ประมาณว่า การหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 8% EU 10% ญี่ปุ่น 5.8% ส่วนจีนนั้นจะเพิ่มเพียงแค่ 1% (ซึ่งนับว่าต่ำมากเนื่องจากจีนมีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ)
ผลผลิตรวมของโลกจะหายไปประมาณ 12.5ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นปีหน้า
IMF ชี้ว่า สิ่งที่ประคับประคอง 170 ประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากรายได้ของประชากรที่ตกต่ำกว่าปกตินั้น คือเงินที่รัฐบาลต่างๆอัดฉีดเข้าไปในกระแสแล้วประมาณ 11 ล้านล้าน เหรียญ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลกและมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงโดยเฉพาะได้รับความเชื่อถือในระบบการเงินและการธนาคารระหว่างประเทศ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาเป็นสัญญาณต่อประเทศคู่แข่งและพันธมิตรที่เป็นเศรษฐกิจสำคัญทั้งหลาย
โรคระบาดส่งผลโดยตรงต่อตลาดหุ้นในอเมริกาซึ่งขึ้นมาสม่ำเสมอจนกระทั่งตกวูบ 30% เมื่อดัชนีดาวโจนส์วันที่ 23 มีนาคม 2563 ตกมาที่ 18,592 หลังจากนั้นก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงแม้จะตกจนน่ากลัวอีกครั้งวันที่ 11 มิถุนายน ถึง 1,861จุด (7%) แต่ก็ขยับขึ้นมาอีกค่อนข้างสม่ำเสมอ จนถึงวันพุธที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมาตกอีก 710จุด (2.7%) และแม้มีการคาดว่าวันที่ 24 มิถุนายนจะตกอีก แต่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนตลาดหุ้นปิด มีการระดมซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นจนสถานการณ์พลิก Dow Jones +300 (1.18%) เป็น 25,746, S&P500 +33 (1.1%) เป็น 3,084 NASDAQ +108(1.09%) เป็น 10,017
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ (26มิ.ย.) ตลาดหุ้นต่างๆในเอเชียเพิ่มยอดสูงขึ้นสอดคล้องกับกระแสของความมั่นใจของตลาดหุ้นในอเมริกา
เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่เศรษฐกิจของโลกตกต่ำอยู่ในภาวะอันตรายแต่ตลาดหุ้นกลับดีขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจ อะไรคือสาเหตุของปรากฏการณ์อย่างนี้?
คำอธิบายโดยสังเขปก็คงต้องย้ำว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นคนละเรื่องกัน เศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดหุ้นและขณะเดียวกันตลาดหุ้นไม่ใช่เศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้น่าจะมีความคล้องจองกันเสมอ ขึ้นและลงด้วยกัน แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถที่จะเดินสวนทางกันในบางครั้งก็เป็นเพราะว่าคุณลักษณะต่างกันมาก
“เศรษฐกิจคือการวัดผลผลิตและการบริโภคในปัจจุบัน ส่วนตลาดหุ้นคือการคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
การวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจมักจะใช้หลักการดูผลผลิตและการบริโภคในระยะเวลาช่วงหนึ่งที่ผ่านมา (เช่น ไตรมาสที่แล้ว) ส่วนตลาดหุ้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจหรือไม่มั่นใจของผู้ลงทุนซึ่งใช้ในการตัดสินใจต่อราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่หมายตาไว้ ราคาของหุ้นจะผันแปรได้ตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้ลงทุน
ตัวอย่างคือ สหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่ายังอยู่ในวิกฤตรุนแรงทั้งเรื่องโรคระบาด เรื่องเศรษฐกิจ และความบาดหมางทางสังคมโดยเฉพาะเรื่องของชนกลุ่มน้อย แต่ผู้ลงทุนให้ความเชื่อมั่นกับปัจจัยเหล่านี้มากกว่า คือ
- มีเงินอัดฉีดจากภาครัฐ ประเมินว่าภายในปีนี้เข้าสู่ระบบแล้วประมาณ $6ล้านล้าน และผู้ลงทุนมีความหวังว่ารัฐบาลจะเยียวยาอีกหากจำเป็น
- ดอกเบี้ยในปัจจุบันต่ำมาก ประมาณ 0.25% ทำให้ผู้ที่ถือพันธบัตรหรือเงินฝากไว้กับธนาคารเสียดายโอกาส
- มีความหวังว่าจะมีวัคซีนในอีกในไม่นาน
- เทคโนโลยีสะดวก สามารถซื้อขายหุ้นคล่องตัว และการซื้อขายหุ้นขยายวงกว้างถึงผู้ลงทุนย่อย APPs Robinhood and TD Ameritradeให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม มีนักลงทุนหน้าใหม่สมัครเล่นเข้าสู่ระบบมาก
- FOMO “Fear of missing out” หรือ “กลัวตกรถ” มนุษย์มีธรรมชาติที่ชอบเลียนแบบซึ่งกันและกัน เมื่อหลายคนแห่ซื้อก็อยากซื้อด้วย เมื่อมีการเทขายก็ขายด้วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลักการ เมื่อมีการซื้อขายหุ้นออนไลน์เนื่องจากอยู่บ้านมากขึ้นจึงทำให้มีการเรียนรู้จากกันและกัน เมื่อคนอื่นได้ก็อยากได้เช่นกัน
- TINA “There is no alternative” หลายคนคิดว่าไม่มีทางเลิกอื่นเพราะสถานการณ์ยังวุ่นวาย ตลาดหุ้นเข้าง่ายออกง่ายเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น ผู้บริโภคปัจจุบันมักหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่สะดวกและมีการผูกมัดระยะยาว ส่วนผู้ลงทุนจากต่างประเทศก็อาจเห็นว่าคงไม่มีทางเลือกใดที่ดีกว่าอเมริกา ความเชื่อมั่นในเงินสกุลดอลล่าร์ยังเป็นอันดับหนึ่งและภาพพจน์ความเข้มแข็งทางการทหารก็เป็นปัจจัยสำคัญ
โลกกำลังก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเราเรียนรู้อะไรก็จะมีสิ่งใหม่เข้ามา ทำให้ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกตลอดเวลา ถึงแม้ท้อใจก็ต้องกัดฟันสู้ต่อไป เมื่อล้มเจ็ดครั้งก็ต้องลุกให้ได้แปดครั้ง ขณะนี้เรากำลังช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อให้ผ่านอุปสรรคของโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจด้วยความเสียสละ
ธรรมชาติกำลังฟื้นฟูเพราะกิจกรรมของมนุษย์ลดลงอย่างมาก เรามีโอกาสหยุดชะลอเพื่อได้ไตร่ตรอง เลือกการลงทุนที่มีคุณค่า ตัวเลขไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ควบคุมรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้ แต่หากมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราก็ต้องช่วยเหลือกันทั้งประเทศและประชาคมโลกให้อยู่ได้อย่างพอเพียงครับ