ดิฉันเคยเขียนถึงการไปดูงานด้านกิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษ และได้ไปเยี่ยมบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากโรงเรียนต่างๆให้นำหลักสูตรการสอนเด็กให้รู้จักทำธุรกิจไปสอนในโรงเรียน ด้วยตระหนักว่า เป็นวิชาที่มีประโยชน์ต่อชีวิตการทำงานในภายภาคหน้า
สัปดาห์เศษๆที่ผ่านมา เรื่องราวของการที่เยาวชนถูกล่อซื้อสินค้ากระทงโดยผู้ซื้อแจ้งว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นที่ฮือฮากันมาก กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตถึงกับกระเทือนถึงตำแหน่งหน้าที่ของบางท่าน ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่องเนชั่น 22 ที่ติดตามและจี้จนความจริงปรากฏ และคาดว่าเด็กๆ(เฉพาะที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์)จะได้รับความยุติธรรม แต่ผู้ที่ทำผิดก็คงต้องว่าไปตามความผิด ซึ่งอาจจะถูกตักเตือนก่อนเมื่อทำผิดครั้งแรก เป็นต้น
ดิฉันเป็นห่วงผลพวงของเรื่องนี้ค่ะ กลัวว่าจะเป็นการทำให้เยาวชนกลัว และเลิกความคิดที่อยากจะทำมาหากิน หารายได้พิเศษช่วยพ่อแม่
ถ้าท่านเป็นแฟนคอลัมน์ของดิฉันมานาน คงทราบว่า ดิฉันเริ่มค้าขายตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ด้วยการให้พี่เลี้ยงช่วยนำของเล่นชิ้นใหม่ ไปทำสลากขายแถวๆบ้าน ปรากฏว่าขาดทุนย่อยยับ เพราะไปบ้านแรกเขาก็จับได้ของรางวัล ก็เลยขายต่อไม่ได้
ดิฉันเคยทำกระทงขายด้วยค่ะ เนื่องจากอยู่จังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวงานเทศกาลใหญ่สองเทศกาล คือลอยกระทงและสงกรานต์ จำนวนมาก กระทงที่ทำก็ทำด้วยมือจากกระดาษย่นสีต่างๆ ด้วยวิธีการที่เรียนรู้มาจากวิชาคหกรรมที่โรงเรียน ตอนนั้นอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 แล้ว และก็ทำเรื่อยมาอีก 2 ปี ได้กำไรก็นำไปแบ่งปันหุ้นส่วน ผู้มาร่วมแรงช่วยทำ เข้าใจถึงความรู้สึกของคนขายของ ว่าการขายได้น้อย การไม่มีคนสนใจซื้อเป็นอย่างไร และดีใจที่สุดเมื่อมีชาวกรุง(เทพ)มาเหมาซื้อไปหมด ยังนึกขอบคุณเขาไม่หาย แม้เวลาจะผ่านมาถึงเกือบ 50 ปีแล้ว
ถามว่าเด็กได้อะไรจากการค้าขาย ถ้าสรุปโดยรวมก็บอกได้ว่า “ได้ฝึกทักษะชีวิต” ดิฉันลองมาแยกแยะดู คิดว่ามีประโยชน์ 7 ประการดังนี้ค่ะ ประการแรกคือ มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้เด็กต้องคิดว่าจะทำหรือประดิษฐ์อะไร ขายอะไร ประการที่สอง รู้จักค่าของเงิน ทำให้รู้ว่ากว่าจะได้เงินมา ไม่ง่ายเลย ต้องเหนื่อยยาก และจะมีผลพลอยได้คือ ไม่เป็นคนฟุ่มเฟือยเมื่อโตขึ้น ประการที่สาม รู้จักบริหารต้นทุน รู้จักการจัดการ รู้จักเรื่องต้นทุน กำไร ขาดทุน รู้ว่าการทำธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะขายไม่หมดและขาดทุน หรือมีโอกาสขายหมดเกลี้ยงแล้วได้กำไร เพราะฉะนั้น หากไม่แน่ใจว่าจะขายดี ก็อาจจะยังไม่ประกอบสินค้าทั้งหมด เก็บเป็นชิ้นส่วนต่างๆไว้ หากสต็อกเหลือน้อย ก็ไปประกอบเพิ่ม หรือหากขายไม่ดี ก็เก็บชิ้นส่วนเอาไว้ประกอบขายในปีหน้าได้ ประการที่สี่ รู้จักแบ่งเวลา ต้องเรียนหนังสือด้วย ทำการบ้านด้วย ทำกระทงด้วย ก็จะต้องวางแผนให้ดีว่า จะเริ่มทำตอนไหน เพื่อให้เสร็จทันที่จะขายก่อนงานนิดหน่อย และขายในวันงาน ประการที่ห้า รู้จักแบ่งงาน สอนงานคนอื่น เชื่อว่าส่วนใหญ่เวลาทำของขาย ต้องมีคนมาช่วยอยู่แล้ว อาจจะเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนข้างบ้าน ทำให้ต้องรู้จักแบ่งว่าให้ใคร ช่วยทำอะไร ประการที่หก สร้างมนุษยสัมพันธ์ รู้จักทักทายคน มีความกล้าที่จะเริ่มพูดกับคนแปลกหน้าก่อน เพื่อเชิญชวนให้มาซื้อของของเรา และประการสุดท้าย สร้างความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นกับผู้ทำงานอาชีพต่างๆ พอโตขึ้น เห็นคนทำอาชีพต่างๆที่เราเคยฝึกทำ เราจะเข้าใจถึงความซับซ้อน หรือความยาก หรือจุดด้อย จุดเด่น จุดสำคัญ ของงานแต่ละอาชีพ เช่น ดิฉันเอง ถ้าเห็นเด็กขายของ ภาพความหลังก็จะวิ่งเข้ามา ทำให้เราอยากช่วยซื้อเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจเด็ก ทันทีเลยค่ะ
ถ้าไม่เคยขายของ จะไม่รู้ว่าจะขายของให้ได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ศิลปะในการขายอย่างเดียว สินค้าหรือบริการของเราต้องเป็นที่ถูกใจลูกค้าด้วย คุณภาพต้องดี นำไปลอยแล้วต้องลอยได้ ไม่เอียง ไม่คว่ำ เพราะฉะนั้น ทำแล้วต้องนำไปทดลองลอย เรียกว่ามีการควบคุมคุณภาพ นอกจากนี้ การนำเสนอก็มีความสำคัญค่ะ ต้องมีแบบให้เลือกหลากหลาย มีหลายสี หลายขนาด คือคนชอบเลือก หากทุกชิ้นเหมือนกันหมด ถ้าเขาไม่ถูกใจ ก็จะไม่ซื้อเลย หรือหากถูกใจ เขาก็อาจจะซื้อเพียงชิ้นเดียว หากมีให้เลือกหลายๆแบบ เขาอาจจะซื้อหลายชิ้น เพราะชอบหลายแบบ เป็นต้น
เห็นไหมคะ เด็กวัย 11 ขวบก็สามารถเรียนรู้ เรื่องธุรกิจได้
ดังนั้น ขอให้กำลังใจน้องๆ ลูกๆ หลานๆทั้งหลาย ให้เดินหน้าทำมาค้าขายต่อไปนะคะ อย่างท้อถอยเพียงเพราะอุปสรรคที่ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งนำมาขัดขวาง แต่อยากให้เรียนรู้กฎหมายเบื้องต้นไว้ ว่าอย่าไปลอกเลียนแบบใคร เท่าที่เห็นตัวอย่างสินค้าจากข่าว น้องๆก็มีความคิดสร้างสรรค์ดี ดิฉันเห็นแล้ว ยังอยากช่วยอุดหนุนเลยค่ะ อยากแนะนำให้ออกแบบเอง ตัวการ์ตูน หรือคาแรคเตอร์ ต่างๆ ก็ต้องมี ตา มีปาก มีจมูก เราก็นำ ตา ปาก จมูก มาจัดแต่งให้ลงตัว สร้างตัวการ์ตูนใหม่ๆ เชื่อว่าน้องๆทำได้อยู่แล้ว สร้างใหม่โดยไม่ยึดติดกับภาพการ์ตูนตัวเดิมที่เราเคยเห็นมา หลายคนก็มีฝีมือทางการวาด วาดเองขึ้นมาใหม่ ก็แปลกตา สวยงามดีนะคะ การไม่ไม่เลียนแบบ ทำให้ต้องคิด ต้องจินตนาการ และอาจทำให้เกิดศิลปินดังคนใหม่ของไทยในอนาคตก็เป็นได้
คุณมิเชล ฟอกซ์ ได้เขียนบทความไว้ในเว็ป ของ CNBC เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ว่า เอียร์มัฟฟ์ หรือที่ครอบหูกันหนาว ไอศครีมแบบแท่ง และ แทรมโพลีนหรือสปริงบอร์ดสำหรับกระโดดเล่นออกกำลังกาย ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเด็กเป็นผู้คิดค้นทั้งนั้นค่ะ เธอยังบอกอีกว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เริ่มงานแรกด้วยการเดินเร่ขายหมากฝรั่งตามบ้านต่างๆ
ดังนั้น การฝึกทำธุรกิจตั้งแต่เด็กๆจึงเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมค่ะ
สอนเด็กให้ทำธุรกิจ : กรณีศึกษาจากกระทง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1