ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้ว ผมกล่าวถึงตัวเลขที่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในยุค COVID-19 คือการที่ลูกหนี้ 12.5 ล้านราย ขอผ่อนปรนหนี้มูลค่า 7.2 ล้าน เทียบเท่ากับ 1/3 ของสินเชื่อทั้งหมด ปัญหานี้กำลังจะต้องถูกสะสางโดยธนาคารพาณิชย์ (เจ้าหนี้) ที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวและแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ผ่อนผันเรื่องนี้ต่อไปอีก ผมก็เชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิด moral hazard (ลูกหนี้ดีก็จะเลิกจ่ายดอกเบี้ย) และจะกระทบกระเทือนต่อสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารแต่ไม่มีดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้

ธนาคารพาณิชย์นั้นกิจกรรมหลักคือการระดมเงินจากประชาชน (เงินฝาก) มาปล่อยกู้ให้ธุรกิจและประชาชน โดยทำกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ธนาคารต้องการรายได้จากดอกเบี้ยและการคืนเงินเงินต้น โดยเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายหากลูกหนี้จ่ายคืนเงินต้นไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเผชิญกับสภาวะปัจจุบันแนวทางเลือกที่หนึ่งคือการยึดหลักทรัพย์คำประกันเพื่อเก็บเอาไว้รอการขาย โดยหวังว่าจะรับคืนเงินต้นได้เต็มจำนวน หากเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้ในต้นทุนที่ไม่สูง (warehouse at low carrying cost) และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นกระบวนการทางกฎหมายเพื่อยึดทรัพย์ก็คงต้องใช้เวลานานเป็นปีหรือหลายปี ทรัพยากรจึงถูกเก็บเอาไว้เฉยๆ เป็นเวลานาน การดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของธนาคารและของผู้ฝากเงินกับธนาคารนั้น จะเป็นการเก็บทรัพยากรเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและในอนาคตหากนำสินทรัพย์ไปขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ ก็เสี่ยงที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินในประเทศ

กล่าวคือการที่ไม่มีแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนออกมาจากรัฐบาลจะหมายความว่าผู้ที่กำหนดแนวทางในการปรับโครงสร้างของประเทศคือ การปรับโครงสร้างแบบต่างคนต่างทำของธนาคารพาณิชย์ โดยมีแนวทางกว้างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์พยายามช่วยลูกหนี้โดยการลดภาระดอกเบี้ยต่อไปอีก

กลุ่ม CARE จึงได้เสนอให้รัฐบาลกระจายอำนาจไปให้ SME ของไทยเป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยรัฐบาลจะเพิ่มทุนให้กับธุรกิจไม่เกินรายละ 50 ล้านบาทในกรณีที่เจ้าของบริษัทใส่เงินใหม่ 20 ล้านบาทและธนาคารพาณิชย์ยอมให้สินเชื่อ 30 ล้านบาท กล่าวคือธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะมีความมั่นคงทางการเงินเพราะมีสัดส่วนของทุน 70% สัดส่วนของหนี้ 30% และน่าจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสำเร็จสูงในระดับหนึ่งเพราะเจ้าของพร้อมจะเสี่ยงเงินของตังเองส่วนหนึ่งและธนาคารพาณิชย์ก็เห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงกล้าปล่อยกู้อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้โดยจะเป็นธุรกิจอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเพราะมีความชัดเจนว่าภาคการท่องเที่ยวนั้นคงจะต้องลดขนาดลง แต่มีอีกหลายธุรกิจที่น่าจะมีอนาคตสดใส เช่น การทำการเกษตรอัจฉริยะหรือการทำการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ซึ่งจะช่วยปรับการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่พึ่งพาแหล่งวัตถุดิบพื้นเมืองในการทำอาหารปลอดสารพิษที่เชื่อถือได้และเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยพร้อมกันไปด้วยเป็นต้น

ในการให้ทุนกับธุรกิจรายใหม่ดังกล่าวนั้นรัฐจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการบริหารจัดการ (passive investor) โดยรัฐบาลจะมีเงื่อนไขเพียง 3 ข้อคือ

1.บริษัทดังกล่าอวจะต้องมีระบบบัญชีที่โปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐบาลจะมีหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือให้จัดทำระบบดังกล่าวขึ้นโดยเร็ว

2.บริษัทจะต้องเข้าสู่ระบบภาษีและจ่ายภาษีอย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยรัฐบาลจะช่วยสร้างระบบดังกล่าวเพื่อให้มีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคต

3.เจ้าของสามารถซื้อหุ้นคืนจากรัฐบาลได้ภายในเวลา 7 ปีในราคาเท่ากับ 1.3 เท่าของราคาที่รัฐบาลลงทุนไปในตอนแรก ในกรณีที่สามารถเข้าตลาดหุ้นได้รัฐบาลอาจเลือกที่จะมอบหุ้นคืนให้กับเจ้าของเท่ากับ2/3 ของหุ้นทั้งหมดที่รัฐบาลถือและขายอีก 1/3 ในตลาดหุ้น (หากจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ากับรัฐบาล)

แล้วรัฐบาลจะหาเงินมาจากที่ไหน? กลุ่ม CARE เสนอให้รัฐบาลขายพันธบัตร 100 ปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ซื้อ โดยเป็นพันธบัตรที่รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% (เท่ากับที่ธปท.ปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์ในกองทุนสินเชื่อ SME มูลค่า 5 แสนล้านบาท) ซึ่งรายละเอียดและข้อโต้แย้งต่างๆ ว่าจะทำให้เสียวินัยทางการเงินและการคลังนั้นผมจะขอตอบในสัปดาห์หน้าครับ
โพสต์โพสต์