เงินสดของเราอยู่ที่ไหนบ้าง
.
การบริหารเงินสดถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่เป็นหัวใจของการลงทุนครับ เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพคล่องและความเสี่ยงของพอร์ต และทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นจุดตายได้เลยหากบริหารจัดการไม่ดีพอ แต่ก็น่าแปลกใจที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้กันสักเท่าไหร่
.
มีตัวอย่างให้เห็นเป็นระยะครับ ว่านักลงทุนบางท่านที่ไม่ได้จัดแบ่งเงินสดให้ดีแล้วต้องยอมขายหุ้นผิดจังหวะ ขายแบบไม่ได้ราคา เพียงเพราะมีความจำเป็นต้องเอาเงินไปใช้กับเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้า หรือตอนหุ้นตกแล้วไม่มีเงินเหลือซื้อหุ้น หรืออาจเป็นกรณีตรงกันข้าม คือไม่กล้าซื้อหุ้นด้วยเงินจำนวนที่มากพอทั้งที่เห็นโอกาสที่ดีอยู่ตรงหน้าแล้ว เพราะมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีเหตุไม่คาดฝันต่างๆ เกิดขึ้น
.
แต่ครั้นเมื่อตัดสินใจที่จะจัดการให้เข้าที่เข้าทาง ก็เกิดความสับสนว่าจะจัดแบ่งเงินสดไว้ที่ไหนอย่างไรให้เหมาะสม
.
เราจะมาดูกันในบทความนี้ครับ ว่าควรจัดแบ่งสัดส่วนของเงินสด (และสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสด) ของเราอย่างไร และวางมันไว้ตรงไหนบ้าง
.
เริ่มจากเงินที่เราหามาได้ (รายได้จากการทำงานหรือรายได้จากสินทรัพย์) เอาไปจับจ่ายใช้สอย หากเหลือก็เก็บเป็นเงินออม สำรองไว้เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือไว้สำหรับเป้าหมายพิเศษในระยะใกล้ๆ แล้วถ้ายังมีเหลือก็นับเป็นส่วนเกินสภาพคล่องที่สามารถนำไปลงทุนให้เติบโตออกดอกออกผลต่อไป
.
มาไล่ดูกันไปทีละก้อนครับ
.
.
เงินสดก้อนแรก
คือเงินส่วนที่เราเก็บไว้ในที่ที่หยิบใช้ได้สะดวก เป็นเงินหมุนเวียนสำหรับจับจ่ายใช้สอยในแต่ละเดือน โดยต้องไม่ลืมคิดถึงรายจ่ายที่เป็นรายปีด้วย ซึ่งใครที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองมีภาระรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ ก็ควรทำการจดบันทึกไปสักระยะจนกว่าจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจน แล้วจึงวางแผนว่าเงินที่หาเข้ามาได้ในแต่ละเดือนควรจะกันไว้ในส่วนนี้เท่าไหร่ ที่เหลือจะได้แบ่งเอาไปเก็บไว้เป็นเงินออมและเงินลงทุนต่อไป
.
เงินสดก้อนที่สอง
คือเงินที่กันไว้สำหรับรายจ่ายพิเศษในระยะเวลาใกล้ๆ (ถ้ามี) เช่น ท่องเที่ยว ซื้อของราคาแพง หรือการเฉลิมฉลองในวาระพิเศษต่างๆ เป็นต้น
.
เงินสดก้อนที่สาม
คือเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน สำหรับรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ตกงาน เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งควรจะมีจำนวนเทียบเท่ากับรายจ่าย 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน เพื่อให้มีเวลาปรับตัวโดยไม่กระทบกับการใช้ชีวิต เงินเก็บออม และเงินลงทุน (เงินก้อนนี้หากยังไม่มี หรือพร่องลงไปด้วยความจำเป็น ก็ต้องรีบเติมให้เต็มโดยเร็วที่สุด)
.
หลังจากที่ได้สำรวจและสำรองเงินในขั้นก่อนหน้าไว้อย่างเหมาะสมแล้ว เงินก้อนที่เหลือจะเรียกว่าเป็น “เงินส่วนเกินสภาพคล่อง” ซึ่งหากวางทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะเป็นการเสียโอกาส จึงควรนำไปลงทุนให้งอกเงย
.
แต่ในอีกทางหนึ่ง หากทำข้ามขั้นตอน กล่าวคือนำเงินไปลงทุนทั้งที่ยังไม่ได้สำรองเงินในสามข้อข้างต้นไว้อย่างเพียงพอ ก็อาจเกิดความสับสนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการ short เงิน (ขาดสภาพคล่อง) จนต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือขายสินทรัพย์ลงทุนแบบผิดจังหวะราคา ทำให้พอร์ตเสียหายได้
.
ก่อนจะไปกันต่อ ขอย้ำว่าเงินที่จะนำไปลงทุนให้ออกดอกออกผล จะต้องเป็น “เงินส่วนเกินสภาพคล่อง” เท่านั้นนะครับ
.
เงินสดก้อนที่สี่
คือเงินที่อยู่ในพอร์ตลงทุนสินทรัพย์อื่น เช่น พอร์ตอสังหา หรือเงินหมุนเวียนในธุรกิจ เป็นต้น
.
เงินสดก้อนที่ห้าและหก คือเงินสำหรับลงทุนหุ้น
.
เงินสดก้อนที่ห้า
“เงินก้นพอร์ต” หรือ “เงินถ่วงพอร์ต” หมายถึงเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด ซึ่งแยกเก็บไว้ต่างหากจากเงินลงทุนในหุ้น โดยเตรียมไว้สำหรับวิกฤติตลาดหุ้นโดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะฉวยโอกาสช้อนซื้อหุ้นที่มีราคาถูกมากๆ เพราะว่าวิกฤติตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แม้แต่ในภาวะฟองสบู่ที่หุ้นก็อาจจะขึ้นต่อไปได้อีกระยะ ใกล้ไกลเท่าไหร่ไม่รู้ และหนทางหนึ่งในการลงทุนแล้วนอนหลับได้อย่างมีความสุขก็คือ การสร้างสมดุลระหว่างการฝันเห็นกำไรจากการลงทุนในหุ้นที่เลือก ในขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์วิกฤติที่เราไม่อาจวิเคราะห์หรือคาดเดาได้
.
หลายท่านอาจไม่ชอบแนวคิดนี้ เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการทำกำไรจากเงินก้อนนี้ แต่ส่วนตัวผมมองว่าค่าเสียโอกาสนั้นเปรียบเสมือนกับเบี้ยประกันภัยที่เราจ่ายออกไปทุกปี แลกกับการคุ้มครองว่าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่) เราจะยังอยู่รอดและอาจฉกฉวยโอกาสที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจคว้าเอาไว้ได้ (อ่านรายละเอียดแนวคิดในการกำหนดสัดส่วนเงินสดก้นพอร์ตได้ในหนังสือ “คู่มือวีไอ” ครับ)
.
เงินสดก้อนที่หก
คือเงินรอซื้อหุ้น ซึ่งผมหมายถึงรอจริงๆ นะครับ
กล่าวคือ รอจนกว่าจะค้นพบโอกาสการลงทุนที่ดีและมีความมั่นใจเท่านั้น ไม่เจอก็ไม่ซื้อ ซึ่งหมายความว่าบางเวลาเราอาจจะถือครองเงินสดในส่วนนี้อยู่เต็มมือ แต่บางจังหวะเวลาก็อาจจะไม่มีเหลือเลยก็ได้
.
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดในการบริหารจัดการเงินสด ที่เป็นพาร์ทหนึ่งของการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่าง “การทำกำไร” และ “การควบคุมความเสี่ยง”
.
ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ เอาให้พอเหมาะพอสมกับอุปนิสัย เป้าหมายการลงทุน และบริบทของแต่ละท่าน รับรองว่าดีต่อพอร์ตและดีต่อใจแน่นอนครับ
.
ด้วยความปรารถนาดี
.
by #Dr.Vi. #หมอวิ (5 เมษายน 2561)
https://www.facebook.com/Dr.Vichian/