคิดว่าเป็นเพราะ หนึ่ง แรงจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลในหลายประเทศ อย่างเช่นที่นอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี สัดส่วนของ EV มากที่สุดในโลก ราว 25% ของรถใหม่ในตลาด รัฐบาลยกเว้นภาษี VAT 25%, ค่าผ่านทาง Toll Road) ฟรี, วิ่งเข้าเลนรถเมล์ได้ และ จอดรถในตัวเมืองได้ฟรี ประเด็นผลักดันที่สอง คือ ราคารถ EV ที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากราคาของ Lithium-ion Battery ซึ่งเป็นเหมือนหัวใจของรถยนต์ EV มีราคาลดลงจาก 1,000$ ต่อ KWH ในปี 2010 มาเหลือเพียง 380$ ในปี 2015 และ ประเด็นที่สาม คือการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน ของรัฐบาลและประชาชน ทำให้มีกฎควบคุมเรื่องการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่ง EV ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษของไอเสีย เพราะไม่มีเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิด

แต่ถึงกระนั้นโลกของ EV ก็ไม่ได้สวยหรูไปหมดทุกอย่าง ยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระยะทางที่วิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งในตอนนี้รถ EV ในเซกเมนท์ประหยัด วิ่งได้แค่ 250 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมันในตอนนี้ วิ่งได้ถึง 500-600 กิโลเมตรเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง นอกจากนั้น เรื่องแท่นชาร์จไฟ ก็ยังเป็นปัญหาหลักเมื่อวิ่งออกไปนอกเมือง ตอนนี้ TESLA ต้องมาลงทุน เรื่องสถานีชาร์จไฟเองเพื่อตอบสนองลูกค้า ระยะเวลาในการชาร์จก็ยังเป็นปัญหา ในตอนนี้เครื่องชาร์จแบบเร็วที่สุดจะใช้เวลาราว 30 นาที แต่ก็ยังเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าการเติมน้ำมันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ที่ชาร์จที่พบทั่วไปในที่สาธารณะจะเป็นแบบ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่สะดวกเท่าไรนัก และประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราคา รถ EV ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง อย่าง BMW i8 ที่อเมริกาขายราคา 4.9 ล้านบาท TESLA Model S ราคา 2.45 ล้านบาท หรือ แบบประหยัดอย่าง Nissan Leaf ก็ตกราว 1.15 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคา Honda Civic ที่ 7 แสนบาท ก็ดูเหมือนว่า EV ยังเป็นรถราคาสูงอยู่

อุตสาหกรรม EV ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ S-Curve ดูเหมือนว่าตลาดนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆจากแรง ผลักดันจากหลายภาคส่วน โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นอุตสากรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะศักยภาพของ ตลาดนี้ยังสามารถโตไปได้อีกยี่สิบปี บริษัทอย่าง TESLA ซึ่งหันมาโฟกัสทางด้านนี้ ในปี 2010 มียอดขาย แค่เพียง 117 ล้านเหรียญ แต่กลายมาเป็น 4 พันล้านเหรียญในปี 2015 ถึงแม้ว่าตอนนี้บริษัทยังไม่มีกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น แต่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปีล่าสุด สามารถทำได้ ในระดับเดียวกับ TOYOTA และ HONDA ณ เวลานี้คงยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าใครจะเป็นผู้ชนะในศึก EV ของวงการรถยนต์ เพราะในช่วงแรกของ S-Curve เมื่อทุกคนเห็นว่าตลาดเติบโต จะมีผู้สนใจเข้ามา ร่วมแข่งขันกันเป็นอย่างมาก หากเรานึกถึงตลาดชาเขียวในเมืองไทยเมื่อราวสิบปีก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลาก หลายแบรนด์ แต่ตอนนี้หลักๆคือแค่สองแบรนด์ ตลาด EV นั้นคงต้องผ่านการต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นกัน ก่อนที่จะรู้แน่ชัดว่า ใครกันจะได้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดเมื่อการดีดตัวอย่างรุนแรงของ S-Curve มาถึง
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 21

โพสต์

"เทสลา" พลาดเป้าส่งมอบรถ 3 ไตรมาสติด ชี้ทะเยอทะยานในการออกแบบมากเกินไป

04 ก.ค. 2559 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไฟแนนเชียลไทม์สและวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เทสลามอเตอร์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แถลงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า บริษัทสามารถส่งมอบรถยนต์ได้ 14,370 คันในไตรมาส 2 ของปีนี้ ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่ 17,000 คัน นับเป็นการพลาดเป้าการส่งมอบรถยนต์เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน จากการที่บริษัทยังคงประสบปัญหากับการผลิตรถยนต์ครอสโอเวอร์รุ่น "โมเดลเอ็กซ์" ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว

ยอดการส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 15 เปอร์เซ็นต์ และต่ำกว่าที่เคยทำได้เมื่อช่วงไตรมาสแรกที่ 14,810 คัน ซึ่งเทสลาโทษว่าเป็นความอหังการและความทะเยอทะยานที่มากเกินไปของบริษัทเองในการออกแบบรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ยอดขายของรุ่นโมเดลเอ็กซ์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ยอดขายของรถยนต์ซีดาน 4 ประตู "โมเดลเอส" ที่เป็นรุ่นลายเซ็นของบริษัทร่วงลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสวนทางกับที่เทสลาเปิดเผยว่าคำสั่งซื้อรถรุ่นโมเดลเอสยังคงแข็งแกร่ง

เทสลายืนยันกับนักลงทุนว่า บริษัทประสบความยากลำบากในด้านการขยับขยายซึ่งเป็นปัญหาในช่วงเริ่มต้นจากการที่บริษัทเร่งเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์รุ่นโมเดลเอ็กซ์เท่านั้น และไม่ได้ประสบปัญหาใหญ่ในกระบวนการผลิตหรืออุปสงค์ที่ลดลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เทสลาเผยว่า คาดว่าบริษัทจะพลาดเป้าการส่งมอบรถยนต์ทั้งปีให้ได้ราว 80,000 – 90,000 คัน

คาดว่าเทสลาจะยังคงประสบปัญหายากลำบากต่อเนื่องไปจากการที่ทางบริษัทเตรียมเปิดตัวรถยนต์สำหรับตลาดในวงกว้าง "เทสลาโมเดล 3" ภายใน 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เทสลา ตกอยู่ภายใต้การสอบสวนจากทางการสหรัฐหลังจากที่เจ้าของรถเทสลารายหนึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะที่รถยนต์อยู่ในโหมด "ออโตไพล็อต" หรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ล้ำหน้าที่สุดของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดเวลานี้
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 22

โพสต์

นายมานะ เขียน:ขอบคุณคุณ seattle มากครับ ^^

Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ (5)

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ Posted: Mon Jul 18, 2016

ผมเขียนถึงรถยนต์ของบริษัท Tesla มา 4 ตอนแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่ส่งผล “พลิกแผ่นดิน” อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ดำเนินมากว่า 100 ปีหรือไม่ แต่ทั้งนี้ต้องขอชี้แจงตรงนี้ก่อนครับว่าผมได้มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัท Tesla ทั้งในทางตรงและทางอ้อมประการใดเลย รถ Tesla ก็ยังไม่เคยได้สัมผัสหรือทดลองใช้แต่อย่างใด

ในครั้งที่แล้วผมเขียนว่าราคาหุ้นของ Tesla นั้นสูงกว่าราคาหุ้นของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น Benz BMW Ford และ GM อย่างมากและหากนักลงทุนยอมซื้อและถือหุ้น Tesla ในราคาสูงลิ่ว (เพราะมีแต่ขาดทุน) เมื่อเทียบกับหุ้นบริษัทรถยนต์ชั้นนำที่ให้เงินปันผล 4-5% ต่อปี ก็จะต้องแปลว่านักลงทุนมั่นใจอย่างยิ่งว่าอนาคตในการทำกำไรของ Tesla นั้นสดใสอย่างยิ่งและ Tesla จะต้องพัฒนามาเป็นบริษัทรถชั้นนำเทียบเท่ากับ Benz BMW Ford GM ภายในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในอีกด้านหนึ่งผมขอสรุปข้อมูลจาก Consumer reports เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ประชาชนชาวอเมริกันสามารถสัมผัสได้ดังนี้

1) มีรถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicle หรือ EV) ที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อมาใช้ได้ประมาณ 10-12 รุ่น ส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งนั่ง 5 คน แต่ SUV /Minivan ก็มีคือ Tesla X และรถหรูเทียบเท่ากับ Benz S Class ก็มีคือ Tesla S

2) รถลูกผสมที่มีทั้งเครื่องเบนซิน/ดีเซล และเครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือ plug-in hybrid (PHEV) ก็มีให้เลือกประมาณ 10 รุ่นเช่นกัน

3) ภายในปลายปีนี้ GM จะรีบออก EV รุ่น Chevy Bolt มาตัดหน้า Tesla model 3 ที่จะเริ่มผลิตปลายปี 2017 โดย Chevy Bolt จะมีราคาประมาณ 35,000 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยรถยนต์ที่อเมริกาคือ 27,000 ดอลลาร์ (แปลว่าเมื่อราคา EV กดลงมาได้ที่ 27,000 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น รถ EV อาจเริ่มกินส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ ICE อย่างก้าวกระโดด)

4) ต้นทุนไฟฟ้า (ที่ใช้ใน EV) นั้นประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ “แกลลอน” แปลว่าต้นทุนการใช้ EV นั้นคิดเป็นบาทประมาณ 9.50 บาทต่อลิตร กล่าวคือถูกกว่าที่ใช้อยู่ในสหรัฐ (และไทย) ประมาณ 3 เท่า แต่ในสหรัฐนั้นหลายรัฐจะให้แรงจูงใจทางภาษี คิดเป็นเงิน 1-3 แสนบาทหากซื้อ EV นอกจากนั้นการชาร์จไฟฟ้าที่บ้านตอนกลางคืนยังทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปแวะเติม น้ำมันที่ปั๊ม ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าสามารถขับไปได้ 250-300 กิโลเมตร จึงจะต้องนำมาชาร์จไฟ (ยกเว้น Nissan Leaf ที่เป็น EV ที่เคยมียอดขายสูงสุดในสหรัฐ แต่จะขับได้เพียง 100-150 กิโลเมตรแล้วต้องนำมาชาร์จไฟ)

5) ราคาพื้นฐานของรถ EV หรือ PHEV เริ่มต้นจากประมาณ 22,000 ดอลลาร์ จนสูงถึง 125,000 ดอลลาร์ โดยปัจจุบันรถ EV ที่เป็นที่นิยมสูงสุดจะมีราคา 26,000 ถึง 32,000 ดอลลาร์ โดย “ค่าน้ำมัน” เฉลี่ยประมาณ 3.5 เซ็นต่อ 1 ไมล์ (ต่ำกว่า 1 บาทต่อ 1 กิโลเมตร) ในขณะที่รถ Toyota Corolla จะมีค่าน้ำมันเฉลี่ย 12 เซ็นต่อ 1 ไมล์ หรือเกือบ 3 บาทต่อ 1 กิโลเมตร ทำให้ผู้ซื้อรถ EV ในสหรัฐสามารถคุ้มทุนได้ภายในเวลา 1 ปีหลังการซื้อรถดังกล่าว

ที่เขียนสรุปมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ในสหรัฐนั้น เริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคอย่างหลากหลายมากยิ่ง ขึ้น และใน 1-2 ปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับรถยนต์เบนซินและดีเซล เพราะ ไม่เพียงแต่จะมีรถยนต์ Tesla model 3 เท่านั้นที่คาดหวังว่าจะผลิต 500,000 คันต่อปีตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แต่จะมีรถยนต์จาก GM Ford และผู้ผลิตรายใหญ่ของเยอรมันก็จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ มาเป็นทางเลือกอีกหลายรุ่น ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามว่ารถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดดและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค จนกระทั่งรถยนต์เบนซินและดีเซลเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้จริงหรือไม่

กล่าวคือ “จุดอ่อน” ของรถยนต์ไฟฟ้าคืออะไร (เพราะ จุดแข็งนั้นเรารับทราบกันไปหมดแล้วว่า เด่นกว่ารถยนต์เบนซินและดีเซลในส่วนของสมรรถนะและค่าบำรุงรักษาอย่างเทียบ กันไม่ติด) ซึ่งคำตอบสั้นๆ คือร ถยนต์ไฟฟ้าจะ “ครองโลก” ได้หรือไม่ใน 10-15 ปีข้างหน้า น่าจะขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ลิเธียม(Lithium ion battery) และการพัฒนาให้ระบบเก็บไฟฟ้านี้ราคาถูกลง บรรจุไฟฟ้าได้มากขึ้นและราคาถูกลงไปเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 14-15% เช่นที่ได้ทำแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาหรือไม่เพราะหากทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงปีละ 10-12% ใน 10 ปีข้างหน้า โดยประสิทธิภาพไม่ลดลงหรือดีขึ้น ก็จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลดลงได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมในรถยนต์ Tesla นั้น น่าจะมีน้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม (เท่ากับผู้โดยสาร 7 คน) และราคาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-50% ของราคารถ Tesla สมมุติว่าในปี 2018 Tesla สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายได้ 500,000 คันดังที่ตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งบริษัทอื่นๆ รวมกันก็น่าจะขายรถไฟฟ้าได้อีกประมาณ 1 ล้านคันรวมกัน 1.5 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งไม่สูงมากนัก แต่ก็เริ่มมีนัยสำคัญ แต่หากสามารถทำให้ราคาแบตเตอรี่สิเธียมลดลงได้ปีละ 10-12% ดังกล่าวข้างต้นและสมมุติว่าตรงนี้จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงได้ปีละ 4-6% ผลที่ตามมาคือราคารถยนต์ไฟฟ้าจะลดลงอย่างมากภายในเวลา 10 ปี ดังนี้

หากราคารถยนต์ไฟฟ้าปรับลดลงเช่นนี้จริง คือใน 5 ปีข้างหน้าราคาเหลือ 25,700 ดอลลาร์ (หรือ 900,000 บาท) ถึง 28,000 ดอลลาร์ (หรือ 1,000,000 บาท) ก็จะกระทบยอดขายของรถยนต์เบนซินและดีเซลอย่างมากและภายใน 10 ปี หากราคาลดลงไปอีกเหลือ 18,850 ดอลลาร์ (หรือ 670,000 บาท) ถึง 23,270 ดอลลาร์ (หรือ 820,000 บาท) ก็อาจทำให้ยอดขายของ รถยนต์เบนซินและดีเซลลดลงอย่างมาก เพราะที่ระดับราคาดังกล่าวนั้นใกล้เคียงกับราคารถราคาประหยัดที่ผลิตอยู่ใน ปัจจุบันครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 23

โพสต์

FM 96.5
http://mcot-web.mcot.net/fm965/site/str ... 48Py6Iic40

ออกอากาศเมื่อ 18 ก.ค. 2559
เนื้อหาสรุป : -ฟังมุมมองวิเคราะห์ ถึงพัฒนาการในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ในประเด็นที่ว่า “Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์” กับคำถามที่ว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีดีอย่างไร ติดตามข้อมูลข้างต้นนี้ได้กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ รายการ CEO Vision โดย วรพงศ์ แจ้งจิตต์ และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
Ii'8N
Verified User
โพสต์: 3682
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 24

โพสต์

Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: Tesla อาจพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเช

โพสต์ที่ 25

โพสต์

นายมานะ เขียน:ขอบคุณคุณ seattle มากครับ ^^

ธุรกิจอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ (1)

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2559


ครั้งก่อนหน้าผมเขียนถึงรถ Tesla ที่กำลังท้าทายบริษัทรถยนต์ยักษ์ทั่วโลกที่มียอดจองรถ Tesla model 3 เกือบ 400,000 คัน nและคาดการณ์ว่าจะขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ปีละ 500,000 คัน ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป Tesla ผลิตรถยนต์มาประมาณ 12 ปี แต่ราคาหุ้นนั้นแพงกว่าราคาหุ้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น Benz, BMW, Volkswagen และ GM ซึ่งผลิตรถยนต์มานานเป็นร้อยปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Tesla จะเริ่มทำกำไร (ที่ผ่านมาขาดทุนตลอด) ในปี 2018 ซึ่งหากเป็นจริง (คือสามารถผลิตรถยนต์มอบให้ลูกค้าได้ 500,000 คัน ในปีนี้ตามคาด) ก็จะทำให้หุ้น Tesla มี P/E ประมาณ 63 เท่า แพงกว่า P/E ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 10 เท่า เพราะบริษัทดังกล่าวนั้นหุ้น P/E ประมาณ 6-7 เท่า

สรุป คือ Tesla เป็นบริษัทรถยนต์ที่ขายฝัน ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและรถยนต์นาย James Quinn หนังสือพิมพ์ The Telegraph ยกตัวอย่างว่า Tesla นั้นใน 4 ปีที่ผ่านมาจากกลางปี 2012 ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น S และ X ให้ลูกค้าได้เพียง 109,000 คัน เท่ากับจำนวนรถยนต์ที่ Ford ผลิตภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่เมื่อ Tesla เริ่มส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าได้ ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไป 10 เท่าตัวแล้ว (จาก 20 ดอลลาร์เป็น 200 ดอลลาร์) นาย Quinn สรุปว่า Tesla นั้นสร้างฝัน แต่มีผลงานจริงไม่มากนัก จึงมีความเสี่ยงที่จะพลาดพลั้งได้อีกในอนาคตและราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงมาจนอาจถูกควบรวมโดยบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ก็ได้

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนความเสี่ยงของบริษัทที่เป็นผู้บุกเบิก (pioneer) แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีที่ Tesla กำลังพัฒนาอยู่นั้นมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวไปพร้อมกับบริษัท Tesla กล่าวคือเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะพัฒนาต่อไปได้ ไม่ว่าจะโดยการบุกเบิกของ Tesla หรือการพัฒนารถยนต์ประเภทนี้โดยบริษัทอื่นที่อาจเข้ามาฮุบกิจการของ Tesla ในอนาคตก็ได้

จึงมาถึงประเด็นสำคัญว่าปัจจัยอะไรที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” กับความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้า คำตอบคือแบตเตอรี่ โดยในปัจจุบันหมายถึงแบตเตอรี่แบบ Lithium lon (Li) กล่าวคือปัจจัยไม่ได้อยู่ที่มอเตอร์ไฟฟ้า เพราะเทคโนโลยีนี้พัฒนามานานกว่า 150 ปีแล้ว และมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานหมุนล้อที่ 90% อยู่แล้ว ในขณะที่เครื่องยนต์นั้นมีประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานเพื่อหมุนล้อเพียง 20% (อีก 80% ส่วนใหญ่เป็นพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากการสันดาป)

แต่แบตเตอรี่นั้นยังล้าหลังอยู่มาก และเป็นต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า กล่าวคือแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีน้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม (หนักเท่ากับคน 7-8 คน) และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1/3 ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น การลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะของรถไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด จะต้องมาจาก

1. การพัฒนาแบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้มากขึ้น (จากปัจจุบันชาร์จไฟหนึ่งครั้งขับได้ไกล 300-350 ก.ม.)
2. น้ำหนักลดลง และ
3. ราคาถูกลง หากทำได้ก็รับรองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะขายดีจนรถยนต์ขายไม่ได้อย่างแน่นอน

แบตเตอรี่ที่ใช้กันในปัจจุบันและในอดีตนั้นคือประเภทตะกั่วกับน้ำกรด (Lead-acid battery) ซึ่งยังใช้อยู่ในรถยนต์ส่วนใหญ่ในขณะนี้เพื่อเก็บไฟเอาไว้ใช้สตาร์ทเครื่องยนต์ และเพื่อใช้อุปกรณ์ในรถในเวลาเพียงสั้นๆ รถปัจจุบันต้องมีเครื่องปั่นไฟไปด้วยระหว่างขับเคลื่อน ต่อมาได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium ซึ่งใช้กันแพร่หลายในเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา โทรศัพท์มือถือ ในช่วงหนึ่ง แต่มีความเสี่ยงเรื่องมลพิษสูง จึงถูกทดแทนโดย Lithium ion ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้

Lithium ion นั้นอันที่จริงแล้วเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่มานานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดริเริ่มจากการค้นพบว่า Lithium นั้นใช้เก็บไฟฟ้าได้ดีมาก แต่ไวไฟและระเบิดได้ง่าย จึงต้องนำไปเจือปนกับ graphite ให้เป็น Lithium ion ที่เสถียรมากขึ้นแม้ประสิทธิภาพจะลดลงบ้าง แบตเตอรี่แบบ Lithium ion นั้นกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1980 แล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อเพื่อใช้งานทางพาณิชย์ จนกระทั่ง 10 ปีให้หลังที่บริษัทโซนี่ของญี่ปุ่นนำเอา Li มาพัฒนาเพื่อใช้ในกล้องถ่ายหนังแบบพกพาคือ SONY Beta Cam ในปี 1991

แต่แบตเตอรี่ Li นั้นประสิทธิภาพมิได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 20 ปีให้หลัง ระหว่างปี 1991-2010 แม้ว่า Li ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอุปกรณ์ที่สำคัญในการดำรงชีวิตสมัยใหม่คือคอมพิวเตอร์พกพา เครื่อง ipad และ smart phone ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น กล่าวคือนับจากวันแรกที่ Apple ผลิต iphone 1 ออกมาขายในปี 2007 จนถึงวันนี้ iphone 7 นั้นมีศักยภาพสูงขึ้น (และต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น) ประมาณ 16 เท่าตัว แต่ Li นั้นประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% ดังนั้นบริษัทรถยนต์ บริษัทมือถือและบริษัทพลังงานจึงจะเร่งลงทุนค้นคว้าวิจัยและพัฒนา Li หรือทางเลือกอื่นๆ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด โดยยึดกับ Li อยู่เช่นปัจจุบัน (Tesla จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิต Li ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) หรืออาจพัฒนาวัสดุอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า Li ก็เป็นได้

ผมได้ไปอ่านดูว่าปัจจุบันว่ามีการค้นคว้าด้านแบตเตอรี่ในทิศทางใดบ้าง และพบแนวทางวิจัยที่แตกต่างกันกว่า 20 แนวทาง เช่น Magnesium batteries, solid state lithium ion, sodium ion batteries, aluminum-air batteries และ gold nano wire batteries เป็นต้น
โพสต์โพสต์