วันนี้จะขอลองมาอ่านสั้นๆ กับหนังสือการเงินเก่า แต่เก๋า ของ โซรอส ค่ะ ..
The Alchemy of Finance (แปลไทยว่า เล่นแร่แปลธาตุทางการเงิน)
เล่มนี้ไม่เคยอ่านเลยค่ะเพราะทุกคนบอกว่าอ่านไปก็ไม่รู้เรื่องหรอก ก็เลยไม่เคยหามาอ่าน
แต่วันก่อนหยิบหนังสือ โซรอสเลกเชอร์ มากพลิกๆอ่านดู อ่าว คราวนี้อ่านรู้เรื่อง
เราพบว่าเค้ามีจุดเชื่อมกับ Taleb เจ้าพ่อ Black Swan ที่การบูชา Karl Popper เหมือนกัน
เราเลยคิดว่า ปีนี้เราอาจจะอ่านหนังสือของ โซรอส เข้าใจก็ได้นะ
Karl Popper เป็นนักปรัชญาชาวเวียนนา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ โซรอส ตอนที่เค้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ที่
London School of Economics ปลายทศวรรษ 1950 และเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของ โซรอส ในการเขียนหนังสือเล่มนี้
Popper เขียนหนังสือชื่อ The Open Society and Its Enemies ประมาณว่า เราไม่อาจถือเอาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์
ว่าเป็นความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ... การทดสอบที่ไม่ได้ผลเพียงครั้งเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่ามันไม่จริง
(หืมมม นี่มัน Black Swan เลยนี่หว่า การพบเห็นหงส์สีดำเพียงตัวเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะลบล้างทฤษฎีที่ว่าหงส์ทุกตัวบนโลกนี้เป็นสีขาว ...คราวนี้เราอ่านเข้าใจแน่ๆ)
แต่ โซรอส ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฎีของ Popper ไปซะทุกเรื่องนะคะ อย่างเรื่อง the Unity of Science ก็ไม่เห็นด้วย
แต่ไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้ละกัน
โซรอส อัพเดทหนังสือในปี 2003 เพิ่มเติมสิ่งที่เค้าเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีปฎิกิริยาสะท้อนกลับ (Theory of Reflexivity) อันเลื่องชื่อให้กระจ่างมากขึ้น เเค่ได้ฟังส่วนทฤษฎีที่เขียนในหนังสือ ก็น่าสนใจมากๆแล้วค่ะ
โซรอส เล่าว่าสมัยเรียน เค้าสับสนกับสมมติฐานของเศรษฐศาสตร์ มันขัดแย้งกับสิ่งที่เค้าได้อ่านจากงานของ Popper สมัยนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ และตลาดมีการแข่งขันที่สมบูรณ์
**ทฤษฎี Reflexivity**
ตอนที่เค้าเริ่มเป็นผู้จัดการกองทุน สมัยนั้นสาธารณชนมีความเชื่ออันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ตลาดถูกต้องเสมอ
ดังนั้นราคาตลาด จึงมีแนวโน้มที่จะ discount พัฒนาการต่างๆ (ของกิจการ) ในอนาคตไปแล้ว ... ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าไอ้เจ้าพัฒนาการที่ว่านั้นคืออะไร .. แต่ โซรอส บอกไม่ใช่ ผมขอสวนแนวคิดนี้
เค้าเชื่อว่าราคาตลาดนั้นผิดเสมอ (เอาสิ๊) ในแง่ที่ว่ามันเป็นการนำเสนอมุมมองที่เต็มไปด้วยความอคติ (bias) ของพัฒนาการในอนาคต ความบิดเบือนนี้ทำงานได้ 2 ทิศทาง;
ไม่แค่เพียง Participants (ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ หรือตลาด) มีมุมมองที่เต็มไปด้วยความ bias แต่เจ้าความ bias อันนั้นแหละ จะมีอิทธิพลต่อการกระทำ และก่อให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ในตลาด
สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เราเข้าใจว่า ตลาดคาดพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ แต่ในความเป็นจริงเเล้ว มันไม่ใช่เรื่องของความคาดหวังในปัจจุบันที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ (ที่จะเกิด) ในอนาคต แต่มันเป็น เหตุการณ์ในอนาคตต่างหากที่เกิดจากความคาดหวังในปัจจุบัน (อ่านเข้าใจกันมั้ยคะ เราว่าตรงนี้ลึกซึ้ง)
ในเนื้อแท้ของการรับรู้ของผู้มีส่วนร่วมนั้นมีความบกพร่อง และมันมีความเกี่ยวข้องกันแบบ 2 ทิศทาง ระหว่างความบกพร่องในการรับรู้ของคน และ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง .. โซรอส เรียกว่า "การสะท้อนกลับ หรือ reflexivity"
... พูดภาษาบ้านๆ คือ ถ้าเราทุกคนเชื่อว่ามันจะเกิด มันก็จะเกิดขึ้นจริง
(ในเว่อร์ชั่นอัพเดท โซรอส จะขยายความเป็น Cognitive function และ Participant function ในความหมายของเรื่องทั่วไป
และเป็น Boom/Bust sequence ในบริบทของตลาดตลาดการเงิน แต่เนื้อหาจะประมาณนี้ค่ะ )
**หลักความไม่แน่นอนของมนุษย์ (Human Uncertainty Principle)**
โซรอส บอกว่าถึงแม้มนุษย์จะดำรงชีพอยู่ในโลกของความจริง แต่ทว่ามุมมองของมนุษย์ที่มีต่อโลกนั้นบิดเบือน และห่างออกไปได้อย่างมากมาย
... มากขนาดที่ว่าตั้งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาเรื่อง ตลาดมีประสิทธิภาพ และมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์นั่นแหละค่ะ
มนุษย์ไม่ได้มองโลกอย่างที่มันเป็น แต่มนุษย์มองโลกอย่างที่มนุษย์อยากให้เป็น ทำนองนี้ค่ะ
เค้าบอกว่าอย่าใช้ความรู้ของเราในการตัดสินใจ เพราะที่จริงมันอาจจะเป็นเพียงการรับรู้ว่าเรามีความรู้ (ซึ่งมันคนละเรื่องกัน) นอกจากนี้มันยังมีบริบทที่เป็น unknown ที่เรายังไม่รู้อีกมาก (we don't know what we don't know... ประมาณนี้)
**กลับเข้ามาที่ตลาดการเงิน**
โซรอส มองตลาดการเงินเหมือนเป็นห้องทดลองสำหรับทดสอบสมมติฐาน เค้ามองว่าคนอื่นใช้สมมติฐานในการตัดสินใจลงทุนอยู่บน
พื้นฐานของการทำเงิน (make money) เพียงอย่างเดียว และไม่คิดที่จะทำให้สมมติฐานนั้นถูกต้องในระดับกว้างกว่า
หรือเป็นสากลกว่า
เค้ามองว่า ตลาดนั้นมีความ bias เสมอ
ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เค้าค้นพบว่า ใน 2 สิ่งนี้ มีความเป็น reflexive connection อย่างแน่นอน
1) credit และ collateral (การปล่อยเครดิตและมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน)
2) ผู้กำกับนโยบาย (regulator) และ ระบบเศรษฐกิจที่พวกเค้ากำกับอยู่
โซรอส ไม่ค่อยลงทุนในตลาดที่เล่นกันตามกฎที่กำหนดไว้ แต่มักจะหาโอกาสที่จะทำความเข้าใจ จากการเปลี่ยนแปลงของกฎในตลาด(แปลว่านิยมทำกำไรจากตลาดที่กำลังทำอะไรนอกกฎ อ่ะแหละ)
เมื่อก่อน โซรอส เคยสนใจเรื่องการลงทุนรายบริษัท แต่เปลี่ยนความสนใจมาทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค, การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแล้ว
เพราะขนาดของกองทุนที่ใหญ่ขึ้น จะไปลงทุนรายบริษัทยิบย่อยก็คงเข้าออกลำบาก และความไม่มีเสถียรภาพเชิงนโยบายมหภาคบนโลกใบนี้มีเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างเช่นบางประเทศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แล้วจู่มาประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน... เป็นแหล่งเก็งกำไรอันหอมหวลของ โซรอส เช่น
- เหตุการณ์ในประเทศไทยเดือนสิงหา ปี1997
- เหตุการณ์ร้สเซีย default พันธบัตรเดือนสิงหา 1998 ที่ลากเอากองทุนLTCMลงนรกไปด้วย
เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกต่างมุ่งเน้นไปที่โลกจริงมากเกินไป ละเลยปัญหาที่เชื่อมต่อกับโลกการเงิน และระบบเครดิต
โซรอส บอกว่าแม้กระทั่งเคนส์ (เศรษฐศาสตร์สายเคนส์เซียน) ยังเขียนทฤษฎีของเค้าด้วยสำนวนของโลกจริง
นักเศรษฐศาสตร์สำนักการเงินนิยม (Monetarist) บอกว่ามันมันเป็นไปได้ที่จะควบคุมเงินเฟ้อ ด้วยการควบคุมการขยายตัวของ money supply (อันนี้เรียกว่าด่าทุกสำนัก แบบเท่าเทียมกัน)
แต่ในความคิดของ โซรอส อาจมองว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดเชิงพื้นฐาน เพราะ ค่าของเงินไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ต่างๆในโลกจริง แต่ค่าของเป็นปฎิกิริยาเชิงบวก (positive act) ที่สร้างผลกระทบต่อพัฒนาการของเหตุการณ์
โซรอส พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเขียนแนวนามธรรมแล้ว แต่บางทีมันเลี่ยงไม่ได้จริงๆที่จะใช้ภาษานามธรรม
**ตัวอย่าง Reflexivity ในเรื่อง Credit และหลักทรัพย์ค้ำประกัน**
จำนวนเงินปล่อยกู้จะถูกประเมินจากความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ ซึ่งประเมินโดยผู้ปล่อยเงินกู้ ส่วนการประเมินมูลค่าของหลัก
ทรัพย์ค้ำประกันควรจะทำอย่างเป็นอิสระจากกิจกรรมการปล่อยกู้ ... แต่ในความเป็นจริงมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันจะถูกตัดสิน
ด้วยการปล่อยกู้ (กลับตัลปัตร) การค้นพบนี้ยืนยันด้วยวิกฤติ subprime 2008 (อย่าลืมว่าหนังสือพิมพ์ปี 1987 นะคะ)
**อำนาจ**
โซรอส ตั้งธงในการเขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า เค้าต้องการจะพิสูจน์หักล้างโมเดลตลาดการเงินแบบเดิมๆ ที่ว่าทุกอย่างจะวิ่งเข้าหาจุดดุลยภาพ (equilibrium model)
ด้วยเหตุนี้เค้าบอกว่าเค้ายอมรับสภาวะของการเป็น free exchange (การซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเป็นอิสระ) ของบรรดากลุ่มคนที่เต็มใจ เค้าสามารถพิสูจน์ให้คนเห็นว่าตลาดการเงินนั้นช่างห่างไกลจากสภาวะดุลยภาพของความคาดหวังที่เป็นเหตุเป็นผล
(rational expectation equilibrium) ซะเหลือเกิน ยิ่งไปกว่านั้น มันค่อนไปทางการเสริมความแกร่งให้ตัวเองแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการแพ้ภัยตัวเอง เลยแหละ
หลังจากที่ โซรอส ได้อ่านหนังสือชื่อ Power and Prosperity ของ Mancur Olson แล้ว พบว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย,
การเมือง, สถาบัน หรือ ผู้กำกับดูแล กลับมามีบทบาทสำคัญต่อตลาดการเงิน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนเลยก็มี อย่างเช่น
-ภาวะฟองสบู่การควบรวมกิจการขนานใหญ่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ที่มันถึงจุดพีคที่ Saul Steinberg พยายามจะไปเทค Chemical bank จนก่อให้เกิดการรวบตัวต่อต้านเค้า,
-ภาวะตลาด Crash ในปี 1929 ที่นำไปสู่การออก พรบ. Glass-Steagal Act
-ภาวะฟองสบู่แตกในปี 2000 ที่ทำให้เกิด พรบ. Sarbanes-Oxley Act
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นพัฒนาการทางการเมือง ที่ โซรอส บอกว่า ...ไม่สามารถจะเรียกได้ว่าตลาดนั้นเป็น free exchange ของบรรดาผู้มีส่วนร่วมที่เต็มใจ (ในตลาด)
...มันจึงไม่ใช่ตลาดที่เป็น free exchange อย่างแท้จริง นี่ยังไม่ได้พูดถึงบทบาทของ IMF หรือธนาคารกลางเลย ถถถโซรอส จึงบอกว่า อำนาจและการเมืองมีบทบาทสำคัญในตลาดการเงิน
เมื่อตลาดไม่ปรับเข้าหาดุลยภาพ มีการตั้งหน่วยงานมากำกับดูแล .. แต่การกำกับดูแลนั้นกลับทำให้เกิดวิกฤติขึ้นเป็นรอบๆ แต่ละรอบที่มีวิกฤติก็จะมียกเครื่องการกำกับดูแลสักครั้งนึง
จน โซรอส ถึงกับมองว่าการเข้ามากำกับดูแล และแทรกแซงเพื่อจัดการกับวิกฤติการเงินในแต่ละรอบ นั้นมีส่วนสำคัญกับการก่อตัวของ "super bubble" ในปี 2008 ค่ะ