http://www.bangkokbizweek.com/20060504/ ... 09053.html
เปิดพอร์ต "สนง.ประกันสังคม" 26,600 ล้าน..อยู่ใน "ตลาดหุ้น"
ณ สิ้นเดือนเมษายน 2549 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุน ทั้งสิ้น 365,051 ล้านบาท โดย 84.60% ของเงินกองทุน หรือ ประมาณ 308,841 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ในจำนวนนี้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลรัฐวิสาหกิจ และตั๋วเงินคลัง ที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 227,329 ล้านบาท หรือ 62.27%
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2549 กองทุนประกันสังคม นำเงินไปลงทุน (เอง) ในตลาดหุ้น รวมทั้งสิ้น 26,613 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.29%
แบ่งเป็นเงินลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจ จำนวน 13,805 ล้านบาท 3.78% และลงทุนในหุ้นภาคเอกชน จำนวน 12,807 ล้านบาท คิดเป็น 3.51%
นอกจากนี้ยังนำเงินอีก 12,188 ล้านบาท หรือ 3.34% ลงทุนผ่าน "กองทุนรวม" ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินส่วนหนึ่ง ก็เข้ามาลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ในปี 2548 ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคม ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 4.82% เป็นเงิน 10,765 ล้านบาท
กรุงเทพธุรกิจ BizWeek สำรวจพอร์ตลงทุนของกองทุนประกันสังคม ในปี 2549 หลังจากกองทุนลูกจ้างแห่งนี้ สามารถจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนได้ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท จากผู้ประกันตน จำนวน 8.5 ล้านรายทั่วประเทศ
ส่งผลให้กองทุนผู้ใช้แรงงานแห่งนี้ ก้าวขึ้นมาเป็นกองทุนที่มีพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ..
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ ที่อัตราเงินเฟ้อไต่ระดับขึ้นไปเหนือ 5.25% นำมาซึ่ง "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้กองทุนประกันสังคมเริ่มปรับท่าทีในการลงทุน เพื่อพยายามแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยมีตลาดหุ้นเป็นแหล่งเดิมพัน เพราะถือเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนอย่างอื่น
ย้อนไปช่วงปลายปี 2548 สำนักงานประกันสังคมต้องเร่งปรับโจทย์ลงทุนอีกครั้ง เพื่อขยายพอร์ตลงทุนออกไป ด้วยเงื่อนไขว่าต้องกระทบต่อตลาดหุ้นไทยให้น้อยที่สุด จนนำมาซึ่งแนวคิดที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคม จำนวน 8 พันล้านบาท...ออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ
ตั้งแต่ "หุ้น" "น้ำมัน" และ "ทองคำ" ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8-10% และยังถือเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารการลงทุน ยังได้ผุดแผนที่จะลงทุนใน "อสังหาริมทรัพย์" ในสัดส่วนประมาณ 5% ของมูลค่าเงินกองทุน หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
...แต่ที่สุดแล้ว สำนักงานประกันสังคม ก็ต้องชะลอแนวคิดทั้งสองฟากไว้ก่อน หลังจากกระแสไม่เห็นด้วยเริ่มรุนแรงมากขึ้น
นาทีหลังจากนี้ จึงเหลือชอยส์การลงทุนเพียง "ตลาดหุ้น" เท่านั้น ที่จะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้
จากความเคลื่อนไหวของพอร์ตหุ้นกองทุนประกันสังคมปี 2549 เปรียบเทียบกับพอร์ตเมื่อปี 2548 จะพบว่า กองทุนแห่งนี้ได้ทำการทยอยขายหุ้นหลายๆ ตัวออกจากพอร์ต เพื่อตุนเงิน(กำไร)ไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหุ้น "ปตท." (PTT) ซึ่งพบการขายออกไปกว่า 2.89 ล้านหุ้น รวมถึงยังขายหุ้น "บ.ท่าอากาศยานไทย" (AOT) "ธ.กรุงไทย" (KTB) "ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" (MINT) "การบินไทย" (THAI) และ "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" (MAJOR) ออกไปอีกจำนวนมาก
รวมถึงยังได้จำหน่ายหุ้น "ชิน คอร์ปอเรชั่น" (SHIN) ที่เคยถืออยู่จำนวน 22.8 ล้านหุ้นออกไป หลังจากกลุ่มเทมาเส็กเข้ามาทำ "เทนเดอร์ ออฟเฟอร์"
อีกทางหนึ่ง สำนักงานประกันสังคม ก็เริ่มหันมาสะสม "หุ้นปันผล" ซึ่งยังมีภาพธุรกิจที่เห็นแนวโน้มของอนาคต โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่าง "ธ.กรุงเทพ" (BBL) "ธ.ไทยพาณิชย์" (SCB) "ผลิตไฟฟ้าราชบุรี" (RATCH) "เจริญโภคภัณฑ์อาหาร" (CPF) รวมถึงหุ้นหมายเลข 1 แห่งวงการอสังหาฯอย่าง "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" (LH)
ที่น่าสนใจ ก็คือ ประเด็นที่กองทุนประกันสังคมเข้าไปลงทุนในหุ้นของ "ธ.ไทยธนาคาร" (BT) เป็นจำนวนกว่า 51 ล้านหุ้น ด้วยสัดส่วน 3.47% ...หลังจากที่ปลายปี 2548 รมว.กระทรวงแรงงาน "สมศักดิ์ เทพสุทิน" เคยออกมาแสดงความต้องการโยกเงินกองทุนจำนวนหนึ่ง มาจัดตั้ง "ธนาคารแรงงาน"
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า สำนักงานประกันสังคมอาจอาศัยวิธีเข้าไปลงทุนหุ้น BT ในลักษณะพันธมิตร ที่ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่ (48.98%) คือ "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ซึ่งประกันสังคมจะสามารถนำจุดเด่นในเรื่องของประวัติบุคคลหรือข้อมูลเชิงลึก...ของผู้ประกันตนมากกว่า 8.5 ล้านคนทั่วประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์
ซึ่ง สำนักงานประกันสังคม ยังอยู่ระหว่างการศึกษาขั้นตอนและความเป็นไปได้ของแผนจัดตั้ง "ธนาคารแรงงาน" ขึ้นมา
แต่ทั้งนี้ ความคิดในการจัดตั้ง "ธนาคารแรงงาน" เริ่มปรากฏสัญญาณตั้งแต่เมื่อครั้งที่ สำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยการกันเงินกองทุนออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อปล่อย "สินเชื่อบ้าน" ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ลูกจ้างที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนั้น ทาง สำนักงานประกันสังคม ยังได้เตรียมแผนลงทุนในหุ้น กฟผ. หากสามารถระดมทุนในตลาดหุ้นได้...แต่บิ๊กโปรเจคนี้ก็มีอันต้องยุติไป
ก่อนที่ "ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์" เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม จะปรับแผนอีกครั้งโดยเตรียมที่จะโยกเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปร่วมลงทุนในโครงการ "เมกะโปรเจค" ของรัฐบาล รวมถึงการศึกษาแนวทางการลงทุนในมหานครสุวรรณภูมิภายใต้โครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้มหานครแห่งใหม่
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางทุนที่ สำนักงานประกันสังคม เตรียมขนเงินไปลงทุน