เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันนี้สภาพัฒน์ฯจะแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 2.0-2.5% ในช่วง เม.ย. – มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์และต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์กันเอาไว้เมื่อต้นปี ทำให้จีดีพีไทยในครึ่งแรกของปีนี้น่าจะขยายตัวได้เพียง 2.5% โดยประมาณเท่านั้น ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะมีศักยภาพในการขยายตัวประมาณ 3.5-4.5% ต่อปี แปลว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็มีความเสี่ยงว่าจะต้องมีการปลดคนงานและธุรกิจจะต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมากเพราะอุปสงค์ไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดีเ ศรษฐกิจไทยน่าจะกระเตื้องขึ้นได้บ้างในครึ่งหลังของปีนี้ โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 และยังคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้มากกว่า 3% เล็กน้อยในปี 2020 เพราะน่าจะได้อานิสงค์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและเศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5% ในปีหน้า การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่า 3% เล็กน้อยนั้นถือว่าไม่เป็นเรื่องที่น่าจะพึงพอใจมากนัก เพราะเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพในระยะยาวและมีปัจจัยเสี่ยงมากมายจากปัจจัยภายนอกที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

รูปภาพ

หากพิจารณาการขยายตัวของจีดีพีไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังปรากฏในตารางข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่าจีดีพีของไทยนั้นขยายตัวสูงสุดในครึ่งแรกของปี 2018 ที่ผ่านมา โดยขยายตัวสูงถึง 4.8% แต่ก็เริ่มชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 3.4% ในครึ่งหลังของปี 2018 เท่ากับกรอบล่างของศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว (เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการขยายตัวประมาณ 3.5-4.5% ดังกล่าวข้างต้น)

ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามว่าเมื่อจีดีพีขยายตัวได้ไม่สูงมากนักในครึ่งหลังของปี 2018 (และลดลงจากครึ่งแรกของปี 2018) แล้ว ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ตัดสินใจปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ในเดือน ธ.ค. 2018 เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น อัตราเงินเฟ้อไม่เคยเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5% ต่อปีเลย (ปัจจุบันก็ยังไม่ถึง 1% ต่อปี) นอกจากนั้นการปรับดอกเบี้ยขึ้นนั้นเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่าจะส่งผลในการชะลอเศรษฐกิจลงประมาณ 12 เดือนต่อมา กล่าวคือจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณปลายปีนี้ที่รัฐบาลกำลังพยายามเร่งรีบที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวพอดี จึงมองได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายคนละทิศทางกัน

นอกจากนั้น หากพิจารณาจากแถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากนง. เริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจแล้วในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวในแถลงการณ์เมื่อ 20 มี.ค.ว่า “คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้ว่าจะชะลอตัวลงกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง” การที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เพียง 3 เดือนหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะยิ่งทำให้รีบพิจารณาลดดอกเบี้ยกลับลงมาโดยเร็ว แต่ปรากฏว่ากนง.รอต่อไปอีกเกือบ 5 เดือน จึงตัดสินใจที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. โดยประเมินว่า “ในการตัดสินนโยบายคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ” แต่ดังที่ผมกล่าวข้างต้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่านโยบายการเงินนั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ 12 เดือนจึงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ แปลว่าอาจเห็นผลดีจากการลดดอกเบี้ยในเดือน ส.ค.ปีหน้า

นอกจากนั้น การตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 8 ส.ค.นั้น ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ แต่มีเสียงคัดค้าน 2 เสียง (จากทั้งหมด 7 เสียง) โดยเสียงข้างน้อยต้องการ“เก็บกระสุน” เอาไว้ใช้ในอนาคต แปลว่าการจะลดดอกเบี้ยอีกต่อไปนั้นอาจไม่เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงความเป็นห่วงเศรษฐกิจอย่างมากและกำลังพยายามนำเสนอนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ออกมาอย่างเร่งรีบ ซึ่งในแถลงการณ์ของกนง.นั้น ก็ต้องการจะรอดูมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐเช่นกัน

ดังนั้น การที่รัฐบาต้องการจะตั้งคณะกรรมการร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีในการประสานความเข้าใจร่วมกันระหว่างทั้ง 2 หน่วยงานว่า เศรษฐกิจไทยนั้นกำลังชะลอตัวลงมากน้อยเพียงใด และควรประสานนโยบายในการปิดความเสี่ยงในด้านขาลงของเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับฝ่ายที่กลัวว่าความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบนั้น ผมเห็นว่าหลักการสำคัญคือจะต้องรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ (accountability) ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหมายถึงการดำเนินนโยบายการเงินให้เงินเฟ้อปรับตัวเข้ากรอบที่ตกลงเอาไว้กับกระทรวงการคลังที่ 2.5% ต่อปีเป็นเรื่องหลักและเมื่อเงินเฟ้อจริง ยังห่างจากเป้าดังกล่าวอย่างมาก ก็ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจก็อ่อนแออย่างมากและเงินบาทก็ยังแข็งตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งกนง.เองก็ยอมรับเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า “มีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง”
โพสต์โพสต์