อยากให้สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงฝันร้าย แต่มันก็ไม่ใช่ความฝัน
ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าหนักหนาสาหัส เมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายไปในวงกว้างขึ้น และแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ และอิตาลี ก็ไม่สามารถควบคุมการขยายวงระบาดของโรคได้ หรือพูดง่ายๆคือ “เอาไม่อยู่”
ความกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการหาซื้อหน้ากากอนามัย ซึ่งหายากเหมือนงมเข็มในกาละมัง หรือจากการหวาดระแวงว่าจะมีผู้ป่วยไวรัสโควิดมาแพร่เชื้อทิ้งไว้ ทำให้ไม่กล้าจับต้องสิ่งของในที่สาธารณะ ไม่อยากเดินทางด้วยรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถแท้กซี่ รถประจำทาง รถตู้ รถไฟ รถบัส หรือเครื่องบิน จะประชุมกับใครก็ต้องถามให้แน่ใจก่อนว่า ไม่ได้ไปประเทศเสี่ยงมาในช่วงเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีความหดหู่ จากเหตุการณ์ที่ หุ้นที่ลงทุนเอาไว้ จู่ๆก็มีการลดราคาไปครึ่งหนึ่ง แบบ Hot sales ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีความผันผวนระหว่างวันมากมายจนเส้นกราฟออกรูปทรงซิกแซกเป็นใบเลื่อย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าเราตั้งสติไม่ได้ เราจะมีความทุกข์มากๆๆๆทีเดียวค่ะ
แต่ถ้าเราตั้งสติได้ เราก็จะทำใจได้ ซึ่งดิฉันได้โพสต์ปลอบประโลมเพื่อนๆในเฟซบุ้คไปเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2563 ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จงดีใจว่า โชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ เงินทองที่ลงทุนอยู่ แม้จะหดหายไปจำนวนมาก แต่ถ้าเรายังอยู่ เราจะสามารถหาใหม่ได้”
ไม่ถึง 18 ชั่วโมง มีเพื่อนมากดไลค์เกือบ 700 คน แชร์ไปเกือบ 30 คน และขอบคุณที่เตือนสติเขา
บางคนโอดครวญว่า “แต่คงหาได้ไม่เท่าเดิมแล้ว”
ไม่เท่าเดิมแน่ๆค่ะ แต่อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิมก็ได้
ตั้งแต่นี้ไป ขอให้ท่านปรับทัศนคติและความคิดเล็กน้อย เพื่อให้ท่านสามารถดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
“ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง” คือพระธรรมอันสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเรา ทุกสิ่งผ่านเข้ามา แล้วก็จะผ่านไป ความทุกข์ หรือความสุข หรือเงินทอง ก็เช่นกันค่ะ
โจทย์ในปัจจุบันของเราคือ “เราจะทำอย่างไรที่จะรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ต่างหาก
ต่อไปนี้จะลงทุนอะไรเพิ่ม ต้องถามว่าอนาคตข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น และธุรกิจใดจะสามารถรับมือกับอนาคต และสามารถเติบโตได้ดีที่สุด
เราต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสค่ะ ต่อไปนี้ เราต้องหันมาทบทวนตัวเอง หรือองค์กรของเราเองว่า “เราเตรียมพร้อมสำหรับรับกับอนาคตที่ไม่แน่นอนแล้วหรือยัง” ในด้านต่างๆเหล่านี้ คือ โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงทางการเงิน ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม และการเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขอยกตัวอย่างประเทศไทย ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แม้เราจะมีถนน ท่าอากาศยาน การขนส่งคมนาคมที่เชื่อมต่อทุกภูมิภาค มีสาธารณูปโภคที่ดี มีการผลิตสินค้าและบริการหลากหลาย แต่เราก็พบว่า เราอาจจะหยุดผลิตวัตถุดิบบางอย่าง หรือมีการผลิตสินค้าหรือเครื่องใช้จำเป็นบางอย่าง ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เพราะว่าเราผลิตได้แพงกว่าสินค้านำเข้า โดยเฉพาะนำเข้าจากประเทศจีน แต่ถ้าเราปรับให้สามารถผลิตได้สัก 2 ใน 3 และนำเข้าสัก 1 ใน 3 ก็น่าจะพอใจในระดับหนึ่ง และต้องรณรงค์ให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แม้ราคาอาจจะสูงกว่าสินค้านำเข้า เพื่อที่จะทำให้เกิดสมดุลของแหล่งผลิตป้อนตลาดค่ะ
ในมุมมองของรายได้ เรามีการกระจายตัวค่อนข้างดีในอุคสาหกรรมต่างๆ แม้จะเอียงไปอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่สืบเนื่องมากหน่อย แต่เผอิญเป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับสังคมสูงวัย เพราะสามารถหารายได้จากท้องถิ่นได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น แต่การกระจายตัวในด้านฐานลูกค้า เรายังทำได้ไม่ดี ลูกค้าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย และเป็นคนจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องมีกลยุทธ์ที่จะค่อยๆแก้ไขให้มีความสมดุลต่อไป เช่นนี้เป็นต้น
สำหรับธุรกิจ ก็ต้องสำรวจในทำนองเดียวกันค่ะ โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจเหมาะสมแล้วหรือยัง จะปรับปรุงอย่างไร เพื่อลดการพึ่งพาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ การผลิต ความหลากหลายของสินค้าและบริการ ช่องทางการขายและบริการ ฐานลูกค้า ฯลฯ
ความมั่นคงทางการเงิน เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่า โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจองค์กร จะดำเนินการได้ต้องมีเงินทุน ทั้งที่ใช้ลงทุนระยะยาว ทั้งเงินทุนหมุนเวียน ต้องวางแผนให้มีเพียงพอ เมื่อมีกำไรสะสม ก็จ่ายปันผลแกไปบ้าง เหลือไว้ใช้ในกิจการบ้าง หากต้องมีการกู้ยืม ก็ต้องไม่กู้มากจนเกินตัว
ต้องมองหายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว หรือเป็นสิ่งที่ต้องปรับแก้ หรือต้องหามาใหม่ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะทางด้านสุขอนามัย เราต้องกล้าที่จะทดลองนำสิ่งใหม่ๆมาใช้ อาจเป็นเทคโนโลยี วัสดุ วัตถุดิบ หรือเครื่องปรุง ชนิดใหม่ ฯลฯ หรือร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพราะจับมือกันทำจะดีกว่าทำเอง หรือทดลองข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ใหม่ๆเพิ่มเติม
เตรียมแผนฉุกเฉินไว้ให้พร้อม เพื่อไม่ให้ธุรกิจติดขัด ต้องรู้ว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรหัวใจนั้นจะยังคงทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นก็ตาม เช่น หากพนักงานมาทำงานไม่ได้ หากลูกค้ามาที่ร้านไม่ได้ จะดำเนินการอย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้าง หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ใครคือผู้เป่านกหวีดว่าจะต้องนำแผนฉุกเฉินมาใช้แล้ว
ในแง่การลงทุน เลือกพิจารณาพอร์ตการลงทุนของท่าน และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่เหมาะสมกับอนาคต คือมีโอกาสฟื้นตัวมากกว่าหลักทรัพย์หรือตราสารอื่นๆค่ะ
พิจารณาจากปัจจัยสำหรับธุรกิจที่ดิฉันเขียนไปข้างต้นก็ได้ค่ะ พิจารณาลงทุนบริษัทที่มีแนวโน้มว่าจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง และมีการเติบโตต่อไปในอนาคต
ขอให้ทุกท่านอดทน สู้สู้ ขอให้ฝ่าฟันช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้นะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน และให้ตัวเองด้วยค่ะ
ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1